“มีชัย” ร่ายยาวแจงให้พรรคเสนอชื่อนายกฯ ก่อนเลือกตั้ง ไม่ได้เปิดช่องคนนอก แต่ต้องการให้ประชาชนรู้ล่วงหน้ากันไอ้โม่งโผล่ภายหลัง แนะหากพรรคไม่ต้องการก็ให้ไปกำหนดในข้อบังคับพรรค ไม่เสนอชื่อคนนอกเป็นนายกฯ แย้มทำโพลสำรวจหากส่วนใหญ่หนุนกาบัตรใบเดียว เสนอชื่อนายกฯ ก่อนเลือกตั้ง พร้อมบัญญัติในร่าง รธน.ทันที ไม่สนพรรคการเมืองต้าน ขณะเดียวกันเตรียมวางระบบใหม่ ได้ ส.ส.เขตเกิน 250 ที่นั่ง ส่อหมดสิทธิ์ได้ปาร์ตี้ลิสต์ ยันไม่เคยรับใบสั่ง คสช. ส่วนแนวโน้มมี คปป.ตามที่ “บิ๊กตู่” ส่งซิกหรือไม่ ยังไม่คิด คาดจะสร้างกลไกที่แตกต่างจากเดิม
นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) กล่าวถึงความเห็นของพรรคการเมืองเกี่ยวกับการเสนอบัญชีรายชื่อนายกรัฐมนตรีก่อนการเลือกตั้งว่า อาจเป็นความเข้าใจผิดว่ากรรมการหาช่องทางให้คนนอกมาเป็นนายกรัฐมนตรี ต้องถือว่าเป็นการผิดไปจากข้อเท็จจริงอย่างรุนแรง เพราะ กรธ.คิดแนวทางใหม่ๆ เพื่อนำเสนอนั้นก็สืบเนื่องจากภารกิจที่ได้รับจากการร่างรัฐธรรมนูญ เพราะไม่อาจปฏิเสธได้ว่าในอดีตที่ผ่านมาเวลาเลือกตั้งเสร็จตั้งรัฐบาลแล้วจะเกิดข้อกังขาในหมู่ประชาชน 4 อย่าง คือ 1. ไม่มั่นใจว่าการเลือกตั้งที่ผ่านมาได้เป็น ส.ส. เพราะประชาชนนิยมชมชอบ หรือเพราะอามิสสินจ้าง 2. ประชาชนรู้ข้อมูลเกี่ยวกับแต่ละพรรค ทิศทางและแนวคิดของพรรคเพียงพอหรือไม่ 3. เกิดข้อกังขาว่าเสียงของประชาชนสิ้นความศักดิ์สิทธิ์หลังหย่อนบัตรลงหีบหรือไม่ และ 4. เมื่อสงสัยว่าเกิดอามิสสินจ้างก็สงสัยว่าจะเอาทุนคืนหากำไรเพิ่ม ให้ประโยชน์แก่ประชาชนเพื่อหวังผลในการกอบโกยในภายหลัง หรือเป็นประโยชน์กับประชาชนอย่างแท้จริงหรือไม่ เมื่อเกิดข้อกังขาเช่นนี้ก็ทำให้รัฐบาลขาดเสถียรภาพนำไปสู่การประท้วงต่อต้านจนบ้านเมืองขาดความสุขสงบ
นายมีชัยกล่าวว่า ภารกิจของ กรธ.ให้หาหนทางแก้ไข ปฏิรูป กำหนดกลไกแก้ปัญหาให้เป็นรูปธรรม จึงต้องคิดหาสิ่งใหม่ๆ เพื่อรองรับ ซึ่งจะใช้กฎเกณฑ์เดิมไม่ได้ เพราะต้นเหตุมาจากกฎเกณฑ์เหล่านั้น จึงไม่สามารถนำรัฐธรรมนูญปีหนึ่งปีใดมาใช้ได้ เพราะทำให้เกิดปัญหา สำหรับเรื่องที่มาของนายกรัฐมนตรีนั้น กรธ.มีเจตนาเพียงให้พรรคการเมืองประกาศให้ประชาชนทราบล่วงหน้าว่าเอาใครเป็นนายกรัฐมนตรี เราไม่ได้กำหนดตายตัวว่าจะต้องเอาคนนั้นคนนี้จากที่นั่นที่นี่ เพราะพรรคการเมืองเป็นกลไกหนึ่งในระบอบประชาธิปไตย ต้องกำหนดกฎเกณฑ์ของตัวเอง จะเลือกใครมาก็เป็นเรื่องที่พรรคการเมือง จะคำนึงถึงความเหมาะสมที่ประชาชนจะชื่นชอบ แต่ที่พูดว่า กรธ.