นายกรัฐมนตรี ร่วมกำหนดทิศทางของประชาคมอาเซียน เน้นการสร้างความเข้มแข็งจากภายใน มีเอกภาพ พร้อมรับมือกับความท้าทาย ก่อนร่วมลงนามอนุสัญญาอาเซียนว่าด้วยการต่อต้านการค้ามนุษย์ ขณะเดียวกัน ผู้นำอาเซียน ประชุมร่วมอินเดีย สร้างความเป็นหุ้นส่วนเชิงเศรษฐกิจคู่กับหุ้นส่วนด้านการพัฒนา ยินดีอินเดียสนใจเชื่อมต่อเขตเศรษฐกิจทวาย
วันนี้ (21 พ.ย. ) เวลา 10.00 น. หลังจากพิธีเปิดการประชุมสุดยอดอาเซียน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี พร้อมกับผู้นำอาเซียนอีก 9 ชาติ เข้าร่วมการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 27 ณ Conference Hall 2 ชั้น 3 ศูนย์การประชุม KLCC กรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย
โดย นายนาจิบ ราซัค นายกรัฐมนตรีมาเลเซีย ในฐานะประธานการประชุมสุดยอดอาเซียน ได้กล่าวเปิดการประชุม และเชิญให้ นาย เล เลียง มิญ (H.E. Le Luong Minh) เลขาธิการอาเซียน กล่าวรายงานต่อที่ประชุม จากนั้น ผู้นำอาเซียนแต่ละชาติจะกล่าวถ้อยแถลงตามลำดับตัวอักษร
ซึ่งในส่วนของไทย พล.ต.วีรชน สุคนธปฏิภาค รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ได้สรุปสาระสำคัญว่า นายกรัฐมนตรีกล่าวขอบคุณนายกรัฐมนตรีมาเลเซียที่ให้การต้อนรับอย่างอบอุ่น และชื่นชมมาเลเซียต่อการทำหน้าที่ประธานอาเซียนได้อย่างดีเยี่ยมตลอดทั้งปี โดยการประชุมครั้งนี้นับเป็นอีกหนึ่งเหตุการณ์ครั้งสำคัญของอาเซียน ซึ่งจะประกาศการจัดตั้งประชาคมอาเซียนที่มีประชาชนเป็นศูนย์กลาง ทุกภาคส่วนมีส่วนร่วม และยึดมั่นในกฎกติกา และมีการรับรองวิสัยทัศน์และแผนงานของประชาคมอาเซียนสำหรับ 10 ปีข้างหน้า
นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ภารกิจในวันนี้ คือ การขับเคลื่อนอาเซียนไปข้างหน้าและดำเนินมาตรการต่าง ๆ ที่ตกลงกันไว้ ด้วยการสร้างประชาคมอาเซียนที่มีความสามารถรับมือกับความท้าทาย และมีบทบาทอย่างสร้างสรรค์ในเวทีโลก โดยที่นายกรัฐมนตรีได้ให้ข้อเสนอสำคัญต่อที่ประชุม ดังนี้
ประการแรก การสร้างประชาคมอาเซียนที่มีความเข้มแข็งจากภายใน มีเอกภาพ และไม่หวังพึ่งการสนับสนุนจากภายนอกเพียงอย่างเดียว ต้องเสริมสร้างให้อาเซียน ในฐานะตลาดและฐานการผลิตเดียว มีความน่าดึงดูดยิ่งขึ้น ซึ่งการจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษบริเวณชายแดนและการส่งเสริมการลงทุนในรูปแบบ 1+1 จะช่วยส่งเสริมการใช้ประโยชน์จากข้อได้เปรียบของแต่ละประเทศที่มีชายแดนร่วมกัน เช่น แรงงานที่มีค่าแรงต่ำกว่าจากประเทศหนึ่ง และความเชี่ยวชาญด้านการบริหารจัดการในอีกประเทศหนึ่ง รวมทั้งการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน