xs
xsm
sm
md
lg

เจ้าพระยากับรอยยิ้มบนคราบน้ำตา คุ้มไหม กับ 14,000 ล้าน !

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


สายน้ำมีแรงดึงดูดเสมอ เคยคิดไหม ทำไมคนเราถึงสามารถนั่งมองแม่น้ำหรือทะเลได้ครั้งละนานๆ อาจเป็นเพราะทุกสิ่งล้วนกำเนิดมาจากสายน้ำ มนุษย์จึงมักตั้งถิ่นฐานตามแม่น้ำลำธารมาในทุกยุคสมัย เหตุนี้หรือเปล่าปัจจุบันสายน้ำจึงดึงดูดโครงการมากมายทั้งที่อยู่อาศัยและศูนย์การค้าให้เรียงรายอยู่สองฝั่ง เช่นเดียวกับโครงการเส้นทางเลียบแม่น้ำเจ้าพระยา ที่กำลังเป็นประเด็นทางสังคมกับผลดีและผลกระทบ รวมถึงงบประมาณมหาศาลของโครงการ...

14,000 ล้าน กับเส้นทาง 14 กม.!
ปีก่อน เมื่อครั้งที่โครงการเส้นทางเลียบแม่น้ำเจ้าพระยากำเนิดขึ้น กลุ่มแรกๆ ที่ออกมาชื่นชมสนับสนุนคือบรรดาโครงการคอนโดริมแม่น้ำทั้งหลาย และนักปั่นจักรยานที่ฝันจะได้ปั่นบนเส้นทางสวยๆ แต่ทันทีที่โครงการถูกรวบรัดและกำลังจะเกิด เสียงคัดค้านโครงการนี้กลับมีมากขึ้นเรื่อยๆ จนหลายฝ่ายต้องย้อนกลับมามองใหม่ เมื่อมองย้อนกลับไปโครงการนี้ เริ่มมีแนวคิดเมื่อครั้งนายกรัฐมนตรี เดินทางไปดูงานที่เกาหลีใต้ และได้ไปเห็นเส้นทางเลียบแม่น้ำของที่นั่น ที่มีการตกแต่งสวยงามทั้งมีเส้นทางจักรยานให้คนพักผ่อนหย่อนใจ จนเมื่อกลับมาจึงเกิดการเดินหน้าโครงการนี้อย่างรวดเร็ว

โครงการเส้นทางเลียบแม่น้ำเจ้าพระยาทั้งหมดที่รัฐบาลวางแผนไว้ จะครอบคลุมเส้นทางตั้งแต่ สะพานพระราม3 - สะพานพระนั่งเกล้า ระยะทาง 50 กม. ฝั่งละ 25 กม. เงินลงทุน 30,000 ล้านบาท หรือเฉลี่ย กม.ละ 500-600 ล้านบาท มี กทม.เป็นผู้ออกแบบและสำรวจพื้นที่ ส่วนรัฐบาลเป็นผู้ออกงบประมาณ (ตอนนี้ยังอยู่ระหว่างออกแบบเบื้องต้น) โดยชี้แจงประโยชน์จากโครงการคือ จะช่วยแก้ปัญหาการรุกล้ำพื้นที่ริมฝั่งแม่น้ำ และสามารถกันน้ำท่วมได้ ทั้งยังหวังให้เป็นแลนด์มาร์คแห่งใหม่ของกรุงเทพฯ กับข้อดีอื่นๆ ที่ภาครัฐ ชี้ให้เห็นว่าจะเป็นการเพิ่มพื้นที่สำหรับการพักผ่อนหย่อนใจริมแม่น้ำ เป็นการเพิ่มเส้นทางการสัญจร ทางเท้าและทางจักรยาน รวมถึงเป็นการแก้ปัญหาการบุกรุกพื้นที่ริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา

