“บิ๊กตู่” ใช้ ม.44 สั่งโอน สบอช.จากสำนักปลัดนายกฯ ทั้งข้าราชการ งบประมาณ อดีตหน่วยงานจัดการน้ำ “ยุคเลดี้กูกู้ 3.5 แสนล้าน” ไปสังกัด สนง.เลขานุการบอร์ดทรัพยากรน้ำ กรมทรัพยากรน้ำ มีผลแล้ว เผยที่ผ่านมา “ปลอดประสพ” เตรียมผลักดันเป็น “กระทรวงน้ำ” ดูแลเมกะโปรเจกต์ยักษ์ 10 โมดูล
วันนี้ (27 พ.ย.) มีรายงานว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทรโอชา นายกรัฐมนตรี และฐานะหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้ลงนามในคําสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 43/2558 เรื่อง โอนสํานักงานนโยบายและบริหารจัดการน้ำและอุทกภัยแห่งชาติ สํานักงานปลัดสํานักนายกรัฐมนตรี ไปเป็นของสํานักงานเลขานุการคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ กรมทรัพยากรน้ำ กระทรวงทรัพยากร ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
เนื่องจากกรมทรัพยากรน้ำ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นหน่วยงานหลักที่มีภารกิจในการเสนอแนะจัดทํานโยบายและแผน และมาตรการที่เกี่ยวข้องกับทรัพยากรน้ำ บริหารจัดการพัฒนา อนุรักษ์ ฟื้นฟู รวมทั้งควบคุม ดูแล กํากับ ประสาน ติดตาม ประเมินผล และแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับทรัพยากรน้ำ พัฒนาวิชาการ กําหนดมาตรฐาน และถ่ายทอดเทคโนโลยีด้านทรัพยากรน้ำทั้งระดับภาพรวมและระดับลุ่มน้ำ เพื่อการจัดการทรัพยากรน้ำที่เป็นเอกภาพและยั่งยืน และขณะนี้ปัญหาในการบริหารจัดการน้ำเป็นปัญหาสําคัญของประเทศที่ต้องเร่งดําเนินการแก้ไขปัญหาโดยเร็ว ดังนั้น จึงสมควรโอนสํานักงานนโยบายและบริหารจัดการน้ำและอุทกภัยแห่งชาติ สํานักงานปลัดสํานักนายกรัฐมนตรี ไปรวมกับสํานักงานเลขานุการคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ กรมทรัพยากรน้ำ เพื่อให้กรมทรัพยากรน้ำเป็นหน่วยงานรับผิดชอบหลักเพื่อประโยชน์ในการแก้ไขปัญหาและบริหารจัดการน้ำโดยรวมของประเทศ
“อาศัยอํานาจตามความในมาตรา ๔๔ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช ๒๕๕๗ หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติโดยความเห็นชอบของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ
จึงมีคําสั่งดังต่อไปนี้
ข้อ ๑ ให้ยกเลิกความในข้อ ๑.๓ ของข้อ ๑ แห่งคําสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ ๘๕/๒๕๕๗ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน
“๑.๓ ระเบียบสํานักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการบริหารจัดการน้ำและอุทกภัยแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๕๕”
ข้อ ๒ ให้โอนบรรดากิจการ อํานาจหน้าที่ ทรัพย์สิน งบประมาณ สิทธิ หนี้ ภาระผูกพัน ข้าราชการ พนักงานราชการ ลูกจ้าง และอัตรากําลังของสํานักงานนโยบายและบริหารจัดการน้ำ และอุทกภัยแห่งชาติ สํานักงานปลัดสํานักนายกรัฐมนตรี ไปเป็นของสํานักงานเลขานุการคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ กรมทรัพยากรน้ำ
ข้อ ๓ ให้โอนบรรดาอํานาจหน้าที่ที่เกี่ยวกับการปฏิบัติตามกฎหมาย กฎ ระเบียบข้อบังคับ ประกาศ คําสั่ง หรือมติคณะรัฐมนตรี ที่เป็นของสํานักงานนโยบายและบริหารจัดการน้ำและอุทกภัยแห่งชาติ สํานักงานปลัดสํานักนายกรัฐมนตรี หรือเลขาธิการ สบอช. และข้าราชการหรือพนักงานเจ้าหน้าที่ของสํานักงานนโยบายและบริหารจัดการน้ำและอุทกภัยแห่งชาติ สํานักงานปลัดสํานักนายกรัฐมนตรี ไปเป็นอํานาจหน้าที่ของสํานักงานเลขานุการคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ กรมทรัพยากรน้ำ และข้าราชการหรือพนักงานเจ้าหน้าที่ของสํานักงานเลขานุการคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ กรมทรัพยากรน้ำ แล้วแต่กรณี