การสร้างเครือข่ายการผลิต ตลาดรองรับสินค้าและสร้างรายได้และความเจริญไปยังพื้นที่ห่างไกล นอกจากนี้ การพัฒนาความเชื่อมโยงระหว่างกันในด้านกฎระเบียบ ลดมาตรการที่เป็นอุปสรรคทางการค้าการลงทุน ส่งเสริมผู้ประกอบการในแต่ละสาขาที่ถนัด การดำเนินงานตามกรอบความตกลงอาเซียนว่าด้วยการอำนวยความสะดวกในการขนส่งสินค้าผ่านแดน จะช่วยเพิ่มความรวดเร็วในการทำธุรกรรมเพิ่มความน่าเชื่อถือ และลดต้นทุนสำหรับภาคเอกชน ซึ่งทั้งหมดนี้จะช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันและพัฒนาห่วงโซ่มูลค่าของภูมิภาค รวมทั้งลดช่องว่างด้านการพัฒนา นอกจากนี้ อาเซียนควรดำเนินนโยบายเพื่อส่งเสริมการรวมตัวทางเศรษฐกิจที่ลึกซึ้งขึ้น
ประการที่สอง การท่องเที่ยวเป็นหนึ่งในสาขาที่มีศักยภาพสูง ซึ่งจะช่วยส่งเสริมความเชื่อมโยงระหว่างประชาชน โดยเฉพาะระหว่างประเทศสมาชิกบนภาคพื้นทวีปและหมู่เกาะ อาเซียนจึงควรพิจารณาสนับสนุนเรื่องการท่องเที่ยวในลักษณะแพ็กเกจของประเทศอาเซียนทั้งทางบกและทางทะเลไว้ในแผนงานความเชื่อมโยงอาเซียน ค.ศ. 2025
ประการที่สาม อาเซียนจะต้องเสริมสร้างความเข้มแข็งให้แก่ภาคการเกษตร เนื่องจากอาเซียนเป็นแหล่งอาหารสำคัญของโลก เกษตรกรในประเทศยังคงยากจนซึ่งหากรัฐบาลไม่สนใจดูแลจะส่งผลกระทบต่อความมั่นคงทางอาหารมากขึ้นเรื่อย ๆ อาเซียนจึงควรจัดทำแผนพัฒนาภาคการเกษตร ซึ่งให้ความสำคัญกับการวิจัยและการพัฒนาเพื่อเพิ่มผลผลิต เพิ่มมูลค่าสินค้าเกษตร และส่งเสริมโภชนาการ นอกจากนี้ การให้ข้อมูลและความรู้แก่เกษตรกรให้สามารถเข้าถึงตลาด ทั้งในและนอกภูมิภาคก็เป็นเรื่องสำคัญ เกษตรกรที่มีความรู้จะช่วยให้กลไกตลาดดำเนินไปด้วยดีและป้องกันไม่ให้ราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ ส่งเสริมการเกษตรที่ยั่งยืน และสร้างความมั่นคงทางอาหาร
ทั้งหมดนี้จะช่วยสร้างความเข้มแข็งจากภายในอาเซียน นอกจากนี้เราต้องทำให้ประชาคมอาเซียนสามารถรับมือความท้าทายในการรวมตัวเป็นประชาคมอาเซียน ไม่ว่าจะเป็นยาเสพติด อาชญากรรมข้ามชาติ ภัยพิบัติ ฯลฯ อาเซียนต้องร่วมมือกันให้ใกล้ชิดและบูรณาการให้มีประสิทธิภาพดีขึ้น เช่น ปัญหามลพิษจากหมอกควันข้ามแดน ซึ่งเป็นอันตรายทั้งต่อสุขภาพของประชาชนและเศรษฐกิจของอาเซียน ทำให้ต้องแก้ไขปัญหานี้อย่างจริงจังเพื่อให้อาเซียนปลอดจากหมอกควันภายในปี 2563 โดยการจัดทำแผนงานอาเซียนปลอดจากหมอกควัน (ASEAN Haze-Free Roadmap) เพื่อเป็นกรอบแนวทางสำหรับประเทศสมาชิกอาเซียนในการอนุวัติการข้อตกลงอาเซียนว่าด้วยมลพิษจากหมอกควันข้ามแดน และจัดตั้งศูนย์ประสานงานอาเซียนเพื่อควบคุมมลพิษจากหมอกควันข้ามแดน