ล่าสุดกับเฟสแรกที่กำลังจะเริ่ม เส้นทางครอบคลุมตั้งแต่สะพานปิ่นเกล้า-พระราม7 ระยะทาง 14 กม. โดยกำหนดการเดิมจะเริ่มตอกเสาเข็มในเดือนตุลาคมนี้ ระยะเวลาสร้าง 2 ปี กับงบประมาณ 14,000ล้านบาท กลายเป็นสิ่งที่หลายฝ่ายตั้งคำถามถึงความคุ้มค่าและผลกระทบที่เกิดจากโครงการ แน่นอนโครงการดังกล่าวย่อมส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อทั้งชุมชนสองฝั่งแม่น้ำ ธุรกิจร้านค้า โรงแรม สถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์ ตลอดจนระบบนิเวศและการระบายน้ำของแม่น้ำอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ หากปัจจุบัน กลับยังไม่มีการศึกษาถึงผลกระทบต่อชุมชน ผู้คน วิถีชีวิต สิ่งแวดล้อม และมรดกทางวัฒนธรรมตลอดริมฝั่งน้ำอย่างชัดเจน รวมถึงผลกระทบต่อศักยภาพการระบายน้ำของแม่น้ำในช่วงหน้าน้ำด้วยเช่นกัน

กลุ่ม Friends of the River จึงออกมาคัดค้าน ด้วยมองเห็นถึงปัญหาและเกิดการตั้งคำถามในความไม่โปร่งใสของงบประมาณในการนำมาจัดสร้างรวมถึงการรวบรัดขั้นตอน เนื่องจากเมื่อมองถึงงบประมาณที่จะใช้กับโครงการนี้ พบว่ามีราคาก่อสร้างที่สูงมากกว่าปกติรวมถึงมีการเร่งรัดให้เกิดการก่อสร้าง ทั้งกับคำถามที่ว่าในการจัดสร้างนี้ ได้มีกระบวนการศึกษาวิเคราะห์ถึงผลกระทบอย่างจริงจังหรือไม่ และมีการออกแบบที่คำนึงถึงผู้มีส่วนได้เสียทั้งทางภาครัฐ เอกชน รวมไปถึงประชาชนหรือไม่

กลุ่ม Friends of the River ได้นำเสนอปัญหาดังกล่าว และเชิญชวนให้ประชาชนที่เล็งเห็นถึงปัญหาแบบเดียวกัน ร่วมลงชื่อสนับสนุนผ่านเว็บไซต์ change.org "ยับยั้งการสร้างทางเลียบแม่น้ำเจ้าพระยา 14 กม." เพื่อเสนอต่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และเพื่อให้มีกระบวนการศึกษาที่ถูกต้อง และได้รับความร่วมมือจากผู้เชี่ยวชาญเพื่อให้เกิดการพัฒนาอย่างถูกต้อง โดยชี้แจงว่า งบประมาณในการลงทุนก่อสร้าง "แลนมาร์คแห่งใหม่" ตามคำกล่าวอ้างของรัฐบาล ที่มีมูลค่าสูงมากถึง 14,000 ล้านบาท นั้น เงินจำนวนดังกล่าวสามารถนำไปทำประโยชน์ต่อสังคมได้อย่างมหาศาล ดีกว่าที่จะนำเงินมาลงทุนในโครงการที่ยังมิได้ผ่านกระบวนการเห็นชอบจากภาคประชาชน และขาดการศึกษาผลกระทบอย่างชัดเจน เช่นนี้

“ในนามของประชาชนผู้ไม่เห็นด้วยกับโครงการที่สิ้นเปลืองงบประมาณ ส่งผลกระทบอย่างมหาศาลโดยยังไม่ได้รับการศึกษาและความเห็นชอบจากประชาชน จึงขอส่งเสียงเรียกร้องไปยังท่านนายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช. พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ให้ชะลอโครงการนี้เอาไว้ จนกว่าจะมีการศึกษาผลกระทบและรับฟังเสียงจากภาคประชาชนอย่างโปร่งใส” ยศพล บุญสม ตัวแทนกลุ่ม Friends of the River กล่าวถึงแคมเปญนี้
ทางเลียบแม่น้ำฮัน
ความต่างของ river walk ในไทยกับเมืองต้นแบบ
ตามข้อมูลระบุว่า ถนนขนาบแม่น้ำที่จะสร้างขึ้นนี้จะยื่นออกจากริมตลิ่งแม่น้ำทั้งสองฝั่ง ข้างละ 20 เมตร ประกอบด้วยเส้นทางจักรยานและทางคนเดิน โดยปักตอม่อลงไปในน้ำ ส่วนบริเวณที่เป็นจุดเว้า จุดโค้งของแม่น้ำจะพัฒนาเป็นศาลาริมน้ำและลานกิจกรรม ซึ่งเป็นแผนพัฒนาที่ได้แรงบันดาลใจมาจากเมื่อครั้งที่นายกรัฐมนตรี พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้เดินทางไปดูงานที่ “แม่น้ำฮัน” ในกรุงโซล ประเทศเกาหลีใต้

