xs
xsm
sm
md
lg

จ่อเพิ่มหมวดหน้าที่พื้นฐานรัฐ กัน “พรรค” สวมรอย-เวทีวิพากษ์ รธน.ย้ำ “อย่าคิดแทน ปชช.”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


“กรธ.” จ่อเพิ่มหมวดหน้าที่พื้นฐานรัฐ กันพรรคการเมืองอ้างเป็นนโยบาย ด้านเวทีวิพากษ์ รธน. ฉบับ กรธ. ย้ำ อย่าใส่สิ่งที่ประชาชนไม่ต้องการในร่าง รธน. อย่าคิดเอง หวั่นสร้างกลไกที่ทำลายระบบประชาธิปไตย แนะฝ่ายการเมืองต้องถูกตรวจสอบในมาตรฐานแบบเดียวกัน ด้าน “ปชป.” อัด “เพื่อไทย” เชื่อ องคมนตรี ไม่ก้าวก่าย รัฐบาล - กรธ.

วันนี้ (21 ต.ค.) ที่รัฐสภา นายอมร วาณิชวิวัฒน์ โฆษกกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) แถลงผลการประชุม กรธ. ว่า ขณะนี้ยังคงพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญเป็นรายมาตรา ในหมวด 3 สิทธิเสรีภาพของปวงชนชาวไทย ในมาตราที่ 32 - 39 โดยได้ยึดตามหลักนโยบายของนายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธาน กรธ. ที่ต้องการให้ร่างรัฐธรรมนูญตามแบบของ กรธ. เอง

นายอมร กล่าวว่า ในการร่างรัฐธรรมนูญครั้งนี้ จะมีการนำประเด็นที่มีอยู่เดิมไปบัญญัติใหม่ หรือนำไปใส่ไว้ในส่วนอื่นที่เกี่ยวข้อง โดยที่ผ่านมาได้มีการกำหนดสิทธิของบุคคลที่อยู่ภายใต้รัฐนั้น ซึ่งสิทธิดังกล่าวรัฐจะต้องดูแล เช่น การได้รับความดูแล หรือการได้รับสวัสดิการด้านต่าง ๆ โดยที่ประชุม กรธ. ได้มีการหารือว่าจะเพิ่มหมวดใหม่ ว่าด้วยอำนาจหน้าที่ของรัฐจัดการสวัสดิการให้กับประชาชน เนื่องจากบางเรื่องเป็นมาตรการพื้นฐานที่รัฐควรจะทำให้กับประชาชน จึงต้องบัญญัติให้เป็นหน้าที่รัฐโดยตรง อย่างในเรื่องของการศึกษา สาธารณสุข สวัสดิการทางสังคม หรือในเรื่องของเสรีภาพรวมกลุ่มของประชาชน โดยเรื่องนี้ไม่ได้หมายถึงการรวมตัวทางการเมืองแต่อย่างใด เป็นต้น อีกทั้งการกำหนดหมวดเพิ่มเติมนั้น ก็เป็นการป้องกันฝ่ายพรรคการเมืองแอบอ้างสิ่งที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ ไปเป็นนโยบายของตนเอง เพื่อสร้างคะแนนนิยม
เพิ่มหน้าที่พื้นฐานรัฐ กันพรรคอ้างเป็นนโยบาย

ส่วนหมวดดังกล่าวจะแตกต่างกับแนวนโยบายพื้นฐานของรัฐอย่างไร นายอมร กล่าวว่า แนวนโยบายของรัฐเป็นการเขียนอย่างกว้าง ๆ และเป็นกลาง ซึ่งจะทำตามหรือไม่ทำก็ได้ แต่การระบุหน้าที่นั้น จะมีการระบุรายละเอียดที่ชัดเจนและลงลึก อย่างเช่น เรื่องการศึกษาอาจจะมีการกำหนดให้เรียนฟรีเป็นต้น

