xs
xsm
sm
md
lg

“ประยุทธ์” ถกพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษ เพิ่มเอสเอ็มอีพื้นที่ กันครหาเอื้อกลุ่มทุน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


นายกรัฐมนตรีเผยผลการประชุมคณะกรรมการนโยบายพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษ สอบถามจัดหาพื้นที่และระบบสาธารณูปโภค พร้อมเพิ่มธุรกิจเอสเอ็มอีในพื้นที่ กันข้อครหานำธุรกิจภายนอกแทรกแซง ย้ำเป็นไปตามเป้าหมาย ส่วนการปฏิรูปย้ำทำแค่ถึงปี 2560 ทำภาพรวมทั้งเรื่องน้ำและที่ดินทำกิน พร้อมทำอินโฟกราฟิก 11 กิจกรรมปฏิรูปของประเทศ

วันนี้ (18 ธ.ค.) ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กล่าวถึงงานปฏิรูปในภาพรวมภายหลังการประชุมคณะกรรมการนโยบายพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษ ว่า ตนก็บอกว่าเราทำแค่ปี 2560 เราเขียนภาพรวมทั้งหมดทั้งเรื่องน้ำ การจัดที่ดินทำกิน ทั้งหมดของประเทศไทยควรจะเป็นอย่างไร ทั้งเรื่องการพัฒนาคุณภาพชีวิต การพัฒนาเศรษฐกิจ พัฒนาระบบสาธารณูปโภคพื้นฐานทั้งหมด 11 กิจกรรม เราจะถอดออกมาว่าเราใช้งบประมาณเท่าไรอย่างไร ไม่ใช่ว่าทั้งหมดอยากได้รถไฟทั้งหมดทุกเส้นทางก็เป็นไปไม่ได้เพราะไม่มีเงิน ซึ่งต้องกู้อีกเยอะ และภาระเก่าก็ยังมี ดังนั้นเราจะเริ่มต้นให้ เช่น ระยะอาจจะได้เส้นทางจากนี่ไปถึงนี่ก่อน ต่อไปก็เขียนแผนเอาไว้ เพราะที่ผ่านมางบประมาณจำกัดและเป็นงบฟังก์ชันที่ไม่เป็นไปตามแผน อย่างไรก็ตาม วันนี้โลกมีการเปลี่ยนแปลง การลงทุนเศรษฐกิจไม่ใช่ว่าต่างคนต่างลงทุนตามเส้นทางเดิมไม่ใช่แล้ว แต่เขาจะกำหนดพื้นที่ที่เขาพร้อมที่เขามีศักยภาพที่พร้อมอยากจะมา เราก็ต้องหาเส้นทางให้ ก็ต้องปรับตัว ดังนั้นเราต้องปรับนโยบายเดิมว่าอันไหนควรทำต่อ อันไหนควรส่งเสริมเป็นนโยบายเร่งด่วน แล้วก็เป็นเรื่องของการปฏิรูป

พล.อ.ประยุทธ์กล่าวอีกว่า ตนพยายามขับเคลื่อนก็ขอให้ช่วยกันสร้างการรับรู้ก็แล้วกันว่านี่คือการปฏิรูประยะที่ 1 ตั้งแต่ 2557-2561 ที่เรากำลังทำอยู่นี่ไง เพราะถ้าถึง 2560 ตามโรดแมปเราก็ให้คนอื่นมาทำต่อ แต่เราจะเขียนให้เขาทำ แต่เขาจะทำหรือไม่ก็เป็นเรื่องของเขา เพราะจะมีเงินหรือไม่มี ทั้งระบบการตรวจสอบกำกับดูแลว่าจะทำหรือไม่ก็ไปคิดกันมา ดังนั้นนี่คือเหตุผลว่าทำไมต้องมีรัฐธรรมนูญอะไรที่มีความแตกต่างหรือไม่ มันจำเป็นที่จะต้องมีใครมากำกับตรงนี้หรือเปล่า แต่ก็ไม่ใช่เป็นการไปล็อคสเปกเขาว่าต้องทำตามนี้ ก็แล้วแต่เขา ขอให้เข้าใจด้วย เพราะจะได้ไม่มาเถียงเรื่องรัฐธรรมนูญ เรื่องกรรมการยกร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) คนหนึ่งก็จะเอาอิสระเสรี อีกคนหนึ่งก็ต้องขับเคลื่อนปฏิรูปประเทศ ไม่ใช่ตน แต่ประชาชนเขาต้องการ เขาจะได้เห็นอนาคตของเขา หรือยังไม่รู้อนาคตอะไรข้างหน้า ถ้าเราไม่รู้ลูกหลานเราจะยิ่งหนัก ว่าอีก 10-20 ปีข้างหน้าจะเปลี่ยนแปลงยังไง เขาจะได้พัฒนาตัวเอง

