xs
xsm
sm
md
lg

ผู้ตรวจฯ ถก 30 องค์กร สร้างกลไกช่วยเหลือประชาชนร้องรับเปิดเออีซี

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

ศรีราชา วงศารยางกูร
ผู้ตรวจการแผ่นดิน ประชุม 30 หน่วยงานหารือสร้างกลไกช่วยเหลือประชาชน หลังเปิดเออีซี เบื้องต้นสรุปจัดตั้งองค์กรกลางเข้ามาดำเนินการเพื่ออำนวยความสะดวก เชื่อลดปัญหาการค้ามนุษย์ได้ระดับหนึ่ง “ศรีราชา” เผยเตรียมแบบฟอร์มคำร้อง 10 ภาษาอาเซียนไว้แล้วเพื่ออำนวยความสะดวกในการร้องเรียนต่างๆ ของประชาชนประเทศสมาชิกที่อยู่ในไทย

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ (18 พ.ย.) สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดินได้จัดประชุมระดมความคิดเห็นประกอบการดำเนินโครงการบูรณาการการตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ เพื่อให้ความเป็นธรรมและคุ้มครองประชาชนในประชาคมอาเซียน โดยมีหน่วยงานภาครัฐที่มีสำนักงานในต่างประเทศหรือเกี่ยวข้องกับงานต่างประเทศกว่า 30 หน่วยงานส่งผู้แทนเข้าร่วมหารือ

นายศรีราชา วงศารยางกูร ประธานผู้ตรวจการแผ่นดิน ได้กล่าวตอนหนึ่งระหว่างเป็นประธานเปิดการประชุมว่า เร็วๆ นี้ไทยและประเทศสมาชิกอีก 9 ประเทศจะก้าวเข้าสู่ประชาคมอาเซียนอย่างเต็มรูปแบบ การเปิดประชาคมส่งผลกระทบทั้งเชิงบวกเชิงลบต่อความสงบสุขและความมั่นคงของประชาชนภายในภูมิภาค โดยประเด็นสำคัญที่มองข้ามไม่ได้คือเรื่องการเคลื่อนย้ายแรงงานเสรีระหว่างประเทศในประชาคมอาเซียนด้วยกัน ทำให้อาจเกิดปัญหาในเรื่องการประกอบอาชีพ การดำรงชีวิต การไม่ได้รับความเป็นธรรมจากการปฏิบัติของเจ้าหน้าที่หรือหน่วยงานรัฐประเทศนั้นๆ รวมทั้งอาจเกิดปัญหาจากข้อบังคับในกฎหมายที่แตกต่างกันของแต่ละประเทศ

ประกอบกับที่ผ่านมานับแต่ปี 2544-58 สำนักงานผู้ตรวจฯ ได้รับเรื่องร้องเรียนเกี่ยวข้องกับชาวต่างชาติกว่า 100 เรื่อง ทั้งที่เป็นชาวต่างชาติร้องเรียนหน่วยงานไทย หรือคนไทยร้องเรียนชาวต่างชาติ คาดว่าเมื่อเปิดประชาคมอาเซียนเต็มรูปแบบการร้องเรียนต้องเพิ่มขึ้นอย่างแน่นอน จึงเห็นว่าจำเป็นที่หน่วยงานทั้งภาครัฐ เอกชน ประชาชนจำเป็นต้องเตรียมความพร้อมรองรับกับการเปลี่ยนแปลงหรือผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นจึงได้มีการจัดประชุมดังกล่าว

“ผลของการประชุมก็เพื่อมุ่งจัดตั้งองค์กรกลางขึ้นมาวางมาตรการช่วยเหลือประชาชนหลังเกิดประชาคมอาเซียนเต็มรูปแบบ เพื่อที่จะได้เอื้อประโยชน์และอำนวยความสะดวกระหว่างกัน รวมทั้งเป็นการสร้างความเชื่อมั่นให้กับประเทศสมาชิกว่าคนของประเทศเขาถ้าเข้ามาทำงานในบ้านเรา หรือคนของเราเข้าไปทำงานในบ้านเมืองเขาก็จะได้รับการดูแลที่ดี ซึ่งจากที่ได้มีการหารือกับแต่ละหน่วยงานก็ได้มีการเตรียมความพร้อมอยู่ แต่ในระดับนโยบายคงต้องมีการคุยกันว่าจะทำอย่างไรให้เกิดการประสานความร่วมมือระหว่างหน่วยงานได้”

นายศรีราชากล่าวว่า ขณะนี้ผู้ตรวจการแผ่นดินได้มีการจัดพิมพ์แบบฟอร์มคำร้องเป็นภาษาของประเทศสมาชิกอาเซียนครบ ทั้ง 10 ภาษาแล้ว และเบื้องต้นก็จะมีการแจกจ่ายผ่านไปทางสถานทูตเพื่ออำนวยความสะดวกให้กับชาวต่างชาติที่เรามาใช้ชีวิตในประเทศไทย

นายศรีราชายังให้สัมภาษณ์เพิ่มเติมโดยเชื่อว่า หากมีการตั้งองค์กรฯช่วยเหลือดูแลดังกล่าวน่าจะมีส่วนช่วยแก้ไขในเรื่องปัญหาการค้ามุนษย์ได้ในระดับหนึ่ง เพราะเกิดช่องที่จะร้องเรียนได้ทำให้ภาครัฐสามารถเข้าไปถึงต้นตอของปัญหาและสามารถแก้ไขปัญหาได้ แต่ก็มีข้อกังวลว่าเวลามีประเทศสมาชิกอาเซียนหลายประเทศ ยังไม่ได้มีการจัดตั้งองค์กรในลักษณะที่จะเข้ามาดูแลช่วยเหลืออย่างที่ไทยดำเนินการอยู่

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในการประชุมมีการแลกเปรียบปัญหาและอุปสรรคที่เกิดขึ้นจากการทำงานของหน่วยงานต่างๆ โดยท้ายที่สุดในที่ประชุมมีการสรุปว่า แต่ละหน่วยงานต้องไปคิดว่าจะมีการให้สิทธิคนต่างชาติในประเทศใดมากน้อยเพียงใด ในขอบเขตใด เท่าเทียมคนไทยหรือไม่ รวมทั้งเรื่องกฎหมายที่บางอย่างต้องมีการปรับปรุง และบังคับใช้ให้เท่าเทียมกันทั้งคนไทยและคนต่างชาติ

นอกจากนั้น ที่ประชุมยังเห็นว่าหน่วยงานต่างๆ ควรทำให้คนต่างชาติในประเทศ และคนไทยในต่างประเทศเข้าถึงง่ายขึ้น และสิ่งที่สำคัญที่สุดคือการให้ความเป็นธรรม ดำเนินการอย่างโปร่งใส เพื่อให้ทั้งคนไทยและคนต่างชาติได้รับความเป็นธรรม ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อประชาชนและประเทศชาติ อย่างไรก็ตามที่ประชุมเห็นว่าผลการประชุมวันนี้จะเป็นสิ่งที่ทำให้หน่วยงานต่างๆ ตระหนักถึงหน้าที่ของตนเองมากขึ้น และเตรียมพร้อมที่จะให้บริการคนไทยในต่างประเทศและคนต่างชาติในประเทศไทยหลังจากที่ประเทศไทยเข้าสู่เออีซีแล้ว


กำลังโหลดความคิดเห็น