xs
xsm
sm
md
lg

“บิ๊กตู่” ถกทิศทางอาเซียน ลงนามต้านค้ามนุษย์ ร่วมเป็นหุ้นส่วนยุทธศาสตร์จีน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


“ประยุทธ์” ประชุมสุดยอดอาเซียน ร่วมกำหนดทิศทางของประชาคมอาเซียน เน้นสร้างเข้มแข็งจากภายใน มีเอกภาพ พร้อมรับมือกับความท้าทาย ร่วมลงนามอนุสัญญาอาเซียนว่าด้วยการต่อต้านการค้ามนุษย์ โดยเฉพาะสตรีและเด็ก ร่วมรับรองแผนปฏิบัติการความเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์อาเซียน - จีน พร้อมเสนอแนวทางความร่วมมือในลักษณะ 1 + 1 + 1 เพื่อสร้างความเชื่อมโยงในภูมิภาค

วันนี้ (22 พ.ย.) เมื่อเวลา 10.00 น. หลังจากพิธีเปิดการประชุม สุดยอดอาเซียนครั้งที่ 27 พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี พร้อมกับผู้นำอาเซียนอีก 9 ชาติ เข้าร่วมการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 27 ที่ Conference Hall 2 ชั้น 3 ศูนย์การประชุม KLCC กรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย โดย นายนาจิบ ราซัค นายกรัฐมนตรีมาเลเซีย ในฐานะประธานการประชุมสุดยอดอาเซียนได้กล่าวเปิดการประชุม และเชิญให้นาย เล เลียง มิญ (H.E. Le Luong Minh) เลขาธิการอาเซียน กล่าวรายงานต่อที่ประชุม จากนั้นผู้นำอาเซียนแต่ละชาติกล่าวถ้อยแถลงตามลำดับตัวอักษร

นายกรัฐมนตรี กล่าวขอบคุณนายกรัฐมนตรีมาเลเซียที่ให้การต้อนรับอย่างอบอุ่น และชื่นชมมาเลเซียต่อการทำหน้าที่ประธานอาเซียนได้อย่างดีเยี่ยมตลอดทั้งปี โดยการประชุมครั้งนี้นับเป็นอีกหนึ่งเหตุการณ์ครั้งสำคัญของอาเซียน ซึ่งจะประกาศการจัดตั้งประชาคมอาเซียนที่มีประชาชนเป็นศูนย์กลาง ทุกภาคส่วนมีส่วนร่วม และยึดมั่นในกฎกติกา และมีการรับรองวิสัยทัศน์และแผนงานของประชาคมอาเซียนสำหรับ 10 ปีข้างหน้า นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ภารกิจในวันนี้ คือ การขับเคลื่อนอาเซียนไปข้างหน้าและดำเนินมาตรการต่าง ๆ ที่ตกลงกันไว้ ด้วยการสร้างประชาคมอาเซียนที่มีความสามารถรับมือกับความท้าทายและมีบทบาทอย่างสร้างสรรค์ในเวทีโลก ซึ่งตนมีข้อเสนอต่อที่ประชุมดังนี้

