นายกรัฐมนตรีปลาบปลื้มกิจกรรม “Bike For Dad” ถวายความจงรักภักดีแด่ “พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว” สำเร็จงดงามประทับใจ ขอบคุณพี่น้องประชาชนคนไทยและเจ้าหน้าที่รวมพลังครั้งประวัติศาสตร์ หวังเป็นจุดเริ่มศักราชใหม่แห่งความสามัคคีปรองดองในแผ่นดิน
วันนี้ (12 ธ.ค.) พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กล่าวในรายการคืนความสุขให้คนในชาติ ออกอากาศทางโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย ตอนหนึ่งถึงการจัดกิจกรรมจักรยานเฉลิมพระเกียรติ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว “ปั่นเพื่อพ่อ BIKE FOR DAD” เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา ๘๘ พรรษา ๕ ธ.ค. ๒๕๕๘ ซึ่งจัดขึ้นเมื่อวันที่ 11 ธ.ค.ที่ผ่านมาว่า กิจกรรม “ปั่นเพื่อพ่อ BIKE FOR DAD” ตามพระราชปณิธานในสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร ได้เสร็จสิ้นไปด้วยความเรียบร้อยอย่างน่าประทับใจ ขอขอบคุณพี่น้องประชาชนชาวไทยทุกคน ทั้งผู้ที่เข้าร่วมในกิจกรรมปั่นเพื่อพ่อ และผู้เฝ้าฯ รอรับเสด็จอยู่สองข้างทางอย่างเนืองแน่น ผู้ให้กำลังใจอยู่ที่บ้าน และทุกๆ คนด้วยที่ล้วนมีส่วนร่วมในความสำเร็จ เป็นเจ้าภาพร่วมกัน รวมทั้งเจ้าหน้าที่ทุกฝ่าย ทุกภาคส่วน ทั้งภาคธุรกิจเอกชนด้วยที่อยู่เบื้องหลัง ทำให้กิจกรรมเฉลิมพระเกียรติครั้งนี้เป็นไปด้วยความเรียบร้อยในทุกขั้นตอน
พล.อ.ประยุทธ์กล่าวต่อถึงการเตรียมความพร้อมสำหรับการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) ด้วยว่า ในส่วนของ AEC นั้นกำลังจะเริ่มในปีใหม่ที่จะมาถึงนี้ รัฐบาลมีการดำเนินการอย่างบูรณาการ และประสานสอดคล้อง ตั้งแต่ต้นทาง กลางทาง ปลายทางเพื่อการพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศในทุกด้าน อาทิเช่น การผลักดันการส่งออก เพื่อเปิดประตูการค้า และขยายความร่วมมือทางเศรษฐกิจ การปรับเปลี่ยนยุทธศาสตร์ส่งเสริมการลงทุนในช่วง 7 ปี ตั้งแต่ปี 58-64 มุ่งสู่แนวทางจัดตั้ง คลัสเตอร์ ซูเปอร์คลัสเตอร์ การเดินหน้าการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษตามแนวชายแดน และการเตรียมความพร้อมบุคคลากรในด้านต่างๆ นั้น
“ท่านต้องรีบพัฒนา เพราะการเป็น AEC นี่จะห้ามหลายอาชีพไม่ให้มาทำงานในประเทศเราไม่ได้ เช่นเดียวกันเขามาห้ามเราไม่ได้เหมือนกัน อันนี้จะทำให้เกิดปัญหาการแย่งชิงแรงงานที่มีคุณภาพ” พล.อ.ประยุทธ์กล่าว
พล.อ.ประยุทธ์กล่าวด้วยว่า ปัญหาสำคัญของบ้านเราในเวลานี้มีอยู่หลายเรื่องด้วยกัน อาทิ การไม่เคารพกฎหมาย ทำให้เจ้าหน้าที่บังคับใช้กฎหมายไม่ได้ ความไม่เชื่อมั่นกระบวนการยุติธรรม การที่คนไทยไม่ทราบขั้นตอนการทำงานของภาครัฐ จึงไม่สามารถพัฒนาใดๆได้ เพราะมีการประท้วงล้มล้างกันในทุกเรื่อง ซึ่งก็ยังรวมไปถึงการให้ความร่วมมือกับภาครัฐด้วย ทั้งนี้ตนเห็นว่า ท่านต้องปรับตัวเองบ้าง ทั้งข้าราชการ ประชาชน ภาคธุรกิจเอกชนด้วยเพื่อให้เข้าใจตรงกันและจับมือกันได้ในลักษณะการเป็นประชารัฐ
คำต่อคำ : รายการคืนความสุขให้คนในชาติ
“สวัสดีครับ พ่อแม่พี่น้องชาวไทยที่รักทุกท่าน กิจกรรม “Bike For Dad ปั่นเพื่อพ่อ” ตามพระราชปณิธานของสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร ได้เสร็จสิ้นไปด้วยความเรียบร้อยนะครับ อย่างน่าประทับใจ ในการที่ร่วมกันสร้างประวัติศาสตร์ของชาติไทย อีกครั้งหนึ่งนะครับ เป้าหมายสำคัญก็คือ “การรวมพลังแห่งความกตัญญูแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และร่วมใจสามัคคีของคนในชาติ” ทั้งนี้ “ความสามัคคีเป็นกำลังอย่างสูงสุดของหมู่ชน” ให้สมดังพระราชดำรัสในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่พระราชทานแก่พสกนิกรชาวไทยเมื่อ 50 กว่าปีที่ผ่านมา มีใจความว่า “...ประเทศไหน ถ้าประชาชนพลเมือง มีความสามัคคีกลมเกลียว กันดี มีระเบียบวินัย ประเทศนั้น ก็เจริญและอยู่ในฐานะดี จึงเห็นได้ว่าความสามัคคีกลมเกลียวกันนั้น ระหว่างคนในชาติ และความเข้าใจรักษาระเบียบวินัย เป็นปัจจัยสำคัญอันหนึ่ง ที่จะช่วยนำประเทศชาติสู่ความวัฒนาถาวร...”
