“วิลาศ” มาตามนัด ยื่น สตง.-ป.ป.ช. สอบ 3 ปมฉาว “ อมร กิจเชวงกุล”ยัน “มาร์ค”ไม่เคยได้รับคำชี้แจงจาก”ชายหมู” ระบุหากผลสอบชี้ผิด คสช.ต้องรับผิดชอบฐานดองคำร้องขอยกเลิกคำสั่งห้ามพรรคการเมืองประชุม ด้านรองผว.สตง.รับเดินหน้าสอบสวนโดยเร็ว ส่วนปมราชภักดิ์ต้องขอดูข้อกฎหมายก่อน
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ (6 ม.ค.) นายวิลาศ จันทร์พิทักษ์ อดีต ส.ส.กทม. พรรคประชาธิปัตย์ เดินทางไปยังสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน(สตง) เพื่อเข้ายื่นหนังสือต่อผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน ให้ตรวจสอบ นายอมร กิจเชวงกุล รอง ผู้ว่ากทม.ซึ่งเคยดำรงตำแหน่งกรรมการผู้อำนวยการบริษัทกรุงเทพธนาคม จำกัด ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจสังกัด กทม. ฐานกระทำผิดทุจริตต่อหน้าที่หรือกระทำผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการใน 3 กรณี ประกอบด้วย 1. การจัดซื้อจัดจ้างกล้อง ซีซีทีวี ซึ่งไม่ได้รับความร่วมมือในการขอเอสารจาก กทม.มีพฤติกรรมบ่ายเบี่ยงหรือปกปิดข้อมูลเกี่ยวกับเอกสารสัญญา โดยในขณะนี้มีการติดตั้งไปเพียงแค่ 12,000 ตัวจากที่ประชาสัมพันธ์ว่าจะติดตั้ง 47,000 ตัวเท่านั้น
2 .กรณี กทม.โดยบริษัทกรุงเทพธนาคม จำกัด ซึ่งมีนายอมรเป็นกรรมการผู้อำนวยการขณะนั้น ต่อสัญญาจ้างเดินรถไฟฟ้าบีทีเอสอีก 30 ปี ทั้ง ๆ ที่ยังเหลือสัญญาอีก 17 ปี น่าจะกระทำผิดกฎหมายส่อว่าจะทุจริต 3. โครงการติดตั้งไฟประดับบริเวณลานคนเมืองกทม.วงเงิน 39.5 ล้านบาท พบว่าบริษัทที่ได้งานคือ บริษัทคิวริโอ ทัวร์ แอนด์ แทรเวล ซึ่งเป็นบริษัทเดียวกับที่เคยรับจัดทัวร์ศึกษาดูงานของสมาชิกสภาเขต ณ ประเทศสาธารณรัฐอิตาลี สมาพันธรัฐสวิส และสหพันธ์สาธารณรัฐประชาชนจีน ในงบปี 2554 มีพฤติกรรมร่วมรู้เห็นในการทุจริตซื้อตั๋วเครื่องบินเบิกเกินราคาและทำผิดระเบียบกระทรวงการคลังเกี่ยวกับการเดินทางด้วยสายการบินไทย
นอกจากนี้ยังเชื่อว่ามีการล็อคเสป็คเพราะบริษัทสรรค์สร้างซึ่งเป็นบริษัทคู่เทียบเพิ่งจดทะเบียนเพิ่มวัตถุประสงค์ในการประดับไฟเมื่อวันที่ 2 ธ.ค.58 ก่อนการยื่นซองประกวดราคาในวันที่ 7 ธ.ค. 2558 เพียง 5 วัน
จากนั้นนายวิลาศได้เดินทางไปยื่นหนังสือร้องเรียนเพิ่มเติมกับคระกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ปปช.) ทั้ง 3 กรณีอีกช่องทางหนึ่งด้วย โดยนายวิลาศ ยืนยันว่า การดำเนินการครั้งนี้ไม่เกี่ยวกับการเมืองหรือความขัดแย้งกับใคร แต่ทำหน้าที่ตรวจสอบในฐานะอดีตประธานกรรมาธิการ ป.ป.ช. สภาฯ พร้อมกับยืนยันว่าพรรคประชาธิปัตย์ไม่เคยได้รับคำชี้แจงใด ๆ จากม.ร.ว.สุขุมพันธ์ บริพัตร ผู้ว่า กทม.ตามที่ออกมาระบุ โดยย้อนถามกลับไปว่า “ชี้แจงมาตอนชาติไหน ขนาดหัวหน้ายังติดต่อไม่ได้เลย แล้วไปชี้แจงอยู่ในห้องกับใครดังนั้นต้องให้ สตง.ตรวจสอบจะได้รู้ว่าใครต้องเข้าคุกบ้าง”
นายวิลาศ กล่าวว่า ในส่วนของพรรคได้ดำเนินการตรวจสอบเพื่อรักษาผลประโยชน์ประชาชนอย่างเต็มที่ตามที่สัญญาไว้กับประชาชนว่าจะต้องรับผิดชอบคนของพรรค แต่ขณะนี้ คสช.ยังไม่ตอบหนังสือที่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ขอให้ทบทวนคำสั่ง คสช.ที่ 57 เพื่อเปิดโอกาสให้พรรคการเมืองทำกิจกรรมได้ตามปกติจึงทำให้พรรคยังไม่สามารถดำเนินการอะไรได้
“ดังนั้นหากผลการตรวจสอบเรื่องนี้พบว่ามีปัญหา คสช.ก็มีส่วนต้องร่วมรับผิดชอบด้วย เนื่องจากเป็นผู้กำหนดกติกาที่ทำให้พรรคเปิดประชุมไม่ได้”
ด้านนายประจักษ์ บุญยัง รองผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน กล่าวภายหลังรับหนังสือว่า จะรีบดำเนินการโดยเร็วที่สุด เพราะเป็นโครงการที่ใช้เงินสูง โดยเฉพาะเรื่องการประดับไฟ ซึ่งจะพิจารณาทั้งเรื่องการจัดซื้อจัดจ้าง ใช้จ่ายเงินตรงตามวัตถุประสงค์หรือไม่ หากพบว่ามีการกระทำผิดก็ส่งต่อไป ป.ป.ช. และคตร.ซึ่งมีการพิจารณาส่งรายชื่อบุคคลที่ส่อว่าทุจริตไปยัง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่มีพล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา รมว.ยุติธรรมเป็นประธานด้วย
ส่วนประเด็นอุทยานราชภักดิ์หลังมีการเปลี่ยนชื่อแล้วจะมีผลในทางกฎหมายกับการตรวจสอบหรือไม่นั้น นายประจักษ์ กล่าวว่าจะต้องพิจารณาข้อกฎหมายก่อน หลักคือถ้าเกี่ยวกับเงินแผ่นดิน สตง.สามารถตรวจสอบได้ ส่วนผลสรุปของกระทรวงกลาโหมที่ระบุว่าไม่มีการทุจริตนั้นยังไม่ใช่บทสรุปเป็นเพียงส่วนประกอบหนึ่งของข้อมูลที่ สตง.จะต้องรวบรวมและพิจารณาตามข้อเท็จจริงต่อไป