xs
xsm
sm
md
lg

“บิ๊กตู่” ตั้งแม่น้ำ 5 สายขับเคลื่อนนโยบาย ฉะพวกให้ รบ.รับผิดชอบทุจริตอุทยานราชภักดิ์ วอน ปชช.อย่าถูกเป่าหูจนเป๋

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


“นายกฯ” เผยตั้งแม่น้ำ 5 สายเป็นกรรมการขับเคลื่อนเร่งรัดการดำเนินนโยบายรัฐบาลจากข้างขน ลงข้างล่าง ผ่านรองนายกฯ 6 คนใน 6 กลุ่ม แล้วแปลงนโยบายไปสู่การปฏิบัติให้ข้าราชการระดับล้าง เพื่อให้ทุกภาคส่วนรู้ความต้องการของข้างบน ส่วนการทุจริตโครงการอุทยานราชภักดิ์ต้องรอการสอบสวนใครผิดก็ว่ากันไป ซัดพวกเลอะเทอะจะให้รัฐบาลรับผิดชอบ ย้อนถามถ้าเช่นนั้นรัฐบาลที่ผ่านมาทำไมไม่รับผิดชอบสิ่งที่เกิดขึ้นจนประเทศชาติเสียหายบ้าง ยันยังไม่มี รมต.คนใดลาออก เบรกนักการเมืองอย่ามัวแต่สนใจที่มานายกฯ คิดเรื่องนโยบายที่จะให้ประชาชนจะดีกว่า เหน็บกล้าเสนอคนนอกพรรคตัวเองหรือไม่ พร้อมขอประชาชนอย่าให้นักการเมืองเป่าหูจนเป๋

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ให้สัมภาษณ์ภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันนี้ (17 พ.ย.) ว่า ได้จัดตั้งคณะกรรมการขับเคลื่อนจากข้างบน เขียนโครงสร้างใหม่ให้ชัดเจนขึ้น โดยหารือกันใน ครม.และมีความเห็นชอบร่วมกัน โดยตนต้องการให้ 5 หน่วยงานหลัก คือ ครม., คสช., กรธ., สปท., สนช. หรือแม่น้ำ 5 สายอยู่ข้างบน ทั้งหมดทำงานร่วมกัน ลงมาข้างล่างจะเป็นการแปลงนโยบายลงไปสู่การปฏิบัติ คือ รองนายกรัฐมนตรีที่กำกับดูแลกลุ่ม 6 กลุ่มงาน ใน 6 กลุ่มงานตรงนี้ก็จะมีหน่วยงานภายใน เอาเรื่องใส่เข้าไปแต่ละกลุ่ม ให้รองนายกฯแปลงนโยบายไปสู่การปฏิบัติ จากนั้นจะลงไปข้างล่าง โดยให้คณะกรรมการติดตามและตรวจสอบการใช้จ่ายภาครัฐ (คตร.) คอยตรวจสอบความโปร่งใสควบคู่ไปด้วย เป็นเครื่องมือของรัฐบาล และของรองนายกฯ นำไปขับเคลื่อนต่อ และจะมีของแต่ละกระทรวงด้วย

อีกอันหนึ่งคือ มีคณะกรรมการขับเคลื่อนและเร่งรัดการดำเนินงานตามนโยบายรัฐบาลที่นายสุวพันธุ์ ตันยุวรรธนะ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ก็ยังอยู่ เป็นตรงกลางคอยขับเคลื่อนแต่ละกระทรวงตามยุทธศาสตร์เร่งด่วนสำคัญ ทั้งนี้ ในทางปฏิบัติเมื่อเราตั้งรองนายกฯ ขับเคลื่อน 6 กลุ่มงานในการแก้ปัญหาต่างๆ จะมีความรับผิดชอบชัดเจนขึ้นทั้งหมด รองนายกรัฐมนตรีทุกคนจะต้องคุยกันก่อน และต่างคนต่างเสริมให้กัน และตนต้องรู้ทุกเรื่อง เพราะฉะนั้นทุกคนในระดับแปลงนโยบายไปสู่การปฏิบัติต้องรู้เหมือนที่ตนรู้ ถ้ารู้เหมือนกันจะได้ถ่ายทอดข้างล่าง ประชาชนจะได้เข้าใจว่าทำตรงนี้จะมีผลกับตรงนี้ด้วย ถ้าค้านตรงนี้ตรงนั้นก็ไม่เกิด ถ้าเกิด ต้องเกิดด้วยความร่วมมือของหน่วยไหนบ้าง กระทรวงก็ต้องรู้ ประชาชนก็ต้องรู้ อยู่คนเดียวอยู่กันหมู่บ้านเดียวไม่ได้ ต้องทำให้พื้นที่เจริญเท่าเทียมกัน เกื้อหนุนกัน

นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า จากนั้นพอลงไปข้างล่างตนก็จะเรียกว่าประชารัฐ จาก 6 กลุ่มงานจะโยงลงไปข้างล่าง ในลักษณะแนวดิ่งบนลงล่าง ลงไปที่ผู้ว่าราชการจังหวัด กระทรวงมหาดไทย เขาก็จะต้องบูรณาการพื้นที่ ฉะนั้นพื้นที่ข้างล่างจะมีคน 2 กลุ่ม ตนจึงสั่งการให้ตั้งศูนย์ว่าการอำเภอ ตนจะลงไปกวดขันนายอำเภอด้วย ศูนย์ว่าการอำเภอ คือผู้รับงานจากผู้ว่าราชการจังหวัดไปสู่การปฏิบัติ ไปส่วนตรงนี้ต้องประกอบด้วยภาคประชาสังคม กองทุนหมู่บ้าน กองทุนใหญ่ก็นำมาช่วย แต่รัฐบาลจะเข้าไปยุ่งมากไม่ได้ สิทธิมนุษยชนด้วย ตำรวจ ทหารในพื้นที่ด้วย ทั้งหมดคือกลุ่มปฏิบัติในพื้นที่

“ต่อไปนี้นายอำเภอต้องรู้ทุกเรื่อง จากที่คราวก่อนเคยกล่าวว่าผู้ว่าราชการจังหวัดต้องรู้ทุกเรื่อง แต่ทั้งหมดที่ลงไปทำงาน ถ้าเป็นข้าราชการต้องมีวิสัยทัศน์ ทำงานเชิงรุก มองภาพเชื่อมโยงให้ได้ ถ้าพูดและคิดแบบผมไม่ได้ มันก็ทำไม่ได้ มันก็ทำงานแต่ในกลุ่มงานตัวเองอยู่อย่างนั้น มันก็ติดกันไปหมด ทำอะไรไม่ได้ ต่อไปนี้ต้องรู้เหมือนกันหมด รู้ทุกงาน ผมสั่งแล้วรัฐมนตรีทุกคนต้องรู้ว่ารัฐบาลเดินหน้าเรื่องอะไรบ้าง และอะไรที่เกี่ยวข้อง อะไรที่ไม่เกี่ยวข้อง แต่เขาต้องสนับสนุนทั้งหมด แม้กระทั่งการทำสินค้าผมเคยบอกให้ไปดูสินค้าโอทอป มีทั้งหมด 8 หมื่นกว่ารายการ แต่มีประมาณ 5 พันกว่ารายการที่มีศักยภาพ ก็ต้องไปดูว่าจะให้มาตรฐานเขาอย่างไร ส่งเสริมอย่างไร ทุกคนต้องร่วมมือกับรัฐ ไม่ใช่ติดนั่นติดนี่ ห่วงภาษี จะไปไม่ได้ เข้าถึงกองทุนไม่ได้ก็จะโตไม่ได้ จะอยู่แบบนี้ ไม่สร้างมูลค่า ถ้าทุกคนได้เงินหมดก็จะยกระดับกันหมด จะกลับมาสู่การผลิตที่มากขึ้น ชาวไร่ชาวนาก็จะมีรายได้มากขึ้น มันต้องคิดแบบนี้”

พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า คสช.ก็จะลงมาช่วยข้างล่าง เป็นเครื่องมือของรองนายกรัฐมนตรีที่อยู่ในแต่ละกลุ่ม โดยตนเป็นประธานในทุกกลุ่มอยู่แล้ว ตนให้รองนายกฯ เป็นผู้ขับเคลื่อน มีปัญหาก็แก้ให้ ฉะนั้น คสช.ต้องจัดกลุ่มตาม และลงไปดูจังหวัดและอำเภอ เป็นการขับเคลื่อนในระยะต่อไป

