“ศาลปกครองกลาง” ไม่รับฟ้อง สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ กสท ยื่นฟ้อง กสทช.ขอให้ถอนประมูลคลื่น 1800 เมกะเฮิรตซ์ ชี้กระทบต่อบริษัทไม่กระทบสหภาพ หากเสียหายสามารถใช้สิทธิฟ้องได้ แถมไม่มีอำนาจเช่นนายจ้าง
วันนี้ (18 พ.ย.) ที่สำนักงานศาลปกครอง ศาลปกครองกลางมีคำสั่งไม่รับคำฟ้องที่ สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) หรือ สร.กสท ยื่นฟ้อง สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ กับพวกรวม 3 ราย กรณีขอให้เพิกถอนประกาศกสทช.ที่นำคลื่น 1800 MHz (4 จี) ออกทำการประมูล
โดยเหตุที่ศาลไม่รับฟ้องระบุว่า เมื่อพิจารณาข้ออ้างในการฟ้องคดีที่ สร.กสท ระบุว่า บริษัท กสท ได้โต้แย้งเกี่ยวกับสิทธิการถือครอง หรือใช้คลื่นความถี่ย่านดังกล่าวเมื่อสิ้นสุดสัญญาให้ดำเนินการให้บริการวิทยุคมนาคมระบบเซลลูลาร์ดิจิตอล 1800 ระหว่างการสื่อสารแห่งประเทศไทยกับบริษัทผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือหลายบริษัท ซึ่งได้มีการฟ้องเป็นคดีต่อศาลเมื่อปี 56 และคดียังอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลปกครองอยู่ หากให้การประมูลคลื่น 1800 และต่อมาศาลให้บริษัท กสท ชนะคดี ก็จะทำให้เกิดความเสียหาย นอกจากทำให้บริษัท กสท ต้องไปฟ้องเรียกคลื่นความถี่ดังกล่าวคืนจากบริษัทที่ชนะประมูลแล้ว บริษัท กสท ยังต้องเสียโอกาสทางธุรกิจ จึงควรที่ศาลฯ จะเพิกถอนประกาศ กสทช.ที่นำคลื่น 1800 MHz ออกทำการประมูล
ศาลเห็นว่า การกระทำของผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสามถ้าจะมีผลกระทบก็กระทบต่อบริษัท กสท ซึ่งเป็นผู้ได้รับใบอนุญาตให้ประกอบกิจการโทรคมนาคมในกรณีนี้เท่านั้น ไม่ได้กระทบโดยตรงต่อ สร.กสท หากบริษัท กสท ได้รับความเดือดร้อนเสียหายจริง ก็สามารถใช้สิทธิฟ้งคดีต่อศาลได้ด้วยตนเอง อีกทั้งเมื่อพิจารณาถึงวัตถุประสงค์ของการจดทะเบียนจัดตั้ง สร.กสท ตามมาตรา 40 วรรคสอง และมาตรา 41 (1) พ.ร.บ.แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ 2543 ผู้ฟ้องไม่ได้มีอำนาจเช่นนายจ้างหรือฝ่ายบริหารของบริษัท กสท แต่อย่างใด แม้จะอ้างว่ามีอำนาจตามมาตรา 40 (4) พ.ร.บ.เดียวกัน ในการดำเนินการและให้ความร่วมมือเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพและรักษาผลประโยชน์ของรัฐวิสาหกิจ บริษัท กสท ทั้งภายในและภายนอกองค์กร แต่ก็เป็นเรื่องการแสวงหาและการคุ้มครองประโยชน์เกี่ยวกับสภาพการจ้างของลูกจ้าง ไม่ได้หมายความถึงการบริหารงานหรือการรักษาผลประโยชน์ที่ถูกกระทบจากการกระทำของ กสทช.และพวก ที่เป็นผู้ถูกฟ้องคดี การกระทำของ กสทช.และพวก จึงหาได้มีผลกระทบโดยตรงต่อ สร.กสท ที่เป็นผู้ฟ้องคดี
ดังนั้น สร.กสท จึงไม่ได้มีนิติสัมพันธ์เกี่ยวข้องโดยตรงกับ กสทช.และพวกที่เป็นผู้ถูกฟ้องคดีตามกฎหมาย หรือประกาศ กสทช.เรื่องหลักเกณฑ์และวิธีการอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่สำหรับกิจการโทรคมนาคมย่าน 1800 MHz ลงวันที่ 21 ส.ค. 58 แต่อย่างใด สร.กสท จึงไม่ใช่ผู้ที่ได้รับความเดือดร้อนเสียหายหรืออาจเสียหายโดยไม่อาจหลีกเลี่ยงได้จากการกระทำของ กสทช.และพวกที่จะมีสิทธิฟ้องคดีต่อศาลปกครองตามมาตรา 42 วรรคหนึ่ง ของ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง ศาลจึงไม่อาจรับคำร้องไว้พิจารณา และให้จำหน่ายคดีออกจากสารบบความ