xs
xsm
sm
md
lg

ชาวบ้าน ต.นิคมสงเคราะห์ค้านสร้างโรงกำจัดขยะในพื้นที่

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

ชาวบ้าน 6 หมู่บ้านในเขตต.นิคมสงเคราะห์ อ.เมืองอุดรธานี ยื่นหนังสือคัดค้านก่อสร้างศูนย์กำจัดขยะแบบบูรณาการต่อศูนย์ดำรงธรรมอุดรธานี
อุดรธานี - ชาวบ้าน 6 หมู่บ้านใน ต.นิคมสงเคราะห์ อ.เมือง กว่า 50 คน บุก อบต.นิคมสงเคราะห์ และศูนย์ดำรงธรรม ค้านศูนย์กำจัดขยะแบบบูรณาการในพื้นที่ หวั่นปัญหามลภาวะ ทั้งบริษัททำประชาคมไม่โปร่งใส ขาดการมีส่วนร่วมของประชาชนในพื้นที่ วอนพ่อเมืองทบทวนโครงการ

วันนี้ (5 ส.ค.) นายถวิล คูณเศรษฐ์ และนายดิเรก เคนหาญ แกนนำพร้อมชาวบ้าน ต.นิคมสงเคราะห์ อ.เมือง จ.อุดรธานี จำนวน 6 หมู่บ้าน ประกอบด้วย บ้านโนนบุญมี บ้านนิคม 1-3 บ้านเตาอิฐ บ้านนิคมพัฒนา บ้านปากดง และบ้านนาแอง กว่า 50 คน เข้ายื่นหนังสือร้องเรียนต่อ นายอนนที ศรีพรหม นายกองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) นิคมสงเคราะห์ และศูนย์ดำรงธรรมจังหวัด คัดค้านโครงการก่อสร้างศูนย์กำจัดขยะแบบบูรณาการ ของบริษัท เอ็ม.บี.ที.เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนซัลแทนท์ จำกัด ซึ่งตั้งอยู่ ต.นิคมสงเคราะห์

ทั้งนี้ หนังสือร้องเรียนระบุเหตุผลว่า โครงการไม่ศึกษาผลกระทบด้านสุขภาพ ด้านสิ่งแวดล้อม และด้านสังคมที่แท้จริง นอกจากนี้ ประชาชนในพื้นที่ได้รับผลกระทบไม่มีส่วนร่วมแสดงความคิดเห็น และการประชาคมที่จัดขึ้นก็ไม่โปร่งใส ไม่มีหน่วยงานราชการในพื้นที่ และระดับจังหวัดเข้ามารับฟังความคิดเห็นและแนวทางการจัดทำบ่อขยะ และไม่มีแนวทางแก้ไขปัญหาที่จะเกิดขึ้นทั้งในระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว

นายอนนที ศรีพรหม นายก อบต.นิคมสงเคราะห์ เปิดเผยว่า ตนขอดูรายละเอียดของหนังสือร้องเรียนก่อนว่าควรจะดำเนินการอย่างไรต่อไป หากเป็นไปได้จะลงพื้นที่ชี้แจงกับชาวบ้านด้วยตัวเองทุกหมู่บ้าน โดยมีส่วนราชการ และตัวแทนของบริษัทเข้าร่วมชี้แจงด้วย ซึ่งโครงการก่อสร้างศูนย์กำจัดขยะแบบบูรณาการนี้ตนเห็นดีด้วย เพราะเกิดการจ้างงานในพื้นที่ ชาวบ้านสามารถซื้อปุ๋ยน้ำในราคาถูก มีที่ทิ้งขยะ ทำลายขยะที่ถูกวิธี และไม่ต้องแบกภาระค่าใช้จ่ายกำจัดขยะ ซึ่งต้องจ่ายให้เทศบาลนครอุดรธานีปีละ 27,000 บาท ที่สำคัญ อบต.ยังจะได้รับเงินปันผลจากกำไรร้อยละ 2 ต่อปี

ด้านนายถวิล คูณเศรษฐ์ แกนนำชาวบ้าน กล่าวว่า หลังจากมีโครงการสร้างโรงไฟฟ้าขยะ ไม่รู้ว่าจะมีผลกระทบต่อประชาชนในพื้นที่อย่างไร และทราบตามข่าวที่ได้นำเสนอทางสื่อที่มีการก่อสร้างที่จังหวัดปทุมธานี ก็ไม่เห็นว่ามีประสิทธิภาพในการควบคุมมลพิษได้อย่างมีประสิทธิภาพ อีกทั้งมีชาวจังหวัดปทุมธานีที่อยู่ในพื้นที่ได้แสดงพลังคัดค้านเช่นกัน

โดยเฉพาะประชาชนใน ต.นิคมสงเคราะห์ ที่จะมีการก่อสร้างโรงไฟฟ้าขยะ ยังไม่รู้รายละเอียดอย่างไร ไม่มีใครทราบว่าทางบริษัทได้ดำเนินการตามขั้นตอนกฎหมายอย่างไร ได้รับข้อมูลเพียงวิดีทัศน์ของบริษัทที่ฉายให้ประชาชนดูเมื่อครั้งที่บริษัทฯ มาทำ MOU กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเมื่อ 2 กรกฎาคมที่ผ่านมา ส่วนราชการเองก็ไม่เคยลงพื้นที่ประชาสัมพันธ์โครงการดังกล่าวให้ประชาชนได้รับทราบว่าจะมีผลดี ผลเสีย อย่างไร

ประชาชนที่อยู่ในพื้นที่ใกล้เคียงกับพื้นที่ของโครงการเกรงจะได้รับผลกระทบจากโครงการดังกล่าว หากก่อสร้างโรงไฟฟ้าขยะดังกล่าวขึ้นแล้วส่งผลกระทบต่อประชาชนใครจะรับผิดชอบผลที่เกิดขึ้น ชาวบ้านมีความเห็นร่วมกันว่า ผู้ว่าราชการจังหวัดอุดรธานีและหัวหน้าส่วนราชการที่จะตัดสินใจว่าจะให้บริษัทดังกล่าวสร้างโรงกำจัดขยะหรือไม่

“ที่ผ่านมาบริษัทเคยลงพื้นที่พบประชาชนที่ อบต.นิคมสงเคราะห์ ซึ่งชาวบ้านกลุ่มดังกล่าวเป็นคนของบริษัทเกณฑ์มา ไม่เคยมีนักวิชาการด้านสิ่งแวดล้อมลงพบประชาชนสักครั้ง แม้กระทั่งคนของบริษัทเองก็ไม่เคยลงพื้นที่พบประชาชนตามหมู่บ้าน อ้างว่าได้รับอนุญาตก่อสร้างจาก อบต.แล้ว โดยลงนามใน MOU เมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม 2558 ทั้งบริษัทยังอ้างว่ามีประชาชนในพื้นที่ 72% เห็นชอบกับโครงการแล้ว” นายถวิลกล่าว

ด้านนางลักขณา ปัตถาวโร อายุ 53 ปี อยู่บ้านเลขที่ 14 ม.4 บ้านนิคม 1 ต.นิคมสงเคราะห์ กล่าวว่า ตนพร้อมเพื่อนชาวบ้านหวาดกลัวมลภาวะสิ่งแวดล้อมที่จะเกิดขึ้น เพราะตนกับเพื่อนมีบ้านอยู่ติดพื้นที่ที่จะก่อสร้างด้วย



กำลังโหลดความคิดเห็น