xs
xsm
sm
md
lg

“บิ๊กแกละ” เผย ศปป.เน้นส่งชุดปฏิบัติการลงพื้นที่ระดับล่างแจงการทำงานรัฐบาล พร้อมกรอบการร่าง รธน.

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

พล.อ.พิสิทธิ์ สิทธิสาร (แฟ้มภาพ)
เสธ.ทบ.แจงโครงสร้าง ศปป.สนองนโยบายรัฐบาลมากขึ้น พร้อมส่งชุดปฏิบัติการลงพื้นที่ชี้แจงการทำงานของรัฐบาล และกรอบการร่าง รธน.ให้ประชาชนระดับหมู่บ้านเข้าใจ แต่ไม่เปิดเวทีแสดงความเห็นร่าง รธน. ขอบคุณภาคเอกชนจัดโครงการดีๆ ซื้อเสื้อเกราะให้ทหาร 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ย้ำสถานการณ์ดีขึ้นแม้เกิดสถานการณ์บ้าง ส่วนเจ้าหน้าที่ขวัญกำลังใจดีขึ้น

พล.อ.พิสิทธิ์ สิทธิสาร เสนาธิการทหารบก กล่าวถึงบทบาทการทำหน้าที่ของศูนย์ปรองดองสมานฉันท์เพื่อการปฏิรูป (ศปป.) ว่า ศปป. ยังคงทำงานตามปกติ เพียงแต่เปลี่ยนโครงสร้างจากที่ขึ้นตรงกับปลัดกระทรวงกลาโหมให้มาขึ้นตรงต่อเลขาธิการคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ซึ่งแต่ก่อนตนเคยเป็น ผอ.ศปป. ตอนนี้เปลี่ยนเป็น พล.ท.จีระพันธ์ มาลีแก้ว รองเสนาธิการทหารบกเป็น ผอ.ศปป.แทน โดยการทำงานหลักๆ จะสนองตอบนโยบายของรัฐบาลมากขึ้น พร้อมทั้งให้ชุดปฏิบัติการ ศปป.ลงไปในพื้นที่เข้าไปชี้แจงทำความเข้าใจการทำงานรัฐบาลให้ถึงระดับหมู่บ้าน

ประการถัดมาเรื่องความเดือดร้อนของประชาชน ศปป.จะทำงานร่วมกับศูนย์ดำรงธรรม ระดับอำเภอและจังหวัดอย่างใกล้ชิด ในทำนองเดียวกันจะทำงานร่วมกับกองกำลังรักษาความสงบเรียบร้อย (กกล.รส.) ในพื้นที่ และกอ.รมน.จังหวัด เพื่อนำเอาปัญหาของชาวบ้านมาพิจารณา ถ้าปัญหาใดสามารถแก้ไขได้จะดำเนินการทันที หากแก้ไขไม่ได้จะส่งไปยังส่วนกลาง

สำหรับบทบาททำความเข้าใจกับประชาชนต่อการร่างรัฐธรรมนูญ ศปป.จะดำเนินการอย่างไรนั้น พล.อ.พิสิทธิ์กล่าวว่า เราจะนำสิ่งที่นายกรัฐมนตรีพูดทุกวันศุกร์มาแปลงเป็นศัพท์ง่ายๆ ไปพูดคุยกับชาวบ้านในพื้นที่ อาทิ สูตร 6-4 - 6-4 ว่าคืออะไร หมายความว่าอย่างไร เพราะในแต่ละภูมิภาคจะมีสำเนียงแตกต่างกัน พร้อมทั้งจะอธิบายถึงการร่างรัฐธรรมนูญทำอย่างไร และคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ทำอะไรกันบ้าง เพราะบางทีชาวบ้านจะไปทำงานอาจไม่มีเวลาดูข่าว ดูทีวี เราจึงต้องเข้าไปอธิบายให้พวกเขาเข้าใจ