ประการแรก การสร้างประชาคมอาเซียนที่มีความเข้มแข็งจากภายใน มีเอกภาพ และไม่หวังพึ่งการสนับสนุนจากภายนอกเพียงอย่างเดียว ต้องเสริมสร้างให้อาเซียน ในฐานะตลาดและฐานการผลิตเดียว มีความน่าดึงดูดยิ่งขึ้น ซึ่งการจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษบริเวณชายแดนและการส่งเสริมการลงทุนในรูปแบบ 1 + 1 จะช่วยส่งเสริมการใช้ประโยชน์จากข้อได้เปรียบของแต่ละประเทศที่มีชายแดนร่วมกัน เช่น แรงงานที่มีค่าแรงต่ำกว่าจากประเทศหนึ่ง และความเชี่ยวชาญด้านการบริหารจัดการในอีกประเทศหนึ่ง รวมทั้งการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน การสร้างเครือข่ายการผลิต ตลาดรองรับสินค้าและสร้างรายได้ และความเจริญไปยังพื้นที่ห่างไกล นอกจากนี้ การพัฒนาความเชื่อมโยงระหว่างกันในด้านกฎระเบียบ ลดมาตรการที่เป็นอุปสรรคทางการค้าการลงทุน ส่งเสริมผู้ประกอบการในแต่ละสาขาที่ถนัด การดำเนินงานตามกรอบความตกลงอาเซียนว่าด้วยการอำนวยความสะดวกในการขนส่งสินค้าผ่านแดน จะช่วยเพิ่มความรวดเร็วในการทำธุรกรรมเพิ่มความน่าเชื่อถือ และลดต้นทุนสำหรับภาคเอกชน ซึ่งทั้งหมดนี้จะช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันและพัฒนาห่วงโซ่มูลค่าของภูมิภาค รวมทั้งลดช่องว่างด้านการพัฒนา นอกจากนี้ อาเซียนควรดำเนินนโยบายเพื่อส่งเสริมการรวมตัวทางเศรษฐกิจที่ลึกซึ้งขึ้น

นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ประการที่สอง การท่องเที่ยวเป็นหนึ่งในสาขาที่มีศักยภาพสูง ซึ่งจะช่วยส่งเสริมความเชื่อมโยงระหว่างประชาชน โดยเฉพาะระหว่างประเทศสมาชิกบนภาคพื้นทวีปและหมู่เกาะ อาเซียน จึงควรพิจารณาสนับสนุนเรื่องการท่องเที่ยวในลักษณะแพ็กเกจของประเทศอาเซียนทั้งทางบกและทางทะเลไว้ในแผนงานความเชื่อมโยงอาเซียน ค.ศ. 2025

ประการที่สาม อาเซียนจะต้องเสริมสร้างความเข้มแข็งให้แก่ภาคการเกษตร เนื่องจากอาเซียนเป็นแหล่งอาหารสำคัญของโลก เกษตรกรในประเทศยังคงยากจนซึ่งหากรัฐบาลไม่สนใจดูแลจะส่งผลกระทบต่อความมั่นคงทางอาหารมากขึ้นเรื่อย ๆ อาเซียนจึงควรจัดทำแผนพัฒนาภาคการเกษตร ซึ่งให้ความสำคัญกับการวิจัยและการพัฒนาเพื่อเพิ่มผลผลิต เพิ่มมูลค่าสินค้าเกษตร และส่งเสริมโภชนาการ นอกจากนี้ การให้ข้อมูลและความรู้แก่เกษตรกรให้สามารถเข้าถึงตลาด ทั้งในและนอกภูมิภาคก็เป็นเรื่องสำคัญ เกษตรกรที่มีความรู้จะช่วยให้กลไกตลาดดำเนินไปด้วยดีและป้องกันไม่ให้ราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ ส่งเสริมการเกษตรที่ยั่งยืน และสร้างความมั่นคงทางอาหาร

พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า ทั้งหมดนี้จะช่วยสร้างความเข้มแข็งจากภายในอาเซียน นอกจากนี้ เราต้องทำให้ประชาคมอาเซียนสามารถรับมือความท้าทายในการรวมตัวเป็นประชาคมอาเซียน ไม่ว่าจะเป็นยาเสพติด อาชญากรรมข้ามชาติ ภัยพิบัติ ฯลฯ อาเซียนต้องร่วมมือกันให้ใกล้ชิดและบูรณาการให้มีประสิทธิภาพดีขึ้น เช่น ปัญหามลพิษจากหมอกควันข้ามแดน ซึ่งเป็นอันตรายทั้งต่อสุขภาพของประชาชนและเศรษฐกิจของอาเซียน ทำให้ต้องแก้ไขปัญหานี้อย่างจริงจัง เพื่อให้อาเซียนปลอดจากหมอกควันภายในปี 2563 โดยการจัดทำแผนงานอาเซียนปลอดจากหมอกควัน (ASEAN Haze-Free Roadmap) เพื่อเป็นกรอบแนวทางสำหรับประเทศสมาชิกอาเซียนในการอนุวัติการข้อตกลงอาเซียนว่าด้วยมลพิษจากหมอกควันข้ามแดน และจัดตั้งศูนย์ประสานงานอาเซียนเพื่อควบคุมมลพิษจากหมอกควันข้ามแดน นอกจากนี้ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศได้ส่งผลกระทบอย่างกว้างขวางต่อภูมิภาค ก่อให้เกิดภัยพิบัติที่ทวีความรุนแรงและความถี่ขึ้น ส่งผลกระทบต่อความมั่นคงของมนุษย์และการเจริญเติบโตที่ยั่งยืน เราจึงต้องปฏิบัติตามแถลงการณ์อาเซียนว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งในระดับชาติ ระดับภูมิภาค และระดับระหว่างประเทศ นอกจากนี้ จะต้องติดตามและประเมินผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นจากมาตรการเพื่อการปรับตัวและลดผลกระทบเหล่านั้นอย่างต่อเนื่อง

ในขณะที่ความเชื่อมโยงในภูมิภาคพัฒนาไป อาเซียนจะต้องมีมาตรการรับมือกับผลกระทบทางลบจากความเชื่อมโยงและความท้าทายจากความมั่นคงรูปแบบใหม่ที่ครอบคลุมทุกมิติ อาทิ การค้ามนุษย์ การค้ายาเสพติด ลัทธิแนวคิดสุดโต่งรุนแรง การก่อการร้าย และภัยพิบัติ โดยอาเซียนควรใช้ประโยชน์จากสำนักงานป้องกันและปราบปรามยาเสพติดอาเซียนและศูนย์แพทย์ทหารอาเซียนอย่างเต็มที่ รวมทั้งเร่งเสริมสร้างขีดความสามารถด้านการแพทย์ฉุกเฉินเพื่อบรรเทาภัยพิบัติ การควบคุมโรคอุบัติใหม่และโรคระบาดมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการทำให้ประชาคมของเราปลอดภัย จึงจำเป็นต้องเสริมสร้างความตระหนัก และการเตรียมความพร้อมสำหรับการแพร่ระบาดของโรคเหล่านี้ โดยเฉพาะตามแนวชายแดนและจุดผ่านแดน นอกจากนี้ รัฐบาลควรพิจารณาจัดสรรหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าให้แก่ประชาชนเพื่อเตรียมความพร้อมเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ซึ่งไทยพร้อมจะสนับสนุนการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้และประสบการณ์ในด้านนี้ พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่าประการสำคัญสุดท้ายคือ การทำให้ประชาคมอาเซียน มีบทบาทอย่างสร้างสรรค์ในเวทีโลก โดยที่อาเซียนต้องเป็นประชาคมที่มองออกไปข้างนอก และสร้างเสริมสร้างความแข็งแกร่งจากภายใน มีความเป็นเอกภาพ ไทยพร้อมที่จะดำเนินบทบาทนำร่วมกับประเทศอาเซียนอื่น ๆ เพื่อรักษาความเป็นแกนกลางและความสมดุลในการดำเนินความสัมพันธ์กับประเทศมหาอำนาจ