แต่เมื่อเปรียบเทียบเส้นทางเลียบแม่น้ำเจ้าพระยากับที่เกาหลีใต้ต้นแบบ หรือประเทศอื่นๆ จะพบว่ามีความแตกต่างกัน ทั้งขนาดของแม่น้ำ และลักษณะของเส้นทาง เนื่องจากโครงการนี้มีลักษณะคล้ายทางขนาดใหญ่ลอยอยู่เหนือน้ำ อันกินพื้นที่ความกว้างของแม่น้ำไปถึง 20% ซึ่งอาจส่งผลกระทบให้เกิดการทำลายทัศนียภาพและวิถีชีวิตริมน้ำของประชาชน ทั้งลำน้ำที่แคบลงยังอาจเป็นสาเหตุที่ทำให้น้ำท่วมและน้ำยกตัวสูงขึ้น นอกจากนี้ทางที่ยื่นลงไปในแม่น้ำ อาจทำให้เกิดการสะสมของขยะมากขึ้นเช่นกัน
chicago river walk
ลองมองไปในประเทศฝั่งตะวันตก เส้นทาง River walk ทั้งในยุโรป หรืออเมริกา จะพบถึงความแตกต่างในด้านโครงสร้าง เนื่องจากประเทศในยุโรปจะเน้นการใช้พื้นที่ริมฝั่งมากกว่าโดยมีการกันเนื้อที่ไว้บางส่วนเพื่อทำเป็นพื้นที่สาธารณะ มากกว่าที่จะสร้างรุกล้ำลงไปในน้ำทั้งหมด และแม้แต่สายน้ำเล็กๆ ก็จะไม่ใช้การวางตอม่อลงไปในผิวน้ำโดยตรง ดังเช่น River walk ของเมือง San antonio หรือที่ Chicago river walk
กลับมามองที่แม่น้ำฮัน องค์ประกอบหลายๆ ด้าน ทั้งขนาดของแม่น้ำ ขนาดพื้นที่รับน้ำหลากและความสูงตลิ่ง หากเทียบกับเจ้าพระยาแล้ว พบว่าแม่น้ำฮันไหลลงจากภูเขา และสั้นกว่าเจ้าพระยามาก แม่น้ำฮันช่วงที่ไหลผ่านกรุงโซล มีความกว้างกว่า 800 เมตร หากความกว้างของแม่น้ำเจ้าพระยาช่วงที่ไหลผ่านสะพานปิ่นเกล้า จุดเริ่มต้นโครงการ มีความกว้างเพียง 220 เมตร และจุดสิ้นสุดโครงการบริเวณช่วงสะพานพระรามเจ็ด มีความกว้างราว 300 เมตร หากสร้างทางความกว้างด้านละ 20 เมตร จะเหลือพื้นที่เท่าไหร่?

