xs
xsm
sm
md
lg

ปี 2559 อ่วม! ผลงานปากท้อง-ปฏิรูปเหลว เสี่ยงล่องจุ๊นกันทั้งคณะ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


เมืองไทย 360 องศา

กลายเป็นว่าเริ่มมีการคาดการณ์ตรงกันมากขึ้นเรื่อยๆ ว่าในปี 2559 การคาดการณ์เรื่องเศรษฐกิจในปีใหม่นี้มีแนวโน้มจะยังไม่คลี่คลาย นั่นก็หมายความว่ายังมีปัจจัยเสี่ยงหลายเรื่องยังคงมีอยู่ หลายปัจจัยยังมีแนวโน้มหนักหนาสาหัสกว่าปีที่แล้วด้วยซ้ำไป นั่นคือยังมีการคาดการณ์ภาวะเศรษฐกิจโลกยังไม่สดใส โดยเฉพาะประเทศคู่ค้าสำคัญของเราก็คือทั้งเศรษฐกิจในประเทศจีน ยุโรป สหรัฐฯ ก็ยังชะลอ ก็ย่อมส่งผลกระทบอย่างเลี่ยงไม่พ้น เพราะเรายังต้องพึ่งพาการส่งออกเป็นหลัก แม้ว่าในระยะหลังจะหันมากระตุ้นการลงทุนและการใช้จ่ายจากภายในประเทศมากขึ้นก็ตาม แต่ถึงอย่างไรก็ยังอยู่ในขั้นเริ่มต้น เป็นเพียงสัดส่วนที่ยังน้อย

อย่างไรก็ดี การกระตุ้นเศรษฐกิจภายในขึ้นมา แทนที่จะพึ่งพาแต่การส่งออกเป็นหลักเหมือนแต่ก่อน รวมไปถึงการกระตุ้นการลงทุนจากภาครัฐ ที่เวลานี้ทีมเศรษฐกิจของรัฐบาลได้เน้นกระจายการลงทุนไปทั้งธุรกิจขนาดกลางและเล็ก รวมทั้งการลงทุนขนาดใหญ่ที่เร่งการเบิกจ่ายงบประมาณให้เร็วขึ้น ทำให้เศรษฐกิจภายในเริ่มคึกคักมากกว่าเดิม

แต่ก็นั่นแหละในเมื่อเศรษฐกิจของเรายังต้องพึ่งพาการส่งออกเป็นหลัก และเมื่อเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าหลักๆ ยังซบเซาหรือยังโตช้า ก็ย่อมส่งผลกระทบมาถึงไทยอย่างเลี่ยงไม่ได้ นี่แหละถึงได้บอกว่าในปีใหม่ ปี 59 นี้จะทำให้รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) อยู่ในภาวะลำบากไม่ได้ต่างจากปีที่แล้วเท่าใดนัก ในทางตรงกันข้าม หากสถานการณ์ทางเศรษฐกิจยังคงทรงๆ อยู่แบบนี้ยืดเยื้ออีกปี มันก็ย่อมมีผลในทางจิตวิทยา เกิดอาการเบื่อมากขึ้นกว่าเดิม เพราะที่ผ่านมาชาวบ้านมีความหวังและเชื่อมั่นต่อพวกเขาในอัตราที่มีเปอร์เซ็นต์ความคาดหวังสูงมาก ยอมเสียสละแม้กระทั่งการยอมเสียสิทธิ์ให้ถูกควบคุมการเคลื่อนไหวในหลายเรื่อง เพียงเพื่อหวังว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา คณะรัฐบาล และคณะรักษาความสงบจะนำพาชาติไปตามเส้นทางที่หวังและมีการรับปากกันเอาไว้ ชาวบ้านอดทนรอเห็นความสำเร็จที่จะเกิดขึ้นในช่วงเวลาไม่นานนัก แม้ว่าจะรู้ดีว่าบางเรื่องเป็นเรื่องยาก งานหิน เช่นการปฏิรูปบางเรื่อง เช่น การปฏิรูปตำรวจ ปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม เพื่อเป็นหลักประกันให้แก่ชาวบ้านทุกคนในวันหน้า เรื่องแบบนี้เป็นเรื่องยาก แต่ขณะเดียวกัน ภายใต้อำนาจที่ประชาชนให้โอกาสแบบเบ็ดเสร็จกับผู้นำคือ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หากตั้งใจดำเนินการแบบไม่เห็นแก่หน้าใคร ไม่เห็นแก่พวกพ้องญาติมิตร ไม่ลูบหน้าปะจมูก ยากแค่ไหนก็ย่อมทำได้สำเร็จ