นายกรัฐมนตรี กล่าวแสดงความยินดีที่มีการยกระดับความสัมพันธ์สหรัฐฯ และนิวซีแลนด์เป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ของอาเซียน และหวังว่า ความร่วมมือระหว่างกันจะเพิ่มพูนและเกิดผลเป็นรูปธรรมกับทั้งสองฝ่าย นอกจากนี้ ในฐานะผู้ประสานงานความสัมพันธ์อาเซียน - สหภาพยุโรป ไทยพร้อมทำหน้าที่ส่งเสริมความสัมพันธ์อาเซียน-สหภาพยุโรปไปสู่หุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ นอกจากนี้อาเซียนจะต้องมีท่าทีและเสียงเดียวกันในสหประชาชาติและองค์กรระหว่างประเทศอื่น ๆ และมีบทบาทที่สร้างสรรค์และแข็งขันในประเด็นระดับโลก ไทยยืนยันสนับสนุน สปป.ลาว อย่างเต็มที่ในการเป็นประธานอาเซียนในปีหน้า ซึ่งเป็นปีที่สำคัญไม่น้อยไปกว่าปีนี้ เพราะจะมีการรับรองเอกสารที่สำคัญอีกสองฉบับ คือ แผนงานข้อริเริ่มเพื่อการรวมตัวของอาเซียน ฉบับที่ 3 และแผนงานความเชื่อมโยงอาเซียน ค.ศ. 2025 ซึ่งจะสานต่อความพยายามของเราในการลดความเหลื่อมล้ำและสร้างความเชื่อมโยงในทุกมิติ ทำให้อาเซียนเป็นประชาคมที่มั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน

จากนั้น เวลา 11.45 น. ที่ Plenary Theatre ชั้น 3 ศูนย์การประชุม KLCC ภายหลังการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 27 พล.อ.ประยุทธ์ พร้อมผู้นำอาเซียน อีก 9 ชาติร่วมลงนามในอนุสัญญาอาเซียนว่าด้วยการต่อต้านการค้ามนุษย์ โดยเฉพาะสตรีและเด็ก ภายหลังผู้นำอาเซียนทั้งหมดลงนามในอนุสัญญาฯ นายกรัฐมนตรีมาเลเซียในฐานะประธานอาเซียนได้ส่งมอบอนุสัญญาฯ แก่เลขาธิการอาเซียน และ Chair of the ASEAN Ministerial Meeting on Transnational Crime (AMMTC) สำหรับสาระสำคัญของอนุสัญญาว่าด้วยการต่อต้านการค้ามนุษย์ โดยเฉพาะสตรีและเด็ก(ASEAN Convention Against Trafficking in Persons, Especially Women and Children) มีดังนี้ อนุสัญญาอาเซียนว่าด้วยการต่อต้านการค้ามนุษย์ โดยเฉพาะสตรีและเด็ก มีวัตถุประสงค์สำคัญเพื่อเป็นการส่งเสริมความร่วมมือระหว่างประเทศสมาชิกอาเซียนในการป้องกันและต่อต้านการค้ามนุษย์ โดยเน้นการแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ที่ต้นเหตุ อาทิ การขจัดความยากจน การลดปัจจัยเกื้อหนุนและป้องกันการตกเป็นเหยื่อซ้ำ และการส่งเสริมความร่วมมือข้ามแดน โดยเฉพาะการตรวจสอบความถูกต้องของเอกสารคนเข้าเมือง การคุ้มครองผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์และการส่งกลับ การบังคับใช้กฎหมาย อาทิ การยึดทรัพย์ การให้ความช่วยเหลือซึ่งกันและกันในเรื่องทางอาญา การส่งผู้ร้ายข้ามแดน และความร่วมมือระหว่างประเทศอื่น ๆ

จากนั้นเวลา 13.30 น. ที่ Conference Hall 1 ชั้น 3 ศูนย์การประชุม KLCC กรุงกัวลาลัมเปอร์ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เข้าร่วมการประชุมสุดยอดอาเซียน - จีน ครั้งที่ 18 ร่วมกับผู้นำชาติอาเซียน เลขาธิการอาเซียน และ นายหลี่ เค่อเฉียง นายกรัฐมนตรีจีน การประชุมครั้งนี้ พล.อ.ประยุทธ์ ได้ร่วมกำหนดทิศทางความสัมพันธ์และความร่วมมืออาเซียน - จีน และแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในประเด็นระดับภูมิภาคและระหว่างประเทศ พร้อมร่วมรับรองแผนปฏิบัติการตามปฏิญญาร่วมว่าด้วยการเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์อาเซียน - จีน (ค.ศ. 2016 - 2020) และเห็นพ้องกับผู้นำที่เข้าร่วมให้จัดกิจกรรมฉลองครบรอบ 25 ปี ของความสัมพันธ์อาเซียน - จีน ในปี 2559

