xs
xsm
sm
md
lg

“ชายหมู” ฝันอีก 10 ปี ดันลุมพินี “สวนระดับโลก”- เล็งรื้ออาคารหน่วยงานภายนอก

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร(กทม.)
“คุณชายหมู” ฝันอีก 10 ปี ดัน “สวนลุมพินี” 360 ไร่ เป็นสวนสวยระดับโลก เร่งปรับภูมิทัศน์ เนื่องในโอกาสครบรอบ 100 ปี เล็งรื้ออาคารหน่วยงานภายนอกที่ตั้งอยู่มานาน ระบุ คณะสถาปัตย์ จุฬาฯ ออกแบบ 5 แนวคิด เบื้องต้นเสร็จแล้ว เผยเมื่อ 5 ปีที่แล้ว ใช้งบประมาณ 56.2 ล้านบาท ปรับปรุงลานอนุสาวรีย์ ร.6

วันนี้ (22 ต.ค.) มีรายงานว่า ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการประสานงานการดำเนินงานในการพัฒนาทัศนียภาพบริเวณสวนลุมพินี เพื่อดำเนินการปรับปรุงภูมิทัศน์สวนลุมพินี และบริเวณโดยรอบในโอกาสที่สวนลุมพินีเป็นสวนสาธารณะแห่งแรกของประเทศไทยจะมีอายุครบ 100 ปี ในอีก 10 ปีข้างหน้า

ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ เปิดเผยว่า การปรับปรุงสวนลุมพินี และบริเวณโดยรอบเป็นเจตนารมณ์ของกรุงเทพมหานคร และสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ที่จะปรับปรุงภูมิทัศน์ของสวนลุมพินี ซึ่งเป็นสวนสาธารณะแห่งแรกของประเทศไทยให้เป็นสวนสวยระดับโลกตามพระราชปณิธานของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ถือเป็นงานใหญ่เนื่องจากสวนลุมพินี ไม่ใช่เป็นเพียงสวนสาธารณะแต่ยังเป็นส่วนหนึ่งวิถีชีวิตประชาชนจำนวนมากที่มาใช้บริการภายในสวน อีกทั้งที่ตั้งอยู่ใจกลางย่านธุรกิจและการคมนาคม

โดยขณะนี้สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ได้ร่วมกับคณะสถาปัตยกรรม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สำรวจและออกแบบแนวคิดเบื้องต้นเสร็จแล้ว จากนี้คณะกรรมการจะตั้งคณะทำงานเพื่อประสาน ดำเนินงาน และติดตามความก้าวหน้า 5 ด้าน ได้แก่ ด้านการกายภาพและการออกแบบ ด้านการระดมทุน ด้านการปรับปรุงพระบรมราชานุสาวรีย์รัชกาลที่ 6 ด้านการประสานงานกับหน่วยงานภายนอกที่ใช้พื้นที่ภายในสวนลุมพินี และด้านการประชาสัมพันธ์และมวลชนสัมพันธ์ ซึ่งการประชุมในวันนี้นับเป็นก้าวแรกของการดำเนินงาน โดยตั้งเป้าหมายจะให้การปรับปรุงแล้วเสร็จในวาระครบรอบ 100 ปี หรือในอีก 10 ปีข้างหน้า

ทั้งนี้ การปรับปรุงสวนลุมพินีจะเข้าดำเนินการเฉพาะในพื้นที่ที่ยังไม่ได้ใช้ประโยชน์เต็มที่และมีสิ่งปลูกสร้างของหน่วยงานภายนอกซึ่งตั้งอยู่มานาน ซึ่งในการดำเนินการต่าง ๆ จำเป็นต้องใช้เวลาในการประสานงานกับหน่วยงานภายนอกที่เกี่ยวข้องเพื่อร่วมดำเนินการ ในส่วนของงบประมาณการปรับปรุงขึ้นอยู่กับแบบที่จะดำเนินการ ซึ่งจะมีคณะทำงานด้านกายภาพและการออกแบบพิจารณาอีกครั้ง และอาจจำเป็นต้องระดมทุนจากภาคเอกชนเนื่องจากไม่อาจใช้งบภาครัฐดำเนินการได้ทั้งหมด

