“สมชัย ศรีสุทธิยากร” ลั่นแต่งตั้งบุตรชายเป็นผู้ช่วยเลขานุการประจำ กกต.ทำตามระเบียบถูกต้อง แต่ไม่ได้ไปต่างจังหวัดตามที่เป็นข่าว แต่ถ้าไปจริงเบิกค่าเดินทางได้ 250 บาทต่อวัน เผยระเบียบตั้งที่ปรึกษาฯ ห้ามแค่ข้าราชการประจำ หน่วยงานรัฐ และรัฐวิสาหกิจ ค่าตอบแทน ป.ตรี 2 หมื่น
วันนี้ (28 ธ.ค.) นายสมชัย ศรีสุทธิยากร คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ด้านกิจการบริหารงานเลือกตั้ง กล่าวถึงกรณีมีการแต่งตั้งนายปริญ ศรีสุทธิยากร บุตรชาย เป็นผู้ช่วยเลขานุการประจำ กกต. และมีการเบิกค่าใช้จ่ายในการไปปฏิบัติหน้าที่ที่ต่างจังหวัดว่า การแต่งตั้งบุตรชายมาเป็นผู้ช่วยเลขานุการนั้นได้ดำเนินการตามระเบียบและขั้นตอนที่ถูกต้อง แต่กรณีที่มีการนำเสนอข่าวว่าได้มีการทำเรื่องเบิกค่าใช้จ่ายเพื่อไปปฏิบัติหน้าที่ที่ต่างจังหวัดนั้น บุตรชายของตนไม่ได้เดินทางไปด้วย เข้าใจว่าเป็นข้อมูลที่คลาดเคลื่อน อย่างไรก็ตาม ภายหลังที่เรื่องนี้เป็นประเด็นนั้นตนก็ยังไม่ได้พูดคุยอะไรกับบุตรชาย แต่ก็ไม่มีอะไรต้องกังวล ซึ่งรายละเอียดขอให้ฝ่ายเลขาฯ หรือสำนักบริหารทั่วไปเป็นผู้ชี้แจง
นายบุณยเกียรติ รักชาติเจริญ รักษาการแทนเลขาธิการ กกต.เปิดเผยว่า ตามที่ปรากฏเป็นข่าวว่านายสมชัย ได้เดินทางไปตรวจเยี่ยมสำนักงาน กกต.ประจำจังหวัดปทุมธานี และจังหวัดสระบุรี โดยมีนายปริญเดินทางไปปฏิบัติงานด้วย และการขออนุมัติเดินทางในครั้งนี้โดยได้รับสิทธิเบิกค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปปฏิบัติงานตามระเบียบ กกต.ว่าด้วยที่ปรึกษา ผู้เชี่ยวชาญ เลขานุการ และผู้ช่วยเลขานุการ ประจำประธาน กกต. และ กกต. พ.ศ. 2556 ประกอบระเบียบ กกต. ว่าด้วยค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปปฏิบัติงาน พ.ศ. 2550 และแก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2553 สำนักงาน กกต.ขอชี้แจงว่า ข้อเท็จจริงกรณีการแต่งตั้งนายปริญ ผู้ช่วยเลขานุการประจำ กกต.สามารถแต่งตั้งได้ ซึ่งเป็นไปตามระเบียบ กกต.ว่าด้วยที่ปรึกษา ผู้เชี่ยวชาญ เลขานุการ และผู้ช่วยเลขานุการ ประจำประธาน กกต. และ กกต. พ.ศ. 2556
ทั้งนี้ ในการเดินทางดังกล่าวมีผู้ร่วมเดินทางจำนวน 4 คน ได้แก่ ที่ปรึกษาประจำ กกต. ผู้เชี่ยวชาญฯ เจ้าหน้าที่ตำรวจรักษาความปลอดภัย และพนักงานขับรถยนต์ ร่วมเดินทางเท่านั้น โดยไม่มีนายปริญร่วมเดินทางแต่อย่างใด แต่หากร่วมเดินทางไปด้วยจริงก็สามารถใช้สิทธิเบิกค่าเบี้ยเลี้ยงเดินทางไปปฏิบัติงานวันละ 250 บาท จึงเป็นไปตามระเบียบ กกต.ว่าด้วยค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปปฏิบัติงาน พ.ศ. 2550 และแก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2553 และไม่ถือว่าเป็นเรื่องผิดปกติแต่อย่างใด
