เมืองไทย 360 องศา
พิจารณาจากอาการและอารมณ์ของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ เมื่อถูกถามถึงคำขออนุญาตประชุมพรรคประชาธิปัตย์ที่ตอบแบบทันควัน ว่า “ไม่อนุญาต” และยังแสดงท่าทีจะห้ามไม่ให้บรรดาสมาชิกพรรคหยุดเคลื่อนไหวแสดงความเห็นกันในเวลานี้อีกด้วย
จากท่าทีและอารมณ์ดังกล่าวย่อมมองออกได้ทันทีว่า เขาและคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ซีเรียสเกี่ยวกับเรื่องแบบนี้ ขณะเดียวกัน เชื่อว่า สาเหตุที่ต้องตัดบทกันตั้งแต่ต้นมือก็น่าจะเป็นได้ มองเห็นสัญญาณบางอย่างที่อาจจะมีการสอดใส้เข้ามา และเพื่อประกันความเสี่ยงไม่ให้ลุกลามจนต้องปวดหัวไปมากกว่านี้ก็ต้องเด็ดขาดเอาไว้ก่อน
อย่างไรก็ดี หากพิจารณาเริ่มจากพรรคประชาธิปัตย์ก่อนที่ร้องขออนุญาตประชุมพรรคเป็นการด่วนในช่วงนี้ เชื่อว่า ต้องการจัดการกับปัญหาภายในเป็นการเร่งด่วน หลังจากเกิดปัญหาขัดแย้งกันอย่างหนักกับทีมผู้บริหารกรุงเทพมหานคร ที่นำโดย ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าราชการกรุงเทพฯ จนมีการเปิดโปงสาวไส้กล่าวหากันเรื่องการทุจริตออกมาอย่างต่อเนื่อง จนกระทั่งถึงขั้นจะขับออกจากพรรค ขณะเดียวกัน ทางฝ่าย มรว.สุขุมพันธุ์ ก็ตอบโต้ด้วยการขู่จะฟ้องร้อง
ขณะเดียวกัน ยังมีเรื่องที่ต้องจับตาแบบต่อเนื่อง ก็คือ ข่าวที่ว่า “ระดับขาใหญ่” อย่าง สุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตเลขาฯ กปปส. ที่แม้ยืนยันว่าได้หันหลังให้กับพรรคประชาธิปัตย์อย่างเด็ดขาดแล้ว ไม่หวนกลับสู่วงการเมืองอีกก็ตาม แต่ตามข่าวก็ยังระบุว่าเขาหนุนหลัง “ชายหมู” ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ถึงขนาดอาจจะมีการตั้งพรรคการเมืองใหม่ เพื่อรองรับการเลือกตั้งในปี 60 กันเลยทีเดียว เพียงแต่กระแสมันแป้ก เพราะตัวบุคคลมันปลุกไม่ขึ้นจึงเงียบไป
แต่หลังจากนั้นในเวลาไล่เลี่ยกัน ก็มีข่าว สุรินทร์ พิศสุวรรณ ลูกหม้อเก่าในสายใต้ อดีตเลขาธิการอาเซียนลงชิงเก้าอี้หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ และพร้อมเป็นนายกฯอีกด้วย นั่นก็หมายความว่า ต้องการท้าชิงกับ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคคนปัจจุบัน และเจ้าตัวก็ยังไม่ปฏิเสธ แน่นอนว่า เรื่องแบบนี้ย่อมไม่ธรรมดา และถือว่าเป็นเรื่องที่มีการ “วางแผน” อะไรบางอย่าง และสำหรับพรรคเก่าแก่ที่จัดเจนในเรื่องการวางหมากวางเกมจัดการกับฝ่ายตรงข้ามถือว่าไม่ธรรมดา
อย่างไรก็ดี สำหรับ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ กล่าวภายหลังรับทราบว่าไม่ได้รับอนุญาตให้ประชุมพรรคว่า อาจต้องใช้วิธีหารือกันเป็นการภายในแทน แต่ก็เชื่อว่าในความเป็นจริงแล้วคงไม่สามารถดำเนินการอะไรได้ เพราะเมื่อไม่อาจประชุมได้ มติที่เป็นทางการมีกฎหมายรองรับก็คงทำไม่ได้ แต่ขณะเดียวกันหากมองในแง่บวกเมื่อออกมาแบบนี้ก็ทำให้ความขัดแย้งภายในถูกกดเอาไว้ชั่วคราว อย่างน้อยก็ในช่วงระยะเวลาสองสามเดือนนี้ระหว่างที่รอร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ออกมาก่อน เรื่องราวก็น่าจะซาลงไป