อย่างไรก็ดี เท่าที่เห็นในเวลานี้ เมื่อเวลาผ่านมาเกือบสองปีแล้ว การปฏิรูปตำรวจยังไม่ขยับ ไม่มีการเปลี่ยนแปลงในเชิงโครงสร้างการบริหาร การถ่วงดุล ตรวจสอบทุกอย่างยังเหมือนเดิม ที่เห็นก็เป็นเพียงแค่เปลี่ยนแปลงจากตำรวจที่เคยรับใช้ “ระบอบทักษิณ” มาเป็นตำรวจสายตรงของ “พี่ใหญ่” ของ คสช.อย่าง พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคงและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม

การโยกย้ายแต่งตั้งระดับผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติทั้งสองครั้ง ครั้งล่าสุดเป็น พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา จากอาวุโสน้อยที่สุดมานั่งในตำแหน่งโดยยังเหลืออายุราชการอีกถึง 5 ปี รวมถึงตำแหน่งสำคัญอื่นๆ แบบนี้เรียกว่าเป็นการ “กระชับอำนาจ” เปลี่ยนแปลงส่วนหัวจากที่เคยขึ้นตรงเป็น “ตำรวจมะเขือเทศ” กลายมาเป็น “ตำรวจสีเขียว” แม้ว่าที่ผ่านมาทั้ง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ จะอ้างว่าที่ผ่านมาได้มีการปฏิรูปตำรวจในขั้นต้นไปแล้ว แต่รับรองว่าลักษณะเหมือนเช่นที่เป็นอยู่"ไม่ใช่การปฏิรูป"แน่นอน แต่ลักษณะไม่ต่างจาก"การเปลี่ยนถ่ายอำนาจ"จากกลุ่มเก่ามาเป็นกลุ่มใหม่เท่านั้น ซึ่งมีแนวโน้มเป็นลักษณะเดียวกันในทุกหน่วยงานสำคัญ เช่น ในกระทรวงมหาดไทย รวมไปถึงมีการผลักดันคนใกล้ชิด เคยมีเส้นทางเชื่อมโยงถึงกันเข้าไปควบคุมหรือนั่งในเก้าอี้ในองค์กรตรวจสอบ หรือองค์กรอิสระบางหน่วยงาน ที่เห็นเป็นที่สังเกตก็คือ มีการเปลี่ยนแปลงในคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ที่มีการโหวตเลือก พล.ต.อ.วัชรพล ประสารราชกิจ เป็นประธาน ป.ป.ช.คนใหม่ซึ่งมีวาระยาวนานถึง 9 ปี และเมื่อพิจารณาจากตะแนนเสียงโหวตที่มีอย่างท่วมท้น นั่นย่อมหมายความว่าใน ป.ป.ช.ย่อมเป็น “ทีมเดียวกัน” แพกกันอย่างเหนียวแน่น ดังนั้นในเบื้องต้นทำให้หลายคดีที่ระดับบิ๊กของคณะรักษาความสงบแห่งชาติที่กำลังถูกตรวจสอบจะผ่านฉลุยหรือไม่ แต่ที่เห็นก็มีคดีการสลายคนเสื้อแดงปี 53 การจัดซื้อเครื่องตรวจสอบระเบิด จีที 200 การซื้อเรือเหาะ ที่ผ่านแบบไม่ระคายผิวมาแล้ว