ในการนี้ ผมขอขอบคุณพี่น้องประชาชนชาวไทยทุกคน ทั้งผู้ที่เข้าร่วมในกิจกรรมปั่นเพื่อพ่อ และผู้เฝ้าฯ รอรับเสด็จอยู่สองข้างทางนะครับ อย่างเนืองแน่น ผู้ให้กำลังใจอยู่ที่บ้าน และทุกๆ คนด้วย ที่ล้วนมีส่วนร่วมในความสำเร็จ เป็นเจ้าภาพร่วมกัน รวมทั้ง เจ้าหน้าที่ทุกฝ่าย ทุกภาคส่วน ทั้งภาคธุรกิจเอกชนด้วยนะครับ ที่อยู่เบื้องหลัง ทำให้กิจกรรมเฉลิมพระเกียรติครั้งนี้เป็นไปด้วยความเรียบร้อยในทุกขั้นตอน ทุกพื้นที่นะครับ ก็ถือว่าเป็นสัญญาณที่ดีสู่ศักราชใหม่ แสดงความพร้อมรับมือกับความท้าทายใหม่ๆ ในศกหน้า และการก้าวไปสู่การเป็นประชาคมอาเซียน ด้วยความ “รู้รัก สามัคคี” ของคนในชาตินะครับ
สำหรับการเตรียมตัว เตรียมประเทศ ให้พร้อมรับมือการการเปลี่ยนแปลง การพัฒนาไปสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ที่เรียกว่า AEC นั้น กำลังจะเริ่มในปีใหม่ที่จะมาถึงนี้ รัฐบาลมีการดำเนินการอย่างบูรณาการ และประสานสอดคล้อง ตั้งแต่ต้นทาง กลางทาง ปลายทางนะครับ เพื่อการพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ เช่น
1. การผลักดันการส่งออก ในปี 2559 ได้มีการประชุมคณะกรรมการพัฒนาการค้าระหว่างประเทศ (พกค.) นะครับ ประกอบด้วย 9 กระทรวงที่เกี่ยวข้องรวมทั้งมีการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ในส่วนของเลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ประธานสมาคมธนาคารไทย ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย ประธานสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยนะครับ ได้ร่วมมือกันในการที่จะขับเคลื่อนเศรษฐกิจในภาคธุรกิจร่วมกับรัฐด้วยนะครับ ในปัจจุบันมีการประชุมร่วมกันไปเรียบร้อยแล้วนะครับ ได้มีการร่วมกันพิจารณากำหนด 7 ยุทธศาสตร์สำคัญ คือ
(1) การเปิดประตูการค้านะครับและขยายความร่วมมือทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะความตกลงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์เศรษฐกิจเอเชีย-แปซิฟิก หรือ TPP นะครับ ซึ่งจะต้องมีการพิจารณากันอย่างละเอียดรอบคอบ RCEP อันนี้เราก็ต้องรวมถึงการขยายประโยชน์ของ FTA ที่มีอยู่ ต้องมีเร่งการเจรจา RCEP ให้ได้โดยเร็วนะครับ แล้วก็การพิจารณาเปิดเจรจาจัดทำ FTA ใหม่
(2) ต่อไปก็เป็นเรื่องของการเร่งรัดขยายตลาดส่งออก เชิงรุก โดยใช้ความต้องการตลาดเป็นตัวนำการผลิต หรือกำหนดสินค้า บริการที่จะผลักดันการส่งออก และมีการกำหนดกลยุทธ์เชิงลึก ลงถึงในระดับเมือง มุ่งเน้นการเจาะตลาดใหม่ๆ เจาะกลุ่มตลาดเฉพาะนะครับ และช่องทางการค้าออนไลน์
(3) การส่งเสริมการค้าชายแดน ทั้งนี้ก็เพื่อให้ไทยเป็นศูนย์กลางของภูมิภาค ทั้งด้านเศรษฐกิจ การค้า และการลงทุน
(4) การส่งเสริมผู้ประกอบการไทย ไปดำเนินธุรกิจและลงทุนในต่างประเทศ
(5) การปรับโครงสร้างการค้า สู่การค้าการบริการ เพื่อเป็นจักรกลใหม่ ในการขับเคลื่อนการค้า โดยมีธุรกิจบริการที่ให้ความสำคัญ 6 ประเภทด้วยกัน ก็ได้แก่ ธุรกิจบริการด้านสุขภาพ ธุรกิจบันเทิงและคอนเทนต์ ธุรกิจโลจิสติกส์ ธุรกิจการศึกษา ธุรกิจบริการเกี่ยวกับการต้อนรับ และธุรกิจบริการวิชาชีพ นะครับ ก็ขอให้มีการกำหนดมาตรฐานที่ดีเพียงพอนะครับ ในการที่จะมีงานที่มีอาชีพ มีรายได้สูงขึ้นนะครับ และทำงานได้จริงๆ