หันมาพิจารณาอีกด้าน ในมุมของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ในรับรองว่าในช่วงสถานการณ์ตอนนี้ต้องอยู่ในภาวะเคร่งเครียดมากกว่าเดิมแน่นอน หลังจากหลายเรื่องผลงานยังไม่เข้าเป้า ยังไม่สมราคาตามที่เคยรับปากกันก่อนหน้านี้ ยิ่งเวลาผ่านไปนานเท่าไหร่มันก็ยิ่งกดดัน โดยเฉพาะแรงกดดันจากบรรดาที่เคยเป็น “แฟนคลับ” นั่นแหละ และมีอยู่เรื่องเดียวเท่านั้นแหละที่จะรักษา หรือทำลายศรัทธาตัวเขามากที่สุดก็คือเรื่อง “ปากท้อง” หากไม่มีแนวโน้มดีขึ้นรับรองว่าเขาจะลำบากกว่าเดิมแน่นอน และยิ่งเวลานี้มีการเคลื่อนไหวของเกษตรกรชาวสวนยางพาราเรียกร้องให้รัฐบาลเร่งช่วยเหลือราคาไม่ให้ตกต่ำลงไปกว่านี้ โดยมีการกล่าวกันว่าเวลานี้ราคาร่วงลงไปถึง 4 โลร้อยแล้ว
ดังนั้น หากพิจารณาจากบรรยากาศในเวลานี้ก็ต้องบอกว่าซีเรียสมากกว่าเดิม และนี่คือเหตุผลว่าทำไมถึงต้องรีบตัดบทปฏิเสธไม่ยอมให้พรรคประชาธิปัตย์ได้ประชุมพรรคตามข้ออ้างที่ว่าเพื่อสะสางปัญหาภายใน อย่างไรก็ดี หากมองเข้าไปในหัวใจของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จริง ๆ ว่า เหตุผลที่แท้จริงก็คือต้องการห้ามไม่ให้พรรคเพื่อไทยของ ทักษิณ ชินวัตร ได้ประชุมพรรคในช่วงนี้มากกว่า เพราะหากอนุญาตให้ประชาธิปัตย์ประชุมพรรคได้ ก็ต้องเปิดทางให้อีกพรรคทำได้เช่นเดียวกัน และสิ่งที่ต้องหงุดหงิดตามมาอีก ก็คือ “วาระสอดไส้” มีกิจกรรมแอบแฝงก็อาจเกิดขึ้นอีก
เพื่อตัดไฟ ตัดความรำคาญก็ต้องเบรกพรรคประชาธิปัตย์เอาไว้ก่อน แต่ความหมายก็คงต้องการกระทบชิ่งไปถึงพรรคเพื่อไทย ซึ่งที่ผ่านมาก็หงุดหงิดกับเรื่องที่บรรดาเครือข่ายในรูปแบบต่าง ๆ ออกมาก่อกวน เช่น การตรวจสอบ “ส่องไฟฉาย” หาทุจริตที่อุทยานราชภักดิ์จนต้องเสียเวลาไปพักใหญ่ ล่าสุด เพิ่งสั่งสกัดการแจกจ่ายปฏิทินปีใหม่ที่มีรูป ทักษิณ ชินวัตร ที่มีสถานะไม่ต่างจากโจรหนีคดีในสถานที่ราชการ แต่จนถึงบัดนี้ก็ยังมีความพยายามบิดเบือนให้เห็นว่า คสช. เผด็จการบ้าอำนาจสั่งห้ามแม้กระทั่งแจกปฏิทินปีใหม่ ซึ่งเรื่องแบบนี้ทางฝ่ายรัฐบาล และ คสช. ยังชักช้ายังไม่ได้ชี้แจงโต้แย้งเครือข่ายของพรรคเพื่อไทยในพื้นที่ได้อย่างกว้างขวางเพียงพอ
ดังนั้น เมื่อพิจารณาจากบรรยากาศ จากสารพัดปัญหาที่เริ่มรุมเร้าเข้ามา หลายอย่างเริ่มไม่เป็นใจ มันก็ย่อมเป็นไปไม่ได้ที่จะเพิ่มความเสี่ยงขึ้นไปอีก และอย่าได้แปลกใจที่ต้องรีบปฏิเสธเสียงเข้มพรรคการประชุม และแม้ว่าหากมองลึกๆแล้วเป้าหมายอาจจะไม่ใช่ประชาธิปัตย์ แต่ต้องส่งสัญญาณเข้มไปถึงพรรคเพื่อไทยของ ทักษิณ ชินวัตร มากกว่า ซึ่งอย่างหลังให้ขยับไม่ได้เป็นอันขาด !!