นี่ว่ากันเฉพาะเรื่องหลักอย่างเรื่องการปฏิรูปที่ต้องทำตามความต้องการของประชาชน ก็คือการปฏิรูปตำรวจ การปฏิรูประบบราชการ การปฏิรูปพลังงาน เวลานี้เห็นชัดว่า “นิ่ง” อยู่กับที่ และที่สำคัญในการยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ภายใต้คณะที่นำโดย มีชัย ฤชุพันธุ์ ในระยะหลังเริ่มมีคำถามแบบตั้งข้อสังเกตเพิ่มมากขึ้นว่ามี “เจตนาร่างให้ถูกคว่ำ” หรือไม่ เพราะแม้ว่าในบางประเด็นจะมีความก้าวหน้าแปลกใหม่ เช่นในประเด็นการเลือกตั้งแบบสัดส่วนผสม ใช้วิธีลงคะแนนเลือก ส.ส.กาเพียงใบเดียว แต่อีกหลายประเด็นมีความ “อ่อนไหว” เช่นการเปิดทางให้มี “นายกฯ คนนอก” การให้มี ส.ว.มาจากการเลือกตั้งทางอ้อมทั้งหมด และไม่แน่ว่าในอีกไม่นานอาจมีบรรจุประเด็นในแบบคณะกรรมการยุทธศาสตร์ปฏิรูปและการปรองดองแห่งชาติ (คปป.) ที่เคยมีเสียงคัดค้านจนร่างฉบับของบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ต้องถูกคว่ำในสภาปฏิรูปแห่งชาติก่อนหน้านี้มาแล้ว

แม้ว่าร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ฉบับล่าสุดยังไม่เสร็จสมบูรณ์ แต่ก็ถือว่าใกล้เต็มทีแล้ว เพราะมีการกำหนดให้คณะกรรมการยกร่างฯต้องเปิดเผยร่างแรกเพื่อรอการปรับปรุงแก้ไขภายในวันที่ 29 มกราคมปีนี้ แต่เมื่อพิจารณาแบบสลับกันไปมากับบางประเด็นที่อ่อนไหว จึงเริ่มมีคำถามตามมามากขึ้นว่านี่คือเจตนาเขียนให้ประชาชนโหวตคว่ำหรือเปล่า แล้วกลับมา “ตั้งต้นใหม่” โดยคนที่ตัดสินใจได้เบ็ดเสร็จก็คือ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในฐานะหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ

อย่างไรก็ดี คราวนี้หากโชคร้ายรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ไม่ผ่านการลงประชามติจริงๆ ก็ต้องมีคำถามว่าใครต้องรับผิดชอบบ้าง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จะรับผิดชอบแบบไหน เพราะเชื่อว่าสถานการณ์น่าจะเปลี่ยนไปจากคราวก่อนที่ร่างรัฐธรรมนูญฉบับที่ร่างโดยบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ในครั้งนั้นบรรยากาศยังอินอยู่กับ พล.อ.ประยุทธ์ อารมณ์ที่รังเกียจนักการเมือง รังเกียจเครือข่าย ทักษิณ ชินวัตร และยังรู้ว่าหากเลือกตั้งเร็วในตอนนั้นคนพวกนี้ก็จะกลับมาให้เจ็บใจกันอีก ดังนั้นแม้ว่าในการคว่ำร่างรัฐธรรมนูญคราวก่อน หากพิจารณากันให้ลึกๆ แล้วรู้สึกว่ามี “ความผิดปกติ” เกิดขึ้นก็ตาม แต่ก็ดูเหมือนชาวบ้านจะพยายามหรี่ตามองผ่านไป

แต่คราวนี้บรรยากาศน่าจะเปลี่ยนไปจากเดิมมาก โดยเฉพาะเริ่มมีความผิดหวังจากผลงานของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และคณะรักษาความสงบแห่งชาติมากขึ้นกว่าเดิม หลายเรื่องไม่ได้ทำอย่างที่พูดเอาไว้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงหลังเริ่มผิดหวังจากการแก้ปัญหาเศรษฐกิจ ปากท้องไม่ได้ดีขึ้น ในทางตรงข้ามยังย่ำแย่กว่าเดิมเสียด้วยซ้ำ นี่แหละจะทำให้เป็นปัญหากับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และคณะในปีนี้