พล.อ.ประยุทธ์ยังกล่าวถึงความคืบหน้าการดำเนินการเอาผิดต่อบุคลในโครงการอุทยานราชภักดิ์ ที่ขณะนี้ดูเหมือนจะโยงเกี่ยวข้องกับการเมืองว่า ขณะนี้เขากำลังสอบกันอยู่ สื่อก็อย่าให้กลายเป็นประเด็นการเมือง เรื่องนี้ก็เหมือนกับหน่วยงานทุกหน่วยงานที่ทำงานแล้วเกิดมีการทุจริตก็ไปสอบสวนกันมาทั้งทางวินัยและอาญาก็เหมือนกันทุกคน เรื่องนี้หน่วยงานที่รับผิดชอบก็รับไปปฏิบัติ เว้นแต่คนที่นำไปเป็นประเด็นการเมืองนั้นยอมรับกฎหมายหรือเปล่า

ส่วนยอดเงินที่มีการทุจริตมีจำนวนเท่าไหร่นั้น พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า ไม่ทราบ ตนไม่รู้ยอดเงิน จะไปรู้ได้อย่างไรเขาไม่ได้บริจาคให้ตน โครงการนี้เขามีการตั้งขึ้นมาแล้วมีการรับบริจาคก็เหมือนกับการรับบริจาคทั่วไปในทุกๆ โครงการ เพียงแต่โครงการนี้ใช้งบประมาณสูงพอสมควรเพราะมีการก่อสร้างพระรูปสมเด็จพระบูรพมหากษัตริยาธิราชองค์ใหญ่หลายองค์ แต่เดี๋ยวเขาก็ไปสอบมา แล้วถ้าสอบมาได้ว่าเงินเข้ามาจำนวนเท่านี้ ใช้ไปเท่านี้ มีความชัดเจนก็ว่าไป ตรงไหนที่รั่วไหล เช่นประเด็นของเซียนพระก็ไปสอบมา”

ผู้สื่อข่าวถามว่าประเด็นปัญหาที่เกิดขึ้นนายกรัฐมนตรีได้พูดคุยกับ พล.อ.อุดมเดช สีตบุตร รมช.กลาโหม อดีต ผบ.ทบ.บ้างหรือยัง พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า “ทำไมต้องคุย ผมก็คุยกับรัฐมนตรีกลาโหม ผมเป็นนายกรัฐมนตรีนะ ผมก็ต้องคุยกับรัฐมนตรีกลาโหมเพราะเป็นผู้ที่กำกับดูแลรับผิดชอบ เขาก็คุยกันแล้ว” เมื่อถามว่าผลสอบการทุจริตในโครงการดังกล่าวออกมาหรือยัง นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า เขายังไม่ออกมาเลย เขาบอกว่า 7 วัน สื่อก็ต้องรอฟังเขาว่าทำทันหรือเปล่าตนไม่รู้

“ที่ผมได้คุยกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมนั้น ทุกอย่างก็เป็นไปตามกระบวนการยุติธรรม จะเป็นไปอะไรอย่างอื่นได้ ในส่วนของ พล.อ.อุดมเดชนั้นเขาชี้แจงไปแล้ว ท่านก็บอกแล้วว่าท่านพร้อมที่จะรับการตรวจสอบ ไม่เห็นเป็นอะไร”

ผู้สื่อข่าวถามว่า แล้วรัฐบาลจะรับผิดชอบอย่างไรกับเรื่องที่เกิดขิ้น พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า “รับผิดชอบอะไร รัฐบาลต้องรับผิดชอบด้วยอะไร อย่างไร ทำไมรัฐบาลต้องรับผิดชอบ ถ้ามีการพูดโยงแบบนี้กับผม ผมก็จะโยงกลับไปที่เขาว่า แล้วรัฐบาลขณะนั้นทำไมไม่รับผิดชอบสิ่งที่เป็นปัญหาของประเทศชาติเป็นร้อยปัญหา มีการรับผิดชอบบ้างหรือเปล่า ประชาชนออกมาเรียกร้องต่างๆ นานานั้นมีการรับผิดชอบหรือไม่ ลาออกหรือไม่ คนจะตีกันทั้งประเทศลาออกหรือไม่ ฉะนั้นไอ้คนพวกนี้อย่ามาพูดกับผมแบบนี้ ผมก็เป็นอย่างนี้ สอบสวนดำเนินคดีใครผิดก็ว่าไปตามผิด ทำไมจะต้องมาอย่างนี้ ถ้าพูดถึงความรับผิดชอบ ผมรับผิดชอบกว่าไอ้พวกปากที่พูดออกมาแบบนี้เสียอีก”