ทั้งนี้ สวนลุมพินี เป็นสวนสาธารณะเพื่อประชาชนด้วยพระมหากรุณาธิคุณใน พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ทรงโปรดเกล้าฯ พระราชทานที่ดินส่วนพระองค์ 360 ไร่ ให้เป็นสมบัติของสาธารณชน และพระราชทานนามว่า สวนลุมพินี ในอดีตบริเวณนี้คือทุ่งศาลาแดง ปัจจุบันสวนลุมพินีอยู่ในความดูแลรับผิดชอบของกรุงเทพมหานคร

มีประชาชนมาใช้บริการในวันธรรมดาประมาณ 10,000 คน และวันหยุดราชการประมาณ 15,000 คน โดยสวนลุมพินีจะมีอายุครบ 90 ปี ในเดือน พ.ย.59 ซึ่งแนวคิดการออกแบบเบื้องต้นจะแบ่งพื้นที่ปรับปรุงเป็นโซนต่าง ๆ ได้แก่

โซน A การปรับปรุงพระบรมราชานุสาวรีย์รัชกาลที่ 6 โดยยกฐานให้สูงขึ้นและสร้างอาคารใต้ฐานเป็นพิพิธภัณฑ์รัชกาลที่ 6 และปรับปรุงทางเดินพร้อมทั้งปลูกต้นไม้เป็นทิวแถวเชื่อมต่อทางเข้าและถนนสายหลักภายในสวนลุมพินี

โซน B การปรับปรุงพื้นที่โดยรอบอาคารลุมพินีสถาน ให้เป็นสวนไม้วรรณคดีและสวนกุหลาบ อีกทั้งมีที่นั่งพักผ่อนสำหรับอ่านหนังสือ

โซน C การปรับปรุงลานสนามหญ้าด้านถนนวิทยุ ให้เป็นสวนไม้น้ำและสวนไม้เขตร้อนชื้น เพื่อให้เป็นที่พักผ่อนและเป็นแหล่งทัศนศึกษาด้านพฤกษศาสตร์

โซน D ด้านถนนสารสิน จัดทำเป็นสวนกล้วยไม้เรือนกระจกและอาคารสำนักงาน นอกจากนี้ จะเพิ่มไฟฟ้าส่องสว่างภายในสวนสาธารณะเพื่อความปลอดภัยในการบริการสวนสาธารณะในช่วงค่ำ อีกทั้งสร้างสิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆ และลานจอดรถสำหรับผู้ใช้บริการกว่า 2,000 คัน

มีรายงานว่า เมื่อปี 2554 สำนักผังเมือง และสำนักการโยธา กทม. ได้บูรณะและปรับปรุงสวนลุมพินีครั้งล่าสุด โดยได้ตรวจสภาพภูมิทัศน์บริเวณลานพระบรมราชานุสาวรีย์ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 พบว่า บริเวณลานพระบรมราชานุสาวรีย์ ได้รับความเสียหายชำรุดโดยรอบ อาทิ กระเบื้องปูพื้นบริเวณพื้นลานไม่เรียบมีร่องรอยการรื้อถอน ฝาบ่อพักท่อระบายน้ำชำรุดและเป็นสนิม บริเวณฐานอนุสาวรีย์มีคราบสกปรก บันไดมีร่องรอยการแตกร้าว ระบบไฟฟ้าแสงสว่าง โคมไฟชำรุด แตกเสียหาย ฐานเสาไฟและเสาไฟเหล็กหล่อชำรุดแตกเสียหาย เป็นต้น

นอกจากนั้น ยังดำเนินการอนุรักษ์รูปแบบเดิมคือการรื้อฟื้นน้ำพุทรงกลมแบบดั้งเดิม เสริมต้นไม้ใหญ่ตัดแต่งและเพิ่มร่มเงา คงรูปแบบสวนตามแนวทางเดิมในอดีต โดยใช้พืชพันธุ์เขตร้อนชื้นในการจัดสวน และนำวัสดุต่าง ๆ มาใช้ในการปรับปรุง โดยโครงการในครั้งนั้นใช้งบประมาณ 56.2 ล้านบาท

ต่อมาเมื่อปี 2556 กองนันทนาการ สำนักวัฒนธรรม กีฬาและการท่องเที่ยว กรุงเทพมหานคร ได้ปิดอาคารลุมพินีสถาน หรืออาคารเวทีลีลาศสวนลุมพินี เพื่อความปลอดภัยและไม่ให้เกิดความเสียหาย ภายหลังจากที่สำนักการโยธา ได้เข้าตรวจสอบอาคาร พบว่าฐานราก และอาคารมีสภาพชำรุดทรุดโทรม เนื่องจากเปิดใช้งานมาตลอด 80 ปี ควรได้รับการปรับปรุง โดยกลุ่มงานพัฒนาศูนย์เยาวชน ได้ตรวจสอบรายละเอียดสรุปให้ผู้บริหารพิจารณาแก้ไขแล้ว