(6) ต่อไปก็คือเรื่องของการเพิ่มบทบาทของ SMEs ในการผลักดันการค้าและสร้างนักรบเศรษฐกิจใหม่นะครับ ที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม คือต้องสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ ขึ้นมานะครับ แล้วก็ผูกพันเชื่อมโยงไปกับท้องถิ่นเขาด้วย นะ ภาคการผลิตนะครับ
(7) เรื่องต่อไปคือการสร้างมูลค่าเพิ่ม ในภาคอุตสาหกรรมการส่งออก ทั้งนี้เราก็จะยกระดับผู้ประกอบการส่งออกจากเดิมที่เป็นเพียงผู้รับจ้างผลิต ไปสู่ผู้ประกอบการที่มีการออกแบบ หรือผู้ประกอบการที่มี แบรนด์เป็นของตนเอง มีหลายอย่างนะครับมีศักยภาพอยู่ รัฐบาลก็จะเอาจริงเอาจังกับเรื่องเหล่านี้
เรื่องที่ 2. คือการปรับเปลี่ยนยุทธศาสตร์ส่งเสริมการลงทุนในช่วง 7 ปี ตั้งแต่ปี พ.ศ.2558 - 2564 มุ่งสู่แนวทางจัดตั้ง คลัสเตอร์ ซุปเปอร์คลัสเตอร์ โดย
(1) กำหนดการจัดตั้งซุปเปอร์คลัสเตอร์ ใน 9 จังหวัด ซึ่งรัฐบาลได้แก้ไขกฎระเบียบและปรับปรุงกฎหมาย ให้มีความเป็นสากล จำนวน 367 ฉบับนะครับ ทั้งกฎหมายเรื่องอำนวยความสะดวก การค้าการลงทุน สิทธิมนุษยชน และกฎหมายที่ประชาชนได้ประโยชน์ทั้งสิ้น บางอย่างก็ยังอยู่ในขั้นตอนพิจารณาของคณะกรรมาธิการนะครับ ผมก็รับฟังข้อขัดแย้ง หรือความเห็นของทุกภาคส่วนนะครับ ก็ไปพิจารณาเพิ่มเติมกันในสามวาระของ สนช.ก็แล้วกันนะครับ ก็อย่าเพิ่งเข้าใจว่าทุกอย่างประกาศไปแล้ว อะไรไปแล้ว ความขัดแย้งสูง ผมไม่อยากให้พี่น้องลำบากนะ เหน็ดเหนื่อย ในการต้องมาประท้วงในเรื่องที่ไม่ใช่เรื่องสำคัญนะ เพราะยังไมเดินหน้าไปถึงไนเลย เพียงแค่มาพิจารณา ครม. ก็ส่งกลับไปให้ทำให้ครบ เอาข้อพิจารณา ข้องสังเกตของท่านทั้งหลายใส่เข้าไปด้วย คราวนี้จะทำได้ยังไง ก็ต้องไปทำในเพิ่มเติมในหลักการและเหตุผลให้กว้างขึ้น เพื่อจะได้ไปถกแถลงในประเด็นที่ท่านเสนอมาได้ ไม่งันจะตีกรอบ ก็จะกลายเป็นว่ารัฐเป็นคนกำหนดทั้งสิ้น แต่ต้องช่วยกันนะครับ ก็ต้องแบ่งเบากันบ้างว่าอะไรจะได้ อะไรจะเสีย รัฐบาลผมมีนบายว่าคนที่ได้ประโยชน์ต้องเป็นประชาชนนะครับ รัฐบาลก็ต้องทำหน้าที่ให้ดีที่สุด แต่ทั้งนี้ก็ต้องไม่ไปละเมิดพันธสัญญาของคนอื่นเขาด้วย กับต่างชาติที่เราต้องมีการค้าการลงทุนร่วมกันนะครับ
(2) ในเรื่องของการเพิ่มสิทธิประโยชน์นะครับ อันนี้เป็นเรื่องสำคัญ เพื่อจะสร้างแรงจูงใจให้นักลงทุนต่างชาติเข้ามาลงทุนในไทยมากขึ้นในประเทศไทยนะครับ เราจำเป็นนะครับ เพราะต้องเป็นอาชีพเสริมสำหรับภาคการเกษตรด้วย ซึ่งนับวันจะมีปัญหามากขึ้นนะครับ ถ้าเรามีอุตสาหกรรมบ้าง ที่เป็นอุตสาหกรรมสีเขียว ก็จะช่วยให้พี่น้องมีรายได้ เลี้ยงดูครอบครัว เลี้ยงดูพ่อแม่นะ แล้วพัฒนาไปสู่การเป็นผู้ประกอบการด้วย ด้วยการรวมกลุ่ม โดยเฉพาะสินค้าทางการเกษตร เราก็ต้องปรับปรุง เกี่ยวกับเรื่องของสหกรณ์นะครับ การเกษตรทั้งหมด ที่มีหลายประเภทด้วยกัน ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นนะครับ วันนี้ได้สั่งการกระทรวงเกษตรไปดำเนินการแล้ว ในส่วนของการลงทุนปัจจุบันนั้น ก็เร่งรัดการลงทุนที่เป็นอุตสาหกรรมแห่งอนาคตนะครับ เพื่อเป็นการยกระดับพื้นที่ที่มีศักยภาพ ให้เป็นฐานการผลิต ในอุตสาหกรรมเป้าหมาย 10 ประเภท ด้วยกัน อาทิเช่น ยานยนต์สมัยใหม่ อิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ การท่องเที่ยว การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ การเกษตรและเทคโนโลยีชีวภาพ การแปรรูปอาหาร หุ่นยนต์เพื่ออุตสาหกรรม การแพทย์ครบวงจร การขนส่งและการบิน เชื้อเพลิงและเคมีชีวภาพ และดิจิตอลนะครับ ทั้งนี้เราจะเน้นการพัฒนาสินค้าที่มีคุณภาพ ส่งเสริมด้านนวัตกรรม เพิ่มมูลค่าให้กับสินค้า และเน้นการนำวัตถุดิบในแต่ละพื้นที่มาแปรรูปนะครับ สร้างความเชื่อมโยง SMEs กับการประกอบการในระดับกลาง ระดับใหญ่นะครับ ให้เชื่อมโยงกันให้ได้ เพื่อจะเพิ่มรายได้ให้กับประชาชนระดับล่างนะครับ
