ตามดูสาเหตุ ทำไมคนเสื้อแดงจึงกำหนดนัด 1 พ.ย.ใส่เสื้อแดงร่วมเชียร์ “ยิ่งลักษณ์” เผยเป็นวันที่ครอบครัวชินวัตร-นายทักษิณนัดไหว้บรรพบุรุษที่เมืองจีน “วรชัย เหมะ” ท้านายกฯ ใช้ ม.44 ห้ามใส่เสื้อแดง ย้ำไม่ได้ชุมนุมอะไร ด้าน “ยิ่งลักษณ์” ยังเดินสายแก้กรรม วันก่อนไปอีสาน วันนี้โผล่ราชบุรี เผยยังมีทหารถ่ายรูปเป็นระยะ หลังโวยไม่คิดหนี ด้านเพื่อไทยออกแถลงการณ์ป้องนายหญิงปมจำนำข้าว ชี้บันทึก ป.ป.ช.เคยระบุว่าอดีตนายกฯ ไม่มีส่วนร่วมในทุจริต
วันนี้ (22 ต.ค.) มีรายงานว่า สังคมออนไลน์เครือข่ายคนเสื้อแดงหลายแห่ง ได้ประสานงานกัน โดยนัดกันว่า วันที่ 1 พ.ย.นี้ คนเสื้อแดงได้นัดใส่เสื้อแดงเพื่อให้กำลังใจ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี
สอดคล้องกับที่ นายวรชัย เหมะ อดีต ส.ส.สมุทรปราการ พรรคเพื่อไทย ออกมาเปิดเผยว่า ไม่ใช่เรื่องเสียหาย ไม่ใช่การชุมนุม และกฎหมายไม่ได้ห้าม เรื่องนี้ และนปช.ก็ไม่ได้เป็นคนต้นคิด แต่เป็นการเชิญชวนตามโซเซียลมีเดีย ทั้งนี้การที่คนนัดใส่เสื้อแดง เพราะรู้สึกว่าคดีของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ไม่ยุติธรรม สองมาตรฐาน รีบเร่ง นายวรชัยยังระบุว่า หากรัฐบาลจะห้ามไม่ให้ใส่เสื้อสีแดง ดูจะเป็นการจำกัดสิทธิของประชาชนมากเกินไปหรือไม่แต่ถ้าจะห้ามขอให้นายกฯ ใช้มาตรา 44 ระบุมาเลยว่าวันที่ 1 พ.ย.นี้ห้ามใส่เสื้อสีแดง ก็จะได้รู้กันไปว่าบ้านเราใส่เสื้อสีแดงไม่ได้
มีรายงานว่า ทุกวันที่ 1 พ.ย. คนในครอบครัวชินวัตร เช่นเดียวกับ น.ส.ยิ่งลักษณ์ รวมถึงนายทักษิณจะร่วมกันเคารพบรรพบุรุษ หลังจากเมื่อวันที่ 1 พ.ย. 2557 ในช่วงที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ไปเยือนประเทศจีน ได้พบกับนายทักษิณ และเดินทางมาที่เมืองเหมยเซี่ยน มณฑลกว่างโจว เพื่อมาเคารพหลุมฝังศพบรรพบุรุษที่เรียกว่ายายทวด และไปดูบ้านที่แม่ของนายทักษิณและ น.ส.ยิ่งลักษณ์
พล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์สั้นๆ ว่า รัฐบาลไม่ต้องการขยายความขัดแย้งและไม่ต้องการเปิดประเด็นความขัดแย้ง เอาเป็นว่าพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) รับทราบความเคลื่อนไหวของสังคมในประเด็นดังกล่าวแล้ว
