อดีตประธานคณะกรรมาธิการปฏิรูปการเมือง สปช. เห็นแย้งกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ เสนอเอาคะแนนผู้ที่แพ้เลือกตั้งไปคำนวณ ส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อ ระบุไม่สอดคล้องกับความเป็นจริง ยิ่งซื้อเสียงง่ายขึ้น แย้มพรรคใหญ่ก็ใช้วิธีตั้งพรรคนอมินีมา แล้วให้ประชาชนเลือกทั้งสองคน ก่อนไปแบ่งเค้กในสภาอย่างสบายใจ กังขาทำแบบนี้จะปฏิรูปการเมืองได้ยังไง
วันนี้ (31 ต.ค.) นายสมบัติ ธำรงธัญวงศ์ อดีตประธานคณะกรรมาธิการปฏิรูปการเมือง ของสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ให้สัมภาษณ์ถึงข้อเสนอของ กรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) เรื่องระบบเลือกตั้ง ที่ให้นำคะเเนนของผู้เเพ้แต่ละเขตไปคำนวณเป็น ส.ส.บัญชีรายชื่อว่า เเนวคิดนี้ กรธ.เพียงโยนหินถามทาง ยังไม่ยอมบอกเรื่องสัดส่วนของ ส.ส.ระหว่างเเบบเเบ่งเขต กับบัญชีรายชื่อจะมีเท่าไหร่เเน่ การนำคะเเนนของผู้เเพ้ มาคิดเป็นเก้าอี้ของ ส.ส.บัญชีรายชื่อเข้าไปนั่งในสภา ไม่รู้จะเอาหลักคิดใดของโลกมาอธิบาย ส่วนที่นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธาน กรธ.ระบุว่าจะทำให้คนออกมาใช้สิทธิเลือกผู้แพ้มากขึ้นนั้นแค่มโนไปเอง มันไม่สอดคล้องกับความเป็นจริง ยิ่งทำให้เกิดการซื้อเสียงง่ายขึ้น ขัดหลักความนิยมของประชาชน เพราะพรรคที่ประชาชนเลือกมาก จะได้ ส.ส.บัญชีรายชื่อน้อยลง
นายสมบัติกล่าวอีกว่า เชื่อว่านักการเมืองมีวิธีคิดพิสดารมาเพื่อให้พรรคตัวเองชนะเลือกตั้งเเน่ ยกตัวอย่างหากเกิดกรณีพรรคใหญ่ ต้องการรวบทั้งเก้าอี้ ส.ส.เขต และ ส.ส.บัญชีรายชื่อในเขตนั้น อาจตั้งพรรคพันธมิตร หรือพรรคนอมินีขึ้นมา โดยให้ผู้สมัครตัวเต็งลงพรรคหลัก ให้ผู้สมัครรองลงพรรคนอมีนี ตอนหาเสียงก็บอกประชาชนไปเลยว่าให้เลือกทั้งสองคน เพราะเป็นพรรคพันธมิตรกัน ทำแบบนี้เชื่อว่าจะได้ทั้ง ส.ส.เขต และ ส.ส.บัญชีรายชื่อ จากนั้นไปเเบ่งเค้กเก้าอี้ ส.ส.ในสภาอย่างสบายใจ ระบบนี้สร้างแต่ปัญหา ยังไม่เห็นว่ามีประเด็นที่จะนำไปสู่ทิศทางการปฏิรูปการเมืองที่ดีได้อย่างไร
เมื่อถามว่า ระบบเลือกตั้งดังกล่าวพรรคเพื่อไทยหรือพรรคประชาธิปัตย์ที่จะเสียเปรียบ นายสมบัติกล่าวว่า ยังบอกไม่ได้ เพราะ กรธ.ยังกั๊กเรื่องสัดส่วนจำนวน ส.ส.ทั้ง 2 ระบบ แต่หาก กรธ. กำหนดสัดส่วนแบบครึ่งต่อครึ่ง เช่น ให้มี ส.ส.ในสภาทั้งหมด 500 คน จาก ส.ส.บัญชีรายชื่อ 250 คน จาก ส.ส.เขต 250 คน แบบนี้ผู้แพ้จะได้เปรียบ มีสิทธิให้เกิดการต่อรอง อาจจะได้รัฐบาลที่อ่อนเเอมาบริหารประเทศ