(3) อีกประการหนึ่งคือการเตรียมความพร้อมให้การสนับสนุน ส่งเสริม และแก้ไขปัญหาอุปสรรค ทั้งเรื่องปัญหาที่ดิน วันนี้ก็ต้องแก้กันเยอะแยะไปหมดนะ ที่ดินบุกรุก ที่ด้นราชพัสดุ ที่ดินอะไรต่างๆ คือจนทุกคนเคยชินไปแล้วนะ จนไม่รู้ว่า กฎหมายอยู่ตรงไหน นะ วันนี้เอากฎหมายมาว่ากันก่อน เราจะดูแลนะครับ ให้ตามสมควร ที่ไม่ผิด ไม่ทำให้คนอื่นเกิดความเหลื่อมล้ำ อะไรทำนองนี้นะ ในเรื่องของการปรับปรุงระบบสาธารณูปโภค ขั้นพื้นฐานนะครับ เราก็ต้องเร่งในเรื่องของการให้การบริการ One Stop Service นะครับ ว่าข้อมูลต่างๆ จะทำยังไง จะไปที่ไหนบ้าง ก็มาซะที่เดียวเลยนะครับ วัน สต๊อป เซอร์วิส วันนี้ก็มีที่กรุงเทพฯ แล้วก็มีที่จังหวัด ที่เตรียมการเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศาแล้วนะครับ หลายจังหวัดด้วยกัน ก็ติดตามเอาแล้วกันนะครับ
(4) เรื่องต่อไปคือเรื่องของการจัดทำระบบบัญชีเดียว เพื่อรองรับข้อมูลผู้ประกอบการ ให้ขึ้นทะเบียนให้ถูกต้อง แล้วก็เพื่อจะขอรับการส่งเสริมการลงทุนต่อไปนะครับ ปีนี้รัฐบาลได้อนุมัติไปแล้ว จำนวนเกือบ 2 พันโครงการนะครับ มีมูลค่าการลงทุน จำนวนราว 7 แสนล้านบาท ซึ่งก็จะเป็นผลดีต่อระบบเศรษฐกิจนะครับในหลายมิติ ทั้งการเพิ่มรายได้ จากการส่งออกกว่า 1 ล้านล้านบาท เพิ่มการใช้วัสดุในประเทศ ราว 8 แสนล้านบาทนะครับ ก่อให้เกิดการลงทุนใน 20 จังหวัด และช่วยเพิ่มรายได้ต่อหัวของประชากรในพื้นที่ด้วย ผ่านโครงการต่าง ๆ คิดเป็นมูลค่า กว่า 4 หมื่น 4 พันล้านบาทนะครับ ถ้าไม่ทำแบบนี้มันไปไม่ได้ ฝากไว้กับเกษตรกร แล้วก็ผลิตผลทางการเกษตรอย่างเดียวมันไปไม่ได้แน่นอน ต้องสร้างความเจริญไป ภูมิภาค ไปท้องถิ่น ทั้งภาคการเกษตร เกษตรแปรรูป อุตสาหกรรมแนวใหม่ทั้งหมดนะครับ ในทุกพื้นที่ ก็ขอร้องว่า ขอให้การสนับสนุนรัฐบาลด้วยนะครับ ในโครงการที่ดีๆ นะครับ ท่านมีปัญหาก็พูดคุยกัน ด้วยวิถีทางที่ถูกต้อง เข้าช่องทางที่ถูกต้องแล้วกันนะครับ
(5) เรื่องต่อไปคือการเชิญชวนนักลงทุนต่างชาติ ให้มาลงทุนในไทย รวมทั้ง ส่งเสริมการลงทุนในลักษณะ “ไทย + กลุ่มประเทศอาเซียน” ก็เหมือนไทยบวก 1 ไปประเทศโน้น ประเทศนี้ หรือประเทศเพื่อนบ้านมาประเทศไทยนะครับ ก็เป็นอาเซี่ยน บวกหนึ่ง เช่นเดียวกัน
(6) ต่อไปคือการเดินหน้าการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษ ตามแนวชายแดน จำนวน 10 พื้นที่นะครับ ปี 58, 6 พื้นที่ และปี 59 จะเพิ่มอีก 4 พื้นที่ รวมทั้งพื้นที่ที่มีศักยภาพด้วยนะครับ เป็นการจัดตั้ง ซูเปอร์ อะไรก็แล้วแต่ อันนั้นก็เป็นอีกกิจกรรมหนึ่งเหมือนกันนะครับ อาจจะเกิดทั้งในเขตเศรษฐกิจพิเศษก็ได้ หรือนอกเขตก็ได้ ตรงที่มีศักยภาพก็แล้วกัน วันนี้ต้องเป็นความร่วมมือกันระหว่างของภาครัฐ ภาคเอกชนที่เขาตั้งใจจะลงทุนนะ เพราะบางครั้งมีปัญหามากมายหลายอย่าง พวกสาธารณูปโภคพื้นฐาน