xs
xsm
sm
md
lg

เปลือยสูตรใหม่รัฐธรรมนูญ กรธ.วางหมากปูพรม คสช.สืบอำนาจผ่านการเลือกตั้ง!

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

มีชัย ฤชุพันธุ์
รายงานการเมือง

หนีพิมพ์เขียวไม่พ้น หนีคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ไม่ออก คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ที่มีซือแป๋กฎหมาย มีชัย ฤชุพันธุ์ เป็นประธาน ยิ่งยกร่างรัฐธรรมนูญนานวันเข้า ก็ยิ่งเห็นเค้าลางฉายหนังม้วนเดิม...

โยนหินถามทางสองตุ้บ สามตุ้บ แล้วก็ตีกรรเชียงม้วนหางเข้าไปสู่อีหรอบเดียวกับคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ (กมธ.ยกร่างฯ) ที่มี “จารย์ปื๊ด” บวรศักดิ์ อุวรรณโณ เป็นประธาน หลักใหญ่ใจความสำคัญเป็นไปในโทนเดียวกัน แค่นี้ก็มองออกแล้วว่า กรรมการร่างรัฐธรรมนูญ มีอิสระแค่ไหน มีอิสระเต็มที่ดังที่ผู้มีอำนาจสาธยายหรือเปล่า

คนนินทาหมาดูถูกว่า ที่แท้ก็บ้วนน้ำลายใส่ไมค์ สร้างวาทกรรมสวยหรู ให้ประชาชนมโนตาม ให้สำนักโพล รีบสำรวจความเห็นเชลียร์กันเข้าไป ใครเร็วกว่าถือว่าแน่

สำนักโพลต่าง ๆ ชั่วโมงนี้ ถ้าให้ดี นิ่ง ๆ เงียบ ๆ ไปจะเข้าท่ากว่า ถ้าสำรวจกันแบบนี้ไม่ต้องทายให้เสียเวลา ผลสำรวจออกมามันก็เอนเอียงเข้าข้าง คสช. หมด ยิ่งทำยิ่งหมดความน่าเชื่อถือ คนกำกับจัดทำ ควรไปลาบวช และอย่ามาทำอีก

ถึงบอกว่าบ้านเราทุกสิ่งทุกอย่างล้วนแล้วแต่เป็นไม้หลักปักขี้เลน ไม่ต้องไปถามกันอีกนะว่า ทำไมมาตรฐานเรื่องต่าง ๆ ถึงสู้ประเทศที่เขาเจริญแล้วไม่ได้ หาอะไรยึดเหนี่ยวเชื่อถือแบบหมดใจลำบากแท้

ยกร่างกันไปแล้วค่อยไปถามประชาชน วันทำประชามติทีเดียวดีกว่า ขยันทำโพลแบบนี้ออกมาบอกได้คำเดียว “สุดฝืด” ไม่รู้ว่าเป็นยุทธศาสตร์ตบตา กรอกหู ให้ชาวบ้านคล้อยตามหรือเปล่า เห็นเขากินแกลบกินหญ้ากันหรือไร พุดโธ่ !!

ก็เป็นเสียอย่างนี้ประเทศไทย ติดยึดความคิดมอมเมา เกลี้ยกล่อมให้คนหลงเชื่อคล้อยตาม เพื่อประโยชน์แห่งการปกครอง มิติเรื่องการพัฒนาการศึกษาประชาชน การก้าวทันเทคโนโลยี ไม่เคยคิดประเคนใส่ชาวบ้าน เดี๋ยวคิดเก่ง คิดได้ แล้วปกครองลำบาก

เรื่องรัฐธรรมนูญฮือฮาขึ้นมาก็ตอนประเด็น “ระบบจัดสรรปันส่วนผสม” ฟังชื่อแล้วดูเหมือนตั้งใจจะทำให้มันดูกลมกล่อม อร่อยล้ำ ทุกเสียงมีความหมาย หลักการดูดีแต่วิธีการแปลก ๆ ในที่สุดต้องขยับแล้วก็อย่างที่เกริ่นไว้ไปเอาของ “บวรศักดิ์” มาปัดฝุ่น ผสมผสาน ระบบสัดส่วนผสม มาใช้ในวิธีนับคะแนนเป็นสำคัญ ถือว่าผสมได้ลงตัวขึ้น แต่ที่โหวกเหวกโวยวาย เป็นไส้เดือนโดนขี้เถ้า ก็พรรคเพื่อไทย เพราะข้องใจกับวิธีการกำหนด “เพดาน ส.ส.” คือ ห้ามพรรคหนึ่งพรรคใดมีเสียงมากจนเกินไป พูดตรง ๆ แปรเจตนาชัด ๆ ของ คสช. และ กรธ. คือ ไม่ต้องการรัฐบาลพรรคเดียว เหมือนไทยรักไทย ในอดีต

