เมืองไทย 360 องศา
นาทีนี้ไม่ว่าจะสอบถามผ่านโพลของสำนักไหนก็ตามว่าชาวบ้านต้องการในเรื่องใดยกเว้นจากเรื่องปากท้องรายได้รายจ่ายประจำวันแล้ว รับรองว่าคำตอบที่ได้ตรงกันก็คือต้องมีเรื่องการปราบปรามการทุจริต และรวมถึงเรื่องการปฏิรูปตำรวจต้องมาเป็นอันดับต้นๆทุกครั้ง
นั่นก็หมายความว่า เรื่องการปราบปรามทุจริตที่ต้องการมีทุกระดับ ทั้งนักการเมือง และข้าราชการ เป็นความการหรือความฝันที่ชาวบ้านอยากให้เกิดขึ้นในบ้านเมืองนี้ และแม้ว่าในความหมายที่ทับซ้อนกันก็คือหากทำได้สำเร็จก็เท่ากับว่า"การปฏิรูป"ก็เป็นจริงขึ้นมาอีกด้วย
อย่างไรก็ดีหากพิจารณากันตามความเป็นจริงแล้วเป้าหมายการปฏิรูปในเวลานี้มีความจำเป็นต้องเกิดขึ้นทุกภาคส่วน ทุกองค์กร เพียงแต่ว่าเป้าหมายที่เร่งด่วนที่สุดก็คือ หน่วยงานตำรวจ เพราะถือว่าเกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวันของประชาชน เป็นหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกระบวนการยุติธรรม"ต้นน้ำ"ก่อนที่จะเดินไปสู่ขั้นตอนของอัยการและศาลในขั้นตอนสุดท้าย ดังนั้นจะว่าไปแล้ว กระบวนการทำงานของ ตำรวจ รวมไปถึงอัยการล้วนมีความสำคัญต่อ"ชะตาชีวิต"ของชาวบ้านทั้งสิ้น เพราะหากเกิดการบิดเบี้ยวกันขึ้นมามันก็จะเกิดความเสียหาย และหลายครั้งที่เกิดโศกนาฏกรรมที่ยากจะเยียวยาบาดแผลในภายหลัง
หากโฟกัสกันในตอนนี้ก็ต้องยอมรับว่าความเชื่อมั่นศรัทธาของชาวบ้านที่มีต่อหน่วยงานของรัฐรับรองว่าสำรวจกันกี่ครั้งผลก็ออกมาไม่ต่างกันคือ หน่วยงานตำรวจที่อยู่ในขั้นที่เรียกว่า "วิกฤตศรัทธา"มากที่สุด และถูกวิพากษ์วิจารณ์มากที่สุด และนั่นคือเป้าหมายและความต้องการของชาวบ้านว่าต้องปฏิรูป ผ่าตัดโครงสร้างการบริหาร และการบังคับบัญชาภายในสำนักงานตำรวจแห่งชาติเสียใหม่
ภาพลักษณ์ที่ฝังใจอยู่ในความรู้สึกของชาวบ้านจนนำมาสู่เสียงเรียกร้องให้เกิดการปฏิรูปกันแบบขนานใหญ่ในเวลานี้ สิ่งแรกก็คือต้องการให้หน่วยงานตำรวจมีความอิสระ ปลอดจากการครอบงำจากนักการเมือง จนนำไปสู่การซื้อขายตำแหน่งและการรับใช้ทางการเมือง จนถูกวิจารณ์ว่าละเลยการทำหน้าที่ตามปรัชญาของความเป็น"ผู้พิทักษ์สันติราษฎร์"ตามที่วางเอาไว้
สิ่งที่ต้องพิจารณาเร่งเร้ากันในตอนนี้ก็คือ เมื่อดูตามรูปการณ์แล้วการปฏิรูปตำรวจมีแนวโน้มจะไม่เกิดขึ้นตามความต้องการของชาวบ้าน ที่ถือว่าเป็นความต้องการในอันดับต้นๆหรืออาจจะเรียกว่าเป็นอันดับแรกก็ว่าได้ หากพิจารณาเปรียบเทียบจัดลำดับการปฏิรูปในหน่วยงานของรัฐ ที่เกี่ยวกับเรื่องการปฏิรูปการเมือง