นอกจากนี้เมื่อมองจากข้อมูล พบว่าแม่น้ำเจ้าพระยาตั้งอยู่บนที่ราบบริเวณสามเหลี่ยมปากแม่น้ำ ระดับน้ำจึงไม่ต่างกันมากนัก ตลิ่งไม่สูงชัน ทั้งยังไม่มีพื้นที่รับน้ำหลากริมตลิ่ง ส่วนแม่น้ำฮันมีพื้นที่รองรับน้ำหลากทั้งสองข้าง และมีขนาดกว้างใหญ่ โดยบางจุดกว้างถึงสองร้อยเมตรกว่าจะถึงตลิ่งที่สูงชัน ดังนั้นปัญหาเรื่องการรับน้ำของแม่น้ำเจ้าพระยายามเกิดน้ำหลาก จึงเป็นประเด็นที่ควรไตร่ตรอง
ทั้งเมื่อมองความผูกพันของคนไทยกับสายน้ำ จะเห็นว่าบ้านเรือนคนไทยสมัยก่อนนิยมปลูกหันหน้าเข้าหาน้ำ ทั้งวัด วัง ก็เช่นกัน รวมถึงสายน้ำยังเป็นเส้นทางสัญจรหลักของคนไทยยุคก่อน ต่างจากเกาหลีที่แม่น้ำและสิ่งแวดล้อมในเมืองถูกปรับปรุง และไม่ได้ถูกใช้เป็นทางสัญจร จนกล่าวกันว่า หากนั่งริมแม่น้ำฮันทั้งวัน แล้วพบเรือผ่านมาสักลำก็ถือเป็นโชคดีแล้ว แม่น้ำที่นั่นจึงกลายเป็นเพียงทัศนียภาพของเมือง 
แต่แม่น้ำเจ้าพระยาทุกวันนี้ยังคงเป็นสายน้ำที่มีชีวิต ยังเป็นทางสัญจรของผู้คน และสินค้าจำนวนมาก
เป็นแหล่งอาหาร เป็นระบบนิเวศน์ที่ค้ำจุนชีวิตปลายน้ำอีกมากมาย การมองเส้นทางริมแม่น้ำของเกาหลี แล้วเลียนแบบทุกอย่างมาใช้กับเรานั้น จึงเป็นสิ่งที่เราควรมองอย่างไตร่ตรองให้รอบด้าน

ผลกระทบ กับการพัฒนาอย่างยั่งยืน
ความตื่นตัวจากหลายฝ่าย ทำให้มีการทำข้อเสนอถึงการใช้พื้นที่ริมน้ำอย่างไร ในงบประมาณที่เหมาะสม ล่าสุด ตัวแทนจากทาง “ภาคีพัฒนาพื้นที่ริมน้ำ” ได้จัดทำข้อเสนอแนะเชิงหลักการด้านผังเมืองของการออกแบบพื้นที่สาธารณะริมน้ำ เสนอต่อรัฐบาลและสังคม โดยชี้ให้เห็นถึงการพัฒนาอย่างยั่งยืนและเหมาะสม

“โครงสร้างทางริมแม่น้ำเจ้าพระยาควรมีขนาด รูปแบบ และประโยชน์ใช้สอยอย่างหลากหลายเหมาะสมสอดคล้องต่อเนื่องกับประโยชน์การใช้งาน ของพื้นที่ริมฝั่งด้านใน ไม่ควรเป็นรูปแบบมาตรฐานเดียวกันตลอด เช่น หากผ่านชุมชนเก่า ก็ลดขนาดความกว้างให้พอดีเป็นทางเดินพอใช้สอย หากผ่านหน้าสถานที่ราชการ ก็ไม่จำเป็นต้องสร้างยื่นไปในแม่น้ำ แต่อาจกินเนื้อที่มาบนบก กระทั่งขยายขนาดกลายเป็นสวนริมน้ำ

“โครงสร้างอาจอยู่ริมแม่น้ำ หรือ วกเข้ามาด้านในก็ได้แต่ต้องบูรณาการกับเส้นทางสัญจร เช่น ตรอก ซอย ถนน รวมทั้งพื้นที่สาธารณะเดิม ชุมชน เพื่อให้พื้นที่ริมน้ำต่อเนื่องกลายเป็นส่วนหนึ่งของโครงการ และต้องมีความปลอดภัย เพื่อเลี่ยงการเป็นพื้นที่มั่วสุม นอกจากนี้โครงสร้างทางริมน้ำยังควรถูกออกแบบควบคู่ไปกับโครงสร้างรอยต่อสัณฐานตลิ่งอย่าให้สูงจนบังกั้นในลักษณะกำแพงหรือถ้าต้องสูง ควรมีชั้นเชิงถอยร่นอย่างค่อยลาดขึ้นทีละนิด จึงเป็นเหตุผลที่สำคัญกว่า”