บรรดาบทบัญญัติแห่งกฎหมาย กฎ ระเบียบ ข้อบังคับ ประกาศ คําสั่ง หรือมติของคณะรัฐมนตรีใด ที่อ้างถึงสํานักงานนโยบายและบริหารจัดการน้ำและอุทกภัยแห่งชาติ สํานักงานปลัดสํานักนายกรัฐมนตรี หรือเลขาธิการ สบอช. และข้าราชการหรือพนักงานเจ้าหน้าที่ของสํานักงานนโยบายและบริหารจัดการน้ำและอุทกภัยแห่งชาติ สํานักงานปลัดสํานักนายกรัฐมนตรี ให้ถือว่าอ้างถึงสํานักงานเลขานุการคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ กรมทรัพยากรน้ำ
ข้อ ๔ คําสั่งนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป
สั่ง ณ วันที่ ๒๕ พฤศจิกายน พุทธศักราช ๒๕๕๘ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ”
มีรายงานว่า สบอช. หรือสำนักนโยบายและบริหารจัดการน้ำและอุทกภัยแห่งชาติ เมื่อรัฐบาลที่ผ่านมาเป็นหน่วยงานภายในสำนักเลขาธิการนายกฯ มีนายปลอดประสพ สุรัสวดี อดีตรองนายกรัฐมนตรี บริหารงาน รัฐบาลที่ผ่านมาบูรณาการหน่วยงานที่เกี่ยวกับเรื่องสภาพภูมิอากาศ, น้ำ, ภัยพิบัติและทรัพยากรธรรมชาติเข้ามาทำงานร่วมกันภายใต้ระบบซิงเกิลคอมมานด์ และยังเป็นสำนักงานและฝ่ายเลขานุการที่ดูแลเมกะโปรเจกต์ยักษ์ ได้แก่ โครงการบริหารจัดการน้ำวงเงินกู้ 3.5 แสนล้านบาท และนายปลอดประสพ ตั้งใจว่าจะแปลงโฉมให้เป็น “กระทรวงน้ำ”
ขณะที่ ตึก สบอช.ในทำเนียบรัฐบาลก็ต้องพับเก็บเช่นเดียวกับโครงการน้ำ 3.5 แสนล้านบาท หลังจากมีคำสั่งศาลปกครองให้ดำเนินการรับฟังความคิดเห็นประชาชนอย่างรอบด้าน รวมถึงมีการต่อต้านเกือบทุกเวที ทีผ่านมา คสช.ได้ทบทวนโครงการ จึงทำให้หน่วยงาน สบอช.ที่เกิดขึ้นมาด้วยภารกิจใหญ่หลังจากน้ำท่วมเมื่อปี 2554 เป็นเพียงหน่วยงานอัพเดทสถานการณ์น้ำรายวันผ่านเว็บไซต์ ส่วนข้าราชการที่ สบอช.เรียกตัวมาให้ช่วยราชการกำลังจะถูกเรียกตัวกลับหลังจากท่าชกิจจานุเบกษาฉบับนี้ประกาศใช้
มีรายงานว่า เมื่อปีที่แล้วนักวิชาการวิศกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ หรือ วสท. นำโดยนายปราโมทย์ ไม้กลัด อดีตอธิบดีกรมชลประทาน และนายบัญชา ขวัญยืน ประธานคณะอนุกรรมวิศวกรรมแหล่งน้ำ เข้ายื่นหนังสือต่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้า คสช. เพื่อเสนอข้อเร่งด่วนการจัดการน้ำของประเทศ ในโครงการบริหารจัดการน้ำ 3.5 แสนล้าน และขอให้ยุบสำนักงานนโยบายและบริหารจัดการน้ำและอุทกภัยแห่งชาติ หรือสบอช. พร้อมยกเลิกแผนงาน 10 โมดูล เพราะโครงการดังกล่าวไม่สามารถแก้ปัญหาน้ำท่วมได้ รวมทั้งมีการบิดเบือนผลประโยชน์ทับซ้อน ทุจริตผิดขั้นตอน เอื้อประโยชน์แก่กลุ่มทุนก่อสร้างในแวดวงนักการเมือง และข้าราชการ อีกทั้งมีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมในระยะยาว ซึ่งยากต่อการแก้ไข มีประชาชนได้รับกระทบจากโครงการและเกิดปัญหาความแตกแยก
ทั้งนี้ บางโครงการใน 10 โมดูลที่มีประโยชน์ เช่น โครงการอ่างเก็บน้ำขนาดเล็กใน 18 แห่งที่กระจายในโมดูลต่างๆ ซึ่งบางจุดก็จำเป็น และยืนยันการยกเลิกโครงการจะไม่กระทบสัญญาที่ทำร่วมกับเควอร์เตอร์ และบริษัทของจีน เพราะยังไม่มีการลงนามสัญญาว่าจ้าง ส่วนเงินที่ใช้ไป 1.2 แสนล้านบาทแล้วนั้นไม่ใช่เงินที่ใช้ในโครงการ แต่เป็นค่าบริหารจัดการรายละเอียดของโครงการมากกว่า