สังเกตได้จากท่าทีของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่เวลานี้ดูเหมือนมีท่าทีเฉยเมยต่อเรื่องดังกล่าว และก่อนหน้านี้หากจำกันได้เคยพูดถึงขนาดที่ว่าให้ยกยอดเรื่องการปฏิรูปตำรวจไปให้กับรัฐบาลชุดหน้า โดยอ้างว่าไม่มีเวลาดำเนินการได้ทัน ทั้งที่ในช่วงที่หลังการรัฐประหารเกิดขึ้นไม่นานก็เคยพูดขึงขังว่าจะต้องมีการปฏิรูปวงการตำรวจตามความต้องการของประชาชน แต่จนถึงตอนนี้เขาก็ยังไม่มีท่าทีที่ชัดเจนว่าจะเดินหน้าปฏิรูปตำรวจอย่างไร
แน่นอนว่าหากยังไม่มีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นในวงการตำรวจ ความศรัทธาที่มีต่อวงการตำรวจนอกจากจะดำดิ่งต่ำลงสุดขั้วต่อไปแล้ว ยังส่งผลกระทบในทางลบต่อรัฐบาล และคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) ที่ก่อนหน้าชาวบ้านมีความหวังเต็มเปี่ยมว่าจะต้องมีการปฏิรูปกันอย่างขนานใหญ่ แต่หากยังมีท่าทีเฉยเมย นั่นคือ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ยังไม่มีแอ๊กชั่นนำหน้าออกมามันก็น่าผิดหวัง
สายตาและความรู้สึกของชาวบ้านในเวลานี้นอกจากเห็นว่าโอกาสที่จะเกิดการปฏิรูปตำรวจจะไม่เกิดขึ้นแล้ว ยังดูเหมือนว่าเป็นความต้องการของคนในรัฐบาลและคสช.เพื่อให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติอยู่ในสภาพเดิม โดยการเปลี่ยนแปลงผู้บริหารตั้งแต่ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติลงมา โดยการส่งคนใกล้ชิดของตัวเองเข้าไปสวมแทนในตำแหน่งสำคัญ ลักษณะจึงไม่ต่างจาก"สมบัติผลัดกันชม" นั่นคือเปลี่ยนแปลงไปจากตำรวจภายใต้ระบอบทักษิณ มาอยู่ภายใต้ระบอบคสช.ที่มี"พี่ใหญ่"อย่าง พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมเป็นศูนย์บัญชาการ
แม้ว่า ในระดับตัวบุคคล ระดับผู้บริหารในสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ไม่ว่าจะเป็น พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา หรือใครก็ตามยังไม่ได้สร้างความเสียหาย แต่ด้วยโครงสร้างการบริหารในปัจจุบันที่รวมศูนย์แบบนี้ ถือว่าล้าสมัย ไม่ใช่ความปราถนาของชาวบ้าน ที่สำคัญไม่เป็นหลักประกันในการอำนวยความยุติธรรมในอนาคตได้เลย เพราะอีกไม่นานเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงรัฐบาล เปลี่ยนนักการเมืองคนใหม่ที่มาควบคุมตำรวจทุกอย่างก็จะเป็นแบบเดิม หรือถอยหลังกลับไปเหมือนในอดีต ดังนั้นเพื่อให้เกิดหลักประกันก็ต้องเร่งทำให้เกิดการปฏิรูปโดยเร็วที่สุด เพราะหากไม่ทำในยุคนี้ก็ถือว่า"เสียของ"
ขณะเดียวกันต้องไม่ลืมว่าอีกสิ่งหนึ่งที่ชาวบ้านรังเกียจมากที่สุดก็คือการทุจริต ซึ่งในเวลานี้กำลังกลายเป็นกระแสแรง เพราะแม้แต่ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรีและรัฐบุรุษยังทนไม่ไหวจนต้องออกตัวแรง ถึงกับพูดว่าคนทุจริตพวกนี้เป็น"ตัวเวร"ที่ต้องกำจัดให้สิ้นซาก และแม้ว่าการทุจริตกับการปฏิรูปตำรวจจะเป็นคนละเรื่อง แต่ถือว่าเป็น"คนละเรื่องเดียวกัน"และเชื่อมโยงถึงกัน ซึ่งต้องดำเนินการโดยเร่งด่วนไปพร้อมกัน และต้องทำให้ได้โดยเร็ว !!