ส่วนการลงพื้นที่ร่วมกับสภานิติบัญญัติแห่งชาติ 31 ต.ค. - 1 พ.ย. ที่จะมีขึ้น เบื้องต้น สมาชิก กรธ. ยังไม่มีความชัดเจนว่าจะเข้าร่วมลงพื้นที่รับฟังความคิดเห็นหรือไม่ เนื่องจากแต่ละท่านติดภารกิจ แต่ทั้งนี้ กรธ. ก็ไม่ปิดกั้นการรับฟังความคิดเห็นจาก สนช. หากมีโอกาส หรือมี กรธ. ท่านใดไม่ติดภารกิจ ก็อาจจะร่วมลงพื้นที่ไปด้วย ในโอกาสต่อไป

ทั้งนี้ การประชุมของ กรธ. ครั้งต่อไป จะมีการประชุมรอบนอกในเวลา 11.30 น. เนื่องจากขณะนี้ กรธ. ได้มีการจัดต้องคณะอนุกรรมการหลายชุด และเพื่อให้กระบวนการทำงานไม่เสียเวลามาก จึงได้เปิดโอกาสให้ กรธ. ได้มีการพูดร่วมกันก่อนที่จะมีการประชุมกันจริงในเวลา 13.30 น.

อย่าใส่สิ่งที่ประชาชน ไม่ต้องการในร่าง รธน.

วันเดียวกัน ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มีเวทีเสวนาวิชาการเรื่อง “รัฐธรรมนูญไทย : มองไปข้างหน้า”

นายเกษียร เตชะพีระ อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า อะไรคือปัญหารัฐธรรมนูญของรัฐธรรมนูญปัจจุบัน อยากให้มอง 10 ปีที่ผ่านมา เป็นกระบวการเปลี่ยนผ่านไม่ใช่เปลี่ยนผ่านไปสู่ระบอบประชาธิปไตย รัฐธรรมนูญจะแก้ปัญหาบ้านเมืองได้ คือ แก้ปัญหาการบิดเบือนการใช้อำนาจจากเสียงข้างมากที่มาจากการเลือกตั้ง รัฐธรรมนูญถูกฉีกจากอำนาจกลุ่มการเมืองกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งมาโดยตลอด ปัญหาที่ผ่านมาคือความไม่มั่นคงของรัฐธรรมนูญ การไม่สอดคล้องกับสัมพันธภาพทางอำนาจ เมื่อกลุ่มอำนาจใหม่ ใช้พื้นที่การเลือกตั้งเสียงส่วนใหญ่ช่วงชิงทรัพยากร งบประมาณจากกลุ่มอำนาจเดิมที่ยึดกลไกรัฐ รวมถึงรัฐธรรมนูญถูกตั้งคำถามจากฝ่ายต่าง ๆ ว่า ใครคือผู้มีสิทธิอำนาจโดยชอบธรรมกันแน่ ขณะที่ระบอบอำนาจนิยมของรัฐราชการนั้น ทำให้เปลี่ยนระบอบประชาธิปไตยเป็นระบอบไม่ประชาธิปไตย คือ โครงสร้างอำนาจจากเสียงข้างมากถูกควบคุมจากสถาบันไม่ผ่านการเลือกตั้งจากประชาชน โดยตนขอเสนอว่า ควรแก้ไขโดยเพิ่มประชาธิปไตยให้มากขึ้นโดยเฉพาะทาง ส่วนปัญหาอำนาจนิยมของรัฐราชการ คือ ไม่พร้อมรับผิดชอบใด ๆ และพร้อมที่จะฉ้อฉล ดังนั้น ต้องแก้ปัญหาระบบอำนาจนิยมระบบราชการ คือ ยกอำนาจการเลือกตั้งให้เหนือกว่าระบบราชการ ให้ระบบราชการออกจากการเมือง และให้ทหารถอยทัพกลับกรมกอง เพื่อไปทำหน้าที่สำคัญในการปกป้องประเทศ