ดังนั้น การออกแบบพื้นที่ริมน้ำจะไม่มีประโยชน์อันใดเลย หากขาดแผนการพัฒนาฟื้นฟูพื้นที่ต่อเนื่องด้านในควบคู่ไปด้วยพร้อมกัน “หากการสร้างพื้นที่สาธารณะริมน้ำ ไม่สอดคล้องกับบริบทของเมือง ทั้งในด้านขนาดและการรองรับกิจกรรมประชาชน อาจก่อให้เกิดการใช้งานพื้นที่ไม่เหมาะสม ซึ่งนำไปสู่การทำลายภูมิทัศน์และการลดคุณค่าพื้นที่ริมน้ำเจ้าพระยา รวมทั้งวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของชุมชน ความเชื่อมโยงที่จะใช้ประโยชน์และกลมกลืนกับวิถีชีวิตริมน้ำเช่นเดิม ทางเดินและทางจักรยานสาธารณะสองฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยานั้น ผ่านบริบทของเมืองที่มีความหลากหลาย ควรคำนึงถึงความต้องการของผู้อาศัยที่อยู่ในพื้นที่ ทั้งผู้ใช้งานด้วยกระบวนการการมีส่วนร่วม เพื่อหาแนวทางการออกแบบที่เหมาะสมและเป็นที่ยอมรับจากทุกฝ่าย” ตัวแทนภาคีพัฒนาพื้นที่ริมน้ำกล่าว

อย่างไรก็ตาม ตัวอย่างโครงการการพัฒนาริมน้ำที่ได้รับการชื่นชม เช่น“โครงการยานาวาริเวอร์ฟรอนท์” ที่ถือเป็นหนึ่งในโมเดลทางเดินริมน้ำที่โดดเด่น มีการเปิดเวทีรับฟังความคิดเห็น เน้นกระบวนการมีส่วนร่วมในการออกแบบพื้นที่ริมน้ำสาธารณะเพื่อทุกคน จึงเป็นการพัฒนาที่ประชาชนยอมรับได้ไม่ยาก แต่กับโครงการนี้แม้รัฐพยายามจะทำให้กระทบกับชุมชนริมน้ำน้อยที่สุด แต่ถึงอย่างนั้นก็ยังมีชาวบ้านอีกกว่า 24 ชุมชนตั้งแต่สะพานปิ่นเกล้าขึ้นไปถึงสะพานพระราม 7 ที่ต้องได้รับผลกระทบ

โดยก่อนหน้านี้ตัวแทนจาก กทม. ได้เข้ามาพูดคุยถึงแนวทางการเยียวยา 4 ข้อ แก่หลายๆ ชุมชน ได้แก่ การจัดหาที่อยู่อาศัยให้ใหม่ในราคาถูกหรือครึ่งราคา การขอรับค่าเยียวยาตามที่รัฐกำหนด การให้ความช่วยเหลือเรื่องการศึกษาของบุตรหลาน รวมถึงกรณีย้ายสถานศึกษาแห่งใหม่ที่ใกล้กับแหล่งที่พัก และเรื่องคุณภาพชีวิต โดยจะจัดหางานให้ชาวชุมชน จึงทำให้ชาวชุมชนบางส่วนยอมรับ
แน่นอนว่า ทุกสิ่งอย่างล้วนมีทั้งข้อดีข้อเสีย แต่หากเราลองไตร่ตรองชั่งน้ำหนักทั้งสองฝั่งก่อนลงมือทำสิ่งใด คงจะดี เพราะ “เจ้าพระยา” ไม่ใช่ของใคร หากเป็นสมบัติของทุกคนในชาติ
และเราจะเอนกายมองแม่น้ำ หรือปั่นจักรยานบนทางสวยๆ ที่สร้างมาจากน้ำตาของคนอื่นได้จริงหรือ..
 
 
ขอบคุณภาพจาก mytanfeet.com, fb:friends of the river, change.org 

ข่าวโดย ASTVผู้จัดการ Live




 

 
รายละเอียดเพิ่มเติม (คลิก)>>> ตัวอย่างงานในเซ็กชั่น "ASTVผู้จัดการ Live"





มาตามติด Facebook Fanpage และ Instagram

"ASTVผู้จัดการ Live" และ "@astv_live" กันได้ที่นี่!!


และสามารถส่งข่าวสารและเรื่องราวร้องทุกข์ในสังคมมาได้: astvmanager.live.lite@gmail.com
หรือ โทร.0-2629-4488 ต่อ 1477, Fax 0-2629-4754


กำลังโหลดความคิดเห็น