ยกภัยหมอกควันเป็นปัญหาอาเซียน “บัวแก้ว” ประสาน ก.ทรัพย์ ใช้เวที รมต.สิ่งแวดล้อมอาเซียน ที่เวียดนามปลายเดือนนี้หาทางออก เผยเบื้องต้นถกเวที“จนท.อาวุโสอาเซียน” ที่มาเลเซีย หยิบยกหารือในวงมาเลเซีย สิงคโปร์ และอินโดนีเซีย ด้านผลหารือ กับทูตอินโดฯ รับปากชงอาเซียนร่วมแก้ปัญหา
วันนี้ (8 ต.ค.) มีรายงานว่า ที่กระทรวงการต่างประเทศ นายวิทวัส ศรีวิหค รองปลัดกระทรวงการต่างประเทศ ได้เชิญ นายลุตฟี ราอุฟ เอกอัครราชทูตอินโดนีเซียประจำประเทศไทย เข้าหารือถึงปัญหาไฟป่าและหมอกควันในประเทศอินโดนีเซีย ซึ่งส่งผลกระทบมาถึงภาคใต้ของไทย
นายวิทวัส กล่าวภายหลังว่า ได้รับการชี้แจงสถานการณ์จากเอกอัครราชทูตอินโดนีเซีย ทราบว่า ล่าสุด รัฐบาลอินโดนีเซียไม่ได้นิ่งนอนใจในการดับไฟป่า แต่ปัญหาที่เกิดขึ้นถือว่าหนักหนาสาหัส ขณะที่ความพยายามที่อินโดนีเซียทำอยู่ถือว่าไม่เพียงพอ เขาจึงจะขอรับความช่วยเหลือจากมิตรประเทศในอาเซียนด้วย
“ผมได้แจ้งว่า ไทยมีความพร้อมที่จะช่วยเหลือตามที่จะร้องขอ แต่ต้องรอความชัดเจนจากการประชุมเพื่อวิเคราะห์ว่าต้องการความช่วยเหลืออย่างไรบ้าง เพราะหากมีการให้ความช่วยเหลือภัยพิบัติโดยไม่แยกแยะ อาจไม่ตรงกับความต้องการที่แท้จริง จึงต้องให้เวลาอินโดนีเซียในการจัดเตรียมคำขอมาก่อน”
นายวิทวัส กล่าวว่า เอกอัครราชทูตอินโดฯ ยังได้แสดงความเสียใจต่อผลกระทบที่เกิดขึ้นกับไทยและประเทศใกล้เคียง โดยเข้าใจความห่วงกังวลของรัฐบาลไทยที่ปัญหาอาจส่งผลกระทบต่อการท่องเที่ยวและสุขภาพของประชาชน ทั้งนี้ สาเหตุไฟป่าที่เกิดขึ้นมาจากธรรมชาติและจากฝีมือมนุษย์ ซึ่งรัฐบาลอินโดฯ ยืนยันว่ามีกฎหมายลงโทษผู้กระทำผิดอย่างเด็ดขาดด้วย
วันเดียวกัน นายดอน ปรมัตถ์วินัย รมว.ต่างประเทศ กล่าวก่อนออกเดินทางเยือนประเทศจีน กรณีที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) มอบหมายให้กระทรวงการต่างประเทศประสานงานกับทางการอินโดนีเซีย เรื่องปัญหาหมอกควันในภาคใต้ของไทย ว่า ไทย และอินโดนีเซีย จะหาแนวทางแก้ไขปัญหาเบื้องต้น และวางแนวทางป้องกันร่วมกันในอนาคต โดยเชื่อมั่นว่าการหารือครั้งนี้จะมีความคืบหน้าและความชัดเจนในการแก้ปัญหามากขึ้น
ส่วนเรื่องของข้อกฎหมายที่จะดำเนินการเอาผิดกับประเทศที่ก่อปัญหามลภาวะนั้น ขณะนี้ยังไม่มีความจำเป็นต้องพูดถึง เพราะต้องช่วยกันหาทางแก้ปัญหาเฉพาะหน้าก่อน แต่แนวทางในอนาคตก็จะต้องหารือร่วมกันเพื่อให้ได้ข้อสรุปที่ชัดเจนต่อไป
ในการประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสอาเซียนที่กรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย เจ้าหน้าที่อาวุโสของไทยได้หยิบยกปัญหาหมอกควันที่ส่งผลกระทบมาถึงประเทศไทย ไปพูดคุยในเวทีนี้ที่มีประเทศมาเลเซีย สิงคโปร์ และอินโดนีเซีย ร่วมประชุม ซึ่งจากการคุยเบื้องต้น ทุกประเทศทราบปัญหาดีและเข้าใจตรงกันว่าการช่วยกันดูแลและร่วมมือแก้ปัญหานี้เป็นเรื่องที่ดี แม้กระทั่งบางประเทศที่ไม่ได้รับผลกระทบด้วยก็ยังเห็นพ้องร่วมกัน
