ปรับ TOR ภูมิสถาปัตย์ “ถนนเลียบเจ้าพระยา” เขต กทม. “สะพานพระราม 7-สะพานปิ่นเกล้า” ระยะทาง 14 กม. ก่อนว่าจ้างบริษัท-สถาบันที่ปรึกษา เน้นเพื่อประโยชน์ประชาชน -เชื่อมโครงข่ายคมนาคมโดยรอบ เผยล้มว่าจ้างที่ปรึกษารอบแรกเป็นโมฆะเหตุมีผู้ผ่านประมูลเพียงรายเดียว ด้าน สนข.คาดผลศึกษาทั้งระบบเสร็จปีใหม่นี้ ก่อนชง ครม.อนุมัติโครงการและออกแบบรายละเอียด ม.ค. 59 เล็งเริ่มสร้างปี 60 ได้ใช้ปี 62 เล็ง “ท่าน้ำนนท์” จุดแรก 11 กม. คาดใช้เงิน 2.5 พันล้าน
วันนี้ (9 ธ.ค.) มีรายงานว่า เมื่อวันที่ 8 ธ.ค.ที่ผ่านมา ที่ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร 2 ดินแดง นายประสาร พิทักษ์วรรัตน์ รองผู้อำนวยการสำนักการโยธา รักษาการแทนผู้อำนวยการสำนักการโยธา กทม. เป็นประธานการประชุมคณะทำงานประสานด้านการออกแบบและภูมิสถาปัตย์ “โครงการพัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา” ครั้งที่ 2/2558 โดยมีหน่วยงานต่างๆ ร่วมเป็นคณะทำงาน เช่น กระทรวงศึกษาธิการ กรมโยธาธิการและผังเมือง กรมเจ้าท่า กรมทางหลวงชนบท กรมศิลปากร กรมอุทกศาสตร์ กองทัพเรือ กรมการขนส่งทางบก สำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหม การรถไฟแห่งประเทศไทย สมาคมสถาปนิกสยาม ในพระบรมราชูปถัมภ์ สมาคมสถาปนิกผังเมืองไทย สมาคมจักรยานแห่งประเทศไทย มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ คณะกรรมการอนุรักษ์และพัฒนากรุงรัตนโกสินทร์ และเมืองเก่า ร่วมประชุม
ทั้งนี้ ที่ประชุมมีการแสดงความคิดเห็นเพื่อนำข้อมูลนำไปเป็นข้อมูลประกอบแก่บริษัทหรือสถาบันการศึกษาที่จะเข้ามาเป็นที่ปรึกษาสำรวจ ออกแบบและจัดทำแผนแม่บทเพื่อพัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา โดยคณะทำงานฯ ได้กำหนดกรอบทิศทางการดำเนินการออกแบบและสำรวจโครงการพัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา ซึ่งจะแบ่งออกเป็น 2 ส่วน ได้แก่ 1. การศึกษาแผนแม่บทการพัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาในเขตกรุงเทพมหานคร ระยะทาง 57 กิโลเมตร ตั้งแต่สะพานพระราม 7 ถึงสะพานพระราม 9 รวมระยะทาง 57 กม. 2.การสำรวจ ออกแบบและจัดทำแผนแม่บทเพื่อพัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา ตั้งแต่สะพานพระราม 7 -สะพานสมเด็จพระปิ่นเกล้า ระยะทาง 7 กิโลเมตร ซึ่งในส่วนของโครงการพัฒนาแม่น้ำเจ้าพระยา 7 กิโลเมตร ได้มีการแสดงข้อคิดเห็นต่อโครงการดังกล่าวเป็นจำนวนมาก อีกทั้งหลายฝ่ายให้ความเห็นว่าเป็นโครงการที่ดีและควรจะดำเนินการให้เป็นรูปธรรม โดยแนวคิดของโครงการฯ ยังคงกำหนดรูปแบบเดิมที่ต้องการพัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาให้เป็นทางเดิน ทางจักรยาน และหากมีขนาดพื้นที่โดยรอบเหมาะสมอาจพัฒนาเป็นลานกิจกรรมหรือลานกีฬา และสวนสาธารณะเพื่อประโยชน์ของประชาชนส่วนรวมด้วย
