ประธาน สนช.ไม่ทราบความคิดใครตั้งรัฐบาลแห่งชาติ ไม่เข้าใจเสนออะไรตอนนี้ โยนไปคุยกันในร่างรัฐธรรมนูญ รับได้ถ้าตั้งช่วงชาติวิกฤต ถ้าทำต้องมีคนหนึ่งยอมเสียสละ บอกยากถ้าจะเอาของไม่ผ่านประชามติไปใช้ แต่คาดคงปรับปรุงฉบับใดใช้ไปก่อน เชื่อนิรโทษกรรมทำเมื่อสถานการณ์ดีขึ้น หวังฉบับ “มีชัย” ผ่าน
วันนี้ (22 ธ.ค.) ที่รัฐสภา นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) กล่าวถึงกระแสข่าวการจัดตั้งรัฐบาลแห่งชาติเพื่อเป็นทางออกให้แก่ประเทศว่า เรื่องนี้ตนยังไม่ทราบว่าเป็นความคิดเห็นของใคร เนื่องจากที่ผ่านมาก็ได้มีแนวคิดนี้อยู่บ่อยครั้ง แม้แต่ในยามวิกฤตก็เคยมีการเสนอเหมือนกันแต่ก็ไม่เคยสำเร็จ แล้วจะมาเสนออะไรตอนนี้ ตนยังไม่ค่อยเข้าใจ คงจะให้ความเห็นอะไรไม่ได้ และก็ยังไม่เห็นมีใครกล่าวถึงเรื่องที่จะมีการแต่งตั้งรัฐบาลแห่งชาติในยุคของรัฐบาลคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) คงเป็นความคิดเห็นของคนภายนอกมากกว่า
นายพรเพชรกล่าวว่า ส่วนข้อดีข้อเสียของการมีรัฐบาลแห่งชาตินั้น ถ้ามองในประเด็นที่ว่าประเทศชาติเกิดวิกฤตขึ้น แล้วมีแนวทางแก้ไขปัญหาวิกฤตทางการเมืองที่เกิดขึ้น และมีช่องทางที่จะตั้งรัฐบาลแห่งชาติอย่างนั้นได้ ตนก็รับได้ แต่ก็ต้องไปพูดกันในร่างรัฐธรรมนูญที่นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) กำลังร่างจะดีกว่า ขณะนี้เป็นช่วงของรัฐบาล คสช. มีโรดแมปชัดเจนอยู่แล้ว
ผู้สื่อข่าวถามว่า หากมีการเสนอให้ตั้งคำถามการตั้งรัฐบาลแห่งชาติควบคู่ไปกับการทำประชามติต่อร่างรัฐธรรมนูญเหมือนครั้งร่างรัฐธรรมนูญของนายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ อดีตประธานคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ จะทำได้หรือไม่ นายพรเพชรกล่าวว่า เมื่อร่างรัฐธรรมนูญตกไปก็ไม่รู้ว่ามีคำถามอะไรบ้าง หากถามตอนนี้ก็ลำบากที่จะตอบว่าควรจะใช้รูปแบบใด แต่แนวคิดของนายบวรศักดิ์ตอนนั้น คือ เมื่อประเทศชาติเกิดวิกฤตขึ้นมา ก็ต้องการแก้ไขปัญหาทางการเมืองด้วยการเมือง กล่าวคือนักการเมืองจะต้องเสียสละ เอาพรรคต่างๆ มารวมกันเป็นรัฐบาล แต่แนวคิดนี้จะใช่รัฐบาลแห่งชาติหรือไม่ตนไม่ทราบ ซึ่งก็ต้องเป็นแนวทางนี้ ถ้าจะบอกว่าการเมืองต้องแก้ไขปัญหาด้วยการเมือง คือพรรคการเมืองมาประนีประนอมกันแบบการแก้ปัญหาทั่วๆ ไป ต้องมีคนหนึ่งที่ยอมเสียสละ ซึ่งจะบอกว่าจะต้องได้ ทุกคนก็ไม่มีทางประนีประนอมกันได้
เมื่อถามถึงแนวคิดในการบังคับใช้ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ไม่ว่าจะผ่านประชามติหรือไม่ นายพรเพชรกล่าวว่า ไม่มีแนวคิดนี้ จะเอาของที่ไม่ผ่านประชามติไปประกาศใช้ได้อย่างไร เป็นไปได้ยาก ถ้าร่างรัฐธรรมนูญไม่ผ่านประชามติตามความคิดของตน ก็ต้องมีรัฐธรรมนูญเพื่อให้ระบอบประชาธิปไตยเดินหน้าต่อไปได้ ก็คงจะมีการปรับปรุงแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญ หรือรัฐธรรมนูญฉบับใดก็ได้
ส่วนข้อเสนอที่ให้มีแผนของการปรองดองออกมา นายพรเพชรกล่าวว่า เรื่องนี้นายกฯ ให้ดำเนินการตั้งแต่มี คสช.แล้ว ในการทำความเข้าใจ และแก้ไขปัญหาต่างๆ โดยเรียกมาพูดคุย เพื่อไม่ให้เกิดความขัดแย้ง ซึ่งเป็นแนวทางที่สามารถทำได้ ส่วนหนทางที่จะนำไปสู่การเสนอกฎหมายนิรโทษกรรมหรือไม่นิรโทษกรรมให้ใครนั้น คงดำเนินการต่อไปได้เมื่อสภาวะบ้านเมืองดีขึ้น แต่สิ่งหนึ่งที่นายกฯ ย้ำอยู่เสมอคือ พวกที่ทำผิดถ้ารู้สำนึกและเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม ก็มีหนทางที่จะให้อภัยกันได้
“ผมอยากให้ร่างรัฐธรรมนูญฉบับที่นายมีชัยกำลังร่าง เกิดแสงสว่างที่จะผ่านประชามติ และประชาชนมุ่งไปสู่การเลือกตั้ง ก็คงจะเป็นบรรยากาศที่ดีขึ้น” นายพรเพชรกล่าว