xs
xsm
sm
md
lg

“วิษณุ” ชี้ปรับโครงสร้าง สสส.ต้องแก้ กม. รับองคมนตรียื่น จม.ได้ รัฐบาลทำไม่ทำอีกเรื่อง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี(แฟ้มภาพ)
รองนายกฯ เผยไม่ทราบ สตง.มีหนังสือให้ สสส.ปรับการจัดการ สอบกองทุน รับปรับโครงสร้างต้องแก้ กม. แจง ครม.ปรับแก้ พ.ร.บ.สมช.ปฏิรูปโครงสร้างในรอบ 56 ปี เพิ่มคลัง ไอซีที นักวิชาการร่วม ชี้สรรหา ป.ป.ช.อยู่ที่ สนช.เห็นชอบหรือไม่ ไม่แปลกมี 1 ใน 5 ใกล้ชิด รบ. เผยนายกฯ ไม่ได้กำชับพิเศษจดหมาย “ธานินทร์” แจงไม่ได้มีแค่ข้อเสนอนี้ ไม่มีปัญหาองคมนตรีชงเอง รบ.ทำไม่ทำอีกเรื่อง

วันนี้ (21 ต.ค.) ที่ทำเนียบรัฐบาล นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณีสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) มีหนังสือให้สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ปรับปรุงการการบริหารจัดการและตรวจสอบกองทุนให้มีประสิทธิภาพเป็นไปตามแนวทางของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.) ว่า ตนไม่ทราบเรื่องนี้ แต่ สสส.ไม่ใช่องค์การมหาชน เพราะตั้งโดย พ.ร.บ.กองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ พ.ศ. 2544 ซึ่งอะไรก็ตามที่ตั้งโดยมี พ.ร.บ.จะมีหลักเกณฑ์ในการตรวจสอบของเขาเอง ส่วนเกณฑ์ของสำนักงาน ก.พ.ร.จะดูเฉพาะสิ่งที่เกิดจากกฎหมายแม่ คือ พ.ร.บ.แล้วไปออกกฎหมายลูก คือ พระราชกฤษฎีกาที่มีองค์กรต่างๆ อยู่ 39 แห่ง แต่ สสส.และตระกูล ส.ทั้งหลายไม่ได้อยู่ในนี้ และจะทำให้อยู่ในนี้ไม่ได้ ยกเว้นต้องแก้กฎหมาย ผู้สื่อข่าวถามว่า มีการวิพากษ์วิจารณ์ถึงการทำงานของ สสส.ที่ผ่านมาจำเป็นต้องปรับโครงสร้างหรือไม่ นายวิษณุกล่าวว่า เอาไว้ให้คนที่เขาศึกษาเรื่องนี้อยู่เขาคงจะพูดคุยกันต่อ หากต้องปรับโครงสร้างก็ต้องแก้กฎหมาย

นายวิษณุกล่าวถึงถึงกรณีคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบร่าง พ.ร.บ.สภาความมั่นคงแห่งชาติ พ.ศ. ... ว่า กฎหมายนี้มีอายุ 56 ปีแล้ว แก้ไขครั้งสุดท้ายเมื่อ 50 ปีที่แล้ว และไม่เคยแก้อีกเลย มาถึงปัจจุบันจึงได้นิยามคำว่าความมั่นคงใหม่ โดยความหมายรวมไปถึงความมั่นคงทางทหาร การเมือง เศรษฐกิจ ดังนั้น กรรมการโดยตำแหน่งจึงมีเพิ่มมากขึ้น เช่น รมว.คลัง รมว.เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) และมีนักวิชาการ นับเป็นครั้งแรกที่มีนักวิชาการเข้ามาร่วมเป็นสมาชิกสภาความมั่นคงแห่งชาติ 3 คน เมื่อโครงสร้างกรรมการเปลี่ยนแปลงใหม่หมด บทบาทหน้าที่มีมากขึ้น ส่วนใหญ่จะเน้นหนักไปทางวางแผน เหมือนแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติทุก 5 ปี รวมถึงแผนยุทธศาสตร์ต่างๆ ที่ต้องมีการฟังความเห็นแล้วนำเข้าสภา ถือเป็นการปฏิรูปโครงสร้างของ สมช.ในรอบ 56 ปี แต่ยืนยันไม่เกี่ยวข้องอะไรกับแนวคิดของกระทรวงความมั่นคง

