xs
xsm
sm
md
lg

เผยพุธหน้าประชุมแม่น้ำ 5 สาย - สปท.นัดส่งการบ้าน กรธ.ภายใน พ.ย.นี้

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

พล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี (ภาพจากแฟ้ม)
โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เผยพุธหน้า (28 ต.ค.) ประชุมแม่น้ำ 5 สาย พร้อมตั้งวิปร่วม 3 สาย ด้านที่ประชุม สปท. แบ่ง 11 กลุ่ม พบกลุ่มการเมืองตั้งเป้าสร้างความปรองดอง การใช้อำนาจสุจริต ตรวจสอบอำนาจรัฐ พร้อมปฏิรูปตำรวจภายใน 2 ปี “มีชัย” ขอส่งข้อเสนอบรรจุในร่างรัฐธรรมนูญ ภายในเดือน พ.ย. นี้ ชี้ข้อสังเกตส่วนใหญ่มุ่งแก้ปัญหาโกง แต่ยังซ้ำซ้อนกัน

วันนี้ (20 ต.ค.) ที่ทำเนียบรัฐบาล เมื่อเวลา 14.45 น. พล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า วันที่ 28 ต.ค. เวลา 09.30 น. ที่รัฐสภา จะมีการประชุมแม่น้ำ 5 สาย จุดประสงค์การประชุมต้องการที่จะนำเสนอข้อมูลซึ่งกันและกันให้การปฏิบัติงานของแม่น้ำ 5 สายสอดคล้องกัน สิ่งที่รัฐบาลดำเนินการมาโดยตลอดถือเป็นการปฏิรูประยะที่ 1 ซึ่งสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) ต้องนำไปวางแผนต่อ โดยการวางแผนต้องนำข้อมูลเดิมของสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) นอกจากนี้ แต่ละส่วนของแม่น้ำแต่ละสายจะมีวิปเพื่อประสานงานกัน และจะมีวิปเพิ่มขึ้นมาอีก 1 คณะ เป็นวิปร่วม 3 สาย คือ ครม., สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) และ สปท. เพื่อให้การทำงานประสานสอดคล้องกันและเป็นไปในทิศทางเดียวกัน

อีกด้านหนึ่งที่รัฐสภา ภายหลังที่ประชุม สปท. ที่ได้ประชุมร่วมกันเพื่อกำหนดประเด็นสำคัญในการขับเคลื่อนประเทศ โดยให้สมาชิกมีการแบ่งออกเป็น 11 กลุ่ม ตามด้านการปฏิรูปตามมาตรา 27 ของรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว ปี 2557 พร้อมกับให้แต่ละกลุ่มมีการหารือและกำหนด 5 ประเด็นสำคัญที่ต้องเร่งปฏิรูป ก่อนจะนำข้อสรุปเข้าสู่ที่ประชุม สปท. หารือร่วมกัน ซึ่งประกอบด้วย 1. ด้านการเมือง 2. ด้านบริหารราชการแผ่นดิน 3. ด้านกฎหมาย 4. ด้านการปกครอง 5. ด้านการศึกษา 6. ด้านเศรษฐกิจ 7. ด้านพลังงาน 8. ด้านสาธารณสุข 9. ด้านสื่อสารมวลชน 10. ด้านสังคม 11. ด้านอื่น ๆ

กระทั่งเวลา 15.00 น. กลับมาเปิดประชุม สปท. อีกครั้ง พร้อมกับให้มีการรายงานเป้าหมายการปฏิรูปในช่วง 2 ปี ของแต่ละกลุ่ม อาทิ กลุ่มการเมือง ที่เสนอให้มีการเร่งปฏิรูปตั้งแต่การสร้างบรรยากาศความปรองดอง การเข้าสู่ตำแหน่งและการใช้อำนาจทางการเมืองโดยสุจริต การตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ การเสริมสร้างวัฒนธรรมการเมืองให้เป็นรูปธรรม และการให้มีองค์กรกลางในช่วงเลือกตั้ง