ฝ่ายการเมืองต้องถูกตรวจสอบในมาตรฐานแบบเดียวกัน

นายวรเจตน์ ภาคีรัตน์ อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า สำหรับร่างรัฐธรรมนูญฉบับที่สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) คว่ำไป มีความอัปลักษณ์ อาทิ การกำหนดให้มีอภิรัฐมนตรี ให้มีนายกฯ ที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง เป็นต้น รวมถึงได้เปลี่ยนองค์ประกอบของประชาธิปไตยให้เกิดความไม่เป็นประชาธิปไตย ส่วนบทบัญญัติว่าด้วยการรับรองสิทธิ เสรีภาพประชาชน ที่ขาดความเป็นประชาธิปไตย คือ สิทธิในทางการเมืองที่กำหนดเจตจำนงค์ของประชาชนไม่ได้รับความเคารพ และได้รับการยอมรับในศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ทำให้ประเด็นอื่น ๆ ไม่มีความหมาย เพราะการจำกัดสิทธิดังกล่าวตามความชอบใจ จะทำให้เกิดปรากฏการณ์องค์อำนาจที่ไม่ยึดโยงกับประชาชนขึ้นได้

ขณะที่ฝ่ายการเมืองต้องถูกตรวจสอบในมาตรฐานแบบเดียวกัน และทุกองค์กรต้องถูกตรวจสอบได้ ขณะที่ร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่จะออกมา จะยึดตามรัฐธรรมนูญ ฉบับชั่วคราว พ.ศ. 2557 มาตรา 35 แต่สิ่งที่น่าสนใจ คือ ประเด็นการออกแบบการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขที่เหมาะสมกับสังคมไทยนั้น สะท้อนได้ถึงความมีปัญหา โดยเฉพาะบุคคลที่จะมากำหนดการปกครองที่มีความเหมาะสมของสังคมไทย ซึ่งมองว่าผู้ที่จะกำหนดความเหมาะสมได้นั้น คือ ประชาชน แม้สังคมที่มีความเห็นต่างทางความคิด จำเป็นต้องมีการแลกเปลี่ยนความเห็น มีโอกาสแสดงความเห็นเต็มที่ก่อนจะตัดสินอย่างยุติธรรม ซึ่งระบบนี้ไม่ทำให้คนฆ่ากัน แต่เมื่อเราดูถูกคน และมองว่าเขาใช้ประชาธิปไตย 4 วินาที จะทำให้ร่างรัฐธรรมนูญเป็นส่วนที่ทำลายระบบได้

“ตอนนี้รัฐธรรมนูญเสียไปแล้ว บางคนก็บอกว่าควรเลิกร่างรัฐธรรมนูญแบบลายลักษณ์อักษรได้แล้ว พอแล้ว ร่างมากี่รอบ ก็ถูกทืบ แต่นี่เป็นการสะท้อนความอึดอัด ที่รัฐธรรมนูญขาดความยึดโยงประชาชนให้อยู่ร่วมกันในสังคม ดังนั้น เมื่อระบอบประชาธิปไตย ขาดการเชื่อมโยงไปสู่ประชาชนฐานะเจ้าของอำนาจ จะทำให้ความชอบธรรมประชาธิปไตยที่ไปสู่องค์กรที่ใช้อำนาจขาดหายไป อาทิ การให้มีสภาฯที่สมาชิกไม่มาจากการเลือกตั้ง แต่ให้อำนาจมหาศาล พร้อมกับกล่อมเกลาว่าเป็นประชาธิปไตยแบบไทย ถือเป็นหลักการผิดฝาผิดตัวของระบบ ผมมองว่าทัศนที่เกิดทัศนคติในสังคมไทยนี้ เพราะชนชั้นนำส่วนใหญ่ของสังคมไทย รวมถึงผู้ที่อยากเป็นชนชั้นนำ ซึ่งเป็นปฏิปักษ์กับประชาธิปไตย ไม่สามารถปรับตัวให้เข้ากับระบบประชาธิปไตยได้ มองว่าหากชนชั้นนำมีอำนาจอย่างไม่เป็นทางการ ไม่เข้าใจคำว่าประชาธิปไตยแท้จริง หรือให้น้ำหนักของการแก้ปัญหาที่ต่างกัน อาจทำให้เกิดรัฐธรรมนูญที่ใช้ช่วงเวลาหนึ่ง และนำไปสู่เหตุปะทุในสังคมได้อีก” นายวรเจตน์ กล่าว