พล.ต.วีรชน สุคนธปฏิภาค รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวภายหลังการประชุม ว่า นายกรัฐมนตรี กล่าว ต้อนรับนายกรัฐมนตรี หลี่ เค่อเฉียง เข้าสู่การประชุมสุดยอดอาเซียน - จีน ครั้งที่ 18 พร้อมกล่าวว่า อาเซียนและจีนเป็นความสัมพันธ์ที่พิเศษ และเป็นหุ้นส่วนเชิงยุทธศาสตร์ที่มีผลประโยชน์ร่วมกันรอบด้าน โดยไทยจะร่วมมือกับประเทศสมาชิกอาเซียนในการพัฒนาความสัมพันธ์อาเซียน - จีน ให้ใกล้ชิดแน่นแฟ้น ในสาขาที่แต่ละฝ่ายมีศักยภาพ และขอร่วมรับรองแผนปฏิบัติการตามปฏิญญาร่วมว่าด้วยการเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์อาเซียน - จีน เพื่อสันติภาพและความเจริญรุ่งเรือง พ.ศ. 2559 - 2563 เพื่อเป็นกรอบส่งเสริมความร่วมมือระหว่างกัน เมื่อวันที่ 5 สิงหาคมที่ผ่านมา ไทยได้ส่งมอบหน้าที่ประเทศผู้ประสานงานความสัมพันธ์อาเซียน - จีน ให้กับสิงคโปร์ หลังจากทำหน้าที่มาครบ 3 ปี และขอบคุณทุกประเทศที่ให้การสนับสนุนไทย จนภารกิจสำคัญสำเร็จลุล่วงด้วยดี และขอสนับสนุนการทำหน้าที่ของสิงคโปร์ต่อไป นายกรัฐมนตรี กล่าวว่าไทยยินดีที่จีนเป็นมิตรและหุ้นส่วนของอาเซียนมาหลายทศวรรษ ซึ่งเป็นส่วนสำคัญในการช่วยส่งเสริมเสถียรภาพและความเจริญรุ่งเรืองในภูมิภาค ไทยจึงหวังว่า จีนจะเสริมสร้างความร่วมมือกับอาเซียน ทั้งทางเศรษฐกิจ การเมือง ความมั่นคง และสังคมและวัฒนธรรมอย่างต่อเนื่องต่อไป เพราะอาเซียนที่เข้มแข็งย่อมเป็นผลดีของจีน ไทยเชื่อมั่นว่า จีนจะช่วยส่งเสริมการเป็นประชาคมอาเซียน และการพัฒนาโครงสร้างสถาปัตยกรรมภูมิภาคที่มีอาเซียนเป็นศูนย์กลาง เพื่อความมั่นคงและความเจริญรุ่งเรืองของภูมิภาคโดยรวม ดังนั้น อาเซียนและจีนควรพัฒนาหุ้นส่วนเชิงยุทธศาสตร์บนพื้นฐานของความสมดุลและผลประโยชน์ร่วมกัน

