ประธานกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ รับยังไม่ได้ศึกษาจุดอ่อนร่าง รธน.ฉบับปี 58 ยังไม่คิดเรื่องอำนาจพิเศษ ถามจะมีรัฐซ้อนรัฐไปทำไม ยันไม่ต้องเหมือนสากลหมด อยู่ที่บ้านเมืองกังวลอะไร แย้มคุย “บวรศักดิ์” เย็นนี้ให้เป็นกุนซือไม่ทางการ จ่อถามองค์กรอิสระ ขออย่าเพิ่งคาดคั้น เล็งดูควรมีวิธีป้องกันโกงก่อนจะเสียหายหรือไม่ วอนทุกคนช่วยคิด ย้ำไม่มีใครสั่งตนได้ ถ้าบังคับให้เขียนโดยที่ตนไม่เห็นด้วยก็เลิก ส่วนปฏิรูปและปรองดองถ้าจำเป็นก็ต้องใส่ ยันไม่มีหมกเม็ด รับไม่ค่อยสบายใจงานหนัก เที่ยวไม่ได้
วันนี้ (8 ต.ค.) ที่รัฐสภา นายมีชัย ฤชุพันธ์ ประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) กล่าวถึงแนวทางในการร่างรัฐธรรมนูญว่ากำลังไล่ดูตามกรอบที่กำหนดไว้ในมาตรา 35 ของรัฐธรรมนูญชั่วคราว และ 5 ข้อที่นายกรัฐมนตรีมอบให้ แต่ขณะนี้ยังไม่ได้ศึกษาจุดอ่อนของร่างรัฐธรรมนูญปี 58 ที่ไม่ผ่านความเห็นชอบของ สปช. จึงไม่ทราบว่าสาเหตุที่ไม่ผ่านเป็นเพราะอะไร และในการโหวตคว่ำรัฐธรรมนูญครั้งนั้นก็ไม่มีการให้เหตุผลว่าไม่รับเพราะอะไร ส่วนเรื่อง คปป.ที่ถูกวิจารณ์อย่างหนักว่าเป็นอำนาจรัฐซ้อนรัฐนั้น ตนยังยังตอบอะไรไม่ได้เพราะกำลังดูกรอบรัฐธรรมนูญที่บังคับไว้ จากนั้นมาดูเนื้อในว่าจำเป็นต้องมีบทบัญญัติอะไรบ้างซึ่งต้องให้เวลา เพราะไม่ใช่ว่า 2 วันจะคิดเสร็จ ถ้าเป็นอย่างนั้นระยะเวลา 180 วันก็ยาวเกินไป 7 วันก็เสร็จ แต่ปัญหาคือคิดไม่ออกว่าที่จะให้วางกลไกในเรื่องต่างๆ จะวางอย่างไร คิดยากเพราะบางเรื่องใช้เวลาทั้งชั่วโมงก็ไม่ได้อะไร จึงต้องระดมมันสมองและรับฟังความคนอื่น ตนก็รอฟังจากคนข้างนอกด้วยว่าจะมีข้อเสนออะไรบ้าง สำหรับกรณีที่มีการพูดว่าจำเป็นต้องมีช่วงเปลี่ยนผ่าน เช่น ภาค 4 การปฏิรูปปรองดองและมีวาระพิเศษนั้น ตนไม่มีธงเกี่ยวกับเรื่องนี้ ซึ่งยังไม่ได้คิดว่าในสถานการณ์บ้านเมืองอย่างนี้จำเป็นต้องมีอำนาจพิเศษ 5 ปีหรือไม่
ผู้สื่อข่าวถามว่า การเขียนรัฐธรรมนูญครั้งนี้จะสร้างกลไกหรือกลายเป็นการสร้างอำนาจใหม่ นายมีชัยกล่าวยืนยันว่า ไม่ได้คิดเพราะเป็นคำถามที่ตอบยาก เนื่องจากสมมติฐานที่อยู่บนความคลาดเคลื่อน เพราะไม่ว่าอย่างไรทุกองค์กรเป็นของรัฐ ผู้สื่อข่าวถามว่า แต่อำนาจรัฐธรรมนูญให้อำนาจ คปป.อยู่เหนือทุกอย่างแล้วหลักคิดของท่านคืออะไร นายมีชัยกล่าวว่า ยังไม่ได้คิด เพราะถ้าคิดกลไกไม่ออกจะบอกว่าต้องมีไอ้นั่นไอ้นี่ไม่ได้ เบื้องต้นต้องคิดก่อนว่าจะแต่งงานกับผู้หญิงหรือผู้ชาย พอได้แล้วคิดต่อว่าจะเอาหน้าตาแบบไหน