นอกจากนี้ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศได้ส่งผลกระทบอย่างกว้างขวางต่อภูมิภาค ก่อให้เกิดภัยพิบัติที่ทวีความรุนแรงและความถี่ขึ้น ส่งผลกระทบต่อความมั่นคงของมนุษย์และการเจริญเติบโตที่ยั่งยืน เราจึงต้องปฏิบัติตามแถลงการณ์อาเซียนว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งในระดับชาติ ระดับภูมิภาค และระดับระหว่างประเทศ นอกจากนี้ จะต้องติดตามและประเมินผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นจากมาตรการเพื่อการปรับตัวและลดผลกระทบเหล่านั้นอย่างต่อเนื่อง
ในขณะที่ความเชื่อมโยงในภูมิภาคพัฒนาไป อาเซียนจะต้องมีมาตรการรับมือกับผลกระทบทางลบจากความเชื่อมโยงและความท้าทายจากความมั่นคงรูปแบบใหม่ที่ครอบคลุมทุกมิติ อาทิ การค้ามนุษย์ การค้ายาเสพติด ลัทธิแนวคิดสุดโต่งรุนแรง การก่อการร้าย และภัยพิบัติ โดยอาเซียนควรใช้ประโยชน์จากสำนักงานป้องกันและปราบปรามยาเสพติดอาเซียนและศูนย์แพทย์ทหารอาเซียนอย่างเต็มที่ รวมทั้งเร่งเสริมสร้างขีดความสามารถด้านการแพทย์ฉุกเฉินเพื่อบรรเทาภัยพิบัติ
การควบคุมโรคอุบัติใหม่และโรคระบาดมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการทำให้ประชาคมของเราปลอดภัย จึงจำเป็นต้องเสริมสร้างความตระหนักและการเตรียมความพร้อมสำหรับการแพร่ระบาดของโรคเหล่านี้ โดยเฉพาะตามแนวชายแดนและจุดผ่านแดน นอกจากนี้ รัฐบาลควรพิจารณาจัดสรรหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าให้แก่ประชาชนเพื่อเตรียมความพร้อมเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ซึ่งไทยพร้อมจะสนับสนุนการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้และประสบการณ์ในด้านนี้
สุดท้ายประการสำคัญ คือ การทำให้ประชาคมอาเซียน มีบทบาทอย่างสร้างสรรค์ในเวทีโลก โดยที่อาเซียนต้องเป็นประชาคมที่มองออกไปข้างนอก โดยนายกรัฐมนตรีได้เสนอว่า หนึ่ง อาเซียนจะต้องเสริมสร้างความแข็งแกร่งจากภายใน มีความเป็นเอกภาพ ในการนี้ ไทยพร้อมที่จะดำเนินบทบาทนำร่วมกับประเทศอาเซียนอื่น ๆ เพื่อรักษาความเป็นแกนกลางและความสมดุลในการดำเนินความสัมพันธ์กับประเทศมหาอำนาจ ความสำคัญในเชิงภูมิยุทธศาสตร์ของภูมิภาคได้ดึงดูดความสนใจของประเทศมหาอำนาจต่าง ๆ อย่างไรก็ดี อาเซียนควรเป็นผู้กำหนดโครงสร้างสถาปัตยกรรมภูมิภาคที่กำลังเปลี่ยนแปลงไป เราจึงต้องปฏิบัติตามแผนงานว่าด้วยการรักษาและส่งเสริมความเป็นแกนกลางของอาเซียนที่รัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน ได้รับรองที่นครนิวยอร์กเมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมา และสร้างความเข้มแข็งให้แก่กลไกที่อาเซียนมีบทบาทนำ เช่น การประชุมสุดยอดเอเชียตะวันออก
