xs
xsm
sm
md
lg

กมธ.ให้อำนาจรัฐ เซ็นเซอร์ข่าวในช่วงประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

อุดม  รัฐอมฤต
กมธ.เพิ่มเงื่อนไขรัฐสามารถเซ็นเซอร์ข่าวในภาวะประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉินได้ หวังจัดการสื่อที่ไม่ให้ความร่วมมือ ขณะเดียวกันเตรียมวางหลักเกณฑ์การประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน

นายอุดม รัฐอมฤต โฆษกกรรมาธิการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ชี้แจงกรณีที่ กรธ.เห็นชอบให้เพิ่มเงื่อนไขการเซ็นเซ่อร์ข่าวในภาวะที่บ้านเมืองไม่ปกติตามมาตรา 45 ของรัฐธรรมนูญปี 2550 เป็นมีอำนาจเซ็นเซ่อร์ข่าวได้เมื่อมีการประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน หรือมีการใช้กฎอัยการศึก เพิ่มเติมจากเดิมที่ระบุไว้ว่าเป็นกรณีที่มีภาวะสงครามเท่านั้นว่า ปกติผู้ที่ประกาศกฎอัยการศึกก็มีอำนาจในการล่วงล้ำไปในสิทธิเสรีภาพของบุคคลได้อยู่แล้ว ในกรณีที่พบว่ามีการกระทำที่กระทบต่อความมั่นคง หรือการกระทำความผิด จึงคิดว่าควรจะเขียนไว้ให้เห็นว่าในภาวะที่บ้านเมืองไม่ปกติ สื่อมวลชนก็ควรจะให้ความร่วมมือกับบ้านเมือง ไม่อย่างนั้นบ้านเมืองจะมีกติกาได้ลำบาก ความวุ่นวายก็อาจเกิดขึ้น แต่ในภาวะปรกติเราก็คุ้มครองการทำหน้าที่

นายอุดมกล่าวว่า กรธ.ได้พิจารณาจากเหตุการณ์ชุมนุมประท้วงจนนำไปสู่ความขัดแย้งในปี 2556-2557 ที่ผ่านมา โดยมองว่าส่วนหนึ่งเกิดจากการใช้สื่อเพื่อยุยงปลุกปั่น โดยที่องค์กรสื่อมวลชนเองไม่สามารถควบคุมกันเองได้ แม้แต่หนังสือพิมพ์ใหญ่บางฉบับเมื่อถูกสภาการหนังสือพิมพ์เตือนก็ใช้วิธีลาออกจากสมาชิกสภาการหนังสือพิมพ์

“สภาพบ้านเมืองที่ผ่านมา เห็นอยู่ว่าไม่ใช่ภาวะสงคราม แต่เป็นสภาพที่ไม่รู้ใครเป็นใคร เราจะเอาเกณฑ์ของสากลมาวัดแต่ผู้คนของเราก็ไม่เหมือนกันในต่างประเทศ เราต้องคิดในบริบทที่บ้านเมืองเราเป็นอยู่ ความสามารถของรัฐในการดูแลความสงบ กรธ.ไม่ได้คิดเข้าข้างรัฐ แต่คิดในสภาพสังคมทั้งหมด”

ผู้สื่อข่าวถามว่า หากรัฐบาลเองเป็นคู่กรณีของความขัดแย้ง แล้วใช้อำนาจออก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน เพื่อเซ็นต์เซอร์ แทรกแซงการทำหน้าที่ของสื่อที่มุ่งตรวจสอบพฤติกรรมทุจริตของรัฐบาลจะทำอย่างไร นายอุดม รับว่าเป็นประเด็นที่ กรธ.จะต้องนำกลับไปทบทวนให้มีเงื่อนไขหลักเกณฑ์ของการใช้อำนาจ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน หรือการประกาศกฎอัยการศึกที่ชัดเจน มีเหตุผลมากขึ้น

“เห็นด้วยในสิ่งที่ทักท้วงว่าในรายละเอียดสมควรที่จะมีการพูดถึงกรอบของการอ้างเหตุออก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน เพื่อขัดขวางการทำงานของสื่อ ซึ่งต้องวางกรอบกติกาในการอ้างเหตุเพื่อออก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน หรือกฎอัยการศึกให้ชัดเจนว่าต้องมีเหตุผลอะไรถึงจะเข้าไปตรวจสอบการนำเสนอข่าวของสื่อได้ ไม่ใช่ตรวจได้หมดทุกกรณี ส่วนรัฐธรรมนูญเพียงวางหลักไว้ให้เท่านั้น จำเป็นต้องมีกรอบมีเกณฑ์อีกชั้นที่วางรายละเอียดในกฎหมายที่เกี่ยวข้อง”

นอกจากนี้ กรธ.ยังได้กำหนดมาตรการควบคุมการใช้งบประมาณโฆษณาประชาสัมพันธ์ของรัฐ โดยกำหนดให้ต้องแจ้งสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน เพื่อนำมาเปิดเผยต่อสาธารณะอีกด้วย โดยนายอุดมกล่าวว่า เป็นการใช้การแซงก์ชันทางสังคม ด้วยการเปิดเผยว่ามีสื่อใดที่ได้รับเงินค่าจ้างจากรัฐมากเป็นพิเศษหรือไม่ เพื่อให้สังคมตรวจตราว่าจะเข้าข่ายเป็นการทุ่มซื้อสื่อด้วยงบประมาณของรัฐหรือไม่ โดยไม่ได้ใช้มาตรการทางกฎหมายเข้าไปบังคับหรือห้ามแต่อย่างใด

“สังคมจะได้เห็นและตั้งข้อสังเกตและคำถามว่าทำไมสื่อบางสื่อได้ค่าจ้างจากงบประมาณส่วนนี้ไปมาก บางส่วนไม่ได้เลย เป็นเพราะอะไร มีหลักการพิจารณาอย่างไร แต่เราไม่ได้ไปห้ามไม่ให้ลงโฆษณาหรือติดต่อสัมพันธ์กับสื่อแต่อย่างใด เพียงแต่ทำให้สื่อด้วยกันและประชาชนสบายใจว่าการทำหน้าที่เป็นไปด้วยความโปร่งใสหรือไม่” นายอุดมกล่าว


กำลังโหลดความคิดเห็น