และขอให้ประชาชนใช้ดุลยพินิจว่าการแบ่งสีด้วยการเชิญชวนการแต่งเสื้อสีจะเป็นการทำให้เกิดการแบ่งแยกขึ้นในสังคมอีกหรือไม่ ซึ่งเราต้องเคารพกฎกติกาและกฎหมาย ถ้าเอาความรู้สึกส่วนตัวเป็นที่ตั้งจะทำให้การแก้ไขปัญหาของบ้านเมืองลำบาก เพราะนี่ใช่วิธีการขจัดความขัดแย้งและใช่วิธีการละลายพฤติกรรมทำให้คนกลับมาหลอมรวมใจกันหรือไม่ ทั้งนี้ในส่วนรัฐบาลให้ความสำคัญกับกระบวนการยุติธรรมเป็นหลักมากกว่าการตอบโต้ไปมา
วันเดียวกันที่ อ.เมือง จ.ราชบุรี น.ส.ยิ่งลักษณ์ได้เดินทางไปทำบุญที่วัดช่องลม โดยมีประชาชนจำนวนมากมารอให้การต้อนรับ ประชาชนจำนวนหนึ่งได้นำของฝากมอบให้ พร้อมขอลายเซ็น และถ่ายรูปคู่ โดยการเดินสายทำบุญวันนี้ยังคงมีทหารคอยติดตามและถ่ายภาพ น.ส.ยิ่งลักษณ์ อยู่ตลอดเวลา
ตลอดสัปดาห์ น.ส.ยิ่งลักษณ์ และนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ อดีตนายกฯ เดินทางมาทำบุญสักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ในภาคอีสาน เช่น จ.หนองคาย จ.อุดรธานี ก่อนที่จะมีข่าวว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์ไม่พอใจอย่างมากกรณีมีทหารมาตามถ่ายภาพและได้พูดกับคนใกล้ชิดว่า “ไม่ได้คิดจะหลบหนี แค่เดินเข้าห้องน้ำเท่านั้นเอง ถ้าคิดจะหนีคงไม่ใช้วิธีแบบนี้”
วันเดียวกัน พรรคเพื่อไทยได้เผยแพร่คำแถลงของพรรคเพื่อไทยเรื่องโครงการรับจำนำข้าว โดยได้ระบุว่า เนื่องจากมีความพยายามที่จะเรียกร้องในทางแพ่งในโครงการรับจำนำข้าวต่อ นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ก่อให้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวางในสังคม ถึงความโปร่งใสและความยุติธรรม หลายฝ่ายต่างรู้สึกว่าการดำเนินการครั้งนี้ มีความพยายามสร้างวาทกรรมทางการเมือง ก่อให้เกิดความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนกับความเป็นจริง อันจะมีผลต่อการอำนวยความยุติธรรมให้แก่อดีตนายกรัฐมนตรียิ่งลักษณ์ ชินวัตร
พรรคเพื่อไทยในฐานะพรรคการเมืองที่เป็นผู้มีส่วนสำคัญในการนำเสนอนโยบายดังกล่าว ในการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อปี พ.ศ. 2554 จนได้รับการสนับสนุนอย่างท่วมท้น ได้รับเสียงข้างมากในรัฐสภา ในฐานะที่พรรคเพื่อไทย เป็นผู้นำเอาเจตนารมณ์และความต้องการของพี่น้องประชาชนโดยเฉพาะเกษตรกร ชาวไร่ชาวนา นำโครงการรับจำนำข้าวอันเป็นหนึ่งโครงการสำคัญบรรจุเป็นนโยบายของรัฐบาล ได้แถลงเป็นสัญญาประชาคมต่อรัฐสภา และเริ่มผลักดันให้โครงการดังกล่าวดำเนินการมาอย่างต่อเนื่องเพื่อประโยชน์แก่พี่น้องเกษตรกรทุกท่าน พรรคเพื่อไทยจึงขอถือโอกาสนี้ชี้แจงข้อเท็จจริงต่างๆ ของโครงการรับจำนำข้าว ต่อพี่น้องประชาชนโดยสังเขป ดังต่อไปนี้
