รณรงค์ “ดื่มแล้วขับ นับเป็นฆาตกร” สร้างจิตสำนึกขับรถปลอดภัย ลดอุบัติเหตุปีใหม่ 2559 เร่งสร้างกระแสลงชุมชน หลังพบถนนสายรองเกิดอุบัติเหตุมาก ชี้บังคับกฎหมายเข้มเห็นผลช่วยลดเจ็บตายได้
วันนี้ (21 ธ.ค.) นพ.บัณฑิต ศรไพศาล ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนการควบคุมปัจจัยเสี่ยงหลัก สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) แถลงข่าว “ดื่มแล้วขับ นับเป็นฆาตกร สร้างความปลอดภัยปีใหม่ 2559” จัดโดยสำนักงานเครือข่ายลดอุบัติเหตุ (สคอ.) ภายใต้การสนับสนุนของ สสส. ว่า องค์การอนามัยโลกเปิดเผยข้อมูลประเทศไทยมีอัตราการเสียชีวิต 36.2 คนต่อประชากรหนึ่งแสนคน สูงเป็นอันดับ 2 ของโลก รองจากลิเบีย ที่เสียชีวิตถึง 73.4 คนต่อประชากรหนึ่งแสนคน นอกจากนี้ สถิติอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลปีใหม่ย้อนหลัง 5 ปี (2554 - 2558) พบว่า มีการเกิดอุบัติเหตุ 15,937 ครั้ง บาดเจ็บ 16,916 ราย และเสียชีวิต 1,768 ราย ซึ่งเทศกาลปีใหม่ 2558 ที่ผ่านมา ระหว่างวันที่ 30 ธันวาคม 2557 - 5 มกราคม 2558 เกิดอุบัติเหตุทางถนน 2,997 ครั้ง เสียชีวิต 341 ราย และบาดเจ็บ 3,117 คน สาเหตุหลัก คือ เมาสุรา สูงถึงร้อยละ 37.3
“การรณรงค์ “ดื่มแล้วขับ นับเป็นฆาตกร” นี้ เพื่อหวังกระตุ้นให้เกิดการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการขับขี่ สร้างการรับรู้ถึงผลกระทบ ซึ่งเน้นไปที่ผู้ดื่มแล้วขับเปรียบเสมือน “ฆาตกร” ที่พร้อมจะคร่าทุกชีวิตบนท้องถนนได้ทุกเวลา นำมาซึ่งความสูญเสียชีวิต บาดเจ็บ พิการ ส่งผลกระทบต่อครอบครัวและประเทศชาติอย่างที่มิอาจประเมินค่าได้” นพ.บัณฑิต กล่าว
นายพรหมมินทร์ กัณธิยะ ผู้อำนวยการ สคอ. กล่าวว่า การสื่อสารประชาสัมพันธ์ ได้เน้นเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายในชุมชน หมู่บ้าน ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีสถิติการเกิดอุบัติเหตุสูงสุดโดยเฉพาะถนนสายรอง ซึ่งได้ประสานความร่วมมือไปยังเครือข่ายสื่อมวลชนภูมิภาค เช่น สมาคมนักหนังสือพิมพ์ภูมิภาคแห่งประเทศไทย สมาคมสื่อช่อสะอาด (วิทยุชุมชน) สมาคมเคเบิลทีวีแห่งประเทศไทย นำเสนอข้อมูลข่าวสารเฝ้าระวังป้องกันอุบัติเหตุทางถนน กระจายคลอบคลุมทั่วประเทศ เพื่อช่วยกันหยุดฆาตกรบนท้องถนน ร่วมปกป้องชีวิตคนไทยให้มีความปลอดภัยเพิ่มมากยิ่งขึ้น
พล.ต.ต.นิพนธ์ เจริญผล รองผู้บัญชาการตำรวจนครบาล กล่าวว่า ได้เน้นย้ำไปทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องให้เข้มงวดในการบังคับใช้กฎหมาย ตรวจเข้มทุกจุดที่มีความเสี่ยง ไม่ว่าจะเป็นการกวดขันเด็กแว้น การไม่สวมหมวกนิรภัย การไม่ปฏิบัติตามกฎจราจร รถดัดแปลง การขับเร็วเกินกฎหมายกำหนด การดื่มแล้วขับ เราต้องช่วยกันทุกฝ่าย ร่วมสร้างจิตสำนึกด้านความปลอดภัย คนขับก็ต้องไม่ประมาทเพื่อลดความสูญเสียจากอุบัติเหตุทางถนน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการดื่มแล้วขับ ได้สั่งการให้ตั้งจุดตรวจ จุดสกัด และตรวจวัดปริมาณแอลกอฮอล์ของผู้ขับขี่อย่างเข้มข้น หากพบคนดื่มแล้วขับและมีระดับแอลกอฮอล์ในเลือดเกิน 50 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ จะถูกดำเนินดีตามกฎหมายและควบคุมความประพฤติ มีโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี ปรับตั้งแต่ 5,000 - 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ถูกคุมประพฤติ ให้พักใบอนุญาตขับขี่ไม่น้อยกว่า 6 เดือน และทำงานบริการสังคม
ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่