xs
xsm
sm
md
lg

รัฐพอใจอย่างมากนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจ ทำอีสานตอนล่างใช้จ่ายเพิ่ม

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

พล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี (แฟ้มภาพ)
โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี โอ่นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจ ทำ ศก.กลุ่มอีสานตอนล่าง 2 ขยายตัว 2.5% ทุ่มงบ 5.1 พันล้าน ทำดัชนีการใช้จ่ายขยายเพิ่มเป็น 6.4% ส่วนเอกชนลงทุนขยายตัว 5.1% ชูกองทุนหมู่บ้าน-ตำบลละ 5 ล้าน ทำจ้างงาน-บริโภคเพิ่ม 5.6% บอกรัฐพอใจเป็นอย่างมาก เผยนายกฯ สั่งวางแผนลงพื้นที่เพิ่ม เน้นแก้ภัยแล้ง ฟื้นฟูและพัฒนาแหล่งน้ำ

วันนี้ (15 พ.ย.) พล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า จากการลงพื้นที่ จ.อุบลราชธานี ของนายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 12 พ.ย.ที่ผ่านมา ทำให้ทราบว่านโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลส่งผลให้เศรษฐกิจกลุ่มจังหวัดภาคอีสานตอนล่าง 2 ได้แก่ จ.อุบลราชธานี ยโสธร ศรีสะเกษ อำนาจเจริญ ขยายตัวเพิ่มขึ้น โดยปีนี้คาดว่าจะขยายตัวได้ร้อยละ 2.5 และในปี 2559 คาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 4.2 สำหรับนโยบายการใช้จ่ายภาครัฐ ได้แก่ การลงทุนขนาดเล็ก การส่งเสริมความเป็นอยู่ระดับตำบล และโครงการเงินช่วยเหลือเกษตรกรและคนยากจน มีงบประมาณรวมทั้งกลุ่มจังหวัด 5,195.17 ล้านบาท ส่งผลให้ดัชนีการใช้จ่ายภาครัฐของกลุ่มจังหวัด ปี 2558 ขยายตัวเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 6.4 และในปี 2559 คาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 17.2

พล.ต.สรรเสริญกล่าวว่า ส่วนมาตรการส่งเสริม SMEs มีผู้ยื่นคำขอกู้จากสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐและธนาคารพาณิชย์อื่นๆ ทั้งกลุ่มจังหวัด 677 ราย รวม 5,940.23 ล้านบาท เป็นผลให้ดัชนีการลงทุนภาคเอกชนกลุ่มจังหวัด ขยายตัวในปี 2558 เป็นร้อยละ 5.1 และคาดว่าปี 2559 จะขยายตัวร้อยละ 7.6 ขณะที่โครงการส่งเสริมความเป็นอยู่ระดับหมู่บ้าน หรือกองทุนหมู่บ้าน และโครงการตำบลละ 5 ล้าน ก่อให้เกิดการจ้างงานในพื้นที่และการบริโภคเพิ่มขึ้น โดยมีกองทุนหมู่บ้านระดับ A และ B ของกลุ่มจังหวัด 5,483 แห่ง มีเงินเข้าสู่ระบบ 5,483 ล้านบาท ส่งผลให้ดัชนีการบริโภคภาคเอกชนปี 2558 เพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 5.6 และคาดว่าในปี 2559 จะขยายตัวร้อยละ 7.8

“รัฐบาลพอใจผลการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของกลุ่มจังหวัดภาคอีสานตอนล่างเป็นอย่างมาก ท่านนายกฯ จึงได้สั่งการส่วนที่เกี่ยวข้องให้วางแผนลงพื้นที่ของนายกฯ เพื่อติดตามผลการปฏิบัติงาน ตรวจเยี่ยมและสอบทานนโยบายให้มากขึ้น โดยสิ่งที่ท่านให้ความสำคัญนอกเหนือจากเรื่องเศรษฐกิจคือการแก้ไขปัญหาภัยแล้ง จากการรายงานข้อมูลของทั้ง 4 จังหวัดพบว่า มีการจ้างงานเกษตรกรเพื่อชดเชยรายได้ และเตรียมส่งเสริมการปลูกข้าวเปียกสลับแห้งหรือที่เรียกว่าการแกล้งข้าว คือ การปล่อยน้ำเข้านาและหยุดให้น้ำสลับกันไปในช่วงเวลาที่เหมาะสม ซึ่งจะใช้น้ำน้อยกว่าการทำนาปกติ อย่างไรก็ตาม จะเน้นให้เกษตรกรปลูกพืชชนิดอื่นที่ใช้น้ำน้อยก่อน นอกจากนี้ยังมีการฟื้นฟูและพัฒนาแหล่งน้ำจนสามารถเพิ่มความจุการกักเก็บน้ำได้ 17.18 ล้าน ลบ.ม. ประชาชนได้รับประโยชน์ 57,265 ครัวเรือน” พล.ต.สรรเสริญกล่าว


กำลังโหลดความคิดเห็น