“ทั้งนี้เราจะเพิ่มเติมข้อมูลให้เจ้าหน้าที่ของเราไปชี้แจง โดยจะไม่รบกวนเวลาทำงานของชาวบ้าน เพื่อให้พวกเขาทำงานตามปกติ เพราะในช่วงเย็นหลังเลิกงานชาวบ้านจะมานั่งคุยกันตามศาลาประจำหมู่บ้าน มีกำนัน ผู้ใหญ่บ้านมาพูดคุยกันในสภาตำบล สภาหมู่บ้าน หรือเป็นการประชุมประจำอำเภอที่มีการประชุมเป็นประจำ เจ้าหน้าที่ก็จะเข้าไป โดยมีการประสานกับนายอำเภอ และกำนันผู้ใหญ่บ้านว่ามีการประชุมวันใดบ้าง”

ส่วนบทบาท ศปป.ในการเปิดเวทีแสดงความคิดเห็นร่างรัฐธรรมนูญ เพื่อป้องกันการครหาการไม่มีส่วนร่วมจากประชาชนนั้น พล.อ.พิสิทธิ์กล่าวว่า ในส่วนเวทีรับฟังร่างรัฐธรรมนูญ เราคงไม่เปิด เพียงแต่ไปชี้แจงทำความเข้าใจ อาจจะคล้ายเปิดเวทีเป็นกลุ่ม และการปฏิรูป 11 ด้าน ซึ่งเราใช้การชี้แจงทำความเข้าใจ เช่น ปีนี้น้ำน้อย ไม่ได้หมายความว่ารัฐบาลห้ามชาวนาปลูกข้าว แต่เราจะชี้แจงว่าเมื่อน้ำน้อยให้ไปปลูกพืชอื่นๆ ทดแทนการปลูกข้าวไปก่อนระยะหนึ่ง อีกทั้งการไปแนะนำชาวบ้านปลูกมะม่วง ปลูกมะพร้าว เมื่อได้ผลผลิตเราก็จะไปหาตลาดให้ ไม่ใช่ห้ามปลูกข้าว แต่ในช่วงภัยแล้งจะต้องปลุกพืชใช้น้ำน้อยที่สร้างรายได้เช่นกัน

ผู้สื่อข่าวถามว่า การให้นักศึกษาวิชาทหาร และเจ้าหน้าที่ลงพื้นที่ทำความเข้าใจต่อประชาชน ใช้กำลังพลมากน้อยเพียงใด พล.อ.พิสิทธิ์กล่าวว่า ในแต่ละจังหวัดมีการศึกนักศึกษาวิชาทหาร โดยมณฑลทหารบกเป็นผู้ฝึก เราจะให้นักศึกษาวิชาทหารไปเป็นจิตอาสาช่วยไปชี้แจง โดยความคาดหวังต้องการให้ไปพูดคุยกับชาวบ้านในพื้นที่ เหมือนลักษณะวัยรุ่นต้องคุยกับวัยรุ่น ตามดำริของพล.อ.ธีรชัย นาควานิช ผู้บัญชาการทหารบก บอกว่านักเรียนนายร้อย และนักเรียนพยาบาลไปพูดคุยกับคนวัยเดียวกัน ส่วนที่ถามว่าจำนวนเท่าใดนั้น ตนไม่แน่ใจว่านักศึกษาวิชาทหารในแต่ละจังหวัดมีกี่คน แต่เราจะใช้นักศึกษาวิชาทหารทั่วประเทศลงไปในพื้นที่ทั้งหมด และจะดำเนินการพร้อมกันทุกกองทัพภาคด้วย