โดยในโอกาสนี้ นายกรัฐมนตรีได้กล่าวแสดงความยินดีที่มีการยกระดับความสัมพันธ์สหรัฐฯ และนิวซีแลนด์เป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ของอาเซียน และหวังว่า ความร่วมมือระหว่างกันจะเพิ่มพูนและเกิดผลเป็นรูปธรรมกับทั้งสองฝ่าย
นอกจากนี้ ในฐานะผู้ประสานงานความสัมพันธ์อาเซียน - สหภาพยุโรป ไทยพร้อมทำหน้าที่ส่งเสริมความสัมพันธ์อาเซียน - สหภาพยุโรปไปสู่หุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์
สอง อาเซียนจะต้องมีท่าทีและเสียงเดียวกันในสหประชาชาติและองค์กรระหว่างประเทศอื่น ๆ และมีบทบาทที่สร้างสรรค์และแข็งขันในประเด็นระดับโลก อาทิ การสร้างความสอดคล้องระหว่างแผนงานประชาคมอาเซียน ค.ศ. 2025 กับวาระด้านการพัฒนาอย่างยั่งยืน ค.ศ. 2030 การแก้ไขปัญหาการโยกย้ายถิ่นฐานแบบไม่ปกติที่ต้นตอ และการรับรองผู้สมัครของอาเซียนในเวทีระหว่างประเทศ ทั้งนี้ ในฐานะประธานกลุ่ม 77 ไทยพร้อมทำหน้าที่เพื่อรักษาประโยชน์ของกลุ่ม ซึ่งรวมถึงของอาเซียนอย่างเต็มกำลัง
ในตอนท้าย นายกรัฐมนตรียืนยันการสนับสนุน สปป.ลาว อย่างเต็มที่ในการเป็นประธานอาเซียนในปีหน้า ซึ่งเป็นปีที่สำคัญไม่น้อยไปกว่าปีนี้ เพราะจะมีการรับรองเอกสารที่สำคัญอีกสองฉบับ คือ แผนงานข้อริเริ่มเพื่อการรวมตัวของอาเซียน ฉบับที่ 3 และแผนงานความเชื่อมโยงอาเซียน ค.ศ. 2025 ซึ่งจะสานต่อความพยายามของเราในการลดความเหลื่อมล้ำและสร้างความเชื่อมโยงในทุกมิติ ทำให้อาเซียนเป็นประชาคมที่มั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน
ต่อมาเวลา 11.45 น. ณ Plenary Theatre ชั้น 3 ศูนย์การประชุม KLCC ภายหลังการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 27 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี พร้อมผู้นำอาเซียน อีก 9 ชาติได้เข้าร่วมลงนามในอนุสัญญาอาเซียนว่าด้วยการต่อต้านการค้ามนุษย์ โดยเฉพาะสตรีและเด็ก (ASEAN Convention Against Trafficking in Persons, Especially Women and Children)
ภายหลังผู้นำอาเซียนทั้งหมดลงนามในอนุสัญญาฯ นายกรัฐมนตรีมาเลเซียในฐานะประธานอาเซียนได้ส่งมอบอนุสัญญาฯ แก่เลขาธิการอาเซียน และ Chair of the ASEAN Ministerial Meeting on Transnational Crime (AMMTC)
สำหรับสาระสำคัญของอนุสัญญาว่าด้วยการต่อต้านการค้ามนุษย์ โดยเฉพาะสตรีและเด็ก (ASEAN Convention Against Trafficking in Persons, Especially Women and Children) มีดังนี้
