xs
xsm
sm
md
lg

ไฟเขียวตั้งสถาบันพัฒนาขนส่งทางรางแห่งชาติ ใช้เทคโนโลยีช่วยเกษตกร ดันรถเมล์ไฟฟ้า

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

นายพิเชษฐ ดุรงคเวโรจน์ รมว.วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
คณะกรรมการพัฒนาระบบนวัตกรรมของประเทศ เห็นชอบ ใช้เทคโนโลยีช่วยเกษตกร และชนบทนำร่อง 200 ชุมชนทั่วประเทศ รองรับปัญหาภัยแล้ง หนุนปลูกถั่วเขียว ส่งโรงงานวุ้นเส้น ขายได้ในราคาดี พร้อมเร่งรัด ขสมก. ให้ใช้รถเมล์ไฟฟ้าที่ผลิตในไทยภายในปีนี้

วันนี้ (9 ต.ค.) นายพิเชษฐ ดุรงคเวโรจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี พร้อมนายทวีศักดิ์ ก่ออนันตกูล ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ และนายสุพันธ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ร่วมกันแถลงผลการประชุม คณะกรรมการพัฒนาระบบนวัตกรรมของประเทศ ครั้งที่ 4/2558 ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุม ว่า ที่ประชุมเห็นชอบการปรับองค์ประกอบคณะอนุกรรมการโดยให้นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานคณะอนุกรรมการจัดทำข้อเสนอการพัฒนาระบบนวัตกรรมไทย และคณะอนุกรรมการเตรียมการจัดตั้งสถาบันพัฒนาเทคโนโลยีระบบขนส่งทางรางแห่งชาติ

ที่ประชุมเห็นชอบในหลักการต่อมาตรการเร่งด่วนการพัฒนาเทคโนโลยีระบบขนส่งทางราง เพื่อสนับสนุนโครงการลงทุนระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพฯ และปริมณฑล ที่เสนอให้ปรับเปลี่ยนวิธีการจัดซื้อจัดจ้างจากการประมูลทีละสายเป็นบิ๊กล็อต และให้รัฐเป็นผู้กำหนดรายละเอียดด้านเทคนิคแทนผู้ได้สัญญาเดินรถ รวมทั้งบรรจุเงื่อนไขในสัญญากับผู้ประกอบการเดินรถเกี่ยวกับการถ่ายทอดเทคโนโลยี การวิจัยร่วมกับสถาบันการศึกษา สถาบันวิจัย หรือหน่วยงานวิจัยกลางของรัฐ ทั้งนี้ ได้มอบหมายให้ฝ่ายเลขานุการประสานกับกระทรวงคมนาคม เพื่อดำเนินการในรายละเอียดต่อไป

การดำเนินงานในขั้นตอนปฏิบัติให้เริ่มจากการเตรียมความรู้ เตรียมคน จากนั้นค่อยขยายไปสู่การผลิตซึ่งอาจเริ่มจากนำของที่มีอยู่มาดัดแปลงชิ้นส่วน เป็นต้น โดยในการดำเนินการขอให้คำนึงถึงตลาด และควรแสวงหาความร่วมมือในระดับภูมิภาคอาเซียนด้วย

ส่วนการสร้างความเข้มแข็งของเกษตรกร และชนบท ด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรม ว่า เพื่อเป็นการลดต้นทุน เพิ่มรายได้ แก้ปัญหาภัยธรรมชาติ ด้วยความรู้ และแนวคิดตามหลักวิทยาศาสตร์ ซึ่งจะนำไปสู่การยกระดับความสามารถของเกษตรกรไทย โดยที่ประชุมได้เห็นชอบในโครงการขยายผลการถ่ายทอดเทคโนโลยีสู่ชุมชน ชนบท ซึ่งเป็นการบูรณาการการทำงานร่วมกัน ระหว่าง 3 กระทรวงได้แก่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (กษ.) กระทรวงมหาดไทย (มท.) และกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ในระดับนโยบาย และระดับปฏิบัติการร่วมกับเครือข่ายสถาบันอุดมศึกษา

ทั้งนี้ ได้ตั้งเป้าหมายการพัฒนาไว้ที่ให้ได้ 200 ชุมชนทั่วประเทศภายในระยะเวลา 2 ปี เพื่อรองรับการแก้ปัญหาภัยแล้งในอนาคต และยกตัวอย่างว่า เช่น รัฐบาลจะสนับสนุนงบประมาณ 10 ล้านบาท เพื่อหาพืชชนิดอื่นมาปลูกทดแทน อาทิ การเตรียมเมล็ดพันธุ์ถั่วเขียว เพื่อให้เกษตรกรเพาะปลูก ซึ่งโรงงานผลิตวุ้นเส้น พร้อมรับซื้อในราคาที่ดี เป็นต้น ขณะที่สินค้าต่าง ๆ ในกลุ่ม 12 คลัสเตอร์ ก็จะมีการพัฒนานวัตกรรมร่วมกับ สวทช. เช่น การพัฒนาด้านเครื่องมือทางการแพทย์ ที่ได้ราคาสูง และยังเป็นสินค้าส่งออกที่อยู่ในทิศทางดี และมอบหมายให้ฝ่ายเลขานุการเสนอเรื่องต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อให้ความเห็นชอบต่อไป

นายพิเชษฐ กล่าวถึงการสนับสนุนนโยบายส่งเสริมให้ประเทศไทยเป็นศูนย์การผลิตรถยนต์ไฟฟ้าในอาเซียน คณะกรรมการได้เร่งรัดให้ ขสมก. ดำเนินการเพื่อขอแก้ไขมติคณะรัฐมนตรี จากเดิมที่เห็นชอบให้จัดซื้อรถ NGV เป็นจัดซื้อรถไฟฟ้าที่ผลิตในไทยจำนวน 500 คัน ให้แล้วเสร็จภายในปีนี้ โดยเน้นคุณภาพ ความปลอดภัย และสร้างความเข้าใจกับประชาชนเป็นหลัก เพื่อนำร่องให้เกิดกระแสการตื่นตัวของอุตสาหกรรมยานยนต์ ในการผลิตรถอนุรักษ์พลังงานประเภทต่าง ๆ มากยิ่งขึ้น พร้อมทั้งให้มหาวิทยาลัย และสถาบันวิจัย เร่งพัฒนาเทคโนโลยีและมาตรฐานสำหรับยานยนต์ไฟฟ้าด้วย

ในเบื้องต้นจะมีการนำเข้ารถไฟฟ้า มาเพียง 1 คัน เพื่อเป็นตัวอย่างในการศึกษา จากนั้นอุตสาหกรรมยานยนต์ไทย จะมีการประกอบชิ้นส่วน เพื่อจัดทำขึ้น ก่อนที่จะนำเรื่องนี้เข้าสู่ ครม. พิจารณาต่อไป ขณะเดียวกัน ก็อยากจะขอประชาสัมพันธ์เชิญชวนหน่วยงานทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน รวมถึงสถาบันการศึกษา ที่พัฒนานวัตกรรม และสิ่งประดิษฐ์ขึ้นเองยื่นความจำนงขึ้นบัญชีนวัตกรรมไทย โดยดูหลักเกณฑ์ต่าง ๆ ได้ที่ www.innovation.go.th ซึ่งรัฐจะให้สิทธิประโยชน์ในการจัดซื้อจัดจ้าง โดยวิธีกรณีพิเศษตามรายการในบัญชีนวัตกรรมไทย เนื่องจากรัฐบาลได้มีความพยายามในการสร้างระบบการรวบรวมนวัตกรรมที่ผลิตโดยคนไทย


กำลังโหลดความคิดเห็น