อดีต ส.ส.กทม.พรรคประชาธิปัตย์ สับรองผู้ว่าฯ กทม.โกหก ยันไม่ได้รายละเอียดสัญญาจัดซื้อกล้องวงจรปิด ชี้ยิ่งปกปิดยิ่งส่อโกง ท้าถ้าบริสุทธิ์ใจต้องเปิดให้หมด แนะรีบลาออกจากพรรคแล้วมาฟ้องกลับ ปัดไปแถลงที่ศาลาว่าการเหตุไม่ใช่ข้าราชการ สวนทำไมไม่กล้าตอบรับดีเบตไหนทีวี แฉบริษัทคู่เทียบเสนอราคาติดไฟ 39 ล้านเพิ่งขอจดทะเบียนก่อนยื่นซองประมูลแค่ 5 วัน
วันนี้ (5 ม.ค.) นายวิลาศ จันทร์พิทักษ์ อดีต ส.ส.กทม.พรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะอดีตประธานกรรมาธิการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ สภาฯ กล่าวถึงกรณีนายอมร กิจเชวงกุล รองผู้ว่าฯ กรุงเทพมหานคร (กทม.) แถลงชี้แจง 3 โครงการบริหารของ กทม.ส่อว่าไม่โปร่งใสว่า กรณีการจัดซื้อจัดจ้างและติดกล้องซีซีทีวี กทม.ที่นายอมรระบุนั้น ไม่ตรงกับความจริงที่บอกว่า ได้ส่งเอกสารสัญญาการจัดซื้อจัดจ้างกล้องซีซีทีวีให้ตนทั้งหมดแล้วเป็นการโกหก เพราะตนทำหนังสือขอรายละเอียดสัญญาจัดซื้อจัดจ้างรวมถึงสัญญาเกี่ยวเนื่องกับซีซีทีวีทั้งหมดตั้งแต่ปีงบประมาณ 2556 ครั้งแรกในวันที่ 22 ต.ค. 2558 แต่ กทม.ส่งสัญญาจ้างเหมาของปี 56-58 มาให้ โดยไม่มีรายละเอียดของสัญญาจัดซื้อจัดจ้าง ไม่มีทีโออาร์ ไม่มีราคา ไม่มีคุณสมบัติของกล้อง ไม่มีชื่อบริษัทคู่สัญญา บอกแค่ว่ามีกล้องติดตั้ง 11,000 ตัวเศษ
นายวิลาศกล่าวต่อว่า ดังนั้นในวันที่ 26 พ.ย. 2558 ตนจึงทำหนังสือขอเอกสารรายละเอียดสัญญาจัดซื้อจัดจ้างทั้งหมด โดยแจ้งว่าเอกสารที่ กทม.ส่งมาให้ไม่สามาถใช้ตรวจสอบอะไรได้ตามที่ กทม.ระบุว่าพร้อมให้ตรวจสอบ เพราะ กทม.ระบุเองว่า ติดตั้งกล้องไปแล้ว 47,000 ตัวเศษแต่กลับไม่มีรายละเอียดการทำสัญญาจัดซื้อจัดจ้างกล้องทั้งหมด จากประสบการณ์ที่ทำการตรวจสอบ พฤติการณ์ปกปิดข้อเท็จจริงเช่นนี้ส่อว่ามีการทุจริต ยิ่งแถลงล่าสุดเมื่อ 4 ม.ค.ว่าส่งมอบเอกสารให้หมดแล้วนั้นและเหมาว่าตนเข้าใจผิด โดยระบุว่ากล้องส่วนที่เหลือมีการซื้อมาก่อนตั้งแต่ปี 2552 ซึ่งไม่น่าตรงกับข้อเท็จจริง เพราะนโยบายที่ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ที่ลงสมัครผู้ว่าฯ กทม.รอบสองในปี 2556 เพิ่งจะประกาศนโยบายติดกล้องซีซีทีวี เน้นเรื่องความปลอดภัย จึงขอให้ กทม.พูดความจริง หากบริสุทธ์ใจจริงก็เปิดเผยสัญญาทั้งหมด อย่าโปร่งใสแต่ปากผ่านสื่อที่พร้อมให้ตรวจสอบเพื่อสร้างภาพ
ส่วนที่นายอมรระบุว่า อย่าอ้างพรรคมาตรวจสอบนั้น นายวิลาศกล่าวว่า ตนพูดเสมอว่าตรวจสอบในฐานะอดีตประธาน กมธ.ป.ป.ช. สภาฯ ไม่เกี่ยวกับพรรค จึงอย่าโยงถึงพรรค ส่วนที่นายอมรระบุว่าท้าจะลาออกจากสมาชิกพรรคและฟ้องกลับตนนั้นก็ขอให้ลาออกและรีบดำเนินการเพราะเป็นสิทธิ และที่บอกว่าถ้ามีอะไรให้ไปถาม หรือแถลงที่ศาลาว่าการ กทม.นั้น ตนไม่ใช่ข้าราชการ กทม.จึงไม่มีอำนาจใดที่จะไปแถลงที่นั่น ถามว่ามีโทรทัศน์หลายช่องขอให้ไปดีเบตตอบข้อซักถาม ทำไมไม่กล้าตอบรับ กลัวอะไร
สำหรับกรณีโครงการต่อสัญญารถไฟฟ้าบีทีเอสนั้น นายวิลาศกล่าวว่า กทม.ลงทุนสร้างรางและสถานี บริษัท บีทีเอสฯ ลงทุนจัดหาหรือซื้อรถไฟฟ้ามาใช้ ถามว่าสององค์กรลงทุนกันคนละส่วน แบ่งงานรับผิดชอบถือเป็นการร่วมลงทุนหรือไม่ ขอให้ไปตอบเรื่องนี้ใน ป.ป.ช.เอง
“ส่วนที่ปฏิเสธว่าไม่มีการฮั้วในโครงการติดไฟแอลอีดี 5 ล้านดวงวงเงิน 39.5 ล้านบาทนั้น ผมไม่สนใจเรื่องความเหมาะสมหรือความคุ้มค่าใดๆ แต่สนใจแค่เรื่องการทุจริตคอร์รัปชัน นอกจากข้อสังเกตของ สตง.เรื่องบริษัท คิวริโอ ทัวร์แอนแทรเวิล จำกัด เพิ่งขออนุญาตจดทะเบียนทำธุรกิจตกแต่งไฟในวันที่ 7 ก.ย. 2558 นั้น ยังพบพฤติการณ์ส่อทุจริตการฮั้วงานอีกคือ พบว่า บริษัท สรรค์สร้าง จำกัด ซึ่งเป็นคู่เทียบที่เสนอราคาแข่งในงานติดไฟนี้ ก็เพิ่งจดทะเบียนขออนุญาตทำธุรกิจตกแต่งไฟเช่นกัน คือขอจดทะเบียนในวันที่ 2 ธ.ค. 2558 แล้วยื่นซองเพื่อประมูลงานแข่ง ในวันที่ 7 ธ.ค. ชี้ให้เห็นว่าเป็นการจดทะเบียนเพื่อมาเป็นบริษัทคู่เทียบในการประมูลเท่านั้น ไม่ใช่การจดทะเบียนเพื่อประมูลให้ได้งานอย่างนี้ แล้วอย่างนี้จะไม่ล็อกสเปก หรือฮั้วได้อย่างไร” นายวิลาศกล่าว