1. นโยบายจำนำข้าวเป็นแนวคิดของพรรคเพื่อไทย ที่จะช่วยเหลือชาวนาให้ได้รับประโยชน์สูงสุด เพื่อยกระดับรายได้และชีวิตความเป็นอยู่ของชาวนา จำนวนถึง 3.7 ล้านครัวเรือน คิดเป็น 23% ของประชากรไทยทั้งประเทศนโยบายจำนำข้าว มิใช่นโยบายประชานิยมแบบให้เปล่า หากแต่เป็นหนึ่งในโครงการตามแนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐ ซึ่งถูกบัญญัติไว้ในมาตรา 84(8) ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550...“ ให้รัฐทำหน้าที่คุ้มครองและรักษาผลประโยชน์สูงสุดของเกษตรกรในการผลิตและการตลาด ตลอดจนส่งเสริมสินค้าเกษตรให้ได้รับผลตอบแทนสูงสุด”
2. โครงการรับจำนำข้าวถือเป็นหนึ่งใน “สัญญาประชาคม” ที่พรรคเพื่อไทยได้รับการยอมรับและสนับสนุนจากประชาชนทั่วประเทศในการเลือกตั้งทั่วไป พ.ศ. 2554 และพรรคฯ ได้นำแนวนโยบายดังกล่าวบรรจุไว้เป็นนโยบายของรัฐบาลแถลงและได้รับความเห็นชอบจากรัฐสภา ตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ
3. โครงการสาธารณะต่างๆ ตามแนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐและตามกรอบที่แถลงต่อรัฐสภา ซึ่งกำหนดให้เป็นแนวนโยบายที่รัฐบาลใช้เป็นกรอบในการบริหารประเทศ ทุกประเทศทั่วโลกล้วนถือเป็นค่าใช้จ่ายที่จำเป็นเพื่อดำเนินการในการแก้ไขปัญหาของประเทศและประชาชนโดยรวม แนวนโยบายที่เอื้อต่อการกระตุ้นเศรษฐกิจเพื่อคุณภาพชีวิตของเกษตรกร คือการลงทุนในมิติทางสังคมต่อประชากรของประเทศ จึงไม่มีประเทศใดในโลกนำโครงการเหล่านี้มาพิจารณาในเรื่องกำไร-ขาดทุน ดังเช่น พระราชกฤษฎีกาว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี พ.ศ.2546 ซึ่งกำหนดว่า...“การประเมินโครงการประเภทนี้ให้คำนึงถึงประโยชน์โดยรวมทางด้านเศรษฐกิจ สังคมและอื่นๆ ที่มีต่อประเทศชาติและประชาชนโดยรวม มิใช่ประเมินจากผลกำไร-ขาดทุน”
โครงการรับจำนำข้าวจึงถือเป็นนโยบายที่ต้องการช่วยเหลือเกษตรกรเช่นเดียวกับโครงการสาธารณะอื่นๆ ที่ได้จัดสรรงบประมาณเพื่อให้การช่วยเหลือประชาชนกลุ่มต่างๆ ตามสิทธิเชิงสวัสดิการที่พลเมืองของประเทศพึงได้รับ มิเช่นนั้นโครงการต่างๆ ในอดีต เช่น โครงการสาธารณูปโภคพื้นฐาน การจัดสวัสดิการให้แก่เด็กผู้สูงอายุ ผู้ยากไร้ คนพิการ การจัดโครงการสุขภาพถ้วนหน้า โครงการ ปรส. โครงการเช็คช่วยชาติ โครงการประกันราคาข้าว โครงการช่วยเหลือปัจจัยการผลิตและประกันราคายางพารา แม้กระทั่งการช่วยเหลือชาวนาแบบให้เปล่าไร่ละ 1,000 บาทต่อฤดูกาล ล้วนเป็นโครงการที่รัฐใช้เงินจำนวนมากมหาศาลเข้ามาคุ้มครองดูแลประชาชนของตนทั้งสิ้นหากพิจารณาในมิติเศรษฐกิจเชิงพาณิชย์ด้านเดียว โครงการสาธารณะเหล่านี้ล้วนต้องถูกตีความว่าขาดทุนและทำให้ประเทศชาติเสียหายทั้งสิ้น ซึ่งก็จะส่งผลให้รัฐบาลและผู้รับผิดชอบต้องถูกดำเนินคดีเช่นกัน
4. โครงการรับจำนำข้าวที่รัฐบาลพรรคเพื่อไทยริเริ่มและผลักดันให้เกิดขึ้น ได้มีการจ่ายเงินให้ชาวนา 870,018 ล้านบาท ส่งผลให้เศรษฐกิจเกิดการหมุนเวียนอีกหลายรอบ ซึ่งนับเป็นผลดีอย่างยิ่งต่อการพัฒนาเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ นอกจากนั้นรัฐบาลยังสามารถเก็บภาษีได้เพิ่มขึ้นถึงปีละกว่า 1 แสนล้านบาท รัฐบาลมีมาตรการป้องกันการทุจริต โดยจ่ายเงินผ่านตรงเข้าบัญชีชาวนา เงินทุกบาททุกสตางค์ล้วนถึงมือชาวนาโดยไม่มีการรั่วไหล หรือใครได้รับผลประโยชน์จากเงินดังกล่าว นอกจากนี้โครงการรับจำนำข้าว ยังมีข้าวที่ชาวนานำมาจำนำอันถือเป็นสมบัติของรัฐบาลและประเทศ ซึ่งเก็บไว้ในสต็อค ที่ผ่านมาในช่วงที่แห้งแล้งและปลูกข้าวไม่ได้ ยังสามารถนำข้าวดังกล่าวไปขายในตลาดโลก ทำให้รัฐบาลมีรายได้มากขึ้นจากการเป็นผู้ส่งออกข้าวในอันดับสูงต้นๆ ของโลก
5. การกล่าวหาอดีตนายกรัฐมนตรีที่เป็นผู้ควบคุมและกำกับนโยบายรับจำนำข้าว ว่าละเลยปล่อยให้มีการทุจริตเสียหายอย่างร้ายแรง ไม่มีการแก้ไขตรวจสอบหรือยกเลิกโครงการ ถือเป็นข้อกล่าวหาที่ไม่ยุติธรรม และไม่ถูกต้องตรงกับความเป็นจริง
รัฐบาลของพรรคเพื่อไทยได้ดำเนินโครงการรับจำนำข้าวโดยใช้ความระมัดระวังอย่างรอบคอบ มิได้ปล่อยปละละเลยให้เกิดความเสียหาย โดยได้มีการสั่งการและกำหนดให้มีมาตรการป้องกันและปราบปรามการทุจริตอย่างชัดเจนหลายมาตรการ ซึ่งมาตรการเหล่านั้นได้ถูกสั่งการให้จัดทำขึ้นอย่างเข้มงวด โดยการพัฒนาปรับปรุงจากหลักเกณฑ์และวิธีการต่างๆ เท่าที่รัฐบาลในอดีตเคยดำเนินการและจัดทำกันมากว่า 30 ปี
ขณะเดียวกัน จากรายงานการไต่สวนของ ป.ป.ช. ได้เคยมีบันทึกยืนยันว่า...”ไม่ปรากฏหลักฐานว่า อดีตนายกรัฐมนตรียิ่งลักษณ์ ชินวัตร มีส่วนร่วมในการทุจริต หรือสมยอมให้เกิดการทุจริต