ด้านนายธนิศร์ ศรีประเทศ ผู้ทรงคุณวุฒิ กกต.กล่าวว่า การปฏิบัติหน้าที่ของ กกต.แต่ละคนนั้นจำเป็นที่จะต้องมีการแต่งตั้งทีมงาน โดยต้องเป็นไปตามระเบียบคณะกรรมการการเลือกตั้ง ว่าด้วยที่ปรึกษา ผู้เชี่ยวชาญ เลขานุการ และผู้ช่วยเลขานุการ ประจำประธานกรรมการการเลือกตั้งและกรรมการการเลือกตั้ง พ.ศ. 2556 และการเลือกบุคคลมาปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวนั้นเป็นสิทธิของ กกต.แต่ละคน เป็นธรรมดาที่การเลือกจะเป็นการเลือกคนที่ไว้ใจได้ ตำแหน่งที่อยู่ในตามระเบียบนี้ไม่ใช่มาเป็นพนักงานหรือเจ้าหน้าที่ประจำสำนักงาน จึงมีลักษณะเหมือนกับว่าไม่ใช่การจ้างงาน แต่เป็นการมาทำงานให้และมีค่าตอบแทนเป็นรายเดือน ดังนั้น กกต. แต่ละคนจึงมีสิทธิเสนอชื่อแต่งตั้งหรือจะให้พ้นจากตำแหน่งตอนไหนก็ได้แล้วแต่ความเหมาะสม และก็ได้มีการกำหนดแล้วว่าหาก กกต.พ้นจากตำแหน่ง ทีมงานของ กกต.คนนั้นก็ต้องพ้นจากตำแหน่งตามไปด้วย เนื่องจากไม่ใช่เจ้าหน้าที่ประจำ อีกทั้งก่อนแต่งตั้ง กกต.ก็ต้องดูแล้วว่าไม่ใช่เป็นบุคคลที่มีลักษณะต้องห้ามตามที่ระเบียบกำหนด ประเด็นนี้จึงมองว่าเป็นเรื่องปกติ หากดำเนินการตามระเบียบก็ไม่ต้องกังวลว่าจะมีอะไรเสียหาย
รายงานข่าวแจ้งว่า ระเบียบคณะกรรมการการเลือกตั้ง ว่าด้วยที่ปรึกษา ผู้เชี่ยวชาญ เลขานุการ และผู้ช่วยเลขานุการ ประจำประธาน กกต. และ กกต. พ.ศ. 2556 ในส่วนของผู้ช่วยเลขานุการได้กำหนดคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามระบุ อาทิ มีอายุไม่ต่ำกว่า 18 ปีบริบูรณ์ ไม่เป็นข้าราชการซึ่งมีตำแหน่งหรือเงินเดือนประจำ พนักงานหรือลูกจ้างของหน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ หรือรัฐวิสาหกิจ หรือเป็นเจ้าหน้าที่อื่นของรัฐ ไม่มีลักษณะต้องห้ามอื่นเช่นเดียวกับพนักงานและลูกจ้างของสำนักงานตามระเบียบ กกต.ว่าด้วยการบริหารงานบุคคล มีคุณสมบัติพิเศษอื่นหรือมีประสบการณ์ตามที่ประธานกรรมการหรือกรรมการเห็นสมควร แล้วแต่กรณี โดย กกต. แต่ละคนนั้นจะสามารถมีผู้ช่วยเลขานุการได้ 2 ตำแหน่งต่อคน
ส่วนค่าตอบแทนต่อเดือนนั้นจะเป็นไปตามวุฒิการศึกษา คือ ต่ำกว่าระดับปริญญาตรี 15,000 บาท ระดับปริญญาตรี 20,000 บาท และสูงกว่าระดับปริญญาตรี 23,000 บาท ซึ่งไม่ได้มีการกำหนดว่าตำแหน่งผู้ช่วยเลขานุการต้องมีวุฒิการศึกษาเฉพาะด้านอย่างไรบ้าง รวมทั้งยังได้สิทธิประโยชน์อื่น อาทิ ประกันสุขภาพเบี้ยประกันไม่เกิน 20,000 บาท ต่อคนต่อปี และบำเหน็จตอบแทนเป็นเงินจ่ายครั้งเดียวเมื่อพ้นจากตำแหน่ง โดยคำนวณจากค่าตอบแทนรายเดือนคูณด้วยจำนวนปีในการดำรงตำแหน่ง สำหรับค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปปฏิบัติงานนั้นผู้ช่วยเลขานุการมีสิทธิเบิกค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปปฏิบัติงาน เช่นเดียวกับพนักงานปฏิบัติงานระดับกลาง อย่างไรก็ตาม วุฒิการศึกษาของนายปริญนั้นจบการศึกษาระดับมัธยมที่โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย ส่วนระดับอุดมศึกษาที่คณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ ภาควิชาภาพยนตร์