ซึ่งนายกรัฐมนตรีได้เสนอแนวทาง ดังนี้ ประการแรก การพัฒนาเศรษฐกิจให้เติบโตอย่างยั่งยืนและครอบคลุม เพื่อลดความเหลื่อมล้ำในภูมิภาค ที่ผ่านมา ความร่วมมือทางเศรษฐกิจอาเซียน-จีนเติบโตอย่างมีพลวัต การค้าสองฝ่ายเมื่อปีที่แล้วมีมูลค่ากว่า 480,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ จึงควรร่วมกันเร่งรัดการเจรจายกระดับความตกลงเขตการค้าเสรีอาเซียน - จีน และการจัดทำ “RCEP” ให้เสร็จโดยเร็ว เพื่อให้เราค้าขายกันได้มากขึ้น และมีอุปสรรคน้อยลง นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ในด้านการลงทุน ยินดีที่การลงทุนของจีนในอาเซียนขยายตัวอย่างต่อเนื่องจนมีมูลค่ารวมกว่า 35,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เชื่อมั่นว่า การลงทุนของจีนในอาเซียนยังจะเพิ่มขึ้นได้อีกมาก เพราะประชาคมอาเซียนจะกลายเป็นตลาดและฐานการผลิตเดียว และเป็นแหล่งผลิตสินค้าเกษตรและคลังอาหารสำคัญของโลก และเราควรร่วมกันส่งเสริม SMEs ให้เข้มแข็ง เพื่อขยายห่วงโซ่การผลิตและความสามารถในการแข่งขันของภูมิภาค

ประการที่สอง การส่งเสริมความเชื่อมโยงในภูมิภาคในทุกมิติ นายกรัฐมนตรีชื่นชมจีนที่ส่งเสริมความเชื่อมโยงในภูมิภาค ซึ่งจะทำให้การค้า การลงทุน และการเดินทางของประชาชน มีประสิทธิภาพ ปลอดภัย และรวดเร็ว ไทยพร้อมเป็นศูนย์กลางเชื่อมโยงกับประเทศต่าง ๆ ในภูมิภาค และระหว่างภูมิภาค รวมทั้งร่วมมือกับประเทศที่สามในการพัฒนาพื้นที่เศรษฐกิจพิเศษตามแนวชายแดนระหว่างไทยกับประเทศเพื่อนบ้าน เพื่อสร้างงานและกระจายความเจริญสู่ภูมิภาค ซึ่งอาจมองว่าเป็นแนวทางความร่วมมือในลักษณะ 1 + 1 + 1 กล่าวคือ ระหว่าง 2 ประเทศสมาชิกอาเซียนกับ 1 ประเทศนอกภูมิภาค ไทยสนับสนุนข้อริเริ่มของจีนในการจัดตั้งกองทุนและและสถาบันการเงิน เพื่อเป็นแหล่งทุนสำหรับการพัฒนาความเชื่อมโยงในภูมิภาค ทั้งกองทุนเส้นทางสายไหมทางทะเล และเอไอไอบี จึงเสนอให้มีการใช้ประโยชน์อย่างเต็มที่ โดยการกำหนดให้เอไอไอบีมีส่วนสำคัญในการช่วยนำแผนแม่บทว่าด้วยความเชื่อมโยงในอาเซียน ฉบับที่ 2 มาปฏิบัติ นอกจากนี้ ควรแสวงหาแนวทางอื่น ๆ เช่น การลงทุนร่วมภาครัฐและเอกชน การใช้ประโยชน์จากเงินสกุลหลักในภูมิภาค และพันธบัตรเพื่อการลงทุนด้วย นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า ในปีที่แล้ว ประชาชนของเราไปมาหาสู่กันมากถึง 17.6 ล้านคน เมื่อการเชื่อมโยงทางทะเลและข้อริเริ่มเส้นทางสายไหมทางทะเลในศตวรรษที่ 21 เป็นรูปธรรมมากขึ้น เช่น มีการพัฒนาท่าเรือและธุรกิจเรือสำราญและมารีนา อาเซียน และจีน น่าจะร่วมกันพัฒนาการส่งเสริมการท่องเที่ยวทางทะเล โดยที่ต้องให้ความสำคัญกับการอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเล เช่น พันธุ์ปลา ปะการัง ไม่ทิ้งขยะหรือปล่อยน้ำมันและน้ำเสียลงทะเล