อนุสัญญาอาเซียนว่าด้วยการต่อต้านการค้ามนุษย์ โดยเฉพาะสตรีและเด็ก มีวัตถุประสงค์สำคัญเพื่อเป็นการส่งเสริมความร่วมมือระหว่างประเทศสมาชิกอาเซียนในการป้องกันและต่อต้านการค้ามนุษย์ โดยเน้นการแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ที่ต้นเหตุ อาทิ การขจัดความยากจน การลดปัจจัยเกื้อหนุนและป้องกันการตกเป็นเหยื่อซ้ำ และการส่งเสริมความร่วมมือข้ามแดน โดยเฉพาะการตรวจสอบความถูกต้องของเอกสารคนเข้าเมือง การคุ้มครองผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์และการส่งกลับ การบังคับใช้กฎหมาย อาทิ การยึดทรัพย์ การให้ความช่วยเหลือซึ่งกันและกันในเรื่องทางอาญา การส่งผู้ร้ายข้ามแดน และความร่วมมือระหว่างประเทศอื่น ๆ
จากนั้นเวลา 14.45 น. ณ Conference Hall 1 ชั้น 3 ศูนย์การประชุม KLCC กรุงกัวลาลัมเปอร์ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี พร้อมผู้นำชาติอาเซียน และนายนเรนทรา โมดี นายกรัฐมนตรีอินเดีย เข้าร่วมการประชุมสุดยอดอาเซียน - อินเดีย ครั้งที่ 13 ซี่งมีวัตถุประสงค์เพื่อเสริมสร้างความเป็นหุ้นส่วนเชิงยุทธศาสตร์ระหว่างอินเดียกับอาเซียนโดยเฉพาะหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจและความเชื่อมโยงกับอาเซียน
สำหรับสาระสำคัญในการประชุม พล.ต.วีรชน สุคนธปฏิภาค รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี สรุปไว้ ดังนี้ พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวต้อนรับนายกรัฐมนตรี นเรนทรา โมดี ในการเยือนอาเซียนอีกครั้ง ทั้งนี้ ความเป็นหุ้นส่วนเชิงยุทธศาสตร์อาเซียน - อินเดีย มีความสำคัญต่อความมั่นคงและความเจริญรุ่งเรืองของภูมิภาค และไทยยินดีที่ท่านนายกรัฐมนตรีโมดีให้ความสำคัญต่ออาเซียนผ่านนโยบาย “Act East” โดยนายกรัฐมนตรีได้เน้นย้ำถึงประเด็นสำคัญสำหรับความเป็นหุ้นส่วนเชิงยุทธศาสตร์ระหว่างอาเซียน - อินเดีย ดังนี้
ประการแรก อาเซียนและอินเดียควรมุ่งเน้นการเสริมสร้างความเป็นหุ้นส่วนเชิงเศรษฐกิจควบคู่ไปกับความเป็นหุ้นส่วนด้านการพัฒนา โดยควรส่งเสริมภาคเอกชนให้ใช้ประโยชน์จากความตกลงเขตการค้าเสรีอาเซียน-อินเดียอย่างเต็มที่ และไทยสนับสนุนการทบทวนความตกลงด้านการค้าสินค้า ซึ่งเน้นการอำนวยความสะดวกทางการค้าและการเข้าถึงตลาด เพื่อให้สามารถบรรลุเป้าหมายการเพิ่มมูลค่าการค้าระหว่างกันเป็น 200,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ภายในปี 2563