นายดอน กล่าวอีกว่า ในเร็ว ๆ นี้ จะมีการประชุมรัฐมนตรีสิ่งแวดล้อม ที่กรุงฮานอย ประเทศเวียดนาม ระหว่างวันที่ 27-29 ต.ค.นี้ ซึ่งทุกประเทศในอาเซียนจะไปร่วมพูดคุย โดยตนได้ประสานให้รัฐมนตรีของไทยที่จะเข้าร่วมประชุมดังกล่าว หยิบยกประเด็นปัญหาหมอกควันมาร่วมหารือในที่ประชุมด้วย เพื่อกระตุ้นให้มีการดูแลและแก้ปัญหานี้อย่างเอาจริงเอาจังร่วมกัน และนำไปสู่การวางแนวทางป้องกันในอนาคตต่อไป
กองทัพอากาศ ส่งเครื่องบินโปรยน้ำลดปัญหา
ก่อนหน้านั้น พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กล่าวว่า รัฐบาลได้แก้ไขปัญหาเบื้องต้นในการฉีดน้ำในพื้นที่เพื่อลดหมอกควัน และแจ้งไปยังประเทศต้นทางแล้วว่าประเทศไทยกำลังแก้ปัญหาอยู่ เชื่อว่า เขาก็ไม่อยากให้เกิดไฟไหม้ขึ้นมา ทั้งนี้ปัญหาหมอกควันก็ต้องแก้ที่ปัญหาบุกรุกป่าให้ได้ ซึ่งเป็นสถานการณ์เดียวกับที่ทั้งโลกกำลังเผชิญอยู่ เพราะทุกคนมุ่งทำแต่การเกษตรเพียงอย่างเดียว ส่วนเรื่องปัญหาสุขภาพของผู้ที่ได้รับผลกระทบนั้น ทางจังหวัดจะจัดให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด เข้าไปดูแล ซึ่งขณะนี้ได้มีการตั้งศูนย์สำหรับดูแลผู้ได้รับผลกระทบจากปัญหาหมอกควันโดยตรงแล้ว เราต้องแก้ไขปัญหานี้จากต้นทาง กลางทาง ปลายทาง เราจะไปแก้อะไรได้ ตอนนี้ก็ต้องดูแลด้านสาธารณสุขคนของเราให้ดี แจกหน้ากากอนามัย และถ้าไม่จำเป็นก็อย่าออกไปข้างนอก อย่าไปสูบบุหรี่เพิ่ม อย่าไปในพื้นที่ที่มีควัน
ด้าน พล.อ.ต.พงษ์ศักดิ์ เสมาชัย ผู้อำนวยการสำนักนโยบายและแผน กรมกิจการพลเรือนทหารอากาศ ในฐานะรองโฆษกกองทัพอากาศ กล่าวว่า พล.อ.อ.ตรีทศ สนแจ้ง ผู้บัญชาการทหารอากาศ (ผบ.ทอ.) ได้สั่งการให้ศูนย์บรรเทาสาธารณภัยกองทัพอากาศดำเนินการช่วยเหลือ โดยใช้อากาศยานของกองทัพอากาศ ขึ้นปฏิบัติภารกิจการบินโปรยน้ำเพื่อลดปริมาณหมอกควันและลดปัญหามลพิษในอากาศ
“ได้จัดเครื่องบินลำเลียงแบบที่ 2 ก (บีที-67) จำนวน 1 เครื่อง เพื่อปฏิบัติภารกิจโปรยน้ำในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบ กำหนดเข้าที่ตั้งกองบิน 56 จ.สงขลา ในวันที่ 9 ต.ค. นี้ โดยวางแผนกำหนดพื้นที่บินร่วมกับ จ.สงขลา และศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เขต 12 จ.สงขลา ในพื้นที่ชุมชนที่มีประชาชนอาศัยหนาแน่น ซึ่ง 1 เที่ยวบินสามารถบรรจุน้ำได้ประมาณ 3,000 ลิตร ครอบคลุมพื้นที่ได้ประมาณ 1 ไร่ และเป็นน้ำสะอาดที่ไม่เป็นอันตรายต่อมนุษย์และสิ่งมีชีวิตอื่น ๆ” พล.อ.ต.พงษ์ศักดิ์ กล่าวและว่ากองทัพอากาศ ได้จัดเครื่องบินโจมตีและธุรการแบบที่ 7 (เอยู-23 เอ) จำนวน 1 เครื่อง ทำการบินกระจายเสียงให้คำแนะนำประชาชนในการปฏิบัติตัวภายใต้สถานการณ์หมอกควัน เพื่อหลีกเลี่ยงผลกระทบต่อสุขภาพ และการดำเนินชีวิตประจำวันอีกด้วย