พล.ต.วีรชน กล่าวว่า นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรีเห็นด้วยว่า การเชื่อมโยงด้านวัฒนธรรมและการศึกษา เป็นอีกช่องทางหนึ่งที่จะทำให้ประชาชนเข้าใจกัน ไทยจึงสนับสนุนให้ปี 2559 เป็นปีแห่งการแลกเปลี่ยนด้านการศึกษาอาเซียน-จีน และจะร่วมกันจัดโครงการและกิจกรรมที่จะทำให้คนรุ่นใหม่รู้จักกันมากขึ้น สำหรับประเด็นในระดับภูมิภาค นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า หากภูมิภาคปราศจากสภาวะแวดล้อมที่มั่นคงและมีเสถียรภาพ อาเซียน และจีน ก็ไม่สามารถบรรลุเป้าหมายที่ได้กล่าวมาทั้งหมดได้ ดังนั้น การส่งเสริมสันติภาพและความมั่นคง การสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจต่อกัน ถือเป็นปัจจัยสำคัญที่ไม่อาจมองข้ามไปได้ เราต้องร่วมมือกันส่งเสริมสนับสนุนซึ่งกันและกัน โดยไม่ปล่อยให้ประเทศใดประเทศหนึ่งต้องรับผิดชอบเพียงลำพัง เพื่อที่เราจะได้แข็งแรงด้วยกัน อาเซียนและจีนต้องร่วมกันสร้างความแข็งแกร่งให้กับภูมิภาค เพื่อส่งเสริมและพัฒนาโครงสร้างสถาปัตยกรรมภูมิภาคที่มีอาเซียนเป็นศูนย์กลาง ซึ่งจะช่วยนำไปสู่เสถียรภาพและความเจริญรุ่งเรืองในภูมิภาค

นอกจากนี้ โครงสร้างสถาปัตยกรรมดังกล่าวจะต้องสามารถรับมือกับปัญหาความมั่นคงรูปแบบใหม่ และความท้าทาย ใหม่ ๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งไทยยินดีที่จะร่วมมือกับทุกฝ่ายในเรื่องนี้ รวมทั้งเรื่องการขยายบทบาทของสำนักงาน ป.ป.ส. อาเซียน และศูนย์แพทย์ทหารอาเซียน ไทยยินดีที่จีนมีบทบาทอันสร้างสรรค์ในโครงสร้างสถาปัตยกรรมในภูมิภาคที่มีอาเซียนเป็นแกนกลาง และหวังเป็นอย่างยิ่งว่า อาเซียนและจีนจะร่วมมือกันแก้ไขปัญหาในภูมิภาคที่เป็นข้อห่วงกังวลร่วมกัน ไม่ว่าจะปัญหาเล็กหรือใหญ่ บนพื้นฐานของความไว้เนื้อเชื่อใจ และการมีผลประโยชน์ร่วมกัน ในเรื่องทะเลจีนใต้ ไทยสนับสนุนการแก้ไขปัญหาอย่างสันติวิธีระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้องโดยตรง บนพื้นฐานของกฎหมายระหว่างประเทศ และทุกฝ่ายควรมีความยับยั้งชั่งใจ โดยนายกรัฐมนตรีได้แสดงความยินดีที่อาเซียนและจีนได้ก้าวเข้าสู่ขั้นตอนใหม่ของการเจรจา COC จึงหวังว่าการจัดทำ COC จะแล้วเสร็จโดยเร็ว ควบคู่กับการปฏิบัติตาม DOC ในทุกข้อบท และการดำเนินมาตรการเร่งด่วนให้บรรลุผล โดยเฉพาะการจัดตั้งโทรศัพท์สายด่วน และการฝึกซ้อมด้านการค้นหาและกู้ภัย

ในตอนท้าย นายกรัฐมนตรียืนยันว่า ไทยพร้อมเข้าร่วมการประชุมสุดยอดอาเซียน - จีน สมัยพิเศษ เพื่อฉลองครบรอบ 25 ปี ของความสัมพันธ์อาเซียน - จีน ในปี 2559 เพื่อร่วมกันขับเคลื่อนความสัมพันธ์ให้เจริญก้าวหน้า และได้รับผลประโยชน์ร่วมกันอย่างแท้จริง
กำลังโหลดความคิดเห็น