“มีชัย” มอบรางวัลนักเรียนทุนรัฐบาลดีเด่นปี 2558 “พรเพชร” รับสาขานิติศาสตร์ เผยข้อเสนอใหม่ กรธ. ทดสอบสังคม ไม่เกิดปัญหาเลือกตั้งในระบอบประชาธิปไตย ย้ำไม่ควรนำไปสู่รัฐประหารหรือเรียกร้องนายกฯ มาตรา 7
วันนี้ (21 พ.ย.) ที่โรงแรมเดอะสุโกศล นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ได้เป็นประธานในพิธีมอบรับรางวัลเข็มทองคำเชิดชูเกียรติ และประกาศเกียรติคุณนักเรียนทุนรัฐบาลไทยดีเด่น โดยรางวัลเข็มทองคำในปีนี้ มีนักเรียนทุนดีเด่นประจำปี 2558 ได้แก่ ศาสตราจารย์พิเศษ พรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) รับรางวัลสาขานิติศาสตร์, นายดอน ปรมัตถ์วินัย สาขาต่างประเทศ, ดร.สถิตย์ ลิ่มพงษ์พันธุ์ สาขาบริหารการคลัง, ดร.ทวารัฐ สูตะบุตร สาขาวิศกรรมศาสตร์/พลังงาน,ศาสตราจารย์ ดร.พิมพ์ใจ ใจเย็น สาขาวิทยาศาสตร์
นายมีชัย กล่าวกับผู้สื่อข่าวว่า นักเรียนทุนรัฐบาลทุกคนมีความผูกพันกับบ้านเมือง เพราะว่าบางคนอาจจะมีฐานะดีไปเรียนเองได้ หลายคนก็ไม่ได้มีฐานะดีพอที่จะไปเรียนได้ เพราะว่าใช้งบภาษีอากรของรัฐบาลไทย ทุกคนก็ต้องจะกลับมาเพื่อที่จะทดแทนบุญคุณแผ่นดิน ซึ่งจะไม่มีวันหมดไป ต้องทดแทนจนกว่าจะจากกันไป
ด้าน นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธาน สนช. กล่าวถึงการร่างรัฐธรรมนูญโดย กรธ. ในช่วง 1 เดือนครึ่งที่ผ่านมา ว่า ภาพรวม กรธ. ได้เสนอประเด็นใหม่ ๆ อาทิ ที่มาของนายกรัฐมนตรี ระบบการเลือกตั้ง เพื่อเป็นการทดสอบความเห็นของสังคม ซึ่งเห็นว่า กรธ. คำนึงถึงสังคมไทยตามที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ไม่อยากให้เกิดปัญหากับการเลือกตั้งในระบอบประชาธิปไตย และเน้นย้ำไม่ควรนำไปสู่การรัฐประหาร หรือการเรียกร้องนายกรัฐมนตรีตามมาตรา 7 ส่วนข้อเสนอของ คสช. 10 ข้อที่มีถึง กรธ. ก็เพื่อให้มีกลไกกำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ ไม่ให้เกิดรัฐประหาร และล่าสุด นายกรัฐมนตรีได้พูดย้ำในรายการ “คืนความสุขให้คนในชาติ” เมื่อวันที่ 20 พ.ย. ที่ผ่านมา ว่าไม่ควรให้มีการเปลี่ยนแปลงจนนำไปสู่สภาพปัญหาแบบเดิม ขณะที่ในส่วนของ สนช. ก็ต้องเสนอความเห็นเกี่ยวกับการร่างรัฐธรรมนูญไปยัง กรธ. เพื่อนำไปประกอบการร่างรัฐธรรมนูญ โดย สนช. ต้องศึกษาถึงความเข้าใจ แนวคิด และหลักการของ กรธ. ก่อน เพื่อให้ได้ข้อเสนอที่สอดคล้องกับเจตนารมณ์ของ กรธ. อีกทั้งสนช.จะต้องเข้าร่วมร่างกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญด้วย
สำหรับกรณีที่พรรคการเมืองเริ่มขู่ที่จะไม่ให้ร่างรัฐธรรมนูญผ่านในชั้นประชามตินั้น นายพรเพชร กล่าวว่า ตนมองว่า เป็นธรรมชาติของคนที่ฟังข้อเสนอใหม่ ๆ ครั้งแรก อาจไม่เห็นด้วย แต่เมื่อรับฟังและทำความเข้าใจแล้วต่อไป เขาก็อาจจะเห็นด้วย อย่างไรก็ตาม กรธ. ต้องทำความเข้าใจและรับฟัง ประเมินผลดี - ผลเสีย แต่จะทิ้งหลักการไม่ได้เช่นกัน