ไฟฟ้า ประปา ถนน ก็มีปัญหาหมด เพราะงั้นก็ขอร้องพวกเราด้วยกันว่าเวลาการลงทุนมาแล้วนี่ พวกที่มีที่ทางต่างๆ ก็อย่าขายจนแพง จนจนเกินความเป็นจริง มากเกินไป ขึ้นเป็น 100 เท่าอย่างนี้ ก็ไม่ไหวนะ การลงทุนก็ไม่เกิดขึ้นนะครับ ถ้าเราทำทุกอย่างนี้ได้ตามแผนงานของรัฐบาลในระยะเวลาอันสั้นนี้ จะเป็นการเริ่มต้น แล้วส่งผลต่ออนาคตนะครับ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการจ้างงานในพื้นที่ การสร้างชนเมืองในชนบท การเพิ่มการค้าการลงทุนตามแนวชายแดน การค้าขายชายแดน แล้วก็มีการใช้วัตถุดิบทั้งในและต่างประเทศร่วมกัน เราจะได้แก้ปัญหาเรื่องยาง เรื่องข้าวให้ได้ครบวงจรซะที่นะ ใช้ในประเทศให้มากขึ้น 30% อย่างที่ตั้งใจไว้ ก็ต้องมีโรงงานเกี่ยวกับเรื่องยางนะครับ แล้วก็ทำ นอกจากเป็นยางรถยนต์แล้ว ก็ยังเป็นเรื่องของยางปูพื้น ในเรื่องของปูสนามกีฬา ถุงมือ เดิมเราทำเยอะอยู่แล้ว ต่อไปก็เป็นเรื่องวัสดุอื่นๆ ใช้ในการประกอบการ เป็นผนังห้องน้ำสำหรับคนเจ็บคนป่วย หรือทำเกี่ยวกับเรื่องเฟอร์นิเจอร์ เกี่ยวกับเรื่องเครื่องนอน เรามีฝีมือทั้งสิ้นนะ วัตถุดิบก็มีจำนวนมาก ก็ต้องเพิ่มทักษะเข้ามา เพิ่มโรงงานเข้ามาแล้วก็เรียนรู้เรื่องเทคโนโลยี การประกอบต่างๆ ให้เป็นนวัตกรรมที่แข่งขันกับคนอื่นเขาได้ ต้องมีความแตกต่างนะครับ ถึงแม้ว่าเราจะมีค่าแรงที่สูงพอสมควร แต่เราก็ต้องไปลดตรงอื่นให้ได้นะ ต้นทุนการผลิตจะลดยังไง ก็เอาของในประเทศมา รัฐบาลก็จะดูแลตรงนี้ ด้วยนะครับ เพื่อจะรองรับการประกอบการ ภาคธุรกิจ ภาคอุตสาหกรรม ทั้งหมดนะ เรากำลังทำอยู่ทั้งหมดนะครับ เรื่องแรงงานที่มีฝีมือเราขาด จำนวนมากวันนี้เร่งรัดไปแล้วทั้งเร่งด่วน ระยะสั้น ระยะยาว นะครับ เร่งด่วนก็ต่อยอดเอา จบไปแล้ว ถ้าระยะสั้นก็ปี 4 ที่กำลังจะจบเอามาอบรมซะนะ ในสาขาที่ต้องการนะครับ ถ้าระยะยาว ก็ ปี 1 ถึง ปี 4 ในรุ่นต่อไป ก็ต้องเตรีมการให้สอดคล้องกับความต้องการนะ ของประเทศนะครับ
3. โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเตรียมแรงงานที่มีฝีมือ นี่มีปัญหามากในภาค อุตสาหกรรมนะครับ ขาดแคลน ไม่เพียงพอ ทั้งนักวิจัย นักพัฒนา หัวหน้างาน ผู้จัดการต่างๆเหล่านี้ ทั้งภาคอุตสาหกรรม และภาคการบริการ ท่องเที่ยว ทั้งหมด ยังขาดอยู่เยอะนะ เทคนิคเชี่ยนอีก เรื่องเกี่ยวกับเรื่อ รถไฟ รถไฟฟ้า การขนส่ง ทางบก ทางเรือ ทางอากาศ ช่างซ่อมเครื่องบิน เหล่านี่เป็นเรื่องที่เรากำลังขาดอยู่ทั้งสิ้น ก็ได้เร่งรัดไปแล้วนะครับ ถ้าไม่งั้นแล้วเรา ผลิตแรงงานไม่เพียงพอนี่ ก็ไม่ตอบสนองต่อการขยายตัวของเราไปสู่การเป็นประชาคมอาเซี่ยนนะครับ AEC นั่นเอง
(1) เรื่องนี้กระทรวงแรงงานได้บูรณาการ ในการจัดทำข้อมูลแรงงานนะครับ ร่วมกับกระทรวงอุตสาหกรรมและกระทรวงศึกษาธิการ ที่เป็น “ผู้ใช้-ผู้ผลิตแรงงานที่มีฝีมือ” ก็ต้องสอบถามจากผู้ประกอบการไทยด้วยนะครับ เพราะว่าขาดทั้งต่างประเทศมาลงทุน ทั้งในประเทศที่ขาดนะครับ ก็มี 2 อย่าง แรงงานที่มีฝีมือ ซึ่งเราต้องผลิตมากขึ้น ต่อยอดอะไรก็แล้วแต่นะครับ กับอีกอันคือแรงงานไม่ต้องมีฝีมือ ใช้แรงงานอย่างเดียวนี่ก็ต้องเป็นเรื่องของความร่วมมือระหว่างประเทศ ในการใช้แรงงานต่างด้าวนะครับ ก็ต้องควบคุมกันให้ได้ แล้วกันนะ ทุกคนก็เป็นมนุษย์ทั้งนั้นแหละ เราก็ต้องดูแลเขให้ดีที่สุดนะ อย่าไปเอาเปรียบเขา การค้ามนุษย์เป็นสิ่งที่ร้ายแรง วันนี้มีโทษทันฑ์มากมายนะครับ