นายวรเจตน์ กล่าวด้วยว่า หากรัฐธรรมนูญไม่เป็นประชาธิปไตย ไม่ควรจะให้ผ่านประชามติ แม้นักการเมืองอยากกลับสู่สนามเลือกตั้ง ควรคิดอนาคตยาว ๆ รวมถึงต้องคำนึงถึงประชาชนฐานะเจ้าของอำนาจ มากกว่าการกลับเข้าสู่ระบบเลือกตั้ง มองอนาคตของร่างรัฐธรรมนูญที่ กรธ. ทำร่างอยู่นั้น จะมีการต่อรองเพื่อให้ผ่านประชามติ ด้วยการให้พรรคการเมืองร่วมสนับสนุน โดยให้ชื่อว่ารัฐธรรมนูญเป็นสิ่งที่ที่พอยอมรับได้ แต่อนาคตไม่มั่นใจว่ารัฐธรรมนูญจะไม่สร้างปัญหาขึ้นอีก

หนุนทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่

ส่วนนายเจษฎ์ โทณะวณิก ที่ปรึกษากรรมการร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2558 กล่าวว่า การมองไปข้างหน้าของรัฐธรรมนูญ หากไม่ได้ทำความเข้าใจร่วมกันจะทำให้เกิดข้อถกเถียง ทั้งนี้มองว่าผู้ร่างรัฐธรรมนูญปี 57 - 58 ไม่มีความชอบธรรม แต่วิธีการทำกฎหมายสำคัญทุกคนอาจไม่ได้มาร่วมเขียนรัฐธรรมนูญได้ ดังนั้น ต้องใช้ตัวแทนทำเนื้อหา และเมื่อทำเนื้อหาแล้ว ต้องเพิ่มความชอบธรรม ด้วยการทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่

“หากมองว่าประชามติไม่ใช่ความชอบธรรม เป็นเพียงการหลอกคนให้ไปรวบกลุ่มคนเท่านั้น แต่ถือว่าหากคนไปออกเสียงประชามติเป็นคนกลุ่มเดียวกับที่จะออกไปเลือกตั้ง ดังนั้น คนที่จะออกไปเลือกตั้งก็ถูกหลอกมาเช่นกัน”

กรธ.ต้องมีเจตนารมณ์ร่าง รธน.ให้คนยอมรับ


นายปริญญา เทวานฤมิตรกุล อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มองว่า สังคมอยู่ระหว่างการคาดการณ์ว่าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ต้องการให้ร่างรัฐธรรมนูญ ผ่านประชามติหรือไม่ และกรธ. อยากให้ผ่านประชามติหรือไม่ ซึ่งความจริงพิสูจน์ได้จากการแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว พ.ศ. 2557 ฉบับแก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ. 2558 หากไม่แก้ไขแสดงว่าไม่ต้องการให้ผ่านประชามติ และต้องการอยู่ในอำนาจยาว ขณะที่ประธาน กรธ. ก็เชื่อว่าอยากร่างรัฐธรรมนูญให้ผ่านประชามติ ด้วยการทำเนื้อหาให้ทุกฝ่ายยอมรับ

ขณะที่ประเด็นเนื้อหารัฐธรรมนูญที่ต้องทำให้อำนาจถ่วงดุลระหว่างกัน ทั้งในรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2540 รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 มีข้อผิดพลาด คือสร้างรัฐบาลที่เข้มแข็งมากเกินจริง จนทำให้กลไกถ่วงดุลในรัฐสภาทำไม่ได้ แม้จะมีองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญขึ้นมาตรวจสอบ กลับพบว่า ถูกแทรกแซงการแต่งตั้งจากฝ่ายรัฐบาล แม้จะแก้ไขในกระบวนการสรรหา โดยให้องค์กรตุลาการเข้ามาดำเนินการ จึงทำให้กระทบต่อความเชื่อมั่นในกระบวนการตรวจสอบโดยองค์กรอิสระ ดังนั้น วิธีแก้ไข คือ ต้องแยกฝ่ายตุลาการออกจากกระบวนการทางการเมือง และให้ฝ่ายนิติบัญญัติตรวจสอบถ่วงดุลฝ่ายบริหารได้อย่างเต็มที่ ขณะที่การตรวจสอบโดยประชาชนต้องให้มีส่วนร่วมโดยตรง

