“วิลาศ” เตรียมยื่น ป.ป.ช.- สตง. สอบ กทม. บริหารงานไม่โปร่งใส ทั้งการติดกล้องซีซีทีวี ขยายสัญญาเดินรถไฟฟ้าบีทีเอส ประดับไฟ 39 ล้านบาท ระบุ ให้บริษัทท่องเที่ยวที่ทำทัวร์ กับ กทม. รับงาน แถมมีพิรุธ เพิ่มวัตถุประสงค์ทำธุรกิจ ก่อนเข้าประมูลประดับไฟ พร้อมท้า “สุขุมพันธุ์” เปิดสัญญาจ้าง
นายวิลาศ จันทรพิทักษ์ อดีต ส.ส. กรุงเทพมหานคร พรรคประชาธิปัตย์ แถลงข่าวถึงการตรวจสอบการทุจริตในการบริหารงานของกรุงเทพมหานคร (กทม.) ว่า ในวันที่ 6 มกราคมนี้ ตนจะยื่นเรื่องการทุจริตของ กทม. ต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) และสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) เพื่อให้ตรวจสอบการบริหารงานที่ไม่โปร่งใส 3 เรื่อง ได้แก่ เรื่องการติดตั้งกล้องโทรทัศน์วงจรปิด (ซีซีทีวี) ที่ทาง กทม. อ้างว่า มีการติดตั้งจำนวน 47,000 กว่าตัว แต่มีการติดตั้งจริง 11,000 ตัว และเมื่อขอเอกสารสัญญาจัดซื้อจัดจ้าง ทาง กทม. กลับส่งเอกสารที่ไม่มีรายละเอียดเกี่ยวกับการจัดซื้อจัดจ้างมาให้ ซึ่งถือว่าเป็นพฤติกรรมที่ทุจริต
เรื่องต่อมา การขยายสัญญาเดินรถไฟฟ้าบีทีเอส ออกไปอีก 30 ปี ทั้งที่สัญญาเดิมยังเหลืออีก 17 ปี หรือหมดอายุในเดือนธันวาคม พ.ศ. 2572 ซึ่งการต่อสัญญาครั้งนี้ไม่ปฏิบัติตาม พ.ร.บ. การให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ พ.ศ. 2556 (พ.ร.บ.ร่วมทุน) และถือว่าเข้าข่ายกระทำผิดกฎหมาย เนื่องจากจะต้องได้รับความเห็นชอบจาก รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย แต่ครั้งนี้กลับไม่ได้ขอความเห็นชอบแต่อย่างใด รวมทั้งยังผิด พ.ร.บ. ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2542 (พ.ร.บ. ฮั้ว) เพราะไม่มีการเปิดซองประมูลราคา
นายวิลาศ กล่าวว่า เรื่องโครงการประดับไฟตกแต่งที่ลานคนเมือง หน้าศาลาว่าการ กทม. จำนวน 5 ล้านดวง ซึ่งจะติดตั้งในระหว่างวันที่ 30 ธันวาคม 2558 - 31 มกราคม 2559 ซึ่งมีมูลค่าสูงถึง 39.5 ล้านบาทนั้น จากการตรวจสอบพบว่า บริษัทที่รับทำ คือ บริษัท คิวริโอ ทัวร์ แอนด์ แทรเวิล จำกัด ซึ่งที่ผ่านมาเป็นบริษัทที่รับทำทัวร์ตลอด และเป็นที่รู้จักกันในนาม “ทัวร์ก้อย” เพราะรับทำทัวร์ให้แก่ กทม. ตลอด แต่อยู่ดี ๆ เมื่อวันที่ 7 กันยายน 2558 ทางบริษัทก็ไปแจ้งต่อกรมทะเบียนการค้า เพื่อขอเพิ่มวัตถุประสงค์ในการประกอบการทำธุรกิจ คือ รับตกแต่งไฟและขายหลอดไฟประดับ และจัดจำหน่ายเครื่องดนตรีทุกประเภท แสดงให้เห็นว่า มีการพูดคุยว่าจะต้องมารับงานดังกล่าว เนื่องจาก กทม. ประกาศเชิญชวนให้บริษัทมายื่นซองประมูลทำโครงการประดับไฟตกแต่งในวันที่ 26 พฤศจิกายน และเปิดซองประมูลในวันที่ 17 ธันวาคม โดยที่บริษัทดังกล่าวเข้ามาทำงานทำงานทันทีทั้งที่ยังไม่ทำสัญญา และจะต้องมีการประกาศผู้ที่ได้รับการประมูลในวันที่ 22 ธันวาคม ซึ่งในเรื่องนี้ นายอมร กิจเชวงกุล รองผู้ว่าฯ กทม. ออกมาระบุว่า ไม่เป็นไร ไหน ๆ บริษัทนี้ก็ได้งานอยู่แล้ว