ผู้สื่อข่าวถามว่า มีโอกาสให้นักศึกษาวิชาทหารไปพูดคุยกับนักศึกษาที่ออกมาเคลื่อนไหวหรือไม่ เพราะวัยใกล้เคียงกัน เสนาธิการทหารบกกล่าวว่า “สำหรับนักศึกษาที่ออกมาเคลื่อนไหว ผมขอบอกว่า อย่าออกมาเคลื่อนไหวในกรุงเทพฯ เลย ขอให้อยู่ในพื้นที่ช่วยกันแก้ไขปัญหา และควรเปิดโอการให้รัฐบาล และคสช.ทำงาน เพราะผมพูดทุกครั้งขอให้ช่วยสร้างสภาวะแวดล้อมให้เอื้อต่อการปฏิบัติงานของรัฐบาล”

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ก่อนให้สัมภาษณ์ พล.อ.พิสิทธิ์ สิทธิสาร เสนาธิการทหารบก ในฐานะเลขาธิการ กอ.รมน. เป็นผู้แทน พล.อ.ธีรชัย นาควานิช ผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) รับมอบเสื้อเกราะ จำนวน 170 ตัว มูลค่า 2,550,000 บาท จากภาคเอกชนที่จัดกิจกรรมระดมทุนเพื่อซื้อเสื้อเกราะให้กับทหารในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ผ่านโครงการ “ท็อปส์...ส่งต่อความสุขอย่างไม่มีที่สิ้นสุดแก่ทหารใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้” ปีที่ 3

พล.อ.พิสิทธิ์กล่าวขอบคุณภาคเอกชนที่จัดโครงการที่ดีแบบนี้ขึ้นมา และหวังว่าจะมีการจัดกิจกรรมแบบนี้อย่างต่อเนื่อง การมอบเสื้อเกราะให้แก่ทหารในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ถือเป็นการสร้างขวัญและกำลังใจ รวมทั้งยังมีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาให้กับประชาชนในพื้นที่และยังสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ของ กอ.รมน.ด้วย ทั้งนี้ เมื่อปี 2556 ตนเคยลงไปปฏิบัติหน้าที่เป็นผู้บังคับหน่วยเฉพาะกิจ จ.นราธิวาสจึงทราบดีว่าสิ่งสำคัญที่สุดสำหรับเจ้าหน้าที่คือขวัญและกำลังใจ อันตรายที่เกิดขึ้นในพื้นที่จะไม่ทำให้เจ้าหน้าที่ทหาร ตำรวจและอาสาสมัครหมดกำลังใจและไม่รู้สึกว่าถูกทอดทิ้ง ถนนทุกเส้นในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ทุกคนใช้หมดแต่ขึ้นอยู่กับว่าจะเป็นจังหวะของใคร การมอบสิ่งดีๆ ให้เจ้าหน้าที่ถือเป็นน้ำทิพย์ชโลมใจให้ปฏิบัติหน้าที่ลูกผู้ชายได้อย่างเต็มที่ แม้ว่าเสื้อเกราะจะไม่สามารถป้องกันระเบิดได้ก็ตาม แต่ก็ทำให้รู้สึกว่าไม่ถูกทอดทิ้ง ตนขอขอบคุณในน้ำใจของทุกคนที่ร่วมกันนำมาห่อหุ้มร่างกายเจ้าหน้าที่ อย่างไรก็ตาม ทราบว่าทางภาคเอกชนตั้งเป้าหมายไว้ว่าจะมอบเสื้อเกราะให้เจ้าหน้าที่จนกว่าจะครบ 1,000 ตัว

พล.อ.พิสิทธิ์ยังกล่าวถึงสถานการณ์ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ว่า ขณะนี้สถานการณ์ในพื้นที่ดีขึ้นตามลำดับ อาจจะมีการเกิดเหตุอยู่บ้างแต่ก็ไม่ได้ทำให้สถานการณ์มีความรุนแรงมากขึ้น ซึ่งเจ้าหน้าที่ทั้งพลเรือน ตำรวจและทหารยังคงปฏิบัติหน้าที่ด้วยความเข้มแข็งเช่นเดิม และยังไม่ได้เสียขวัญกำลังใจ


กำลังโหลดความคิดเห็น