โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ชี้รัฐลงทุนโครงสร้างพื้นฐานคมนาคม หวังรองรับการขยายตัวทางเศรษฐกิจอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง เพิ่มความสามารถแข่งขัน ยกระดับคุณภาพ ลั่นไม่ยอมให้ชาติขาลงตาม ศก.โลก ชูผลดีกระตุ้นการบริโภค จ้างงาน กระจายรายได้ โอ่ใช้ระบบสัญญาคุณธรรมลงนาม 3 ฝ่าย ป้องกันรับสินบน เปิดเผยข้อมูลทุกขั้นตอน โปรเจกต์ไหนมากกว่า 50 ล้านต้องรายงาน คตร. ปัดก่อหนี้เพื่อสร้างภาระ แต่ทำเพื่อสร้างรายได้ในระยะยาว หวังเป็นศูนย์กลางในภูมิภาค
วันนี้ (23 ต.ค.) พล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของประเทศ พ.ศ. 2558-2565 ที่มีสื่อมวลชนบางส่วนแสดงความเห็นถึงความเหมาะสมและความเป็นไปได้ที่รัฐบาลจะดำเนินการ โดยระบุว่าการลงทุนดังกล่าวมีวัตถุประสงค์เพื่อรองรับการขยายตัวทางเศรษฐกิจทั้งระยะสั้นและระยะยาวภายในประเทศตลอดจนอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง ช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของไทย ยกระดับคุณภาพมาตรฐานของการคมนาคมขนส่งให้มีความสะดวก รวดเร็ว และปลอดภัย ครอบคลุมทั้งโครงสร้างพื้นฐานทางรถไฟ ทางถนน ทางน้ำ และทางอากาศ
พล.ต.สรรเสริญกล่าวว่า แม้ว่าเศรษฐกิจโลกจะอยู่ในช่วงทรงตัว-ขาลง แต่รัฐบาลจะไม่ยอมปล่อยให้สถานการณ์ของประเทศเป็นไปตามแนวโน้มของสภาวะเศรษฐกิจโลก เพราะผลที่ได้รับจะไม่คุ้มค่ากับสิ่งที่เสียไป โดยจำเป็นที่จะต้องกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยการลงทุนจากภาครัฐ ซึ่งการลงทุนด้านคมนาคมขนส่งขนาดใหญ่ (Mass Transit) จะส่งผลดีต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจ กระตุ้นการบริโภค การจ้างงาน ช่วยกระจายรายได้ สร้างเสถียรภาพของระดับราคาสินค้า และดุลบัญชีเดินสะพัด ในอดีตที่ผ่านมานั้นประเทศไทยมีการลงทุนในด้านนี้น้อยมาก เมื่อเทียบกับการใช้จ่ายเงินงบประมาณเรื่องอื่นๆ ที่ส่วนใหญ่เป็นการใช้งบประมาณ ไม่ก่อให้เกิดรายได้ มีผลตอบแทนทางการเงินและทางเศรษฐกิจน้อยมาก มุ่งแต่รักษาคะแนนเสียง
สำหรับข้อห่วงใยเรื่องการรั่วไหลของเงินงบประมาณและการก่อหนี้ผูกพันในระยะยาวนั้น โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีกล่าวว่า ขอเรียนว่ารัฐบาลให้ความสำคัญกับการดำเนินงานที่สุจริต ตรวจสอบได้ โดยได้นำ “สัญญาคุณธรรม” หรือ Integrity Pact มาใช้ ซึ่งหน่วยงานของรัฐในฐานะผู้จัดซื้อจัดจ้างเอกชนที่เข้ามาประมูลงาน และผู้เชี่ยวชาญในสาขาอาชีพนั้นหรือตัวแทนภาคประชาสังคม ร่วมลงนามในสัญญาดังกล่าวทั้ง 3 ฝ่าย ป้องกันการรับหรือให้สินบน และเปิดเผยข้อมูลในทุกขั้นตอน ส่วนโครงการใดที่มีเงินลงทุนเกินกว่า 50 ล้านบาทขึ้นไป หน่วยงานของรัฐจะต้องรายงานผลการดำเนินงานแก่คณะกรรมการติดตามและตรวจสอบการใช้จ่ายงบประมาณภาครัฐ (คตร.) เพื่อนำเสนอคณะรัฐมนตรี นอกจากนี้ รัฐบาลยังมีวิธีบริหารจัดการงบประมาณในการลงทุน โดยหากโครงการใดที่รัฐดำเนินการเองจะใช้การผูกพันงบประมาณหลายปี ไม่ใช่การจ่ายเงินมากเพียงครั้งเดียว บางโครงการเป็นการร่วมลงทุนระหว่างรัฐกับเอกชน และบางโครงการเอกชนจะเข้ามาลงทุนทั้งหมด ดังนั้น จึงไม่ใช่การก่อหนี้ที่เป็นภาระของประเทศ แต่เป็นการก่อหนี้ที่จะสร้างรายได้ให้แก่ประเทศในระยะยาว
“รัฐบาลขอขอบคุณสื่อมวลชนและภาคส่วนต่างๆ ที่ได้เสนอแนะความคิดเห็นที่เป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาประเทศ ท่านนายกรัฐมนตรีมีนโยบายชัดเจนที่จะผลักดันให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางด้านคมนาคมขนส่งในภูมิภาค และได้กำชับให้ทุกหน่วยงานดำเนินการด้วยความโปร่งใส เป็นธรรม และป้องกันการทุจริตคอร์รัปชันในทุกรูปแบบ โดยรัฐบาลดำเนินการทุกอย่างด้วยความรอบรอบ และคำนึงถึงประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชนเป็นหลัก” โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีกล่าว