คราวนั้น กองนันทนาการ กทม. มีแนวทางให้ปรับปรุงอาคารในส่วนที่ชำรุด แต่เนื่องจากที่ผ่านมามีการปรับปรุงอาคารเวทีลีลาศมาโดยตลอด และมีแนวทางคือ การรื้อถอนอาคารเดิมแล้วสร้างใหม่ทั้งหมด แต่ยังคงรักษารูปแบบของอาคารเดิมไว้ เพื่อเป็นสัญลักษณ์ที่อยู่คู่กับสวนลุมพินี

ต่อมาในคราวประชุม คณะกรรมการรักษาและสิ่งแวดล้อม สภากรุงเทพมหานคร เพื่อรับทราบปัญหาและอุปสรรคการปรับปรุงและพัฒนาสวนลุมพินีในอนาคต เพื่อส่งเสริมคุณภาพชีวิตของประชาชน ร่วมประชุม ณ ห้องเรือนกระจก สวนลุมพินี

ได้ตั้งข้อสังเกตด้านนโยบายการพัฒนาและปรับปรุงสวนสาธารณะลุมพินี ว่า ควรคำนึงถึงการใช้งานของประชาชนทุกกลุ่มอายุทั้งกลุ่มเยาวชน กลุ่มวัยทำงาน กลุ่มผู้สูงอายุ และควรลดการก่อสร้างซุ้ม อาคาร วัตถุถาวร เพื่อไม่ให้บดบังทัศนียภาพต้นไม้และสิ่งแวดล้อม ทั้งการรักษาระบบคู คลองให้มีความสะอาดและไร้สิ่งปฏิกูล การปรับปรุงทิวทัศน์ให้มีความร่มรื่น และ ปลูกต้นไม้เพิ่มพื้นที่สีเขียวให้ครอบคลุม

รวมทั้งเสนอให้ฝ่ายบริหารศึกษาวัสดุก่อสร้างที่เหมาะแก่การวิ่งและออกกำลังกายในสวนสาธารณะต่าง ๆ เพื่อถนอมสุขภาพและร่างกาย อาทิ หัวเข่าและข้อ ตามนโยบายด้านสุขภาพของกรุงเทพมหานคร พร้อมกันนี้ ในที่ประชุมได้เสนอกันอย่างกว้างขวางในแนวทางการพัฒนาสิ่งแวดล้อม สวนสาธารณะ และเลนจักรยานให้มีความต่อเนื่องและต้องเป็นรูปแบบที่ชัดเจน

ขณะที่ เมื่อกลางปีที่ผ่านมา กทม. ได้ปรับปรุงเส้นทางจักรยานภายในสวนลุมพินีโดยขีดสีตีเส้นจราจรและทำสัญลักษณ์เส้นทางจักรยานเพื่อแบ่งช่องทาง และมีแผนระยะยาวปรับปรุงใหม่ ระยะทางรวมประมาณ 2,600 เมตร โดยจะจัดทำเส้นทางจักรยานในช่องจอดรถยนต์เดิม โดยกั้นแบ่งพื้นที่รถยนต์และจักรยานออกจากกัน พร้อมขุดพื้นที่แอสฟัสต์ออก เพื่อปลูกไม้พุ่มและไม้ยืนต้น เพื่อเพิ่มความร่มรื่นและให้เกิดความปลอดภัย

อีกทั้งได้ย้ายอาคารศูนย์ฝึกอาชีพออกเพื่อก่อสร้างเป็นลานจอดรถ นอกจากนี้ จะดำเนินการทดแทนพื้นที่จอดรถเดิมที่ถูกเปลี่ยน เป็นเส้นทางจักรยาน โดยพื้นที่บริเวณศูนย์ฝึกอาชีพสามารถจอดรถได้ประมาณ 150 คัน ปรับเปลี่ยนทางเท้าและถนนบางส่วนเป็นเส้นทางจักรยานตลอดแนวถนนราชดำริ รวมทั้งทำเส้นทางจักรยานเลียบแนวคูน้ำด้านถนนพระราม 4 และถนนวิทยุ


แผนผังภายในสวนลุมพินี
กำลังโหลดความคิดเห็น