อดีตโฆษก กมธ.ยกร่างฯ ขนานนามเลือกตั้งแบบใหม่ 1 กา 3 ได้ กาที่เดียวได้ 3 ตำแหน่ง ส.ส.เขต บัญชีรายชื่อ และนายกฯ เหตุมีแนวโน้ม กรธ.ให้พรรคเสนอ 5 ชื่อแคนดิเดตนั่งนายกฯ แถมแต่ละพรรคซ้ำกันได้ ไม่ต้องเป็น ส.ส.ก็ได้ คล้ายเลือกตั้งทางอ้อม ยังไม่เห็นข้อด้อย
วันนี้ (12 พ.ย.) นายคำนูณ สิทธิสมาน สมาชิกสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) และ อดีตโฆษก กมธ.ยกร่างฯ กล่าวว่า ขณะนี้ดูเหมือนว่าร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่มีแนวโน้มจะเลือกระบบเลือกตั้งแบบจัดสรรปันส่วนผสมว่าอยากจะขนานนามว่า “1 กา 3 ได้ ประกอบด้วย “1 บัตร 3 ได้” หรือ 1 กา 3 ตำแหน่ง - 1 บัตร 3 ตำแหน่ง คือประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งกาบัตรเลือก ส.ส.เขตแบบเขตละคนใบเดียวครั้งเดียวได้ 3 ตำแหน่งเลย
คือ 1. ได้ ส.ส.เขตในเขตนั้นที่ได้คะแนนนิยมสูงสุด 2. ได้ส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อจากคะแนนนิยมทุกคะแนนที่ลงให้ผู้สมัครทุกคนจากทุกพรรคไปคิดคำนวณอีกที และ 3. ได้นายกรัฐมนตรี เพราะล่าสุดอ่านจากข่าวว่า กรธ. โดยเฉพาะประธาน กรธ.มีแนวโน้มเห็นด้วยกับที่มานายกรัฐมนตรีระบบใหม่ที่นอกจากจะให้สภาผู้แทนฯเป็นผู้เลือกแล้ว ยังกำหนดเพิ่มต้องให้เลือกจากรายชื่อที่พรรคการเมืองทุกพรรคเสนอต่อประชาชนในการรณรงค์หาเสียงพรรคละ 5 รายชื่อ โดยไม่บังคับว่าจะต้องเป็น ส.ส.หรือไม่ เพราะในขั้นตอนเสนอ 5 รายชื่อต่อประชาชนของทุกพรรคยังไม่มีใครเป็น ส.ส.อยู่แล้ว โดย 5 รายชื่อที่แต่ละพรรคเสนอ อาจซ้ำกันได้ ถ้าผู้ถูกเสนอยินยอม รายละเอียดยังไม่มีมากกว่านี้ แต่ก็พอเห็นข้อดีชัดเจน ข้อใหญ่ที่สุด คือ ง่ายต่อประชาชนมาก จาก “2 กา” ตั้งแต่การเลือกตั้งปี 2544 มาเป็น “1 กา” ในการเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นตามโรดแมปปัจจุบันในปี 2560 ข้อต่อมาคือ ไม่ว่านายกรัฐมนตรีจะเป็น ส.ส.หรือไม่ แต่ก็ถือว่าได้ผ่านตาประชาชนในการรณรงค์หาเสียงและในคูหาเลือกตั้งมาในระดับหนึ่งแล้ว จะถือว่าเป็นการเลือกตั้งทางอ้อมก็พอว่าได้
“แต่ก็ยังมีข้อด้อยให้ต้องพิจารณากัน แต่วันนี้ยังไม่พูดถึง เพราะบทบัญญัติจริงยังไม่ได้เผยแพร่จึงยังไม่เห็นรายละเอียดต่างๆ ที่อาจจะตอบคำถามข้อด้อยไว้หมดแล้วทั้งหมดนี้เป็นการแสดงความเห็นส่วนตัวในฐานะประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งคนหนึ่งเท่านั้น ไม่ใช่ในฐานะตำแหน่งใดๆ ที่ดำรงอยู่” นายคำนูณระบุ