xs
xsm
sm
md
lg

“วิลาศ” ข้องใจ กก.ตรวจจ้างงานชุดใหม่ยืดเวลาสร้างสภาเพิ่ม เลี่ยงค่าผิดสัญญาพันล้าน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

วิลาศ จันทรพิทักษ์  อดีตส.ส.กทม.พรรคประชาธิปัตย์(แฟ้มภาพ)
อดีต ส.ส.ปชป.สงสัยคำสั่งเปลี่ยนกรรมการตรวจจ้างงาน ตั้ง ขรก.สภาฯ ไม่มีความเชี่ยวชาญก่อสร้าง ก่อนประชุมรอบเดียวยืดสัญญาซิโน-ไทย 387 วันสร้างสภาใหม่ มากกว่าชุดเก่า 100 วัน เทียบไม่ต้องจ่ายค่าปรับตามสัญญาพันล้าน ข้องใจเอื้อประโยชน์ใครหรือไม่

วันนี้ (26 พ.ย.) นายวิลาศ จันทร์พิทักษ์ อดีต ส.ส.กทม.พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงการตั้งข้อสังเกตในการทำสัญญาขยายเวลาในการสร้างอาคารรัฐสภาใหม่ให้บริษัทผู้รับเหมา อีก 387 วันว่า ก่อนที่จะมีการใช้คำสั่งตามมาตรา 44 ย้ายนายจเร พันธุ์เปรื่อง อดีตเลขาธิการสภาฯ ให้ไปเป็นที่ปรึกษาสำนักนายกฯ บริษัท ซิโน-ไทยฯ ที่รับเหมาสร้างรัฐสภาใหม่ได้ทำหนังสือร้องเรียนขอความเป็นธรรมต่อนายพรเพชร พิชิตชลชัย ประธาน สนช. อ้างเหตุผลการส่งมอบที่ดินโรงเรียนโยธินบูรณะล่าช้า จากเดิมที่สัญญาก่อสร้างต้องแล้วเสร็จภายใน 900 วันคือระหว่างวันที่ 6 เม.ย. 2556 - 24 พ.ย. 2558 โดยมีการขอขยายเวลาก่อสร้างเพิ่มอีก 487 วัน ซึ่งคณะกรรมการตรวจการจ้าง สภาฯ ได้ประชุมร่วมกับบริษัทที่ปรึกษาโครงการก่อสร้างและบริษัทควบคุมงานก่อสร้าง มีมติให้ขยายเวลาเพิ่มให้ 287 วัน แต่หลังจากที่มีการย้ายนายจเรไปแล้ว นายพรเพชรให้สัมภาษณ์ผ่านสื่อตลอดว่างานล่าช้าเกิดจากคนของสภาฯ

นายวิลาศกล่าวต่อว่า ขณะที่นางสายทิพย์ เชาวลิตถวิล เลขาธิการสภาฯ ก็ได้มีคำสั่งเปลี่ยนแปลงคณะกรรมการตรวจการจ้างงานชุดใหม่ จากเดิมที่มีคณะกรรมการด้านวิศวกรรมโครงสร้างหลักๆ เช่น วิศวกรโครงสร้างสาขาต่างๆ 5 คน สถาปนิก 3 คน และอัยการอีก 2 คน มาเป็นกรรมการชุดใหม่ที่มีวิศวกรเครื่องกลจากกรมโยธาฯ 1 คน วิศวกรโยธาจาก กทม.1 คน โดยตัดอัยการและสถาปนิกออก ส่วนที่เหลือได้ตั้งข้าราชการสภาฯ ระดับกลาง ซึ่งไม่มีความเชี่ยวชาญทางโครงสร้างอาคารใดๆเข้าไปเป็นแทน และประชุมครั้งเดียวก็มีมติอนุมัติให้มีการทำสัญญาขยายเวลาการก่อสร้างให้บริษัท ซิโน-ไทยฯเพิ่มอีก 387 วัน ตนจึงสงสัยว่าเหมาะสมถูกต้องหรือไม่ เพราะกรณีที่บริษัทผู้รับเหมาก่อสร้างสร้างงานไม่เสร็จตามสัญญาจะมีค่าปรับวันละ 12 ล้านบาทเศษ การขยายเวลาให้ถึง 387 วัน หรือเพิ่มจากกรรมการตรวจจ้างชุดเก่าอีก 100 วันก็คิดเป็นค่าเทียบปรับมากกว่า 1 พันล้านบาท ถือเป็นการเอื้อประโยชน์ให้ใครหรือไม่ อย่างไร


กำลังโหลดความคิดเห็น