xs
xsm
sm
md
lg

“มีชัย” แถลงร่าง รธน. ชู “สิทธิที่กินได้” - ฟันพวกโกงทั้งคณะ - ส่องประชานิยมถังแตก

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (ภาพจากแฟ้ม)
กรธ. ถกร่างรัฐธรรมนูญนอกสถานที่ครบ 7 วัน ได้เป็นชิ้นเป็นอันเบื้องต้น 261 มาตรา บทเฉพาะกาลยังไม่เขียน “มีชัย” แจงเอง 10 จุดขาย ชู “สิทธิประชาชนกินได้” เอาใจกลุ่มพระสงฆ์ คุ้มครองพระพุทธศาสนา เลือกตั้งมีความหมายทุกคะแนน ให้ประชาชนมีส่วนร่วมนโยบาย เข้มปราบทุจริตคอร์รัปชัน ให้พ้นยกคณะ ชี้ไม่ทุจริตก็ไม่ลำบาก องค์กรอิสระมาตรฐานสูง วุฒิสภาทางอ้อมกลุ่มสังคม ให้ กกต.- ป.ป.ช.- สตง. ส่องประชานิยมเสี่ยงถังแตก สร้างกลไกปรองดอง และบอกทิศทางปฏิรูปประเทศ ชี้ เข้าใจผิดนิรโทษกรรม คสช. แต่รับรองคำสั่งที่ออกไปเฉย ๆ

วันนี้ (17 ม.ค.) ที่โรงแรมเลควิวรีสอร์ท แอนด์ กอล์ฟคลับ ชะอำ จ.เพชรบุรี นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) เปิดแถลงข่าวภายหลังเสร็จสิ้นการพิจารณารายมาตรา ในส่วนของบทถาวรจนครบถ้วน ซึ่งในขณะนี้มีจำนวนมาตราเบื้องต้น 261 มาตรา โดยยังไม่รวมบทเฉพาะกาล โดยนายมีชัยกล่าวว่าในบทถาวรเอง ก็อาจมีการปรับยุบถ้อยคำให้ลดจำนวนมาตราลงได้อีกราว 10 มาตรา

นายมีชัย กล่าวถึงประเด็นที่เป็นจุดเด่นหรือจุดขายของร่างรัฐธรรมนูญ ที่แตกต่างจากรัฐธรรมนูญในอดีต ประกอบด้วย 1. เขียนบัญญัติให้สิทธิของประชาชนเป็นสิทธิที่กินได้ หรือสามารถบังคับใช้ได้จริง โดยกำหนดให้สิทธิที่สำคัญถูกกำหนดให้เป็นหน้าที่ที่รัฐจะต้องจัดให้ประชาชนได้รับสิทธิ์ โดยไม่ต้องรอการเรียกร้องให้ได้สิทธิ์นั้นมา แต่ทั้งนี้การใช้สิทธิ์ต้องนึกถึงหน้าที่ ผลกระทบต่อผู้อื่นและชาติ รวมทั้งบทบัญญัติที่เขียนว่า “อำนาจและหน้าที่” ของทุกองค์กรนั้น ได้ปรับวิธีการเขียนให้ให้เป็น “หน้าที่และอำนาจ” เพื่อเป็นเจตนาที่เน้นเรื่อง หน้าที่ต้องมาก่อนอำนาจ

2. เรื่องของศาสนา โดยเฉพาะศาสนาพุทธ แม้จะไม่บัญญัติว่าเป็นศาสนาประจำชาติ แต่เขียนคุ้มครองชัดเจน ไม่เขียนเพียงลอย ๆ ด้วยการบัญญัติบังคับรัฐให้คุ้มครองให้พ้นจากการบ่อนทำลาย ทั้งจากเหตุภายในและภายนอกของศาสนาพุทธเอง

3. กระบวนการเลือกตั้ง เปลี่ยนจากผู้ชนะเอาไปหมด เป็นให้มีความหมายทุกคะแนน ส่งผลให้คนส่วนน้อยจะได้รู้สึกว่ามีความหมาย ไม่รู้สึกว่าถูกทอดทิ้ง และด้วยหลักการเดียวกัน เราให้ความสำคัญกับรวมทั้งการไปกำหนดให้ผู้แทนเสียงข้างน้อยได้มีส่วนในการแก้รัฐธรรมนูญ

4. การมีส่วนร่วม ถ้าเรื่องสำคัญเป็นหน้าที่รัฐทำให้มีส่วนร่วม เช่น เรื่องสิ่งแวดล้อม กำหนดให้รัฐต้องจัดให้ประชาชนได้มีส่วนร่วมกำหนดนโยบาย หรือแสดงความเห็น ข้อเสนอในสิ่งที่กระทบต่อสิ่งแวดล้อมของเขา หรือการใช้ทรัพยากรในพื้นที่ คนในพื้นที่ต้องได้ประโยชน์จากการใช้ทรัพยากรนั้นด้วย ไม่ใช่ถูกใครก็ไม่รู้มาเอาทรัพยากรในพื้นที่ไป

