ตัวแทน กกต.-กรมการปกครอง-กงสุล ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงจัดทำระบบลงทะเบียนใช้สิทธิเลือกตั้งออนไลน์ เพื่อความสะดวกคนไทยต่างแดน หลังพบมีการใช้สิทธิน้อยแถมสิ้นเปลืองงบฯ กกต.ยกเป็นมิติใหม่พัฒนาระบบเลือกตั้ง แก้ปัญหารายชื่อตกค้าง เพิ่มความรวดเร็ว ลดค่าใช้จ่ายเดินทาง เปิดใช้ 15 ธ.ค.
วันนี้ (22 ต.ค.) นายภุชงค์ นุตราวงศ์ เลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ตัวแทนสำนักงาน กกต. พร้อมด้วย ร.ต.ท.อาทิตย์ บุญญะโสภัต อธิบดีกรมการปกครอง เป็นตัวแทน กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย และนายธงชัย ชาสวัสดิ์ อธิบดีกรมการกงสุล ตัวแทนกรมการกงสุล กระทรวงการต่างประเทศ ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือในโครงการจัดทำระบบลงทะเบียนขอใช้สิทธิเลือกตั้งนอกราชอาณาจักรทางอินเทอร์เน็ต เพื่ออำนวยความสะดวกในการลงทะเบียนขอใช้สิทธิเลือกตั้งของคนไทยในต่างประเทศ รวมทั้งการเพิ่มชื่อ-ถอนชื่อ ให้แก่คนไทยที่มีถิ่นพำนักในต่างประเทศ
ภายหลังการลงนาม นายสมชัย ศรีสุทธิยากร กกต.ด้านกิจการบริหารงานเลือกตั้ง กล่าวว่า การลงนามความร่วมมือของทั้ง 3 หน่วยงานถือเป็นมิติใหม่ของการพัฒนาระบบลงทะเบียนขอใช้สิทธิเลือกตั้ง โดยเป็นการเพิ่มช่องทางลงทะเบียน และตรวจสอบสิทธิในการเลือกตั้งของผู้มีสิทธิเลือกตั้งนอกราชอาณาจักร นอกจากนั้นยังช่วยแก้ปัญหากรณีผู้มีสิทธิเลือกตั้งยังคงมีรายชื่อตกค้างอยู่ในระบบทะเบียน หลังจากเดินทางกลับมาประเทศไทยแล้ว รวมทั้งกรณีแจ้งย้ายถิ่นพำนักในต่างประเทศด้วย ทั้งนี้ การพัฒนาระบบดังกล่าวจะทำให้สามารถลงทะเบียนขอใช้สิทธิเลือกตั้งได้สะดวกรวดเร็ว ประหยัดเวลา และลดภาระค่าใช้จ่ายในการเดินทางหรือค่าใช้จ่ายอื่นๆ ในการลงทะเบียนขอใช้สิทธิเลือกตั้งของคนไทยในต่างประเทศ อย่างไรก็ตาม ระบบดังกล่าวจะเสร็จและสามารถเปิดให้ประชาชนเข้าลงทะเบียนได้ภายในวันที่ 15 ธ.ค.นี้ และหลังจากนั้นจะมีการให้ความรู้ในการลงทะเบียนในระบบดังกล่าวแก่ประชาชน และจะเปิดให้ประชาชนเข้าลงทะเบียนไปจนกว่าจะถึงช่วงเวลาก่อนการเลือกตั้ง ที่คาดว่าจะมีขึ้นช่วงกลางปี 2560
สำหรับการพัฒนาระบบลงทะเบียนขอใช้สิทธิเลือกตั้งนอกราชอาณาจักรในครั้งนี้จะเป็นการแก้ปัญหาและอำนวยความสะดวกเพราะเนื่องจากที่ผ่านมามีคนไทยอยู่ในต่างประเทศทั่วโลกประมาณ 1 ล้านคน และมีการลงทะเบียนขอใช้สิทธิเลือกตั้งเพียง 1.5 แสนคน แต่มีผู้มาใช้สิทธิจริงเพียง 7 หมื่นคนเท่านั้น และยังพบว่าการดำเนินการดังกล่าวสิ้นเปลืองไปกับระบบธุรการ เพราะจากงบประมาณในการจัดเลือกตั้งต่างประเทศประมาณ 70 ล้านบาท เป็นค่าธุรการประมาณ 50 ล้านบาท ซึ่งจะพบว่าผู้มาใช้สิทธิต่อ 1 หัว จะใช้งบประมาณ 1-1.5 หมื่นบาทต่อคน ทั้งนี้ไม่รวมถึงกรณีที่คนไทยจะต้องออกเงินเองในค่าพาหนะในการเดินทางมาใช้สิทธิเลือกตั้ง