xs
xsm
sm
md
lg

สปช.ขอนแก่น แย้มโหวตคว่ำร่าง รธน.อ้างไม่เป็น ปชต. “ประเสริฐ” หนุนรัฐบาลปรองดองฯ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

เอกราช ช่างเหลา (แฟ้มภาพ)
สปช.ขอนแก่น เชื่อ กก.ยุทธศาสตร์ฯ พร้อมการตั้งคำถามรัฐบาลปรองดองแห่งชาติในการทำประชามติ จะมีผลต่อการลงมติร่าง รธน.แน่ ระบุร่าง รธน.ยังไม่เป็นประชาธิปไตย อาจไม่โหวตให้ผ่าน ด้าน สปช.สงขลา รับลงมติร่าง รธน.โอกาสยัง 50-50 หนุนตั้งคำถามรัฐบาลปรองดองฯ เชื่อเป็นทางออกที่ดีของประเทศ

นายเอกราช ช่างเหลา สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ขอนแก่น กล่าวถึงคณะกรรมการยุทธศาสตร์การปฏิรูปและการปรองดองแห่งชาติ และข้อเสนอคำถามประชามติเรื่องรัฐบาลปรองดองแห่งชาติ ของคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ยกร่างรัฐธรรมนูญว่า ทั้ง 2 ประเด็นจะมีผลต่อการลงมติเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญของ สปช.ในวันที่ 7 ก.ย.นี้อย่างแน่นอน ในส่วนของคณะกรรมการยุทธศาสตร์ฯ นั้น แม้หลายฝ่ายจะออกมาสนับสนุนต้องการให้มีคณะกรรมการชุดหนึ่งคอยทำหน้าที่บริหารประเทศเมื่อเกิดวิกฤตทางการเมืองขึ้น แต่ความต้องการเหล่านี้ก็ต้องคำนึงด้วยว่าสอดคล้องกับความต้องการของประชาชนหรือไม่ ซึ่งการมอบอำนาจทั้งทางบริหารและนิติบัญญัติให้คณะกรรมการชุดนี้ในช่วง 5 ปีแรก ประชาชนก็ไม่อาจเข้าใจได้ถึงความจำเป็นนี้

นายเอกราชกล่าวว่า ส่วนคำถามประชามติเรื่องรัฐบาลปรองดองแห่งชาติ ยังต้องรอดูก่อนว่าร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้จะได้รับความเห็นชอบจาก สปช.หรือไม่ หากไม่ก็ไม่ต้องพูดถึงคำถามประชามติ ทั้งรัฐบาลปรองดองแห่งชาติ และปฏิรูปอีก 2 ปีก่อนเลือกตั้ง การตัดสินใจของตนในการลงมติร่างรัฐธรรมนูญนั้นขอดูในภาพรวมเรื่องความเป็นประชาธิปไตย หากไม่เป็นประชาธิปไตยก็จะโหวตไม่รับ เพราะถ้าโหวตรับไปก็จะไม่สามารถนำเหตุผลไปอธิบายให้ประชาชนในพื้นที่เข้าใจได้เลย เท่าที่ทราบเนื้อหาในรัฐธรรมนูญน้้นเบื้องต้นจะพบว่า ยังไม่เป็นประชาธิปไตย เพราะมีบทบัญญัติทั้งนายกรัฐมนตรีคนนอก คณะกรรมการยุทธศาสตร์ฯ ที่มีอำนาจมากทั้งที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งของประชาชน

ด้านนายประเสริฐ ชิตพงศ์ สปช.สงขลา กล่าวว่า เข้าใจในหลักการของคณะกรรมการยุทธศาสตร์ฯ ว่า กมธ.ยกร่างฯ ต้องการให้มีไว้คอยทำหน้าที่สอดประสานกับรัฐบาลแห่งชาติ ที่จะเสนอเป็นคำถามประชามติ เมื่อร่างรัฐธรรมนูญได้รับความเห็นชอบจาก สปช. แต่สิ่งที่ต้องระวัง คือ หากคณะกรรมาการยุทธศาสตร์ ชุดนี้ ทำหน้าที่ไม่เป็นไปตามหลักการที่วางไว้ คอยแสวงหาอำนาจของตนเอง ไม่คิดถึงผลประโยชน์ของชาติเป็นหลักแล้ว ก็จะทำให้มีปัญหาใหญ่เกิดขึ้นตามมาได้

ส่วนคำถามประชามติเรื่องรัฐบาลปรองดองแห่งชาตินั้น ตนเห็นด้วย เพราะน่าจะเป็นทางออกที่ดีสำหรับประเทศ ด้วยการให้พรรคคะแนนอันดับ 1 อันดับ 2 มาร่วมกันจัดตั้งรัฐบาล ในระยะเปลี่ยนผ่านของการออกจากความขัดแย้งของประเทศที่สะสมมานาน แต่อย่างไรก็ตาม ก็ต้องขึ้นอยู่กับว่าร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้จะผ่านความเห็นชอบจาก สปช.หรือไม่ โดยกระแสในขณะนี้ก็ยังอยู่ที่ 50 ต่อ 50


กำลังโหลดความคิดเห็น