จะเอาคนนอกเป็นนายกรัฐมนตรีเป็นความเข้าใจผิด เพราะคนเลือกคือพรรคการเมืองแต่ละพรรคที่จะต้องมีมติเพื่อกำหนดตัวบุคคลประกาศให้ประชาชนทราบถือเป็นด่านที่หนึ่ง ส่วนด่านที่สองประชาชนทราบว่าพรรคการเมืองตั้งใจเอาใครเป็นนายกฯประชาชนรับได้หรือไม่ เป็นการประกาศโดยทั่วกันอย่างตรงไปตรงมา แม้เมื่อพรรคการเมืองได้รับเลือกตั้งกลับมาแล้ว เวลาตั้งนายกฯ สภาก็เป็นผู้เลือก ดังนั้น กว่าจะเป็นนายกรัฐมนตรีต้องผ่านถึงสามด่าน คือ ด่านที่ 1 พรรคการเมือง ด่านที่ 2 ประชาชนได้เห็น และด่านที่ 3 สภาฯ เป็นผู้เลือกอีกทีหนึ่ง รัฐธรรมนูญไม่ได้กำหนดให้ต้องเลือกใครคนใดคนหนึ่ง
ส่วนที่มีการระบุว่า ทำไมไม่ระบุว่าไม่ให้มีการเสนอชื่อคนนอกนั้น นายมีชัยกล่าวว่า ถ้าต้องการอย่างนั้นก็กำหนดได้แต่พรรคการเมืองจะลำบากเพราะเท่ากับให้กรรมการไปก้าวก่ายพรรคการเมือง กำหนดละเอียดยิบ ไม่คิดสงวนเรื่องเหล่านี้ไว้คิดเองหรือ ในระบบการเลือกตั้งแบบใหม่ที่จะใช้คะแนนนิยมของประชาชนทั้งประเทศมาวัด ส.ส.ทั้งสองประเภท โอกาสที่พรรคการเมืองใหญ่ๆ จะไม่ได้มี ส.ส.บัญชีรายชื่อเลยก็มีอยู่ เช่น พรรคการเมืองได้รับคะแนนเสียงทั้งประเทศรวมกัน 49% แต่ผลการเลือกตั้งได้ ส.ส.เขตมา 51% จาก 500 คือเกินกว่า 250 พรรคนั้นจะไม่ได้รับ ส.ส.รายชื่อเพราะได้ ส.ส.เขตเกินจำนวนป๊อปปูล่าโหวตคือคะแนนทั้งประเทศอยู่แล้ว ดังนั้น บัญชีรายชื่อที่กำหนดไว้จะไม่ได้เป็น ส.ส.เลย ถ้าพรรคแน่ใจในสิ่งเหล่านี้ก็ไม่มีอะไรห้ามที่พรรคจะกำหนดในข้อบังคับของพรรคว่าการเสนอรายชื่อนายกฯ ต้องเสนอเฉพาะ ส.ส.ของพรรคเท่านั้น
“แต่ต้องเข้าใจว่าวันที่เสนอชื่อยังไม่มีใครเป็น ส.ส. เพราะเสนอก่อนเลือกตั้ง หรือจะเสนอรายชื่อนายกฯ เฉพาะคนที่เป็นสมาชิกพรรคก็ไม่มีใครห้าม พรรคการเมืองบอกว่าถ้าอย่างนั้นพรรคเล็กๆ นอมินีอาจจะแอบเอารายชื่อใครก็ไม่รู้มาใส่ไว้ในห้าชื่อ พรรคการเมืองใหญ่ต้องถูกบังคับให้เอารายชื่อเหล่านั้นมาเป็นนายกรัฐมนตรีหรือไม่ เราจึงคิดกำหนดขั้นต่ำไว้ว่า พรรคที่จะเอารายชื่อมาเป็นนายกรัฐมนตรีได้ต้องมี ส.ส.ไม่น้อยกว่าร้อยละ 5 คือ 25 คนจาก 500 คน เป็นการป้องกันอีกชั้นหนึ่ง หรือพรรคการเมืองอาจเขียนข้อบังคับไว้ว่าจะไม่ร่วมกับพรรคการเมืองที่เสนอบุคคลภายนอกเป็นนายกรัฐมนตรี แต่การเสนอชื่อนายกรัฐมนตรีเป็นประโยชน์ต่อประชาชน แม้พรรคการเมืองอาจกลัวไอ้โม่งประชาชนก็อาจกลัวไอ้โม่งคนละคน ประกาศเสียแต่ต้นจะได้รู้ว่าใครจะมาแล้วจะได้ตัดสินใจได้ถูก ในวาระขณะนี้กำลังปฏิรูปประเทศให้พ้นจากปัญหาที่มีอยู่ กรรมการพยายามคิดว่าจะทำอย่างไรจะหากลไกมาตรการให้พ้นจากสิ่งเดิมๆ ที่เคยเกิดในประเทศ”
