กกต.เตรียมพัฒนาเครื่องลงคะแนนเลือกตั้งเป็นทัชสกรีน หวังตอบโจทย์ระบบเลือกตั้ง ทำประชามติหลายคำถาม ประเดิมนำร่องบางหน่วยออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญใน กทม.
นายสมชัย ศรีสุทธิยากร กรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ด้านกิจการบริหารงานเลือกตั้ง ให้สัมภาษณ์ภายหลังการประชุมการนำเครื่องลงคะแนนเลือกตั้งอิเล็กทรอนิกส์มาใช้กับการออกเสียงประชามติและการเลือกตั้ง ว่า ในการประชุมได้มีการเชิญนักวิชาการหลายสถาบันมาให้ความคิดเห็นเกี่ยวกับการนำเครื่องลงคะแนนอิเล็กทรอนิกส์มาใช้ว่าควรมีรูปแบบอย่างไรถึงจะเหมาะสม โดยเห็นว่า 1. การเลือกตั้งในอนาคตมีความซับซ้อน ผู้สมัครและพรรคการเมืองอาจมีมากขึ้น และอาจมีการเลือกตั้งแบบโอเพนลิสต์ ที่ประชุมจึงเห็นว่าการพัฒนาเครื่องลงคะแนน จะต้องมีความยืดหยุ่นให้สามารถใช้กับการลงคะแนนรูปแบบต่างๆ ได้ โดยตัวเครื่องอาจใช้ระบบทัชสกรีนที่จะสามารถกำหนดโปรแกรมหรือการคำถามได้หลายคำถามตามความต้องการในการนำเครื่องไปใช้ทั้งเลือกตั้งและประชามติ ส่วนการนับผลคะแนนยังเห็นว่าในช่วงแรกไม่เหมาะสมที่จะต่อเป็นระบบออนไลน์เพราะอาจมีปัญหาเรื่องความเชื่อถือ หรือถูกเจาะระบบหรือแฮกข้อมูลได้ โดยในชั้นแรกเมื่อลงคะแนนที่ไหนก็ให้นับที่นั่นไปก่อน
2. แนวทางการได้มาซึ่งเครื่องและงบประมาณที่ต้องใช้ เห็นว่าปัจจุบันนักวิชาการไทยมีศักยภาพพัฒนาเครื่อง ไม่จำเป็นต้องซื้อจากต่างประเทศ แต่ต้องกำหนดกรอบว่าจะนำเครื่องไปใช้ในทางใดบ้าง ซึ่ง กกต.ก็จะขอให้สถาบันการศึกษาทำการพัฒนาเครื่องต้นแบบให้เกิดความเหมาะสม ส่วนการผลิตเครื่องจำนวนมากเพื่อนำมาใช้จริงนั้น หลังจากได้รูปแบบที่ชัดเจนของเครื่องก็ต้องมีการคิดว่าแหล่งผลิตจะใช้ภายในหรือภายนอกประเทศ 3. การสร้างความเชื่อถือให้เกิดขึ้นกับนักการเมืองและประชาชน เห็นว่าจำเป็นต้องให้พรรคการเมืองและประชาชนมามีส่วนร่วมในการออกแบบเพื่อให้ได้รับการยอมรับ โดยเบื้องต้นการใช้เครื่องลงคะแนน เมื่อมีการลงคะแนนแล้วเครื่องก็จะพิมพ์ผลการลงคะแนนออกมาเพื่อให้ผู้ลงคะแนนนำไปใส่หีบบัตรลงคะแนน และการนับคะแนนให้ทำควบคู่กับกันไป ระหว่างการลงคะแนนด้วยเครื่องและการนับบัตรที่มาจากเครื่อง คิดว่าน่าจะเป็นจุดเริ่มต้นในการสร้างความเชื่อถือได้
“ในการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญที่กำหนดไว้เบื้องต้นวันที่ 10 ม.ค. 2559 นั้น กกต.เห็นควรให้มีการใช้เครื่องลงคะแนนในบางหน่วยของการทำประชามติในพื้นที่ กทม. โดยจะเป็นการให้ผู้มีสิทธิออกเสียงเลือกว่าจะลงคะแนนในรูปแบบใด แต่แม้จะใช้สิทธิลงคะแนนโดยเครื่องลงคะแนน เครื่องลงคะแนนก็จะพิมพ์ผลการลงคะแนนให้ผู้ออกเสียงนำไปหย่อนในหีบบัตรเพื่อนับคะแนนควบคู่กันไป ทั้งนี้เบื้องต้นเครื่องลงคะแนนที่ กกต.มีทั่วประเทศ 200 เครื่อง แต่การนำมาใช้อาจเป็นในบางพื้นที่และบางหน่วยเท่านั้น ซึ่งก่อนหน้านี้จากการนำเครื่องลงคะแนนไปทดสอบในพื้นที่ต่างๆ ได้รับการตอบรับที่ดีจากประชาชนว่ามีความสะดวก รวดเร็ว มีความน่าเชื่อถือ แต่ยังมีปัญหาเรื่องความคุ้นเคยอยู่ จึงต้องมีการประชาสัมพันธ์ให้มากขึ้น”