ผู้สื่อข่าวถามว่าช่วงนี้จะมีรัฐมนตรีคนใดลาออกจากตำแหน่งบ้างหรือไม่ พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า “ไม่มี”

ผู้สื่อข่าวถามว่าในการประชุมเอเปกจะหารือในเรื่องประชาธิปไตยกับประเทศต่างๆ หรือไม่ พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า เรื่องความเป็นประชาธิปไตย เราก็สนับสนุนทุกประเทศอยู่แล้ว เรื่องการเป็นประชาธิปไตย ตนไม่เคยขัดแย้ง ไม่เคยรังเกลียดนักการเมืองที่ดีๆ เพราะตนได้โตมากับสิ่งเหล่านี้ ตนก็อยากถามว่าแล้วท่านจะร่วมมือกับตนได้แค่ไหนในการที่จะสร้างประชาธิปไตยให้เข้มแข็ง ถ้าเราพูดกันเรื่องเดิมๆ กับคนเดิมๆ มันก็จะได้แบบเดิมๆ ออกมา มันก็ไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง และก็จะกลับไปสู่วงจรเดิม ฉะนั้น วันนี้นอกจากท่านจะกดดันให้ตนทำนั่นทำนี่แล้ว ท่านก็ต้องไปกดดันคนที่จะมาสู่กระบวนการบริหารราชการแผ่นดินต่อไปด้วยว่าเขาจะทำอะไร

“ให้เขาพูดแบบที่ผมพูด ผมคิดว่านั่นคือสิ่งจำเป็นในนโยบายการหาเสียงมากกว่าที่จะเอาเรื่องใดเรื่องหนึ่งมาเป็นประเด็นเป็นพอยต์ แล้วต้องทำตามนั้น ผมว่ามันไม่ใช่ นโยบายมันต้องมีหลัก-รอง-เสริม ถามเขาสิจะทำอะไร แล้วปัญหา 1, 2, 3, 4, 5 ที่ผมเจอเป็นร้อยๆ ปัญหา เขาจะแก้อย่างไร ถามเขาดูสิ ถ้าไปพูดกันเรื่องที่มานายกฯ มันก็ได้แค่นี้ มันจะมายังไงก็ช่างมันเถอะ ให้เป็นคนดีแล้วกัน ถ้ามาได้จากการเป็น ส.ส.ก็ดีอยู่แล้ว แล้วใครเป็นคนเสนอ ก็พรรคการเมืองทั้งนั้น ผมไม่ได้ไปบ้าบอคอแตกกับตรงนี้อยู่แล้ว ไม่เกี่ยวข้อง ก็ไปว่ากันมา ฉะนั้นอย่าไปให้เขามาบิดเบือนจนท่านเป๋ไปเป๋มา ประชาชนสังคมก็เกิดความไม่แน่ใจขึ้นมาว่า เอ๊ะ ผมอยากจะอยู่ต่อหรือเปล่า มันไม่ใช่ คนละเรื่อง กฎหมายคือกฎหมาย รัฐธรรมนูญเขียนว่าอย่างไร ผมเป็นนักการเมืองหรือเปล่า เป็นพรรคการเมืองหรือไม่ หรือเขาจะมาเสนอผมได้ไหม ก็ไม่ใช่ เสนอผม ผมก็ไม่ไป แค่นั้นเอง เพราะผมไปไม่ได้ จะไปได้ด้วยอะไร เขาบอกพรรคการเมืองต้องเสนอไม่ใช่หรือ ใช่ไหม แล้วจะมีพรรคการเมืองไหนเสนอคนอื่นที่ไม่ใช่คนของตัวเอง มันก็ไม่มีอยู่แล้ว”










กำลังโหลดความคิดเห็น