xs
xsm
sm
md
lg

มท.ไฟเขียวท้องถิ่นใช้โซเชียลแซงก์ชัน ฟันเมาแล้วขับ-ไม่ยึดกุญแจ-3 วันฝ่ายมั่นคงยึดรถ 116 คัน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


มหาดไทยส่งหนังสือด่วน! ถึงผู้ว่าฯ ทั่วประเทศ ไฟเขียว “นายอำเภอ - กำนัน - ผู้ใหญ่บ้าน” ร่วมรณรงค์ วัด โรงเรียน ท้องถิ่นกำหนดวิธีปรามชาวบ้าน หยุดขับขี่ยานพาหนะ เน้นโทษทางสังคม “ฟันเมาแล้วขับ” เผยคำสั่ง ไม่ถึงขั้น “ยึดกุญแจรถ” กลางวงสุรา ด้านกองทัพเผยทหาร-ฝ่ายมั่นคง ยึดรถเมาแล้วขับ 3 วัน 116 คัน

วันนี้ (29 ธ.ค.) มีรายงานว่า นายกฤษฎา บุญราช ปลัดกระทรวงมหาดไทย ทำหนังสือด่วนที่สุด ถึงหัวหน้าส่วนราชการสังกัดกระทรวงมหาดไทย ประกอบด้วย ผู้ว่าราชการจังหวัด รองผู้ว่าฯ ปลัดจังหวัด พัฒนาการจังหวัด ป้องกันสาธารณถัยจังหวัด ท้องถิ่นจังหวัด และนายอำเภอ รวมทั้ง กำนัน ผู้ใหญ่บ้านทุกจังหวัด เพื่อกำหนดแนวทางในการป้องกันอุบัติเหตุในเทศกาลปีใหม่ 2559 โดยมีใจความว่า ปลัดกระทรวงมหาดไทยมีวาระสำคัญที่จะขอให้ข้าราชการ และพนักงานปกครองท้องที่ซึ่งได้ปฏิบัติหน้าที่อยู่ทั่วทุกหมู่บ้าน ตำบล อำเภอ และจังหวัด ได้ร่วมกันเป็นผู้นำประชารัฐในการวางมาตรการ และสร้างจิตสำนึกในการร่วมกันแก้ไขปัญหาเร่งด่วนเกี่ยวกับการเสียชีวิตของประชาชน ที่เกิดจากอุบัติเหตุการดื่มสุราแล้วไปขับขี่รถยนต์ หรือยานพาหนะ ทำให้เกิดอันตรายต่อทั้งตนเอง และบุคคลอื่นๆ ซึ่งในแต่ละปีมีผู้เสียชีวิตเป็นจำนวนมาก จึงขอให้พวกเราได้ร่วมกันดำเนินการ ดังนี้

1. ขอให้ นายอำเภอ-พัฒนาการอำเภอ สั่งระดมข้าราชการของอำเภอ โดยมอบหมายให้ปลัดอำเภอ และหรือพัฒนาการตำบล ลงไปพื้นที่ตำบลหมู่บ้านเพื่อร่วมกันประชุมจัดทำประชาคมกับประชาชนในทุกตำบล หมู่บ้าน ร่วมกับกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน กรรมการหมู่บ้าน ในการกำหนดวิธีการห้ามปรามประชาชนในหมู่บ้านไม่ให้ขับขี่ยานพาหนะเมื่อมีการดื่มสุรา หรือเครื่องดื่มที่ผสมแอลกอฮอล์อย่างเด็ดขาด โดยให้ใช้ทั้งวิธีการรณรงค์เชิญชวน และอาจกำหนดเป็นกฎกติกาประจำหมู่บ้าน ชุมชน รวมทั้งอาจให้มีบทลงโทษทางสังคม (Social Sanction) ด้วยก็ได้

2. ขอให้ผู้ว่าราชการจังหวัดจัดประชุมเชิญผู้เกี่ยวข้องทั้งหน่วยงานรัฐ และภาคเอกชน รวมทั้งเชิญผู้นำทุกศาสนาในพื้นที่ให้ร่วมกันระดมสมอง หาวิธีการสนับสนุนมาตรการ หรือการใช้กฎกติกาหมู่บ้านชุมชน ที่ห้ามขับขี่ยานพาหนะเมื่อดื่มสุรา หรือเครื่องดื่มผสมแอลกอฮอล์ ตามข้อ 1 ให้เป็นที่ได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวางทั่วพื้นที่ ทุกหมู่บ้าน ตำบล อำเภอ ในจังหวัดให้ได้