นายวิษณุในฐานะกรรมการสรรหากรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ยังกล่าวถึงการสรรหากรรมการ ป.ป.ช.5 คน แทนคนที่จะพ้นวาระเมื่อวันที่ 19 ต.ค.ที่ผ่านมาว่า ขั้นตอนหลังจากนี้จะส่งรายชื่อทั้ง 5 คนไปยังสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เพื่อพิจารณาเห็นชอบ ซึ่ง สนช.จะตั้งกรรมาธิการขึ้นเพื่อตรวจสอบประวัติก่อนจะลงมติโหวต สนช.อาจจะพิจารณาเห็นชอบหรือไม่ก็ได้ แต่หากมีบุคคลที่ สนช.ไม่เห็นชอบจะต้องเข้าสู่กระบวนการสรรหาใหม่อีกครั้ง โดยเริ่มจากการเปิดรับสมัครใหม่ ซึ่งผู้สมัครรายเดิมสามารถสมัครได้อีกครั้ง ผู้สื่อข่าวถามว่า มีการตั้งข้อสังเกตว่า 1 ใน 5 รายชื่อที่ได้รับการสรรหาเป็นบุคคลใกล้ชิดรัฐบาลและคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) นายวิษณุกล่าวว่า “ไม่แปลกอะไร ก็มันใช่”

รองนายกฯ กล่าวต่อถึงกรณี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) มอบหมายให้พิจารณาจดหมายส่วนตัวนายธานินทร์ กรัยวิเชียร องคมนตรีว่า ตนเห็นจดหมายแล้วเพราะนายกฯ ได้ส่งมาที่ตน แต่นายกฯ ไม่ได้กำชับอะไรเป็นพิเศษในเรื่องนี้ เพียงแต่เล่าให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ฟังว่าเนื้อหาโดยสรุปในจดหมายเป็นอย่างไร ตนเข้าใจว่านายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ก็ได้รับจดหมายดังกล่าวด้วยเช่นกัน ซึ่งรัฐบาลอาจจะหยิบเอาข้อเสนอใดข้อเสนอหนึ่งของนายธานินทร์มาพิจารณาและดำเนินการต่อไป อย่างไรก็ตาม ไม่ได้มีแค่ข้อเสนอของนายธานินทร์เท่านั้น ไม่ว่าใครส่งข้อเสนอมารัฐบาลก็รับพิจารณา แต่เผอิญว่าไม่เป็นข่าวแล้วรัฐบาลก็อุบไว้ไม่ยอมบอกว่าเรื่องนี้มาจากไหน

ผู้สื่อข่าวถามว่า มีการตั้งข้อสังเกตจากบางฝ่ายว่าเหมาะสมหรือไม่ที่องคมนตรีส่งข้อเสนอมายังรัฐบาล นายวิษณุกล่าวว่า ไม่มีปัญหา เพราะหากจะพูดไปแล้วเรื่องเหล่านี้มีมาทุกยุคทุกสมัยในฐานะเป็นประชาชนเหมือนที่นายมีชัยบอกว่ารัฐธรรมนูญไม่ได้ร่างไว้ดูในบ้านคนเดียว ดังนั้นจึงเป็นของคนทั้งหมด และคณะองคมนตรีก็เป็นสถาบันหนึ่งตามรัฐธรรมนูญเช่นเดียวกับศาลที่สามารถส่งความเห็นมาได้ องคมนตรีส่งมาก็ไม่แปลกประหลาด ส่วนนายกฯจะเอาหรือไม่เป็นอีกเรื่องหนึ่ง

เมื่อถามว่า ข้อเสนอในจดหมายดังกล่าวดูเหมือนพยายามผลักดันเรื่องยากๆ ที่ไม่เคยมีรัฐบาลใดทำได้ นายวิษณุกล่าวว่า ไม่ได้ผลักดันอะไร เพียงแต่เสนอแนะมาและครั้งที่นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ เป็นประธานคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญก็มีการเสนอมาเช่นเดียวกัน ซึ่งกมธ.ยกร่างฯก็ไม่ได้รับข้อเสนอทั้งหมด รับมาเพียง 20 เปอร์เซ็นต์ จึงไม่ใช่เรื่องแปลกประหลาดหรือลึกลับซับซ้อน ถ้าลึกลับสื่อคงไม่รู้ ทั้งนี้ อดีตนายกฯ หรือองค์กรอิสระต่างมีข้อเสนอมายังรัฐบาล ซึ่งเรื่องที่เสนอก็ไม่ใช่เรื่องส่วนตัวหรือเรื่องเฉพาะภายในองค์กรนั้นๆ แต่ส่งมาหลังได้เห็นปัญหาและข้อห่วงใย จึงได้เสนอแนะมา ส่วนรัฐบาลจะรับหรือไม่รับข้อเสนอก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง


กำลังโหลดความคิดเห็น