และจะว่าไปชั่วโมงนี้พรรคเดียวที่สามารถทำได้ ก็คือ พรรคเพื่อไทยนั่นเอง ดังนั้น จึงเป็นการสอยเข้ากระโดงคางเต็ม ๆ เลยเดือดแค้นเป็นธรรมดา ได้คะแนนเสียงอันดับ 1 ดีไม่ดีอาจได้ไปนั่งเล่นในตำแหน่งฝ่ายค้าน กระนั้นก็ตาม แกนนำพรรคเพื่อไทยก็ประเมินไว้แล้วเหมือนกันว่า เกมของฝั่งตรงข้ามก็ไม่ง่ายนัก ไม่ราบรื่นเช่นกัน หากพรรคเพื่อไทยได้เสียงเกือบครึ่ง แล้วทุกพรรคที่เหลือรวมกันหมดเป็นรัฐบาล เสถียรภาพก็คงง่อนแง่น อภิปรายเรื่องสำคัญ ๆ ที่ต้องใช้เสียงชี้วัด มีหวังท้องผูกกันทั้งสภา โรคนิ่วถามหาแน่นอน เพราะฝ่ายรัฐบาลเสียงปริ่ม ๆ จะลุกไปขี้ ไปเยี่ยว แทบไม่ได้ เดี๋ยวเจอเล่นเกมการเมือง สภาล่ม จบกันทั้งรัฐบาล

เป็นการบ้านให้ กรธ. ต้องไปเขียนปิดช่องให้รัดกุม ปัญหาเสียงปริ่ม ๆ แบบนี้ ทราบแล้วเปลี่ยน!!!

ความวัวไม่ทันหายความควายก็เข้ามาแทรก ประเด็นที่มานายกฯ เกี่ยวพันกับระบบเลือกตั้งที่ กรธ.ออกแบบมา ไม่วายเจอค่อนขอด ตอดเป็นระยะ พรรคการเมืองรุมถอนหงอก ด่ากันชนิดคนถ่อยเรียกพี่ จวกยับสับแหลกเขียนรัฐธรรมนูญกันวิปริตพิสดาร วิตถาร กันไปนั่น ร้อนถึงซือแป๋มีชัย ต้องออกมาเคลียร์ ทุกประเด็นด้วยตัวเอง ก่อนย้อนถามนิ่ม ๆ มันวิตถารตรงไหน ผมไปแก้ผ้าให้คุณดู หรืออย่างไร

สิ่งที่อาจารย์มีชัย ชี้แจงในเบื้องต้นรับฟังได้ดีทีเดียว โดยเฉพาะเรื่องนายกฯ คนนอก ซือแป๋มีชัย ระบุว่า เรื่องตัวนายกฯ คนกำหนดคือพรรคการเมือง คือเสนอรายชื่อว่าที่นายกฯมาพรรคการเมืองละ 5 ชื่อ จะมีคนนอกหรือไม่ ก็อยู่ในขั้นตอนนี้ จะมีคนนอกหรือไม่ก็ขึ้นอยู่กับคุณเอง ดังนั้นคงไม่มีชื่อที่ว่า อยู่ดี ๆ ลอยมาจากไหนไม่รู้ และแนวคิดเปิดชื่อว่าที่นายกฯ ให้ประชาชนทราบล่วงหน้า ซือแป๋มีชัย ยืนยันว่าดีกว่าเดิมที่จะไปหยิบ ส.ส.บัญชีรายชื่อคนไหนก็ได้มาเป็น พูดอีกก็ถูกอีกเช่นกัน ของเดิมปาร์ตี้ลิสต์เป็น 100 อันนี้เหลือเพียง 5 คน

แต่ที่มันแปลก ๆ และดูเหมือนจะเป็นปมเงื่อนให้ตกเป็นขี้ปากต่อไป ก็คือ การออกมาเปรย ๆ ว่า พรรคการเมืองแต่ละพรรคเสนอชื่อมา 5 ชื่อ ถ้าซ้ำกันก็ต้องพิจารณาอีกที นั่นหมายความว่า แต่ละพรรคจะเสนอใครก็ได้ และอาจจะซ้ำกันก็ได้ เรื่องนี้พรรคใหญ่ไม่น่ามีปัญหา เพราะระบบพรรคเซ็ตไว้ดี 5 ชื่อว่าที่นายกฯ ก็ต้องเป็นคนในพรรค หรืออดีตแกนนำพรรค ชื่อชั้นระดับเทพ

แต่พรรคเล็กพรรคน้อยนี่สิ จะเป็นชนวน เพราะบุคลากรไม่มี แค่ลำพังจะส่งผู้สมัครยังไม่รู้หาจากไหน ยิ่งตัวว่าที่นายกฯ ไม่ต้องพูดถึง ดังนั้น ต้องไปหยิบยืมชื่อคนเด่นดังระดับประเทศ มาเชิดชูเรียกคะแนนแน่นอน ไม่แน่ว่าเราอาจจะเห็นชื่อ อานันท์ ปันยารชุน ซ้ำกันหลายสิบพรรค และน่าจะมีชื่อ มีชัย ฤชุพันธุ์ หรือกระทั่ง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ มาแน่นอน

