xs
xsm
sm
md
lg

รองนายกฯ “ประวิตร” เรียกประชุมหน่วยงานด้านความมั่นคงในพื้นที่ 14 จว.ภาคใต้

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


 
ศูนย์ข่าวหาดใหญ่ - รองนายกรัฐมนตรี “พล.อ.ประวิตร” เรียกประชุมหน่วยงานความมั่นคงในพื้นที่ 14 จว.ภาคใต้ ติดตามการแก้ปัญหาตามนโยบายของ คสช. พร้อมพบปะมวลชน และให้การต้อนรับผู้เห็นต่างจากรัฐที่เข้าร่วม “โครงการพาคนกลับบ้าน”

วันนี้ (21 ธ.ค.) ที่ศูนย์ประชุมนานาชาติฯ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม พร้อมด้วย พล.อ.อุดมเดช สีตะบุตร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหม พล.อ.ปรีชา จันทร์โอชา ปลัดกระทรวงกลาโหม พล.อ.ธีรชัย นาควานิช และ พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ได้เข้าร่วมประชุมหน่วยงานด้านความมั่นคงในพื้นที่ 14 จังหวัดภาคใต้ ประกอบด้วย หน่วยทหาร ตำรวจ และพลเรือน เพื่อติดตามความก้าวหน้าผลการดำเนินงาน พร้อมทั้งมอบนโยบายการปฏิบัติงานแก่เจ้าหน้าที่ตามนโยบายของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือ คสช.

โดยมี พล.ท.วิวรรธน์ ปฐมภาคย์ แม่ทัพภาคที่ 4 และผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 นายภาณุ อุทัยรัตน์ เลขาธิการ ศอ.บต. ผู้ว่าราชการจังหวัดทั้ง 14 จังหวัดภาคใต้ ผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 8 ผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 9 ผู้บัญชาการศูนย์ปฏิบัติการตำรวจจังหวัดชายแดนภาคใต้ เจ้าหน้าที่ทหาร ตำรวจ และนายอำเภอทุกอำเภอในพื้นที่เข้าร่วมประชุม พร้อมรับฟังแนวทางการปฏิบัติงาน

 
จากนั้น พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม พร้อมคณะ ได้เยี่ยมชมนิทรรศการ และเป็นประธานต้อนรับคนกลับบ้านที่เข้าร่วมโครงการพาคนกลับบ้านของกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า โดยมีผู้เข้าร่วมโครงการพาคนกลับบ้านในช่วง 2 เดือนที่ผ่านมา จำนวน 1,097 คน ซึ่งในวันนี้ ได้มีการมอบถุงพระราชทานให้แก่ผู้แทนพาคนกลับบ้านต่อหน้าพระบรมฉายาลักษณ์ จำนวน 3 คนอีกด้วย

สำหรับโครงการพาคนกลับบ้านเริ่มขึ้นตั้งแต่ปี 2555 ภายใต้นโยบายของ พล.ท.วิวรรธน์ ปฐมภาคย์ แม่ทัพภาคที่ 4 และผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 แต่ปัจจุบันได้มีการปรับเปลี่ยนการบริหารจัดการให้มีความเบ็ดเสร็จในตนเอง เป็นรูปธรรม มีความชัดเจน และมีเอกภาพในการขับเคลื่อนงาน เพื่อให้ตอบสนองต่อปัญหาที่เกิดขึ้นได้ตามความต้องการของผู้บังคับบัญชา และความสะดวกรวดเร็วต่อผู้เห็นต่างจากรัฐในพื้นที่ได้มากยิ่งขึ้น

รวมทั้งได้พัฒนาแนวทางแก้ไขปัญหาแบบพิเศษต่อกลุ่มผู้เห็นต่างจากรัฐ โดยการสร้างความเข้าใจ ลดความหวาดระแวง และสร้างความสัมพันธ์อันดีกับเครือญาติ และครอบครัวของกลุ่มผู้เห็นต่างจากรัฐที่มีหมาย ป.วิฯ อาญา พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และหวาดระแวง โดยให้มวลชน คนกลางช่วยชักชวน และจูงใจ เช่น ผู้นำท้องที่ ผู้นำท้องถิ่น ผู้นำสี่เสาหลัก เครือญาติ และครอบครัว รวมทั้งบุคคลที่เห็นต่างจากรัฐไว้วางใจ ประกอบกับมีหน่วยงานหลักเป็นเครื่องมือในการขับเคลื่อนเพิ่มขึ้นหลายหน่วยงานลงไปประสานการปฏิบัติกับทุกภาคส่วนแบบเต็มพื้นที่มีความถี่มากขึ้น

 
โดยให้ผู้เห็นต่างจากรัฐที่หลบหนี ได้ออกมารายงานเข้าร่วมโครงการพาคนกลับบ้านอย่างจริงใจและจริงจัง โดยการสร้างความเชื่อมั่น ความศรัทธา และความเชื่อใจเจ้าหน้าที่รัฐให้เกิดขึ้นแก่ผู้เห็นต่างจากรัฐที่หลบหนีออกจากหมู่บ้านมาอยู่กับครอบครัวอย่างปกติสุข พร้อมทั้งการช่วยเหลือในการปลดเปลื้องพันธะทางจิตใจ และพันธะทางกฎหมาย ควบคู่กับการพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้เห็นต่าง และครอบครัว เช่น การส่งเสริมรายได้ การฝึกอาชีพ ซึ่งรวมยอดผู้เข้าร่วมโครงการพาคนกลับบ้านจนถึงขณะนี้รวม 3,000 คน

สำหรับการดำเนินงานโครงการพาคนกลับบ้าน เพื่อสร้างความเข้าใจ ลดความหวาดระแวง และฟื้นคืนความไว้วางใจ ความเชื่อมั่นต่อการปฏิบัติของเจ้าหน้าที่ โดยการขับเคลื่อนประสานการปฏิบัติกับทุกภาคส่วนให้แก่ผู้เห็นต่างจากรัฐที่ต้องการยุติการใช้ความรุนแรง โดยให้ศูนย์ปฏิบัติการอำเภอเป็นศูนย์กลางในการเปิดโอกาสให้แก่ผู้เห็นต่างจากรัฐได้กลับมาใช้ชีวิตอย่างปกติสุข เพื่อสร้างสภาวะแวดล้อมที่เหมาะสม เอื้อต่อการพูดคุยเพื่อสร้างสันติสุขอย่างยั่งยืนต่อไป




 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น