“รัฐธรรมนูญฉบับที่ตกไปมีความหนาถึง 56,000 คำ ยิ่งร่างหนา ยิ่งห่างจากการปกครองโดยประชาชน ทำไมเราไม่สนับสนุนประชาธิปไตยไทย ที่มีอันดับดีกว่าทีมฟุตบอลทีมชาติไทย ดังนั้นเราต้องสรุปบทเรียนว่าเราอยู่อย่างไรถึงสร้างความชอบธรรมให้กับทหารเข้ามา หวังว่า กรธ. จะตั้งใจโดยมีเจตนารมณ์ร่างให้คนยอมรับ” นายปริญญา กล่าว

ปชป.อัด เพื่อไทย เชื่อองคมนตรี ไม่ก้าวก่าย รัฐบาล-กรธ.

นายราเมศ รัตนะเชวง รองโฆษกและคณะทำงานด้านกฎหมายพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงกรณีที่สมาชิกพรรคเพื่อไทยได้ออกมาโจมตี ข้อเสนอแนะของ นายธานินทร์ กรัยวิเชียร องคมนตรี ว่า ข้อเสนอแนะของนายธานินทร์ เป็นเรื่องที่ทุกคนควรรับฟังเพราะท่านได้เสนอแนะในสิ่งที่ถูกต้อง มีคุณค่า เป็นประโยชน์ต่อประเทศทั้งสิ้น การให้ความสำคัญในเรื่องการทุจริต การกระทำผิดของนักการเมือง เมื่อกระทำผิดแล้วไม่ควรให้กลับมากระทำความผิดซ้ำอีก เป็นข้อเสนอแนะที่ทุกคนที่มีหน้าที่ในการปฏิรูปประเทศควรนำไปขับเคลื่อนให้เป็นรูปธรรม เพราะนอกจากจะช่วยปกป้องประเทศแล้วยังเป็นเรื่องที่ดีที่ทำให้สถาบันทางการเมืองก็จะเป็นองค์กรที่ได้รับการยอมรับและศรัทธา

"สมาชิกพรรคเพื่อไทยควรที่จะรับฟังคำเสนอแนะของนายธานินทร์ ที่ได้เสนอแนะเพื่อประโยชน์ของบ้านเมือง มีคุณค่าต่อส่วนรวม ส่วนรัฐบาลหรือคณะกรรมการยกร่างรัฐธรรมนูญจะเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยก็แล้วแต่ การเสนอแนะของท่านองคมนตรีไม่ใช่เป็นการก้าวก่ายหรือแทรกแซงการทำงานของรัฐบาลหรือคณะกรรมการยกร่างรัฐธรรมนูญ สมาชิกพรรคเพื่อไทยหลายคนออกอาการมาโจมตีท่านองคมนตรีอย่างเสียหาย ถ้าพวกคุณประพฤติตัวดีจริงอย่าได้กลัวมาตรการใดๆที่จะออกมาเลยควรรับฟัง คนดีไม่เดือดร้อนคนที่เดือดร้อนส่วนมากเป็นคนที่คิดแต่กระทำการในสิ่งที่ไม่ดีทั้งสิ้น คนที่ร่วมกันโกงชาติบ้านเมืองสร้างความเสียหายให้กับบ้านเมืองเข้ามาทำหน้าที่เพื่อที่จะโกงกินแผ่นดินอย่างเดียวควรหรือไม่ที่จะกลับมาทำหน้าที่อีก พรรคเพื่อไทยลองกลับไปคิดดู"นายราเมศ กล่าว.



กำลังโหลดความคิดเห็น