เมื่อถามว่า ในรัฐธรรมนูญควรมีผลบัญญัติที่ทำให้เกิดอำนาจรัฐซ้อนรัฐหรือไม่ นายมีชัยกล่าวว่า จะมีไปทำไม รัฐธรรมนูญที่จะได้รับการยอมรับจากสากลบางอย่างเราอาจจะทำแต่สากลไม่ทำ เช่น เราเขียนเรื่องศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ต้องได้รับความคุ้มครอง แต่สากลไม่เขียนแต่เขาก็ยอมรับ ดังนั้น การร่างรัฐธรรมนูญไม่ได้หมายความว่าต้องมีเหมือนสากลทั้งหมด หรือลอกมาแต่ต้องกำหนดแนวคิดเพื่อจะแก้ปัญหาบ้านเมืองได้ เช่น เกือบทุกประเทศไม่มีใครเขียนเรื่อง ป.ป.ช.ไว้ในร่างรัฐธรรมนูญ แต่เราก็เขียนซึ่งคนก็ยอมรับ จึงขึ้นอยู่กับสภาพปัญหาบ้านเมืองว่าเรากังวลเรื่องอะไร และกลัวว่าถ้าไม่เขียนเป็นแนวทางไว้จะไม่ได้ทำก็ไปเขียนไว้ แต่จะเขียนอย่างไรยังตอบไม่ได้ในขณะนี้
นายมีชัยยังกล่าวถึงการแต่งตั้งที่ปรึกษาคณะกรรมการยกร่างรัฐธรรมนูญว่า จะเชิญเลขาธิการที่ยกร่างรัฐธรรมนูญ 3 ฉบับมา แต่ยังไม่ได้คุยกับนายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ อดีตประธานกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ตนไม่ทราบว่ามีการปฏิเสธที่จะไม่รับตำแหน่งกับผู้สื่อข่าว ซึ่งถ้าท่านบอกว่าพร้อมทำงานโดยไม่รับตำแหน่งตนก็อาจให้เป็นที่ปรึกษาโดยไม่มีตำแหน่งเป็นที่ปรึกษาก็ได้ แต่ยังไม่ได้หารือ เย็นนี้จะเจอกัน ตนคงบอกไม่ได้ว่าเขาจะรับหรือไม่เพราะเดาใจคนอื่น เหมือนกับขอความรักสาวแล้วไปเดาใจสาวได้อย่างไร นอกจากนี้จะเชิญองค์กรอิสระมาให้ความเห็นเพื่อดูอุปสรรคและปัญหาว่าต้องเครื่องมืออะไรเพิ่มเติมเพื่อจะได้บรรลุเป้าหมาย
ส่วนกรณีที่ ป.ป.ช.ท้วงติงในร่างรัฐธรรมนูญปี 58 ว่าตัดทอนอำนาจการไต่สวนของ ป.ป.ช. เหลือแค่ระดับปลัดกระทรวงและหน่วยงานควรมีการปรับเปลี่ยนหรือไม่นั้น นายมีชัยกล่าวว่า เดิม ป.ป.ช.สอบได้หมด แต่คดีซับซ้อนจนแกะไม่ออก หมักหมมมาก ทำให้มีการตั้ง ป.ป.ท.มาดูแลการทุจริตในภาครัฐ แต่ยังให้อำนาจ ป.ป.ช.มอบหมายให้ ป.ป.ท.สอบ ตั้งแต่ผู้บริหารระดับล่าง ดังนั้นอำนาจทั้งหมดจะยังอยู่ที่ ป.ป.ช. ตนไม่ทราบว่ามีการเปลี่ยนแปลง เพราะขณะนี้ในร่างรัฐธรรมนูญนั้นก็ไม่มีแล้ว ซึ่งตนจะหารือเรื่องเหล่านี้ด้วยเพราะแม้ว่าจะได้รับโจทย์ให้กำหนดมาตรการปราบปรามการทุจริต และคอร์รัปชัน แต่ไม่ใช่ง่ายเหมือนหนึ่งบวกหนึ่งเท่ากับสอง ดังนั้นจึงขอว่าอย่าเพิ่งคาดคั้น เพราะถ้าตนตอบเองได้คนเดียวคงไม่ต้องตั้ง 21 คน ให้ตนร่าง 3 วันก็เสร็จ แต่ทำอย่างนั้นไม่ได้ เพราะรัฐธรรมนูญต้องรับฟัง และช่วยกันคิด คีย์เวิร์ดอยู่ตรงนี้คือช่วยกันคิด ขอให้สื่อช่วยกระจายหน่อย
ส่วนการปราบทุจริตควรมี 2 ศาลหรือไม่นั้น นายมีชัยกล่าวว่า ตนยังไม่ได้คิดเพราะต้องฟังปัญหาก่อนว่าจะหาทางออกกันอย่างไรและยังไม่ได้ศึกษาความแตกต่างระหว่างรัฐธรรมนูญปี 50 ที่ให้คดีทุจริตของนักการเมืองอุทธรณ์ต่อที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาเฉพาะประเด็นข้อเท็จจริง แต่ในร่างรัฐธรรมนูญปี 58 ให้อุทธรณ์แล้วตั้งองค์คณะใหม่ว่าสองอย่างนี้แบบไหนจะดีกว่ากัน อย่างไรก็ตามตนเคยพูดว่ารัฐธรรมนูญไม่สามารถแก้ปัญหาประเทศชาติได้ทั้งหมดถ้าคิดในวงจำกัด แต่จะแก้ได้ถ้าทุกคนช่วยกันคิด อย่ารอเพียงผลแล้วมาบอกว่าพอใจหรือไม่พอใจ