ทั้งผู้ทำ ผู้เกี่ยวข้อง อะไรแล้วแต่ทั้งหมด เจ้าหน้าที่ มีโทษทุกอย่างเลยนะครับ เพื่อแสดงให้เห็นถึงความจริงใจของรัฐ วันนี้ผมก็กำชับไปแล้วนะ ไม่ว่าจะในเรื่องของการทำความผิด เรื่องของประมงในเรื่องของค้ามนุษย์นี่ จะต้องลงโทษอย่างเด็ดขาด แล้วก็จะต้อมีการจัดทำข้อมูลเชิงสถิติตัวเลข ของความต้องการแรงงาน ว่าเป็นอย่างไร เท่าไร ประเภทใดบ้าง แล้วก็ในระดับการศึกษาใด ความรู้ความชำนาญที่ต้องฝึกเพิ่มเติมให้เขามีอะไรบ้าง หลายสาขามีความต้องการทั้งหมดนะครับ ต้องมีรายละเอียดเหล่านี้ทั้งหมด ปัญหาเราก็คือการจัดทำข้อมูลทั้งหมด ไม่ว่าจะเรื่องประชาชน เรื่องอาชีพ เรื่องรายได้ ผมก็เน้นว่า ปี ’60 นี้ น่าจะทำให้สำเร็จนะครับ บัตรประชาชนที่มีระบุอาชีพ รายได้ ไม่ต้องอายนะครับ ไม่ต้องอาย มีรายได้น้อยรายได้มาก ก็คนไทยทั้งสิ้น ผมต้องการให้แยกแยะ ให้ได้ว่ารัฐบาลจะได้ใช้งบประมาณอย่างไรให้เหมาะสมนะครับ เพราะเรารายได้ยังน้อยอยู่ แต่ถ้าหากว่าเศรษฐกิจดีขึ้นมากๆ วันหน้าก็ดีขึ้นเองนะครับ ทุกคนก็คงจะลืมตาอ้าปากกันได้ หมดหนี้หมดสินกันเสียที แต่ถ้าไม่เริ่มแบบผมทำวันนี้ไปไม่ได้แน่นอน ก็จะจนไปเรื่อยๆ เป็นหนี้ไปเรื่อยๆ นะ อยากจะขอร้อง ขอความร่วมมือด้วยแล้วกัน
(2) ในเรื่องของแรงงานก็ยังไม่จบนะครับก็มีการต้องจัดทำข้อมูลแรงงานพื้นฐาน ในระบบ เช่น Smart Job Center เพื่อให้ผู้ประกอบการ สถานประกอบการ และหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้อง ใช้ในการบริหารงานร่วมกันเรียกว่าบูรณาการยังไงนะ สำหรับผู้ต้องการแรงงงาน จากตัวอรงงานเอง จะต้องเจอกัน ไม่งั้นก็บริษัทต่างๆ บางทีบางบริษัทก็มีประสิทธิภาพ บางบริษัทก็ซื่อตรง ซื่อสัตย์ บางบริษัทก็ไม่ค่อยซื่อสัตย์ ทำให้เกิดปัญหาในเรื่องของแรงงานในอนาคตต่อไปด้วยนะครับ
(3) ต่อไปคือ “โครงการเพิ่มผลิตภาพแรงงานไทย” รัฐบาลก็ช่วยเหลือ วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) นะครับ ให้มีขีดความสามารถในการแข่งขัน มีนวัตกรรม มีความพร้อมสู่ประชาคมอาเซียน อาทิ เช่นการพัฒนาแรงงานมีทักษะฝีมือสูงขึ้น เป็น Multi Skill สามารถทำงานได้มากขึ้น ในเวลาเท่าเดิม แล้วก็เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน ลดการสูญเสียในการผลิต ขณะเดียวกันสามารถลดการสูญเสียในวงจรการผลิตด้วย ลดต้นทุนการผลิตได้จริง โดยจะนำร่อง SMEs และสถานประกอบกิจการ จำนวน 260 แห่ง ใน 20 กลุ่มธุรกิจนะครับ อาทิเช่นธุรกิจอาหารและเครื่องดื่ม สิ่งทอและแฟชั่น เฟอร์นิเจอร์และผลิตภัณฑ์จากไม้ หัตถกรรม อัญมณีและเครื่องประดับ เป็นต้น
และ (4) มีการจัดตั้ง “ศูนย์บริการให้คำปรึกษาเพื่อเพิ่มผลิตภาพแรงงาน” (ศปพ.) นะครับ ภายในสถาบันพัฒนาฝีมือแรงงานภาค และศูนย์พัฒนาฝีมือแรงงานจังหวัด ทั่วประเทศ เพื่อให้คำปรึกษาแก่สถานประกอบกิจการต่าง ๆ ในการดำเนินงานไม่ว่าจะเป็นการปรับปรุงขบวนการผลิตหรือขั้นตอนการทำงาน รวมถึงการบริหารจัดการระบบ โลจิสติกส์และ โซ่อุปทาน จะช่วยสามารถลดการสูญเสียในวงจรการผลิตได้นะครับ ทั้งนี้สถานประกอบกิจการที่มีลูกจ้าง ตั้งแต่ 100 คนขึ้นไปนั้น กฎหมายกำหนดไว้แล้วนะครับ ให้ต้องฝึกอบรมลูกจ้าง ไม่น้อยกว่าร้อยละ 50 ของจำนวนลูกจ้างทั้งหมด ทุกปีนะครับ โดยสามารถนำค่าใช้จ่ายในการพัฒนาฝีมือแรงงาน ไปลดหย่อนภาษีได้ ร้อยละ 200 ครับ ก็ขอให้ช่วยด้วยนะ