“ขอตั้งข้อสังเกตว่า งานนี้ถ้าไม่ติดต่อกัน หรือฮั้วกันไว้ก่อน ไฟจำนวน 5 ล้านดวง ไม่ใช่เป็นสิ่งที่หามาได้ทันเวลา และจากที่ผมไปตรวจสอบดู พบว่า มีไฟประดับ 3 แบบ โดยแบบแรกเป็นสายขายเป็นม้วน ม้วนละ 500 ดวง ราคาขายปลีก 550 บาท ส่วนแบบที่สองเป็นแบบท่อมีหลอดไฟ ขายราคาเมตรละไม่เกิน 60 บาท ส่วนอีกแบบหนึ่งยังไม่พบตามท้องตลาด แต่เชื่อว่าราคาไม่ต่างกันมาก และจากการคำนวณการใช้ไฟ 5 ล้านดวง ต้องใช้ความยาว 1 แสนเมตร หรือ 100 กิโลเมตร เทียบเป็นระยะทางคือจากกรุงเทพฯ ถึง ถนนสายธนบุรี - ปากท่อ ซึ่งผมไม่สามารถนับว่าจำนวนครบ 5 ล้านดวงหรือไม่ แต่ถึงจะครบ 5 ล้านดวง งบประมาณก็ไม่น่าถึง 39.5 ล้านบาท แค่หลอดไฟไม่รวมค่าแรง ก็เพียง 5 ล้านบาทเศษ ถามว่าใช้งบประมาณเกินไปหรือไม่ ถ้า ผู้ว่าฯ และรองผู้ว่าฯ บริสุทธิ์ใจจริง ขอให้นำสัญญาว่าจ้างมากาง เพื่อให้ตรวจสอบความโปร่งใส ซึ่งผมจะได้ช่วยตรวจสอบให้ และท่านจะได้ฟอกตัวเองด้วย”
นายวิลาศ กล่าวว่า จากการตรวจสอบ บริษัทดังกล่าวเคยรับงานจัดทัวร์ของ กทม. ในช่วงเดือนมกราคม - มีนาคม 2554 โดยเป็นสมาชิกสภาเขต จำนวน 362 คน เดินทางไปยุโรป ฝรั่งเศส อิตาลี เยอรมนี 7 วัน ส่วนผู้ช่วยสมาชิกสภาเขต จำนวน 244 คน เดินทางไปกรุงปักกิ่ง ประเทศจีน 6 วัน 5 คืน ซึ่งตามระเบียบการเดินทางของราชการจะต้องใช้สายการบินไทย แต่ปรากฏว่า ทัวร์ของทั้ง 2 โครงการได้ซื้อตั๋วจากสายการบินศรีลังกาแอร์ โดยอ้างว่าในระหว่างวันเดินทางที่นั่งของสายการบินไทยเต็ม ซึ่งในขณะที่ตนเป็นประธานคณะกรรมาธิการป้องกันและปราบปรามการทุจริตมิชอบ สภาผู้แทนราษฎร ได้ตรวจสอบการทุจริตของ กทม. ซึ่งตัวแทนศรีลังกาแอร์ได้ชี้แจงว่า ได้ขายตั๋วเดินทางจาก กทม.- มิลาน ในราคา 28,000 - 29,000 บาท แต่บริษัทกลับนำตั๋วไปเก็บกับ กทม. ในราคา 39,000 บาท ขณะที่ถ้าเป็นราคาของการบินไทยในชั้นประหยัด จะอยู่ที่ราคา 38,000 บาท ชั้นธุรกิจอยู่ที่ราคาหนึ่งแสนบาท
ส่วนทริปผู้ช่วยฯเดินทางไปจีน ราคาของการบินไทยในชั้นประหยัดอยู่ที่ 17,000 บาท ชั้นธุรกิจ ราคา 31,000 บาท ส่วนตั๋วของศรีลังกาในชั้นประหยัดอยู่ที่ 16,000 บาท แต่บริษัทกลับนำไปเก็บในชั้นประหยัดราคา 21,000 บาท และราคาชั้นธุรกิจ 52,800 บาท รวมเบ็ดเสร็จทุจริต 5 ล้านกว่าบาท ซึ่งตนคิดว่าบริษัทอาจไม่ได้เงิน แต่อาจเป็นหน่วยงานที่ได้ แต่บริษัทจะปฏิเสธไม่รู้ไม่ได้ และจะถือว่ารับรู้รับทราบ และมีส่วนร่วมในการกระทำผิด และอยู่ดี ๆ ก็มารับงานประดับไฟ
ด้าน นายพรชัย เทพปัญญา สมาชิกสภา กทม. แบบสรรหา แถลงว่า บริษัทฯ กำลังจะจัดทำทัวร์ให้ไปประเทศโปรตุเกส ซึ่งปกติเจ้าหน้าที่จัดทำเองจะใช้งบประมาณล้านกว่าบาท แต่ถ้าให้บริษัทฯ ทำราคาจะสูงขึ้น ซึ่งตนจะติดตามตรวจสอบโดยยื่นเป็นกระทู้ในสมัยการประชุมสภา กทม. ที่จะเกิดขึ้นเร็ว ๆ นี้