ศูนย์ข่าวศรีราชา - ร.ฟ.ท.ลุยโรดโชว์พัทยา ปลุกแนวคิดร่วมท้องถิ่นพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์รอบสถานีรถไฟพัทยา หวังใช้เป็นจุดศูนย์กลางเชื่อมโยงการเดินทาง และการท่องเที่ยวครบวงจร หลังมีแผนการพัฒนาตามนโยบาย TOD ในพื้นที่สถานีรถไฟบางซื่อให้เป็น Hub ระดับ Asian ด้านนายกพัทยา ชี้ท้องถิ่นพร้อมสนับสนุนเมกะโปรเจกต์ กระตุ้นทุกภาคส่วนร่วมผลักดันโครงการขนส่งระบบรางเส้นทางภาคตะวันออก
วันนี้ (5 ต.ค.) ที่โรงแรมพูลแมน พัทยา จ.ชลบุรี การรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) ได้จัดกิจกรรมประชาสัมพันธ์สัญจร ครั้งที่ 3 ตามโครงการพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์บริเวณสถานีกลางบางซื่อเป็นศูนย์กลางการเดินรถไฟ โดยมี นางสิริมา หิรัญเจริญเวช ผู้อำนวยการฝ่ายการพาณิชย์ การรถไฟแห่งประเทศไทย เป็นปรานกล่าวเปิดงาน พร้อมกล่าวให้การต้อนรับผู้เข้าร่วมเสวนา ประกอบด้วย รศ.มานพ พงศทัต และนายสมพันสตร์ สุวพิศ ที่ปรึกษาโครงการพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์บริเวณสถานีกลางบางซื่อเพื่อเป็นศูนย์กลางการเดินรถไฟ นายอิทธิพล คุณปลื้ม นายกเมืองพัทยา นายบัณฑิต ศิริตันหยง รองประธานสภาวัฒนธรรมไทย-จีนและส่งเสริมความ สัมพันธ์ และนายสรรเพ็ชร ศุภบวรเสถียร นายกสมาคมโรงแรมไทยภาคตะวันออก ที่มาร่วมเสวนาเปิดมุมมองให้หัวข้อระบบรางต่อการพัฒนาเมือง
รศ.มานพ พงศทัต ที่ปรึกษาโครงการพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์บริเวณสถานีกลางบางซื่อเพื่อเป็นศูนย์กลางการเดินรถไฟ ระบุว่า การบริหารงาน ร.ฟ.ท.ในยุคปัจจุบันถือเป็นยุคก้าวหน้า โดยมีการจัดทำแผนแม่บทพัฒนาที่ดินและอสังหาริมทรัพย์บนที่ดินโดยรอบสถานี 13 ย่านสถานีครอบคลุมพื้นที่ภูมิภาคต่างๆ ทั่วประเทศ เพื่อยกระดับมาตรฐานการเดินทางด้วยระบบรางและส่งเสริมเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ โดยมีแผนการเปิดพื้นที่บริเวณสถานีรถไฟกลางบางซื่อ ซึ่งมีพื้นที่กว่า 2,300 ไร่ ที่ถือเป็นทำเลที่ดีที่สุดของกรุงเทพมหานคร เพื่อพัฒนาศักยภาพให้เป็นศูนย์กลางมหานครแห่งใหม่ และศูนย์กลางการเชื่อมโยงการเดินทางทุกรูปแบบในระดับอาเซียน หรือ ASEAN HUB ที่จะมีการพัฒนาโครงการข่ายคมนาคมขนส่งทางรางที่เชื่อมการเดินทางสู่ภูมิภาคต่างๆ ทั่วประเทศ ทั้งเหนือ อีสาน ใต้ ตะวันตก และตะวันออก และเชื่อมต่อในระดับ Inter-City และ International อย่างครบวงจร ทั้งการคมนาคมทางราง การคมนาคมทางอากาศ การคมนาคมทางถนน และการคมนาคมขนส่งมวลชน
ทั้งนี้ การพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์บริเวณสถานีกลางบางซื่อ จะมีการพัฒนาที่ดินออกเป็นหลายส่วน ซึ่งนอกจากจะดำเนินการจัดสรรระบบขนส่งแบบมาตรฐานที่ทันสมัยเชื่อมโยงทุกภูมิภาคแล้ว ยังมีแผนการพัฒนาเป็นแหล่งชอปปิ้ง ที่พักอาศัย สวนสาธารณะ และอื่นๆ มากมาย ซึ่งจะถือเป็นเมกะโปรเจกต์ที่มีการลงทุนครั้งใหญ่ ซึ่งจะช่วยในการส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมในระดับประเทศ และระดับภูมิภาคที่มีการบริการเบ็ดเสร็จในที่เดียว เพื่อสร้างสรรค์ให้เป็นเมืองแห่งอนาคตที่สามารถตอบโจทย์สังคมได้ในทุกไลฟ์สไตล์ และจะเป็นแลนด์มาร์กใหม่ที่จะดึงดูดนักท่องเที่ยว และเม็ดเงินลงทุนจากต่างชาติ
