xs
xsm
sm
md
lg

กลุ่มค้าน “ทางเลียบเจ้าพระยา” จัดลอยกระทง 14,000 ล้าน ชี้ทำลายแม่น้ำมากกว่าสร้างแลนด์มาร์ก

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


MGR Online - กลุ่มเฟรนด์ ออฟ ริเวอร์ ร่วมกับชุมชนบางลำพู จัดแคมเปญ “ลอยเงิน ละลายสายน้ำ” ลอยกระทงเชิงสัญลักษณ์ 14,000 ล้าน ค้านโครงการทางเลียบแม่น้ำเจ้าพระยาของรัฐบาล ชี้ทำลายแม่น้ำมากกว่าสร้างแลนด์มาร์ก ไม่เปิดโอกาสให้มีส่วนร่วม เกิดปัญหาแผงลอย ขยะใต้โครงสร้าง โจรขโมยชุกชุม ละเมิดสิทธิชุมชน

วันนี้ (25 พ.ย.) ที่สวนสันติชัยปราการ ถนนพระอาทิตย์ เมื่อเวลา 16.00 น. กลุ่มเฟรนด์ ออฟ ริเวอร์ ร่วมกับชุมชนบางลำพู ได้จัดกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์ “ลอยเงิน ละลายสายน้ำ” ในช่วงเทศกาลลอยกระทง เพื่อคัดค้านโครงการสร้างถนนเลียบแม่น้ำเจ้าพระยา จากสะพานพระราม 7 ถึง สะพานสมเด็จพระปิ่นเกล้า ระยะทาง 7 กิโลเมตร ทั้งสองฝั่งรวม 14 กิโลเมตร มูลค่า 14,000 ล้านบาทของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา โดยภายในงานมีการแสดงรูปปั้นแกะสลักน้ำแข็งเป็นตัวเลข 14000 และกระทงที่มีข้อความ 14000 ลอยอยู่ในแม่น้ำเจ้าพระยา พร้อมกับการจัดเสวนาในหัวข้อ “สิทธิริมน้ำและวิถีวัฒนธรรมที่กำลังเปลี่ยนไป”

นายยศพล บุญสม ภูมิสถาปนิกและผู้ร่วมก่อตั้ง Friends of the River กล่าวว่า โครงการก่อสร้างดังกล่าว จะเป็นการทำลายแม่น้ำมากกว่าการสร้างแลนด์มาร์ก เพราะสิ่งปลูกสร้างเปรียบได้กับถนน 3 - 4 ช่องจราจร ที่ผ่านมามีการก่อสร้างเขื่อนป้องกันน้ำท่วมหลังมหาอุทกภัยปี 2554 แต่โครงสร้างทางเลียบแม่น้ำเจ้าพระยาจะสูงขึ้นไปอีก อีกทั้งสถาปัตยกรรมที่อยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยาจะถูกบดบัง

นอกจากนี้ จะสูญเสียความกว้างแม่น้ำจากโดยเฉลี่ย 200 เมตร เหลือเพียง 170 เมตร ตลอดแนว 7 กิโลเมตร จากการลงพื้นที่พบว่าชาวชุมชนริมแม่น้ำเจ้าพระยาต่างมีความกังวล ทั้งปัญหาหาบเร่แผงลอย ปัญหาอาชญากรรม และขยะตกค้าง อีกด้านหนึ่ง คนที่อยู่นอกชุมชนก็มองข้อดีว่าจะเป็นแหล่งปั่นจักรยาน กลายเป็นการเกิดสองชุดความคิด แต่สิ่งสำคัญคือ ภาครัฐไม่ได้เปิดโอกาสให้เกิดการมีส่วนร่วมของประชาชนอย่างเต็มที่

ด้าน นายพิชัย วงศ์ไวศยวรรณ นายกสมาคมสถาปนิกสยามในพระบรมราชูปถัมป์ กล่าวว่า โครงการดังกล่าวจะสร้างปัญหาขยะใต้โครงสร้าง และทัศนียภาพ ที่ผ่านมา ได้ตั้งงบประมาณกรอบวงเงิน 14,006 ล้านบาท โดยทีโออาร์บังคับให้ทำแบบถนนยาวฝั่งละ 7 กิโลเมตรเพียงแบบเดียว ซึ่งไม่มีทางเลือก ไม่เปิดโอกาสให้เกิดการออกแบบอย่างมีส่วนร่วม และไม่ศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม ทำให้ที่ผ่านมามีผู้ประมูลเพียงรายเดียวซึ่งเป็นโมฆะ

นายขวัญสรวง อติโพธิ นักวิชาการอิสระ กล่าวว่า ตนสงสัยว่า โครงการนี้ทำไปทำไม เพราะหลังรัฐประหารมีการประชุมโครงการเร่งด่วน เช่น ปัญหาโครงการจำนำข้าว แต่ตนสงสัยว่าโครงการนี้เกิดขึ้นเป็นเรื่องเร่งด่วนได้อย่างไร โดยอ้างว่าคนส่วนน้อยบุกรุกที่สาธารณะ และนายกรัฐมนตรี อาจเห็นโครงการทางจักรยานเลียบแม่น้ำที่ประเทศเกาหลี ซึ่งอันที่จริงลักษณะแม่น้ำไม่เหมือนกัน

ขณะที่ตัวแทนชาวชุมชนบางลำพู และชุมชนบ้านปูน เขตบางพลัด แสดดงความคิดเห็นว่า เมื่อได้ข่าวว่าจะทำถนนริมน้ำแล้ว แม่น้ำจะกลายเป็นคลองหรือไม่ เพราะคลองบางลำภูที่แคบลงเกิดการเน่าเสีย และแม่น้ำเจ้าพระยายังคงความเป็นแม่น้ำเหมือนเดิมหรือไม่ ที่ผ่านมา บ้านที่อยู่ริมน้ำได้รับผลกระทบจากเขื่อนป้องกันน้ำท่วม เกิดน้ำขังและน้ำเน่าเสีย ต้องใช้เชื้อจุลินทรีย์บำบัด รวมทั้งยังเกิดอาชญากรรมจากการเปิดทางสัญจร อย่างไรก็ตาม หากลดความกว้างของทางเหลือประมาณ 2.5 เมตรจะดีกว่า

รศ.ศรีศักร วัลลิโภดม นักวิชาการประวัติศาสตร์ และที่ปรึกษามูลนิธิเล็กประไพ วิริยะพันธุ์ กล่าวว่า โครงการนี้รัฐบาลทำไม่ได้แน่ เพราะความเป็นแม่น้ำเจ้าพระยาจะหมดไป อีกทั้งอยู่ในชุมชนและวัด ถือเป็นการละเมิดสิทธิชุมชน คนที่น่าตำหนิ คือ กระทรวงวัฒนธรรม กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา และกรุงเทพมหานครที่ไม่ออกมาคัดค้าน นอกจากนี้ ยังทำลายทัศนียภาพ เกิดภัยพิบัติน้ำท่วม ทำลายวัฒนธรรมและวิถีชุมชน




































กำลังโหลดความคิดเห็น