ทั้งนี้จะมีการปรับปรุงและทบทวนข้อกำหนดร่างขอบเขตของงาน (TOR) ที่มีอยู่เดิมตามความเห็นของคณะทำงานและหน่วยงานเกี่ยวข้องเพื่อเป็นข้อมูลเบื้องต้นให้แก่บริษัทหรือสถาบันการศึกษาที่จะเข้ามาเป็นที่ปรึกษาโครงการฯ นำไปเป็นข้อมูลประกอบการศึกษา สำรวจ และออกแบบโครงการต่อไป ไม่ว่าจะเป็นด้านภายภาพ สภาพของแต่ละพื้นที่ โครงสร้าง ขนาดของโครงการ การกำหนดความกว้างของทางเดินและทางจักรยาน การเชื่อมต่อกับโครงข่ายคมนาคมโดยรอบ การคำนึงถึงสถาปัตยกรรมและอาคารสถานที่ทางประวัติศาสตร์ ประโยชน์ใช้สอยที่หลากหลาย การระบายน้ำที่ดี ตลอดจนผลกระทบต่อชุมชนและสภาพแวดล้อม เป็นต้น
มีรายงานว่า ขณะนี้โครงการพัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยายังไม่ได้กำหนดรูปแบบและงบประมาณที่ใช้ดำเนินการอย่างเป็นทางการ เนื่องจากยังอยู่ในขั้นตอนของการจ้างบริษัทหรือสถาบันที่ปรึกษาโครงการฯ ภายหลังจากการประมูลจ้างที่ปรึกษาโครงการฯ ที่ผ่านมาต้องเป็นโมฆะและยกเลิกไปเพราะมีผู้ผ่านประมูลเพียงรายเดียว ทั้งนี้ บริษัทหรือสถาบันที่จะมาเป็นที่ปรึกษาโครงการฯ จะต้องเข้ามาดำเนินการศึกษา สำรวจและออกแบบโครงการฯ อีกทั้งดำเนินการรับฟังความคิดเห็นจากผู้เกี่ยวข้องและประชาชน เพื่อนำมาประกอบการพิจารณากำหนดรูปแบบ รายละเอียด รวมถึงงบประมาณของโครงการให้ชัดเจน
จากนั้นจะต้องผ่านการกลั่นกรองของคณะทำงานประสานงานด้านการออกแบบและภูมิสถาปัตย์เพื่อพิจารณาความเหมาะสมก่อนที่จะนำเสนอต่อรัฐบาลเพื่อพิจารณาต่อไป ที่ผ่านมารูปแบบและขนาดของโครงการฯ รวมถึงงบประมาณที่มีการนำเสนอผ่านสื่อมวลชนแขนงต่างๆ นั้น เป็นเพียงแนวทางดำเนินการและการประมาณการเบื้องต้นเท่านั้น ยังไม่ได้มีการลงลึกในรายละเอียดโครงการหรืองบประมาณโดยบริษัทหรือสถาบันที่ปรึกษาฯ
อย่างไรก็ตาม การออกแบบโครงการฯ ยังสามารถปรับเปลี่ยนได้ขึ้นอยู่กับผลการศึกษาของบริษัทหรือสถาบันที่ปรึกษาฯ อีกทั้งต้องสอดคล้องกับแผนแม่บทโครงการพัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาตลอดสายของสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) ด้วย