โดยมีบทบาทในการเชื่อมโยงการพัฒนาและนำพาความเจริญเติบโตสู่สังคมและประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน โดยมีการคาดการณ์ว่า ในปี 2590 จะมีประชากรในพื้นที่พัฒนาประมาณ 2 ล้านคนต่อวัน และอยู่รอบนอกพื้นที่ประมาณ 5 แสนคนต่อวัน โดยแบ่งเป็นคนเดินทาง 1 ล้านคนต่อวัน นักท่องเที่ยว 5 แสนคนต่อวัน ผู้อยู่อาศัย และพนักงานจากการพัฒนาเมือง 5 แสนคนต่อวัน และคนที่อยู่รอบนอกพื้นที่เขตจตุจักร และบางซื่อ 5 แสนคนต่อวัน ในส่วนของภูมิภาคอื่นนั้นมีแผนการพัฒนาใน 4 พื้นที่หลัก ได้แก่ เชียงใหม่ หัวหิน พัทยา และขอนแก่น
โดยในส่วนของภาคตะวันออกซึ่งเป็นภูมิภาคสำคัญของประเทศนั้น รัฐบาลได้มีแผนการพัฒนาโครงข่ายระบบคมนาคมขนส่งทางรางของประเทศไทย พ.ศ.2558-2565 เป็นรถไฟทางคู่ 1 เมตร เส้นทางฉะเชิงเทรา-คลองสิบเก้า-แก่งคอย และเส้นทางฉะเชิงเทรา-ศรีราชา-แหลมฉบัง ช่วงกรุงเทพฯ-มาบตาพุด-ระยอง และด้วยเมืองพัทยา เป็นเมืองที่มีศักยภาพด้านการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจอย่างครบวงจร จึงได้มานำเสนอแนวทางการพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์ให้มีลักษณะใกล้เคียงกับสถานีกลางบางซื่อ ตามแนวคิด Transit Oriented Development : TOD โดยมีแผนในการหาทุนร่วมกับท้องถิ่น และภาคเอกชนในการพัฒนาบริเวณโดยรอบสถานีรถไฟพัทยาเพื่อให้เป็นจุดศูนย์กลางการเดินทางที่สำคัญ ซึ่งก็สอดคล้องต่อนโยบายของเมืองพัทยาที่ได้จัดทำแผนแม่บทในการพัฒนาเมือง โดยนำแนวคิดระบบรถไฟฟ้ารางเดี่ยว หรือโมโนเรลมาแก้ไขปัญหาจราจรในพื้นที่
นายอิทธิพล คุณปลื้ม นายกเมืองพัทยา กล่าวด้วยว่า เมืองพัทยามีแนวเขตรางรถไฟพาดผ่านระหว่างเมือง การศึกษาความเป็นไปได้ด้านการพัฒนาในเชิงพาณิชย์ถือเป็นการวางแผนการพัฒนาระบบความนาคมการขนส่งที่ยั่งยืน ซึ่งที่ผ่านมา เมืองพัทยาก็ได้ตอบโจทย์การพัฒนาที่สานต่อนโยบายของภาครัฐด้านการแก้ไขปัญหาการจราจรในพื้นที่มาก่อนแล้ว โดยระยะที่ 1 มีการศึกษาและจัดทำโครงการระบบไฟจราจรอัจฉริยะตามแยก และจุดตัดสำคัญ ระยะที่ 2 เป็นการก่อสร้างอุโมงค์ลอดทางแยกพัทยา และระยะที่ 3 เป็นการศึกษาแนวคิดระบบรถไฟฟ้ารางเดี่ยว หรือโมโนเรล รวมทั้งสิ้น 7 เส้นทาง แต่ได้ความเหมาะสมที่สุดในเส้นทางพัทยาใต้-สถานีขนส่ง
ซึ่งเมืองพัทยาก็ยินดีที่จะร่วมลงทุนกับทาง ร.ฟ.ท. เนื่องจากที่ดินของ ร.ฟ.ท.มีอยู่แล้ว อย่างไรก็ตามใ นมุมมองของท้องถิ่นนั้นเห็นด้วยต่อโครงการดังกล่าว แต่ต้องขอความร่วมมือในการนำเม็ดเงินมาลงทุน ซึ่งอาจดำเนินการเป็นลักษณะของบรรษัทที่มีการลงทุนร่วมกันระหว่าง ร.ฟ.ท. เมืองพัทยา และภาคเอกชน อีกทั้งกรณีดังกล่าวคงร้องขอให้ทุกภาคส่วนร่วมกันผลักดันให้มีการดำเนินการที่เป็นรูปธรรมชัดเจนว่าจะมีการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูงขึ้นหรือไม่ในระยะเวลาอันใกล้ ส่วนการดำเนินการในส่วนของภาคตะวันออก ก็พร้อมจะสนับสนุนเมกะโปรเจกต์ดังกล่าวอย่างเต็มที่ด้วยเช่นกัน ซึ่งการดำเนินการต่างๆ ต้องสร้างความเข้าใจให้แก่ประชาชนในท้องถิ่นนั้นให้เกิดความเข้าในถึงผลประโยชน์ในการพัฒนาก่อน ซึ่งเชื่อว่าทุกโครงการหากมีประชาชนเห็นด้วยแล้ว การพัฒนาให้เป็นรูปธรรมเด่นชัดคงจะอยู่ใกล้แค่เอื้อม