5. ปัญหาทุจริตคอร์รัปชัน เข้มข้นทั้งคุณสมบัติลักษณะต้องห้ามจำนวนมาก เพื่อสกัดคนทุจริตหน้าที่ หรือทุจริตต่อการเลือกตั้งถูกขจัดออก เรื่องใดที่เป็นการทุจริตร่วมกันทั้งองคาพยพ ตั้งแต่นักการเมืองจนถึงข้าราชการร่วมมือกัน เช่น เรื่องของการจัดสรรงบประมาณเพื่อเอื้อผลประโยชน์ส่วนตน เรากำหนดบทแซงชั่นให้ต้องพ้นทั้งคณะ

“อาจมีคนบ่นว่าทำให้การบริหารประเทศลำบาก แต่ผมคิดว่าถ้าไม่คิดทุจริตก็ไม่ลำบาก แต่หากทุจริตก็ควรจะต้องลำบาก ไม่อย่างนั้นจะอธิบายกับประชาชนได้ยาก” นายมีชัย กล่าว

ประธาน กรธ. กล่าวต่อถึงประเด็นที่ 6 ว่า เราทำองค์กรอิสระให้มีมาตรฐานสูง ทำงานคล่องตัวสามารถดำเนินการตามหน้าที่เมื่อรู้ว่ามีเหตุโดยไม่ต้องรอคนฟ้อง และมุ่งทำงานที่สำคัญเป็นหลัก ไม่ต้องทำทุกเรื่อง และให้ช่วยกันทำหลายองค์กร รวมทั้งกำหนดระยะเวลาดำเนินการเกี่ยวกับเรื่องทุจริตให้ชัดเจน

7. วุฒิสภาระบบใหม่มาจากการเลือกทางอ้อมของกลุ่มสังคม ทำให้มีส่วนร่วมจากประชาชนอย่างแท้จริง ไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการหาเสียงมากมาย จึงไม่ต้องตกอยู่ใต้อาณัติของพรรคการเมือง

8. กำหนดให้สามองค์กรอิสระ คือ สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.), สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) และสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) มีหน้าที่เตือนนโยบายหรือการกระทำของรัฐ ที่ส่อว่าทำให้ก่อความเสียหายต่อประเทศอย่างรุนแรง เพื่อให้รัฐไปตัดสินใจจะปรับปรุงแก้ไขหรือระงับนโยบาย โครงการหรือการกระทำนั้นหรือไม่

9. กลไกการปรองดอง นอกจากกลไกด้านสิทธิที่ประชาชนได้รับการคุ้มครองเป็นจริงแล้ว ยังมีกลไกเลือกตั้งที่ทุกสิทธิ์มีความหมาย กำหนดเป็นหน้าที่รัฐในการสร้างความปรองดอง รวงมทั้งในกลไกของสภาฯ ก็มีส่วน เช่น การเปิดช่องให้ผู้นำฝ่ายค้านเสนอแนะรัฐบาลได้ และทุกเรื่องที่อาจมีข้อขัดแย้งจะมีคนชี้ขาดให้ยุติเด็ดขาดสิ้นประเด็นถกเถียง

10. การปฏิรูปประเทศ ไม่ได้กำหนดเป็นหมวดเฉพาะ แต่ถูกสอดใส่ในหน้าที่ของรัฐ แนวนโยบายของรัฐ บอกทิศทางและจุดหมาย เช่น การกำหนดให้ต้องออกกฎหมายอะไรเป็นต้น และกำหนดให้มีแผนยุทธศาสตร์ชาติที่มีความยืดหยุ่น หวังให้ประชาชน การเมือง และข้าราชการประจำร่วมกันกำหนด โดยไม่ต้องเขียนคำว่าปฏิรูป หรือตั้งคณะกรรมการยุทธศาสตร์ปฏิรูปและการปรองดองแห่งชาติ (คปป.) ไว้ในรัฐธรรมนูญ แต่ทั้งนี้ยังรอสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) และสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ที่จะเสนอประเด็นการปฏิรูปเข้ามาเพิ่มเติม

สำหรับบทเฉพาะกาลที่ กรธ. ต้องไปพิจารณาต่อนั้น สื่อมวลชนได้สอบถามถึงมาตราสุดท้าย ที่มักจะมีการกำหนดให้นิรโทษกรรมผู้ที่ทำการรัฐประหาร ว่า มีความเสี่ยงให้เป็นการเปิดช่องทำผิดทุจริตคอรัปชันได้โดยไม่ถูกดำเนินการเอาผิดหรือไม่นั้น นายมีชัยกล่าวว่า เป็นการเข้าใจผิด เพราะมาตราสุดท้ายเป็นการรับรองสิ่งที่คณะรัฐประหารออกคำสั่งโดยถูกต้องให้มีผลบังคับต่อเนื่อง ส่วนความผิดของการรัฐประหารได้รับการยกเว้นความผิดไว้ตั้งแต่มีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญชั่วคราวหลังการรัฐประหารไปแล้ว

“เป็นเรื่องที่เข้าใจผิดว่าเป็นการนิรโทษกรรม เพราะมาตราสุดท้ายจะรับรองสิ่งที่ถูกต้องให้มีผลต่อไป เช่น คำสั่งแต่งตั้งบุคคลหรือองค์กร แต่ไม่ได้คุ้มครองรัฐบาลที่ทำผิดทุจริตคอรัปชัน ซึ่งก็เคยมีกรณีรัฐบาลที่มาจากการรัฐประหารในอดีตถูกฟ้องเอาผิดฐานทุจริตมาแล้ว” ประธาน กรธ. กล่าว


กำลังโหลดความคิดเห็น