ทั้งนี้ การเตรียมความพร้อมทางด้านบุคคลากรในด้านต่างๆ นั้น ไม่ว่าจะเป็นภาคอุตสาหกรรม ช่างเทคนิค ช่างฝีมือ บุคลากรทางการแพทย์ การศึกษา รวมทั้งข้าราชการรุ่นใหม่ คงต้องไม่ใช่เฉพาะการเพิ่มจำนวนเท่านั้นนะครับ ต้องสามารถให้การบริการ ปฏิบัติงานในหน้าที่อย่างมีประสิทธิภาพ มีความเป็นสากล ได้รับการยอมรับ มีความรู้และเข้าใจเกี่ยวกับอาเซียนและประชาคมอาเซียน รวมทั้งประเทศสมาชิกนะครับ ตลอดจนบุคลากรต้องสามารถใช้เทคโนโลยีสารสนเทศที่ทันสมัย ต้องมีทักษะทั่วไปด้านภาษานะครับ ภาษาอังกฤษ และภาษาอื่นๆ ด้วยนะครับ ทีจำเป็นในการฟัง การพูด การอ่าน ทางการเขียนเท่าที่ทำได้ในระยะแรกนะครับ ต่อไปก็คงจะพัฒนาเก่งขึ้นในอนาคต เพื่อจะเป็นหัวหน้างานต่อไปยังไงนะครับ ในการการประชุมต่างๆ เหล่านั้น ถ้าหากว่าเรามีการรู้ภาษาอังกฤษมากขึ้น จะเข้าใจมากขึ้นนะ ว่าเขาประชุมกันเรื่องอะไร เขาเจรจากันเรื่องอะไรกันอยู่นะครับ ระดับที่ต้องพัฒนาไปสู่ตรงกลาง กับตรง ท๊อป นะครับ ของกิจการของแต่ละกิจการ ท่านต้องมีการพัฒนาตัวเองอย่างต่อเนื่องนะครับ พวกแรงงานข้างล่างก็ต้องรู้เหมือนกัน เพราะท่านก็ต้องมีเพื่อนร่วมงานมีนายจ้างเป็นชาวต่างประเทศด้วยนะ รู้ไม่ต้องมาก นิดๆ หน่อยๆ ทักทายได้ อะไรได้ พูดคุยกันได้ พอสมควรนะครับ ในส่วนของทักษะเฉพาะภาษาประเทศเพื่อนบ้านผมก็เห็นมีการฝึกมีการเรียนรู้เยอะแยะ ตามทีวี โทรทัศน์นี่ ทุกช่องเลยนะ แต่ผมก็ไม่ทราบว่าผลสัมฤทธิ์เกิดขึ้นเท่าไรนะ วันนี้สอนเรื่องนี้ เรื่องนั้น แต่ไม่รู้ว่าวัดผลได้ยังไงนะ ว่าภาษาอังกฤษได้ถึงแค่ไหน ผมอยากให้แยกแยะอย่างนี้ได้ไหมครับว่า เป็นภาษาอังกฤษขั้นพื้นฐาน 1 อันนะ พื้นฐานคือคนทั่วไป ต้องเรียนรู้น่ะ ง่ายๆ อันที่สองภาษาอังกฤษเพื่อธุรกิจ ใช่ไหม อุตสาหกรรมอะไรก็แล้วแต่ อันที่สามก็ภาษาอังกฤษสำหรับข้าราชการ อันที่สี่ก็เป็นภาษาอังกฤษสำหรับการท่องเที่ยว เพื่อจะเป็นเจ้าภาพ เจ้าบ้านที่ดีเผื่อรับนักท่องเที่ยวยังไง มีความยากง่ายแตกต่างกัน และสุดท้ายก็เป็นเรื่องของ การศึกษาตามสถานศึกษาซึ่งมีหลักสูตรของเขอยู่แล้ว วันนี้ต้องสอนให้คนฟังได้ก่อน ฟังเข้าใจ แล้วก็พูดตามมา แล้วก็อ่าน เขียน ต้องไปได้ทั้งหมด คนไทยส่วนใหญ่เราจะเน้นหนักเรื่องไวยากรณ์ซะส่วนใหญ่นะ ก็เลนติดไปหมดนะ เขากลัวจะผิดยังไง ผมเองก็กลัวนะ เพราะงั้นเราก็ต้องพยายามให้ได้มากที่สุดแล้วกัน เราไม่ใช่ภาษาของเรา แต่เราก็ต้องรู้ ต้องเรียนรู้นะครับ เราต้องใช้ความเป็นมืออาชีพ ทำงานโดยมุ่งผลสัมฤทธิ์ ยึดเป้าหมายร่วมกัน ที่สำคัญก็คือว่าต้องมีขั้นตอนการทำงานที่โปร่งใส ได้มาตรฐาน มีความเป็นธรรมนะครับ มีจิตสำนึกของการทำงานเป็นทีม มีการสร้างเครือข่ายกับทุกภาคส่วนและกับประเทศสมาชิก ให้มีความเข้าใจที่สามารถกำหนดมาตรฐานการทำงานที่เป็นสากลนะครับ