“ถ้าเราเขียนยุทธศาสตร์ของเราชัดเจนทุกกระทรวงเขาก็จะปฏิรูประยะที่ 1 กับเรา ทำตามที่คุยกับเราแล้วไปเสนอรัฐบาลใหม่ ถ้าเขาไม่ทำจะทำยังไง ก็ไปหากลไกมา ถ้ามันดีก็จะต้องทำเท่าที่ทำได้ แต่รัฐบาลนี้จะสร้างปัญหาให้น้อยที่สุด เพราะผมบอกว่านี่แฟรงก์ที่สุดแล้ว(พูดตรง)ที่สุด ไม่ต้องการไปสืบทอดอำนาจอยากอยู่อยากอะไรหรอก อยู่ที่ประชาชนเขาว่าอยากได้อะไรก็ดูให้เขาหน่อยสินะ” พล.อ.ประยุทธ์กล่าว

ส่วนผลการประชุมคณะกรรมการนโยบายพัฒนาเขตเศรษฐกิจ นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า วันนี้เรื่องเขตเศรษฐกิจพิเศษเป็นเรื่องสำคัญที่อยากให้เข้าใจว่าไม่ใช่แค่เรื่องเขตเศรษฐกิจพิเศษอย่างเดียว แต่เป็นภาพของเศรษฐกิจของเราที่จะต้องปฏิรูปทั้งระบบ รวมถึงการค้าการลงทุนในพื้นที่ที่ปกติมีอยู่แล้วในส่วนของบีโอไอ แต่ก็นำเรื่องเขตเศรษฐกิจไปเสริมโดยนำหลักการของสหประชาชาติและประชาคมอาเซียนเข้ามาร่วมด้วยว่าเราต้องสร้างความเชื่อมโยงฐานของระบบแต่ละประเทศเข้าด้วยกัน อาเซียนก็มีเขตเศรษฐกิจของแต่ละประเทศ ส่วนของเราก็โยงมาสู่ประชารัฐ

“ดังนั้นเราต้องเข้าภาพนี้ก่อน จะตีเป็นเรื่องๆ ไม่ได้ ผมได้สั่งให้เขาทำอินโฟกราฟิกเรื่องนี้แล้ว ว่า 11 กิจกรรมของประเทศอยู่ตรงไหน ไม่เช่นนั้นเราจะสร้างความเข้าใจไม่ได้ เพราะทั้งหมดยึดโยงเป็นพวงเดียวกันทั้งประเทศ นี่คือการทำงานการปฏิรูปโครงสร้าง” พล.อ.ประยุทธ์กล่าว

นายกรัฐมนตรีกล่าวอีกว่า ในที่ประชุมวันนี้มีการพูดกันเรื่องจัดหาพื้นที่และระบบสาธารณูปโภคไปถึงไหนแล้วมีความหน้าอย่างไร เรื่องสิทธิประโยชน์ที่ต้องชัดเจน และเรื่องราคาเช่าที่ดินทั้งในส่วนนิคมอุตสาหกรรมและเอกชน โดยนำข้อห่วงใยที่นึกถึงประชาชนเจ้าของพื้นที่ โดยมีการเพิ่มในเรื่องของธุรกิจเอสเอ็มอีในพื้นที่ให้ได้ประโยชน์ด้วย เดี๋ยวจะหาว่านำธุรกิจจากข้างนอกไปแทรกธุรกิจในพื้นที่ ซึ่งก็ต้องดูเรื่องของศักยภาพและขีดความสามารถด้วย ซึ่งจะมีการจัดหาพื้นที่ให้

เมื่อถามว่า การเดินหน้าเรื่องเขตเศรษฐกิจพิเศษเป็นไปตามเป้าหมายหรือไม่ พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า เป็นไปตามเป้าหมาย โดยขอให้มองเป้าหมายอันดับแรก คือ การทำจะอะไรให้เร็วขึ้นไม่ว่าอะไรเป็นการปฏิรูปการเปลี่ยนแปลงต้องเริ่มจากข้อกฎหมายก่อนว่า กฎหมายเดิมว่าอย่างไรจะต้องทำข้อกฎหมายใหม่หรือไม่ ถ้าทำกฎหมายใหม่ที่จะทำให้เกิดผลจะต้องผ่าน 3 วาระของกรรมาธิการฯอย่างที่ทุกกระทรวงดำเนินการตามขั้นตอน ที่อาจจะไปแก้ไขกันในชั้นของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ได้อีก แต่อะไรที่จำเป็นต้องใช้ก่อนก็จะใช้มาตรา 44 ไปก่อนเพราะมันช้า ส่วนพระราชบัญญัติก็กำลังดำเนินการตามไป ส่วนอันดับที่ 2 คือเรื่องของงบประมาณที่จะต้องใช้ เช่น ในการทำถนนหนทาง สะพาน ที่หากเห็นตัวเลขแล้วจะตกใจ





กำลังโหลดความคิดเห็น