นายมีชัยกล่าวว่า พรรคการเมืองในฐานะที่ต้องบริหารประเทศในวันข้างหน้ามีบทบาทสำคัญทำกติกาของบ้านเมือง ขอความกรุณาคิดให้รอบคอบและมองประโยชน์ประชาชนประเทศเป็นหลัก ถ้าเห็นว่ามีช่องโหว่ก็บอกมากรรมการพร้อมจะรับฟัง ไม่ใช่ค้านเฉยๆ ไม่บอกว่าดีกว่านี้จะทำอย่างไร หรือไม่บอกเหตุผลที่ชัดเจนก็ไม่ทราบจะปรับอย่างไร เพื่อให้พอรับกันได้ที่สุดสำหรับประเทศไทย
“ขอความกรุณาช่วยกัน อย่าค้านหรือโจมตีด่าว่าแต่เพียงอย่างเดียว ไม่ก่อให้เกิดประโยชน์ต่อการปฏิรูปประเทศเลย มีคนหนุ่มไฟแรงมีเหตุผลท่านหนึ่งติติงทำไมไม่คิดให้สะเด็ดน้ำแล้วค่อยแถลง คือ คุณสุริยะใส กตะศิลา ก็ให้ทราบว่าเกิดจากที่ท่านเคยพูดว่าปิดประตูคุยกันไม่ให้ใครรู้ ครั้นพอผู้สื่อข่าวมาฟังก็อยู่ในระหว่างถกเถียงการรายงานจึงยังไม่ตกผลึกเพราะยังคิดไม่จบ ดังนั้นเหตุที่ยังไม่สะเด็ดน้ำก็เพราะอยากให้คนรู้พร้อมๆ กับที่กรรมการทำจนถึงจุดที่สะเด็ดน้ำ แสดงให้เห็นว่า กรธ.รับฟังความเห็นคนอื่น”
นายมีชัยกล่าวว่า ยืนยันว่า กรธ.ไม่ได้ทำงานภายใต้การครอบงำของ คสช. เพียงแต่ปฏิบัติตามกรอบกว้างๆ ที่ คสช.ระบุมาให้เท่านั้นแต่ไม่เคยเข้ามากำหนดให้ต้องดำเนินการอย่างไร มีแต่สื่อมวลชนที่ตั้งคำถามแลกเปลี่ยนความเห็นแล้วคณะกรรมการเห็นว่ามีเหตุผลก็มีการปรับเปลี่ยน ในส่วนของ คสช. ก็เพียงแต่รับทราบจากรายงานการประชุมเท่านั้น
“ถ้าถามว่ามีใครข่มขู่ กรธ.ไหมก็มีแต่ที่ประกาศว่าจะรณรงค์ให้ประชาชนคว่ำรัฐธรรมนูญเพื่อไม่ให้ผ่านประชามติ โดย กรธ.ไม่ได้คิดว่าถ้าไม่ผ่านประชามติจริงๆ แล้วจะมีทางออกอย่างไรเพราะเป็นเรื่องที่ คสช.ต้องไปคิด”
ส่วนที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้า คสช.พูดหลายครั้งว่าแม่น้ำห้าสายต้องเดินไปด้วยกันและ คสช.เป็นผู้กำหนดกรอบในการร่างรัฐธรรมนูญนั้น นายมีชัยกล่าวว่า เป็นเพียงการกำหนดกรอบไม่ใช่การลงในรายละเอียดว่าต้องการอย่างไร ตนยืนยันได้ว่ารัฐบาลหรือ คสช.ไม่เคยพูดให้ต้องทำอย่างนั้นอย่างนี้ มีแต่ข้อเสนอที่บอกให้เป็นประชาธิปไตยมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข ปฏิรูป ป้องกันการทุจริตและเขียนให้สั้นอย่ายาวนักเท่านั้น
อย่างไรก็ตามที่ พล.อ.ประยุทธ์ยืนยันว่าต้องมี คปป.เป็นกลไกเปลี่ยนผ่านนั้นตนยังไม่ได้คิด เป็นความเห็นของ พล.อ.ประยุทธ์ ตนยังไม่ได้คิดว่าจะทำตามหรือไม่ เพราะยังไม่ถึงเวลาที่จะพิจารณาเรื่องดังกล่าว พร้อมกับปฏิเสธที่จะพูดถึงหลักคิดเกี่ยวกับเรื่องที่ว่าในรัฐธรรมนูญควรมีการกำหนดให้เกิดรัฐซ้อนรัฐหรือไม่ แต่เชื่อว่าจะคิดกลไกที่ไม่เหมือน คปป.ได้ จึงไม่อยากให้สื่อมวลชนกังวลในเรื่องนี้