ปัญหาใหญ่ที่บั่นทอนศรัทธาพวกเขา ก็คือเรื่องเศรษฐกิจปากท้อง ซึ่งแนวโน้มยังหนักหนาสาหัส ที่สำคัญหากเศรษฐกิจยังผูกพันอยู่กับเศรษฐกิจโลกภายนอกยังไม่ดี นั่นก็ย่อมหมายความว่าปีหน้าการส่งออกก็ยังแย่ และยังทำให้ราคาสินค้าเกษตรยังตกต่ำต่อไป ราคาข้าว ราคายาง ราคาปาล์ม ที่เป็นพืชเกษตรหลักยังตกต่ำลงไปอีก ซึ่งสินค้าพวกนี้ส่งผลกระทบต่อรายได้ของคนส่วนใหญ่ในประเทศนี้ถึงกว่าร้อยละ 80 ทีเดียว มันถึงบอกว่านี่คือเรื่องใหญ่ที่สุด มิหนำซ้ำยังประดังมากับเรื่องภัยแล้ง นั่นก็ยิ่งกระทบต่อรายได้ของชาวบ้านหนักยิ่งขึ้นอีก

ขณะเดียวกัน อีกด้านหนึ่งก็ยิ่งทำลายความศรัทธา ทำลายความหวังที่เคยมีต่อรัฐบาลต่อคณะผู้นำชุดนี้ เพราะเมื่อเวลายิ่งผ่านไป คำพูดและคำชี้แจงของรัฐบาลมันจะมีน้ำหนักน้อยลง แม้ว่าจะเป็นความจริงจากปัจจัยที่เหนือความควบคุม เช่น จากเศรษฐกิจภายนอกเป็นต้นเหตุ แต่สำหรับชาวบ้านเขาไม่เข้าใจ เขาไม่ฟัง เพราะเมื่อเวลาผ่านไปนานนับปีแล้วทุกอย่างยังเหมือนเดิม หรือหนักกว่าเดิมมันก็ยิ่งทำให้ความอดทนน้อยลง จากที่เคยหนุนหลังก็กลายมาเป็นเฉยแล้วต่อต้านในที่สุด

ดังนั้นอย่าได้แปลกใจที่ในปีหน้าจากปัจจัยดังกล่าวมาจะทำให้ได้เห็นสารพัดม็อบดาหน้าเข้ามา หรือออกมาเรียกร้องมากขึ้น และที่น่าหนักใจก็คือหากเรื่องเศรษฐกิจปากท้องยังไม่กระเตื้อง และการปฏิรูปไม่ขยับให้เห็นเป็นรูปธรรมมันก็น่าห่วง นอกเหนือจากนี้ยังคาดว่าจะผสมโรงจากเครือข่ายของทักษิณ ชินวัตร ที่ต้องออกแรงขย่มหนักข้อันเต็มเหนี่ยว เพราะตัวหลักอย่างยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ในคดีโครงการรับจำนำข้าวงวดเข้ามา รวมไปถึงคดีเงินกู้ธนาคารกรุงไทยที่คาดว่าจะเข้าใกล้ พานทองแท้ ชินวัตร มากขึ้น สังเกตสัญญาณจากล่าสุดที่ศาลอาญาแผนกคดีทุจริตรับฟ้องคดีที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ฟ้องอดีตผู้บริหารกรมสรรพากร จากเรื่องที่ปกปิดช่วยเหลือเลี่ยงภาษีจากการหุ้นชินคอร์ปของพานทองแท้ และพินทองทา ชินวัตร ตั้งแต่ปี 2549

แม้ว่าเรื่องหลังอาจมองในแบบ “แต้มบวก” ของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และคสช.แต่เมื่อมาผสมโรงกับเรื่องปากท้อง มันก็เป็นเงื่อนไขชั้นดีสำหรับการบิดเบือนปลุกระดม ดังนั้นเรื่องแบบนี้แหละจะเป็นเรื่องร้อนในปีหน้า หากแก้ไม่ตกมันก็เสี่ยง “ล่องจุ๊น” ได้ทั้งทีมเหมือนกัน!!
กำลังโหลดความคิดเห็น