นอกจากนี้ อาเซียนคาดหวังให้อินเดียมีบทบาทสำคัญในการเจรจาเพื่อสรุปการจัดทำความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาคหรืออาร์เสป (RCEP) ในโอกาสแรก ในขณะเดียวกัน อาเซียน และอินเดียสามารถร่วมมือกันมากขึ้นในเรื่องการพัฒนาอย่างยั่งยืน เพื่อยกระดับมาตรฐานความเป็นอยู่ของประชาชน การส่งเสริมให้เข้าถึงทรัพยากรอย่างเท่าเทียม และเสริมสร้างความแข็งแกร่งในการรับมือกับประเด็นท้าทายต่างๆ อาเซียนและอินเดียควรขยายความร่วมมือในการเสริมสร้างขีดความสามารถ การแลกเปลี่ยนเทคโนโลยีและนวัตกรรม รวมทั้งการค้นคว้าวิจัยทางด้านวิทยาศาสตร์ การแพทย์ และเทคโนโลยีสารสนเทศ ซึ่งล้วนมีส่วนเกี่ยวข้องโดยตรงกับการส่งเสริมคุณภาพชีวิตของประชาชน
การเสริมสร้างความร่วมมือจะช่วยพัฒนาเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ซึ่งจะนำไปสู่การยกระดับรายได้และโอกาสในการพัฒนา โดยเฉพาะในชุมชนท้องถิ่นต่อไป
ทั้งนี้ ไทยมีความสนใจต่อข้อริเริ่มของนายกรัฐมนตรีโมดี ได้แก่ “Make in India” “Digital India” และ “Smart Cities” ไทยเชื่อว่า อาเซียนสามารถเป็นหุ้นส่วนที่จะสนับสนุนเป้าหมายของอินเดียตามนโยบายดังกล่าวได้
ประการที่สอง อาเซียนและอินเดียมีความใกล้ชิดกันมากทั้งทางภูมิศาสตร์ ประวัติศาสตร์ และวัฒนธรรม จึงควรใช้ประโยชน์จากข้อได้เปรียบนี้ โดยการเสริมสร้างความเชื่อมโยงระหว่างกันให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น
อาเซียนและอินเดียควรเร่งดำเนินการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน เร่งรัดการสร้างถนนสามฝ่าย ไทย - เมียนมา - อินเดีย ให้แล้วเสร็จ รวมทั้งสนับสนุนการขยายเส้นทางนี้ไปสู่อนุภูมิภาคแม่น้ำโขง ในขณะเดียวกัน ควรแสวงหาแนวทางร่วมกันในการเสริมสร้างศักยภาพทางเศรษฐกิจ โดยการพัฒนาพื้นที่เกษตรกรรมหรือนิคมอุตสาหกรรมตามเส้นทางนี้
ในขณะเดียวกัน ต้องปรับปรุงกฎหมายและกฎระเบียบให้สอดคล้องกัน โดยเฉพาะในด้านการบริหารจัดการชายแดนและการพัฒนาโลจิสติกส์ ซึ่งสามารถอำนวยความสะดวกในด้านการเคลื่อนย้ายสินค้าและบริการ รวมทั้งส่งเสริมการลงทุนสองทาง
นอกจากนี้ ทั้งสองฝ่ายสามารถขยายความร่วมมือในการพัฒนาความเชื่อมโยงผ่านระเบียงเศรษฐกิจทั้งในอินเดียและอาเซียน รวมทั้งระเบียงเศรษฐกิจแม่โขง - อินเดีย และเรายินดีที่อินเดียแสดงความสนใจต่อโครงการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษทวาย ซึ่งสามารถเชื่อมต่ออาเซียนและอินเดียทางบกและทางทะเล
ประการสุดท้าย ไทยมุ่งหวังที่จะร่วมมือกับอินเดียอย่างใกล้ชิดภายใต้กรอบอาเซียนในประเด็นท้าทายเร่งด่วนต่าง ๆ ได้แก่ การต่อต้านก่อการร้ายและการแก้ไขปัญหาอาชญากรรมข้ามชาติ การเสริมสร้างความมั่นคงด้านอาหารและพลังงาน การบริหารจัดการภัยพิบัติ และการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ โดยอาเซียน - อินเดีย สามารถเน้นความร่วมมือด้านการเสริมสร้างขีดความสามารถ การแลกเปลี่ยนบุคลากร เทคโนโลยีและการปฏิบัติที่ดีในประเด็นดังกล่าว