ส่วนที่กติกากำหนดให้พรรคการเมืองเล็กที่ได้ ส.ส.เกินร้อยละ 5 คือ 25 คนขึ้นไปสามารถนำรายชื่อที่เสนอเป็นนายกรัฐมนตรีให้เป็นนายกรัฐมนตรีได้ ไม่จำเป็นต้องมาจากพรรคใหญ่นั้น นายมีชัยกล่าวว่า แม้ไม่กำหนดเรื่องดังกล่าวที่ผ่านมาพรรคเล็กก็เคยเป็นนายกรัฐมนตรีมาแล้ว เช่นปี 2518 ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช มี 18 เสียงก็ยังได้เป็นนายกรัฐมนตรี จึงขึ้นอยู่กับการตกลงกันระหว่างพรรคการเมืองที่ร่วมกันจัดตั้งรัฐบาล แต่การกำหนดให้ชัดเจนเช่นนี้จะทำให้ประชาชนทราบก่อนว่ามีใครบ้างที่ได้รับการเสนอชื่อเป็นนายกรัฐมนตรี เป็นการกำจัดช่องไม่ใช่เปิดช่องว่าพรรคที่จะเป็นนายกรัฐมนตรีต้องมีจำนวน ส.ส.ขั้นต่ำเท่าไหร่
นายมีชัยกล่าวด้วยว่า กำลังจะทำการสำรวจความคิดเห็นประชาชนซึ่งจะนำมาใช้ประกอบการตัดสินใจในการร่างรัฐธรรมนูญด้วย โดยในขณะนี้ติดตามผลสำรวจของดุสิตโพล และนิด้าโพล อยู่ก็พบว่าประชาชนเห็นด้วยกับการกาบัตรเดียว และไม่ได้คัดค้านเรื่องนายกฯ คนนอก ทั้งนี้ กรธ.ต้องการทราบว่าประชาชนมองอย่างไรโดยไม่คิดที่จะบิดเบือนเพราะไม่ได้มีส่วนได้เสียจนอยากบันดาลให้เป็นอย่างนั้นอย่างนี้ และ กรธ.ก็ไม่ได้เป็นผู้ให้ดุสิตโพลสำรวจความเห็นในเรื่องนี้ด้วย
ประธาน กรธ.กล่าวถึงปัญหาที่มีความเป็นห่วงว่าการเสนอบัญชีรายชื่อนายกรัฐมนตรี จะเปิดช่องให้นายทุนซื้อพรรคการเมืองเพื่อเข้ามาบริหารประเทศง่ายขึ้นว่า ระบบนี้ไม่ได้เปิดช่องอะไรมากกว่าที่เป็นอยู่ แต่อย่างน้อยประชาชนจะทราบล่วงหน้าว่าใครจะเป็นนายกรัฐมนตรี ดังนั้น ระบบที่ กรธ.คิดจึงไม่ถือว่าผิดธรรมชาติที่กำหนดว่าถ้าพรรคการเมืองได้คะแนน ส.ส.เขตเกินคะแนนป็อปปูลาร์โหวตแล้วจะไม่ได้ ส.ส.บัญชีรายชื่อนั้น ไม่จริง เพราะต่างประเทศก็ทำแบบนี้ ซึ่งระบบเยอรมนีก็คิดเช่นนี้ แต่เราไม่ได้ลอกเลียนแบบใคร เพราะต้องการแก้ปัญหาของประเทศซึ่งแตกต่างจากประเทศอื่น อีกทั้งคุณสมบัติของผู้ได้รับการเสนอชื่อเป็นนายกรัฐมนตรีจะต้องใช้มาตรฐานเดียวกับผู้สมัคร ส.ส.หรืออาจจะมีมากกว่านั้นก็ได้
ส่วนเป้าหมายของ กรธ.คือต้องการเปลี่ยนแปลงผลลัพธ์การเลือกตั้งจากคะแนนของแต่ละพรรคการเมืองใช่หรือไม่นั้น นายมีชัยกล่าวว่า ไม่ใช่ เป็นความเข้าใจของสื่อมวลชนเอง กรธ.แค่ไม่ให้คะแนนประชาชนไม่ตกหล่น ให้ประชาชนทราบตื้นลึกหนาบางของทิศทางแต่ละพรรค และให้ประชาชนคิดทุกอย่างให้ละเอียด ส่วนพรรคการเมืองจะได้คะแนนเท่าไหร่ กรรมการไม่สามารถควบคุมได้อยู่แล้ว