ท่านต้องรีบพัฒนา เพราะการเป็น AEC นี่จะห้ามหลายอาชีพไม่ให้มาทำงานในประเทศเราไม่ได้ เช่นเดียวกัน เขามาห้ามเราไม่ได้เหมือนกัน อันนี้จะทำให้เกิดปัญหาการแย่งชิงแรงงานที่มีคุณภาพ หลายอย่างนะครับ แพทย์ พยาบาลนี่ เพราะหลายประเทศเขาก็มีค่าแรงค่าจ้างสูงนะ เพื่อจะได้หมอดีๆ หรือพยาบาลต่างๆ ก็แล้วแต่ ไปอยู่ที่เขาให้มากที่สุด กำลังเตรียมการเรื่องการเป็น HUB ด้วย เราก็ต้องการเป็น HUB รักษาพยาบาล ผมก็แนะให้กระทรวงศึกษาไปปรับในเรืองนี้แล้วนะครับ ว่าปัญหาในเรื่องของการขาดแคลนแพทย์ส่วนกลางมีไหม ปัญหาการขาดแคลนแพทย์ชนบทมีไหม แล้วก็การขาดแคลนในการที่จะเป็น HUB เรื่องการรักษาพยาบาล จะต้องสร้างความเชื่อมันโดยมีแพทย์ต่างประเทศมาเป็นที่ปรึกษาอะไรต่างๆ ด้วยไหม ให้ไปแล้วนะครับ เพราะงั้นไปดูในแผนการผลิตในปี 59 นี้ให้ได้แล้วกัน ถึง 60 นี่แหละ ไม่งั้นก็เป็นอยู่เหมือเดิมนะ ขาดแพทย์ชนบทก็ทำไมไม่ไปเปิดหลักสูตรส่วนหนึ่ง มีสัดส่วนอันนี้มาจากต่างจังหวัด ภูมิภาคโน้น ภาคนี้ ในจังหวัด โรงพยาบาลจังหวัดนะ ให้จังหวัดนั้นเขาส่งคนมาเรียนแพทย์ กลับไปก็ต้องไปอยู่จังหวัดโน้นไม่ต้องมีย้าย เย้ย ไปไหนทั้งสิ้น เขาก็โตที่โน่น จะได้สร้างชุมชนเมืองการศึกษาก็มีโรงเรียน มีหมาวิทยาลัยในภูมิภาคไปนะ เหล่านี้เป็นสิ่งที่ต้องวางอนาคตทุกอย่าง นะครับ ไม่งั้นจะเกิดอะไรไม่ได้
ปัญหาสำคัญของบ้านเราในเวลานี้นะครับ สิ่งที่ผมเป็นกังวลอยู่หลายเรื่องด้วยกันนะ
1) เรื่องแรกคือการไม่เคารพกฎหมาย ทำให้เจ้าหน้าที่บังคับใช้กฎหมายไม่ได้ กฎหมายก็จะคลายความศักดิ์สิทธิ์ลง ไม่ใช่ว่ากฎหมายเหล่านี้จะทำเพื่อละเมิดสิทธิ์มนุษยชน ผมต้องถามว่าแล้วท่านละเมิดสิทธิมนุษยชนคนอื่นเขาหรือไม่ ประเด็นอย่าพูดข้างเดียวนะ ไม่ได้หรอก วันนี้กำลังปฏิรูปอยู่นะครับ คนอื่นเขาเดือดร้อนหรือเปล่า สิ่งกังวลต่อไปก็คือถ้าเขาละเมิดกฎหมายเหล่นี้ เดือดร้อนคนอื่น ต้องมีคนไม่ชอบ อันตรายก็จะเกิดขึ้น ก็จะเกิดการตีกัน ทะเลาะกัน ก็ไม่พ้นรัฐบาลต้องไปแก้ปัญหา เจ้าหน้าที่ก็เดือดร้อนนะ ขอร้องเถิดครับไม่ว่าจะกลุ่มไหนก็ตาม อย่าฝ่าฝืนกฎหมายกันเลยนะ กฎหมายไม่ศักดิ์สิทธิ์ แล้วจะอยู่กันยังไง ถ้าไม่มีกฎหมาย ก็เหมือนเดิม
2) เรื่องที่สองก็คือไม่เชื่อมั่นกระบวนการยุติธรรม ความไว้เนื้อเชื่อใจไม่เกิดขึ้น เพราะว่าอะไร เพราะไม่เข้าใจ ไม่เข้าใจในขบวนยุติธรรมว่าต้องเริ่มตรงไหน ไม่ใช่อยู่ดีๆ ก็กลัวอย่างเดียว กลัวตำรวจจับ ก็ต้องมีเหตุมีผล ทำไมเขาถึงจับนะ ทำไมถึงมีการเรียกร้องผลประโยชน์ สมยอมหรือเปล่า การที่จะไปว่ากล่าวให้ร้ายใครก็ต้องมีการร้องทุกข์ กล่าวโทษใช่ไหม แล้วก็มีโอกาสในการพิสูจน์ทราบด้วยกระบวนการยุติธรรมทางกฎหมาย วันนี้ยุ่งไปหมดเลย เรื่องเหล่านี้ ผมพยายามทำทุกอย่างให้เป็นไปตามกฎหมายแล้วนะ วันนี้ก็จะเห็นได้ว่ามีความยุติธรรมหมดทุกอันนะ คือต้องเป็นธรรมนะ ให้โอกาสทุกคน ก็ให้ทำความเข้าใจด้วยนะครับ
3) เรื่องต่อไปผมคิดว่าจำเป็นนะ ต้องให้คนไทยนี่ทราบขั้นตอนของการทำงานของภาครัฐบ้าง ไม่งันก็จะล้มล้างกันไปทุกอันไปเลย ทำอะไรก็ไม่ได้สักอย่าง พัฒนาก็ไม่ได้ อะไรก็ไม่ได้หมด บริหารอะไรก็ไม่ได้สักอย่าง นี่ เพราะไม่ทราบขั้นตอนว่าตัวเองจะเข้ามามีส่วนร่วมตรงไหน เรามี พรบ. ข้อมูลข่าวสารให้แล้ว ในนั้นก็ไม่ใช่ว่าจะต้องมาเริ่มตั้งแต่ต้น ถ้าเริ่มต้นไปไม่ได้ ฝ่ายรัฐต้องเป็นคนมาเริ่มต้นก่อน โดยความต้องการของคนในพื้นที่ หรือตามแผนงานระยะยาว ยุทธศาสตร์อะไรก็แล้วแต่ แล้วไปทำประชาพิจารณ์ ไปทำการประชุมสร้างความเข้าใจกับประชาชนในพื้นที่ว่าโอเคไหม ถ้าโอเค ถึงจะเดินหน้าต่อไปได้ นั่นแหละเขาเรียกว่าความร่วมมือ จะทำไม่ทำอยู่ตรงโน้น แต่ถ้าเริ่มตอนแรก โครงการเกิดไม่ได้สักอันเลยนะ แล้วจะทำยังไงล่ะ ที่ผมพูดทั้งหมดไม่เกิดเลยนะ”