การประโคมข่าวเรื่องการทุจริตหรือการปล่อยปละละเลยให้มีการทุจริต จึงเป็นเพียงกลวิธี หรือวาทกรรมที่ต้องการสร้างกระแสความชอบธรรมทางการเมือง เพื่อทำลายและปรักปรำอดีตนายกรัฐมนตรียิ่งลักษณ์ ชินวัตร อย่างเลวร้ายและไม่ยุติธรรมอย่างยิ่งโดยเฉพาะอย่างยิ่ง วิธีการที่ไม่ชอบธรรมที่สุด คือ ความพยายามสร้างเงื่อนไขและผลักดันให้อดีตนายกรัฐมนตรียิ่งลักษณ์ ชินวัตร ต้องรับผิดชอบต่อค่าใช้จ่ายหลายแสนล้านบาทในโครงการรับจำนำข้าว ทั้งๆ ที่คดีความดังกล่าวยังมีปัญหาเรื่องการตีความ “ความเสียหาย” ที่ยังถกเถียงโดยยังไม่มีข้อยุติ และคดีความดังกล่าวยังเพิ่งเริ่มต้นในศาลอาญาแผนกคดีการเมือง และเพิ่งอยู่ในขั้นตอนเริ่มแรกของการตกลงเรื่องพยานหลักฐาน โดยยังไม่ได้เข้าสู่ขั้นตอนการพิจารณาคดีเลย
นอกจากนั้นยังมีข้อโต้แย้งกันอยู่ว่า ป.ป.ช.จะสามารถระงับยับยั้งโครงการที่รัฐบาลแถลงต่อรัฐสภาได้หรือไม่ และหากมีการระงับยับยั้งหรือยุติการดำเนินงาน รัฐบาลจะถูกกล่าวหาว่า กระทำการขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่?
6. เป็นที่ทราบกันดีว่า ขณะนี้ได้มีการฟ้องอดีตนายกรัฐมนตรีต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของนักการเมือง ข้อเท็จจริงคือคดียังอยู่ในชั้นตรวจสอบพยานหลักฐาน ยังไม่ได้เริ่มต้นสืบพยานเลยแม้แต่น้อย แต่กลับเร่งรัดหาทางในการดำเนินคดีแพ่ง เพื่อชี้ให้อดีตนายกรัฐมนตรีต้องรับผิดในทางแพ่ง ความจริงควรมีการพิจารณาบรรทัดฐานที่เกิดขึ้นในอดีตว่า โครงการที่นายกรัฐมนตรีหรือคณะรัฐมนตรีได้ทำตามนโยบายที่แถลงต่อรัฐสภา ไม่เคยปรากฏว่ามีการนำมาฟ้องร้องกันไม่ว่าในทางอาญาหรือทางแพ่ง ในยุคที่ประเทศไทยเรียกร้องให้มีการปฏิรูปโดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องความเป็นธรรม ปัญหาในเรื่องสองมาตรฐานหรือการเลือกปฏิบัติก็ไม่ควรจะเกิดขึ้น แต่ข้อเท็จจริงที่ปรากฏในขณะนี้จะเห็นได้ว่า มีการใช้กลไกและเทคนิคทางกฎหมายทุกรูปแบบเพื่อหวังผลทางการเมืองให้เกิดกับอดีตนายกรัฐมนตรีและผู้เกี่ยวข้อง การเร่งรัดเพื่อเรียกค่าเสียหายทางแพ่งในโครงการรับจำนำข้าวนั้น มีลักษณะเร่งรัดอย่างผิดปกติ ทั้งที่องค์ประกอบทางกฎหมายในการเรียกค่าเสียหายก็ยังไม่ชัดเจนว่าจะทำได้หรือไม่
สถานการณ์ดังกล่าว พรรคเพื่อไทยจึงขอชี้แจงให้ประชาชนและสาธารณชนทั่วไป ได้มีส่วนร่วมในการพิจารณาเหตุผลและข้อเท็จจริงดังกล่าว เพื่อคืนความยุติธรรมให้แก่อดีตนายกรัฐมนตรียิ่งลักษณ์ ชินวัตรและผู้เกี่ยวข้องทุกท่าน