และแน่นอนว่า เมื่อ คสช. หมดอำนาจลง ต้องมีทีมงานแนวร่วมแปรสภาพเป็นพรรคการเมืองชัวร์ ๆ แม้จะกระมิดกระเมี้ยนกันอยู่ แต่ถึงเวลาจริง รับประกันซ่อมฟรีมีแน่ ๆ และเรื่องนี้ผู้มากบารมีไม่ต้องเปลืองตัว รอเอาชื่อไปใส่เป็นว่าที่นายกฯ แสร้งทำไม่รู้เรื่อง เมื่อเอาชื่อไปใส่ ก็อุทานตกใจแป๊บนึงเป็นพิธี จากนั้นก็เลยตามเลย แต่หลังฉาก เดินเกมเต็มตัว !!!

พรรคการเมืองใหม่โดยการควบคุมของ คสช. คงไม่ใช่พรรคกระจอก ๆ ที่ตั้งมาเอางบ กกต. ไปใช้เล่น อย่างน้อย ๆ มาตรฐานก็จะเป็นพรรคระดับกลางค่อนไปทางใหญ่ เฉกเช่นเดียวกับที่พรรคภูมิใจไทย เคยทำไว้

เมื่อเงื่อนไขประจวบเหมาะ มีการกำหนดเพดาน ส.ส. ไม่ให้พรรคการเมืองหนึ่งได้มากเกินไป นั่นหมายความว่า จะไม่มีพรรคใดได้เสียงเกินครึ่ง ซึ่งจุดนี้ต้องรอวัดใจ กรธ. ว่า จะกล้า ๆ เขียนเงื่อนไขแบบนี้ลงในรัฐธรรมนูญหรือเปล่า ถ้าใช่ก็เข้าสูตรตีรวมพรรคการเมืองจัดตั้งรัฐบาล ลอยแพพรรคเพื่อไทย เป็นฝ่ายค้านพรรคเดียว

สูตรนี้ไม่น่าจะเจรจากับพรรรคการเมืองต่าง ๆ ยากเท่าไหร่ พรรคประชาธิปัตย์ ก็น่าจะต้องยอมด้วย แน่นอนต้องเล่นบทอิดออด ไว้เชิงกันนานอยู่ แต่ดีกว่าไปนั่งตบยุงเป็นฝ่ายค้านอย่างเก่า เป็นกันจนเซ็งไปทั้งพรรคแล้ว เป็นรัฐบาลในฐานะพรรคร่วม แม้จะรวม ๆ กันตั้งรัฐบาลแล้ว ปรากฏว่า ประชาธิปัตย์ได้เสียงอันดับ 1 ก็ตามที สุดท้ายก็ต้องเล่นบทสมยอม จำแลงสภาพตัวเองเป็นเหมือนกับพรรคภูมิใจไทย เมื่อครั้งที่ตัวเองเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล ได้ตำแหน่งใหญ่โต เบ้อเริ่มเทิ่มมากมาย แต่เก้าอี้นายกฯ ต้องยกให้เขา

นี่คือสูตรการเมืองที่ขอทายไว้ล่วงหน้า ต้องจับตาการออกแบบกติกาของ กรธ. ถ้ามันเข้าล็อกตามนี้ โอกาสเป็นไปได้ก็สูงลิ่ว แต่กระนั้นสมการการเมืองแบบนี้มันคิดได้ง่าย ดูแล้วน่าจะไปได้สวย แต่สถานการณ์จริงปัจจัยแวดล้อมจะต่างกันมาก ไหนจะแรงเสียดทานของทั้งฝ่ายการเมืองเอง ฝ่ายประชาชน และสนามเลือกตั้งจริง ก็ไม่หมูอย่างที่คิด

คนไม่เคย ย่อมไม่รู้ เชื่อเหลือเกินว่า คสช. และ กรธ. คงต้องออกแบบวางแผนกันอีกหลายชั้น ป้องกันปัจจัยแทรกซ้อน คลาดเคลื่อน ซึ่งนั่นก็จำเป็นต้องมีคณะกรรมการพิเศษที่ทรงพลังอำนาจ ลักษณะเดียวกับ คณะกรรมการยุทธศาสตร์การปฏิรูปและการปรองดองแห่งชาติ ที่ถูกวิจารณ์กันขรมเมือง ว่าเป็นการสืบทอดอำนาจกันโจ๋งครึ่ม ผ่านรัฐธรรมนูญ

แต่มันก็ไม่มีทางเลือกอื่นใด ที่จะทำให้ทุกอย่างเป็นไปตามแผน ต้องมีคณะกรรมการแบบนี้ที่ คสช. เอ่ยอ้างซ้ำแล้วซ้ำเล่า จนแว่วอยู่ในหูว่า จำเป็นต้องมีไว้ เพื่อแก้วิกฤต มีไว้เพื่อผ่าทางตัน แต่ต้องถามว่าทางใครกันแน่นะที่มันจะตัน !!!
กำลังโหลดความคิดเห็น