มีรายงานว่า ที่ประชุมรับทราบโครงการตลอดสายจากสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) ว่า ผลศึกษาจะเสร็จวันที่ 31 ธันวาคมนี้ จากนั้นเดือนมกราคม 2559 จะเสนอโครงการให้กระทรวงคมนาคมพิจารณาเพื่อเสนอให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติโครงการและออกแบบรายละเอียด จะเริ่มสร้างปี 2560 แล้วเสร็จในปี 2562 โดยเลือกพื้นที่จากสะพานมหาเจษฎาบดินทรานุสรณ์-สะพานพระราม 5 หรือท่าน้ำนนท์ ระยะทาง 11.4 กม.พัฒนาเป็นแห่งแรก มีทั้งปรับปรุงพื้นที่เดิม สร้างทางเดินและทางจักรยานใหม่ ฝั่งละ 5.7 กม. ใช้เงินลงทุน 2,500 ล้านบาท จากทั้งโครงการจะสร้างจากสะพานปทุมธานี-บางกะเจ้า ระยะทาง 126 กม. เงินลงทุน 14,000 ล้านบาท
สนช.ชี้แจงว่า ที่เลือกพื้นที่ท่าน้ำนนท์เป็นแห่งแรก เพราะเป็นพื้นที่ไม่มีคนบุกรุก มีทางเชื่อมต่อการเดินทางกับระบบขนส่งสาธารณะหลัก เช่น รถไฟฟ้า ท่าเรือ สามารถสร้างแหล่งท่องเที่ยวและพัฒนาพื้นที่ได้ ไม่กีดขวางการไหลของน้ำ มีความสามารถป้องกันน้ำท่วม เข้าถึงและใช้ประโยชน์ของแม่น้ำได้ อีกทั้งยังไม่กระทบต่อวิถีชีวิต ชุมชน และวัฒนธรรมในปัจจุบันด้วย
สำหรับรายละเอียดของโครงการทั้ง 2 ฝั่ง ประกอบด้วย 8 ส่วน ได้แก่ 1. ปรับปรุงสะพานมหาเจษฎาบดินทรานุสรณ์รองรับทางจักรยานเชื่อมโยงพื้นที่นันทนาการฝั่งเมืองนนท์ 2. จะพัฒนาบริเวณริมน้ำหน้าสถานที่ราชการจากกรมราชทัณฑ์ถึงท่าน้ำนนท์ เป็นสวนสาธารณะเพื่อออกกำลังกาย พักผ่อนและปรับปรุงพื้นที่ริมน้ำหน้าศาลากลางนนทบุรีหลังเก่า เพื่อส่งเสริมการใช้พื้นที่ริมน้ำ โดยบูรณาการร่วมกับการออกแบบสะพานคนเดิน 3. ก่อสร้างทางจักรยานและทางเดินริมน้ำกว้าง 6 เมตร นอกแนวโครงการเขื่อนป้องกันน้ำท่วม โดยลดระดับทางสัญจร แก้ปัญหาความสูงของเขื่อนและการตัดขาดของชุมชนกับแม่น้ำ 4. ปรับปรุงสะพานพระราม 5 รองรับทางจักรยานเชื่อมต่อรถไฟฟ้าสายสีม่วงสถานีแยกติวานนท์
5. ประสานงานกับวัดเฉลิมพระเกียรติ และอุทยานเฉลิมกาญจนาภิเษกขอใช้พื้นที่ริมน้ำเดิมเป็นทางสัญจรริมน้ำ เพื่อสร้างความต่อเนื่องของทางสัญจรริมน้ำตลอดแนวฝั่งตะวันตก 6. ก่อสร้างสะพานจักรยานและคนเดินแห่งใหม่ ข้ามแม่น้ำ เชื่อมต่อย่านพักอาศัยบางศรีเมืองฝั่งตะวันตกกับศูนย์กลางเมืองนนทบุรีและระบบขนส่งมวลชน 7. สร้างทางจักรยานและทางเดินริมน้ำ รองรับการเดินทางเชื่อมชุมชนกว้าง 4 เมตร นอกแนวโครงการเขื่อนป้องกันน้ำท่วม 8. ปรับปรุงเส้นทางเข้าถึงพื้นที่ริมน้ำและเพิ่มพื้นที่สวน ลานสาธารณะริมน้ำ เช่น ลานหน้าวัด ลานชุมชน จุดแวะพัก