3. การสร้างกระแส และปลุกจิตสำนึกในเรื่องการไม่ดื่มสุรา หรือเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์แล้วไปขับขี่ยานพาหนะนั้น ให้ใช้การสื่อสารเชิญชวนทุกช่องทาง โดยเริ่มตั้งแต่ให้นายอำเภอเขียนจดหมายแจ้งมาตรการ หรือกติกาสังคม ถึงผู้ปกครองนักเรียนทุกครัวเรือนผ่านโรงเรียนในพื้นที่ ทั้งนี้ ขอความร่วมมือผู้บริหารโรงเรียนและสถานศึกษา เข้ามาดำเนินการร่วมด้วย เช่น การออกอากาศผ่านหอกระจายเสียงหมู่บ้าน ชุมชน ซ้ำๆ หลายครั้ง หรือการออกอากาศผ่านสถานีวิทยุชุมชน โทรทัศน์ท้องถิ่น หรือภูมิภาค การใช้สื่อโซเชียลมีเดียทุกชนิด รวมทั้งขอความร่วมมือ อปท.ทุกแห่ง ช่วยประชาสัมพันธ์ ด้วยการติดตั้งป้ายตามย่านชุมชนด้วย

4. มาตรการ และแนวทางตามข้อ 1-3 นั้น ให้ใช้ควบคู่กับการตั้งด่านตรวจร่วมกับหน่วยต่างๆ ตามที่ได้แจ้งแนวทางปฏิบัติไปก่อนหน้านี้แล้วด้วย

มีรายงานว่า เมื่อสัปดาห์ก่อนนี้ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ในฐานะประธานศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนน (ศปถ.) ประชุมผ่านทีวีคอนเฟอเรนซ์กับผู้บริหารระดับจังหวัด โดยมีความเห็นว่า จะให้เข้าไปดูแลประชาชนเหมือนญาติพี่น้อง โดยจะมีเจ้าหน้าที่ตำรวจ ทหาร และฝ่ายปกครองเช่น กำนันผู้ใหญ่บ้าน ลงพื้นที่ หากพบว่ามีเด็กๆ นั่งดื่มสุรา กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน อาจจะขอยึดกุญแจรถไว้ เพื่อป้องกันไม่ให้เขาไปขับขี่ในขณะมึนเมา ไม่ใช่การยึดรถแต่อย่างใด แต่เป็นมาตรการที่ออกมาเพราะความเป็นห่วง ดีกว่าปล่อยให้ขับขี่แล้วค่อยจับระหว่างทาง อย่างไรก็ตาม สำหรับการลดอุบัติเหตุเราจะไม่ตั้งเป้าเป็นตัวเลข แต่จะตั้งเป้าว่า ไม่ให้เกิดอุบัติเหตุและความสูญเสียเลย หากจะมีก็ต้องน้อยที่สุด

เมื่อวานนี้ (28 ธ.ค.) พ.อ.หญิง ศิริจันทร์ งาทอง รองโฆษกกองทัพบก ระบุว่า เลขาธิการคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ได้เน้นย้ำให้เจ้าหน้าที่ทั้งในส่วนของกองกำลังรักษาความสงบเรียบร้อย, ตำรวจ, ฝ่ายปกครอง ให้ปฏิบัติงานอย่างรัดกุม และใช้ดุลพินิจในการประเมินผู้ขับขี่และการยึดรถอย่างสมเหตุสมผล เพื่อความปลอดภัยของประชาชน

โดยเบื้องต้นมีการตั้งจุดตรวจทั่วประเทศกว่า 667 จุด แยกเป็นพื้นที่ภาคกลาง 54 จุด, ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 195 จุด, ภาคเหนือ 361 จุด และภาคใต้ 58 จุด พบผู้กระทำผิดในลักษณะที่สุ่มเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุโดยประมาทด้วยการดื่มแล้วขับขี่จำนวนมาก แยกเป็นจักรยานยนต์ 363 ครั้ง ยึดรถไว้ 92 คัน และส่งผู้กระทำผิดดำเนินคดี 329 คน ส่วนรถโดยสารสาธารณะและรถยนต์ส่วนบุคคล กระทำความผิด 206 ครั้ง เจ้าหน้าที่ได้ยึดใบขับขี่ไว้ 82 คน ยึดรถยนต์ 24 คัน ส่งผู้กระทำความผิดดำเนินคดี 207 คน รวม 3 วัน ยึดรถไว้ได้ทั้งหมด 116 คัน ทั้งนี้ การคืนรถขึ้นอยู่การพิจารณาของเจ้าหน้าที่ และฐานความผิดของผู้ขับขี่


กำลังโหลดความคิดเห็น