ขณะที่กลุ่มปฏิรูปกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม รายงานเป้าหมายการปฏิรูปในช่วง 2 ปี ว่า จะต้องมีการปฏิรูปองค์กรตำรวจ ให้เป็นของประชาชน ไม่รับใช้นักการเมืองหรือเกิดสองมาตรฐาน การปฏิรูปการสอบสวนที่มีความเป็นอิสระ ไม่ถูกแทรกแซงการทำงาน การแต่งตั้งข้าราชการตำรวจต้องใช้ระบบคุณธรรม ไม่มีการซื้อขายตำแหน่ง ตลอดจนการโอนกิจการที่ไม่เกี่ยวข้องกับตำรวจออกไปจากโครงสร้าง ซึ่งจะต้องผลักดันให้สำเร็จภายในรัฐบาลชุดนี้ เพราะเชื่อว่าเมื่อเกิดรัฐบาลมาจากการเลือกตั้งจะไม่สามารถปฏิรูประบบตำรวจได้

ทั้งนี้ ร.อ.ทินพันธุ์ ยังได้แจ้งต่อที่ประชุมจากกรณีได้รับการประสานจาก นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) โดยขอให้ส่งข้อเสนอการปฏิรูปที่ต้องการให้บัญญัติไว้ในร่างรัฐธรรมนูญ ภายในเดือนพฤศจิกายนนี้ เนื่องจาก กรธ. จะมีการปิดรับฟังความคิดเห็นในช่วงกลางเดือนธันวาคม

ส่วนแผนการทำงานของ สปท. นั้น ในวันจันทร์ที่ 2 พ.ย. ก็จะครบกำหนด 15 วัน ที่คณะกรรมาธิการยกร่างข้อบังคับการประชุม สปท. พิจารณายกร่างแล้วเสร็จ ก่อนส่งให้ที่ประชุม สปท. พิจารณาร่วมกันเพื่อให้ความเห็นชอบ โดยก่อนที่จะมีการให้ความเห็นชอบนั้น ต้องมีการตั้งคณะกรรมาธิการปฏิรูปด้านต่างๆ ให้แล้วเสร็จภายใน 10 วัน จากนั้นก็จะนำข้อสรุปที่สมาชิกเห็นว่าควรเร่งปฏิรูปในแต่ละด้านส่งไปยังคณะกรรมาธิการปฏิรูปต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง พร้อมกับเปิดให้มีการอภิปรายร่วมกันถึงการปฏิรูปที่มี 11 ด้าน ในทุกวันจันทร์และวันอังคารของทุกสัปดาห์ วันละ 2 ด้าน ซึ่งเชื่อว่าจะสิ้นสุดในวันที่ ในวันที่ 16 - 17 พ.ย. ทันเสนอต่อ กรธ. ได้

อย่างไรก็ตาม ประธาน สปท. ยังได้ฝากข้อสังเกตถึงความเห็นของสมาชิกทั้ง 11 กลุ่มต่อแนวทางปฏิรูปในช่วง 2 ปี โดยส่วนใหญ่นั้น เห็นความสำคัญของการมุ่งเน้นแก้ปัญหาทุจริต ยกเว้นกลุ่มด้านพลังงานและด้านสื่อสารมวลชน ขณะเดียวกัน ความเห็นส่วนใหญ่ของแต่ละกลุ่มยังมีความซ้ำซ้อนไปยังการปฏิรูปด้านอื่น ๆ อยู่ เช่น ความเห็นด้านบริหารราชการแผ่นดิน มีการเชื่อมโยงปฏิรูปทั้งการเมือง การศึกษา เศรษฐกิจ และกฎหมายกระบวนการยุติธรรม หรือแม้แต่ด้านกฎหมายและกระบวนการยุติธรรมเอง ก็มีความเห็นต่อการปฏิรูปซ้ำซ้อนไปยังด้านการเมือง และการศึกษา จึงอยากให้มีการพิจารณาเป็นข้อสังเกตไว้ ก่อนจะสั่งปิดประชุมในเวลา 17.55 น. เพื่อให้สมาชิก สปท. ไปร่วมงานเลี้ยงสังสรรค์พบปะสื่อมวลชนประจำรัฐสภา


กำลังโหลดความคิดเห็น