ที่ประชุมคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ เห็นชอบเลือกตั้ง ส.ว.ทางอ้อมจากกลุ่มสังคม 20 กลุ่ม ในนามนิติบุคคลและเครือข่าย และเลือกตั้งไขว้กันในระดับอำเภอ-จังหวัด 1.9 พันคน คัดเหลือ 200 คน คล้ายโมเดลสภาสนามม้า พร้อมลดบทบาทไร้อำนาจถอดถอนนักการเมือง แต่เน้นหาทางออกประนีประนอม เผยผลสำรวจพบสนับสนุนตัดสิทธิลงสมัครเลือกตั้งตลอดชีวิต หากทุจริตในหน้าที่
วันนี้ (22 ธ.ค.) นายชาติชาย ณ เชียงใหม่ โฆษกกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) เปิดเผยว่า ที่ประชุมเห็นชอบในหลักการสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) มาจากการเลือกตั้งทางอ้อมจากกลุ่มทางสังคม 20 กลุ่ม เช่น กลุ่มแรงงาน กลุ่มสิทธิเด็ก กลุ่มสตรี เป็นต้น โดยให้เปิดสมัครในนามองค์กรนิติบุคคลรองรับเพื่อเสนอชื่อเข้ารับการเลือกตั้ง หรือเสนอชื่อโดยไม่มีองค์กรรองรับ แต่จะต้องมีเพื่อนร่วมเครือข่ายไม่น้อยกว่า 3 คนรับรองได้ ส่วนการเลือกตั้งทางอ้อมให้เลือกตั้งไขว้กันในระดับอำเภอ ระดับจังหวัดให้ได้กลุ่มละ 99 คน รวม 1,980 คน เพื่อส่งมาเข้าส่วนกลางเลือกตั้งไขว้กันเองให้เหลือจำนวน 200 คน ซึ่งรูปแบบนี้จะคล้ายกับโมเดลสภาสนามม้าในอดีต โดยรายละเอียดการเลือกตั้งจะกำหนดไว้ในกฎหมายลำดับรองต่อไป
สำหรับสาเหตุที่ กรธ.ไม่กำหนดให้ ส.ว.มาจากการเลือกตั้งโดยตรง เพราะบทบาทหน้าที่ของ ส.ว.ที่ กรธ. กำหนดจะต่างจาก ส.ส. ที่ไม่มีอำนาจถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง และไม่ต้องการ ให้ ส.ว.เชี่ยวชาญกฎหมาย แต่ต้องการผู้รู้เรื่องต่างๆ มีความหลากหลาย เพื่อให้องค์กรสภาเป็นที่หาทางออกให้เกิดความประนีประนอมถ้อยมีถ้อยอาศัยกัน พร้อมยืนยันว่ารูปแบบ ส.ว.จากการเลือกตั้งทางอ้อมถือเป็นระบบใหม่ ที่ยังไม่เคยใช้มาก่อน โดยให้เป็น ส.ว.ระดับชาติไม่ใช่ระดับจังหวัด
ขณะเดียวกัน กรธ.ได้รับแจ้งจากสำนักงานสถิติแห่งชาติ สรุปผลสำรวจความเห็นของประชาชนต่อการร่างรัฐธรรมนูญ ประจำเดือนธันวาคมนี้ โดยสำรวจกลุ่มตัวอย่างที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป ทั่วประเทศ จำนวนกลุ่มตัวอย่าง 5,800 กลุ่ม โดยกลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่มีระดับการศึกษาระดับประถมศึกษา ร้อยละ 37.1 โดยส่วนใหญ่ร้อยละ 63.6 เห็นด้วยกับการเลือกตั้งแบบจัดสรรปันส่วนผสม ร้อยละ 77.6 เห็นด้วยกับการใช้บัตรเลือกตั้ง ส.ส.ใบเดียว ร้อยละ 86.9 เห็นว่าการกำหนดให้พรรคการเมืองจะต้องเสนอชื่อผู้ที่จะเป็นนายกรัฐมนตรี โดยประกาศให้ประชาชนทราบก่อนเลือกตั้งมีผลต่อการตัดสินใจ ร้อยละ 80.7 เห็นด้วยให้พรรคการเมืองประกาศรายชื่อผู้มาเป็นนายกรัฐมนตรีทราบก่อนเลือกตั้ง ขณะที่เสียงส่วนใหญ่ร้อยละ 59.4 เห็นด้วยกับการตัดสิทธิทางการเมืองกับนักการเมืองที่ถูกศาลตัดสินว่าทุจริตต่อหน้าที่ โดยห้ามลงสมัครรับเลือกตั้งตลอดชีวิต