xs
xsm
sm
md
lg

นายกฯกำหนดแผนเขตศก.พิเศษ อุตสาหกรรมต้องไม่ทำลายสวล.

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เมื่อเวลา 12.00น. วานนี้ (8 ต.ค.) พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี แถลงภายหลังการเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ (กนพ.) ครั้งที่ 4/2558 ที่ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล ว่า มีหลายเรื่องที่ได้สั่งการไปแล้ว เช่น เรื่องของการขับเคลื่อนในระยะที่หนึ่งและระยะที่สอง ในเรื่องของการจัดหาพื้นที่ การกำหนดสิทธิประโยชน์ ทั้งด้านกฎหมาย และด้านการส่งเสริมอุตสาหกรรมหรือ บีโอไอ ที่จะมีรายละเอียดออกมาอีกครั้ง ซึ่งทั้งหมดมีความก้าวหน้าตามลำดับ แต่สิ่งที่สำคัญคือ ทำอย่างไรที่จะให้เศรษฐกิจในท้องถิ่นดีขึ้น ทั้งการเกษตรกรรม และอุตสาหกรรมที่ส่งเสริมให้ตรงกับความต้องการของประเทศ ด้วยการให้สิทธิประโยชน์สำหรับการลงทุนนอกพื้นที่ ที่กำหนดไว้ และการลงทุนในพื้นที่ที่เป็นคลัสเตอร์ และซุปเปอร์คลัสเตอร์ ซึ่งประกอบด้วยกิจการที่หลากหลาย
นายกรัฐมนตรี กล่าวอีกว่า พื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษในระยะแรกมีทั้งหมด 6 พื้นที่ ที่บางพื้นที่ไม่สามารถทำได้ในบางกิจกรรม แต่สิ่งสำคัญที่เน้นย้ำคือ
1. เรื่องการปรับปรุงพื้นที่ให้ชุมชนและภูมิภาคมีรายได้เพิ่มขึ้น ทั้งด้านการเกษตรที่จะต้องลดต้นทุนให้ได้ที่ต้องสอดคล้องกับเรื่องการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจของเกษตรกรที่ต้องลดต้นทุนให้ได้
2.ต้องหารายได้เสริมให้กับครัวเรือน ที่มาจากกิจกรรมของแต่ละพื้นที่ของบีโอไอ อย่างไรก็ตาม ปัญหาหลัก ของพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษคือ ปัญหาเรื่องที่ดิน ที่บางพื้นที่ต้องใช้ที่ดินของราชพัสดุ และของราชการบ้าง แต่ปัญหาคือ บางพื้นที่ถูกบุกรุกที่ผิดกฎหมายที่ต้องหาทางออก และจะดูแลประชาชนได้อย่างไร ที่ไม่เป็นการส่งเสริมการบุกรุก แต่ต้องหาวิธีดูแลเช่นเดียวกับคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ ซึ่งคนที่บุกรุก ต้องยื่นขอใช้ประโยชน์ด้วยการเช่าให้ถูกต้อง แต่พื้นที่เหล่านั้นต้องเป็นพื้นที่ป่าเสื่อมโทรมแล้วเท่านั้น เพราะรัฐบาลต้องการบรรเทาความเดือดร้อนทั้งหมด
"ในการทำงานเรื่องนี้ ที่ทำให้ปวดหัว คือ การที่จะต้องบูรณาการงานหลายงานเข้าด้วยกัน เพราะพูดว่าเขตเศรษฐกิจพิเศษแล้วไม่ใช่ว่าเขตเศรษฐกิจพิเศษ ทั้งหมด แต่โยงไปสู่ความเป็นอยู่ของประชาชนในพื้นที่ที่เกี่ยวกับอาชีพ รายได้ ที่อยู่ ที่ทำกินทั้งหมดต้องเคลื่อนที่ไปด้วยกันข้างหน้าทั้งหมด ซึ่งจะทำใหเศรษฐกิจของแต่ละจังหวัดดีขึ้น" นายกฯ กล่าว
ทั้งนี้ ในการทำเขตเศรษฐกิจพิเศษ จะต้องมีการควบคุมอุปสงค์และอุปทาน ด้วยเพราะเราต้องใช้ในประเทศ โดยการส่งออก เพราะถ้าผลิตเหมือนกัน ตรงกันทั้งหมด ก็ไม่รู้จะนำไปขายให้ใคร ดังนั้นเรื่องนี้ต้องสอดรับกับแผนใหญ่คือแผนพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศด้วย เพื่อกำหนดอุปสงค์และอุปทานในแต่ละเรื่องว่าจะกำหนดอย่างไร ทั้งเรื่องของการเกษตรและอุตสาหกรรมทั้งขนาดเล็กและขนาดใหญ่ แต่ทั้งนี้ต้องเป็นอุตสาหกรรมที่ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม
"อย่างไรก็ตาม ขอให้ประชาชนทุกพื้นที่ให้ความร่วมมือให้ความเข้าใจว่าถ้าทุกคนคัดค้านแล้วจะเอาอะไร การเกษตรทำไม่ได้ผลมากนักเพราะว่าน้ำมีปริมาณน้อย จึงถามว่าจะอยู่อย่างไรต่อไป ถ้าไม่มีอุตสาหกรรมย่อยเข้าไปบ้าง อุตสาหกรรมหลักเข้าไปบ้าง แต่ต้องไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม ท่านต้องเข้าใจประเด็นนี้ อย่าให้ไปปลุกปั่นเลย เรื่องจัดที่ดินทำกินเหมือนกันถ้าทุกคนจะขอทั้งหมดจะหาที่ดินที่ไหนมาให้ วันนี้ก็ไม่พออยู่แล้ว แต่ก็ต้องดูแลว่าจะทำอย่างไร แต่ก็ต้องดูแลให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญที่ทุกคนต้องมีสิทธิ์ แต่สิทธิ์ที่ว่าต้องเป็นไปด้วยความถูกต้องตามกฎหมาย และเมื่อให้ไปแล้ว ก็อย่านำไปใช้หรือขายให้คนอื่นแล้วตัวเองก็ไปบุกป่าใหม่ เพราะปัญหาจะเกิดขึ้นอีก" นายกฯ กล่าว
พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวด้วยว่า ปัญหาของการเกษตรในวันข้างหน้า จะเกิดปัญหาเรื่องน้ำ ที่เกิดขึ้นแล้วสำหรับการทำการเกษตร แต่จะเกิดขึ้นกับการอุปโภค การกิน การใช้ ที่จะน้อยลงอีก จึงต้องเตรียมการตั้งแต่วันนี้
"วันหน้าต้องทำเหมืองน้ำกันหรือเปล่า ต้องหาคนมาลงทุนเรื่องเจาะน้ำใต้ดินเก็บไว้เป็นคลังน้ำ เอาน้ำทะเลมาเก็บแบบต่างประเทศหรือไม่ เอามาเก็บให้ มันเย็นให้มันจืดใน30-50ปี ข้างหน้า มันมีตัวอย่างอยู่แล้ว เดี๋ยวคณะกรรมการทรัพยากรน้ำฯก็ต้องคิดกัน ถ้าฝนไม่ตกจะทำอย่างไร นี่แหละคือสิ่งที่รัฐบาลจะต้องทำแบบนี้ ทำให้เกิดความยั่งยืนในการบริหารจัดการน้ำในอนาคตด้วย ผมก็จะทำไว้ให้ ก็จะเป็นเรื่องของรัฐบาลต่อไปที่จะทำก็แล้วกัน" พล.อ. ประยุทธ์ กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น