นายมีชัยกล่าวด้วยว่า ได้มีการหารือเกี่ยวกับกลไกการปราบปรามการทุจริตว่า ที่ผ่านมาไปเน้นเรื่องการปราบคือเกิดผลเสียหายแล้วซึ่งไม่ทันการณ์ กลไกในการป้องกันไม่ได้รับความเอาจริงเอาจังมากนัก อาจจะต้องมีกลไกในการระงับก่อนที่จะเสียหายหรือไม่ เป็นการตั้งคำถามไว้แต่ยังคิดไม่ออกว่าจะกำหนดอย่างไร กำลังพิจารณาองค์กรที่มีอยู่ในปัจจุบัน เพราะไม่จำเป็นจริงๆ ไม่อยากสร้างองค์กรใหม่ขึ้นมา เพราะไม่ใช่ของดีที่จะสร้างองค์กรใหม่จนกระทั่งอำนาจกระจายออกไปหมดแล้วหาคนรับผิดชอบไม่ได้ เคยสังเกตหรือไม่ว่าที่ตั้งองค์กรใหม่ๆ ขึ้นมาทำให้ที่สุดรัฐบาลลอยตัว เพราะอำนาจเป็นของคนอื่นในที่สุด ต่อไปเราอาจต้องย้อนถามว่าแล้วจะมีรัฐบาลไว้ทำไม จึงต้องดูให้รอบคอบ
ผู้สื่อข่าวถามว่า ในฐานะที่ผ่านความยากลำบากสถานการณ์บ้านเมืองหลายครั้ง คิดว่าร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้จะช่วยเปลี่ยนผ่านบ้านเมืองคืนคู่ความสงบได้หรือไม่ นายมีชัยกล่าวว่า เป็นเจตจำนงของ คสช. แต่สติปัญหาของ 21 คนจะคิดออกหรือไม่ยังไม่รู้ จึงอ้อนวอนให้คน 65 ล้านคนมาช่วยคิด ส่วนที่นายกฯ ให้หลักมา 5 ข้อก็อยู่ในมาตรา 35 ของรัฐธรรมนูญชั่วคราวอยู่แล้ว แต่ต้องไปดูในรายละเอียด เพราะถึงแม้ไม่กำหนดมาเราก็คงไม่กำหนดเรื่องการทุจริตหรือการเลือกตั้งได้ โดยยืนยันว่าตนสามารถทำงานได้อย่างอิสระ และไม่มีใครสั่งตนได้
เมื่อถามว่า ในร่างรัฐธรรมนูญจำเป็นต้องเขียนเรื่องการปฏิรูปและการปรองดองไว้หรือไม่ ประธาน กรธ.กล่าวว่า เขาก็อยากให้มีกลไกการปฏิรูปและการปรองดอง ฉะนั้นถ้าจำเป็นต้องเขียนก็ต้องเขียนแต่อย่าเพิ่งถามว่าเขียนอย่างไรเพราะคิดไม่ออก แต่ถ้าคิดอะไรออกเราจะคิดหลายๆ ทางแล้วนำความคิดนั้นไปสำรวจความเห็น อาจแยกทำ 2 ส่วนคือส่วนหนึ่งถามความเห็นของสื่อที่อยู่ในสภา อีกสวนหนึ่งถามประชาชน เช่น ถ้าเรามีสองแบบก็เปิดให้มีการเสนอแบบที่ 3 ได้ ซึ่งจะไม่มีการหมกเม็ดเนื้อหามาโผล่ในวันสุดท้าย แต่จะมีการถามสื่อมวลชนอยู่เรื่อยๆ ก็จะบันทึกว่าสื่อเห็นดีเห็นงามด้วยแล้ว
นายมีชัยยอมรับว่า หนักใจที่รับตำแหน่งนี้ เรียกว่าไม่ค่อยสบายใจเพราะตนเที่ยวจนเคย ทำให้ไปเที่ยวไม่ได้และงานก็หนัก อีกทั้งมีข้อจำกัดเพราะจะทำที่บ้านก็ไม่ได้ จะหนีสื่อก็ไม่ได้ ส่วนอย่างอื่นไม่มีข้อจำกัดอะไร ที่สื่อนึกว่ามีคนสั่งอย่างโน้นอย่างนี้ จริงๆ แล้วไม่มี เพราะถ้ามีความจริงอาจจะดีขึ้นก็ได้ซึ่งในการเปิดรับฟังความเห็นมีเหตุมีผลตนก็พร้อมปฏิบัติ
“เรื่องของรัฐธรรมนูญหัวใจสำคัญที่สุดคือการกำหนดดุลอำนาจ เพราะรัฐธรรมนูญคือการรับรององค์อำนาจ และความสัมพันธ์ระหว่างอำนาจ และดุลแห่งอำนาจที่จะถ่วงกันและกันเป็นหลักสำคัญ ขณะนี้มีทั้งหมด 8 อำนาจ คือ 3 อำนาจหลัก และองค์กรอิสระต่างๆ ก็ต้องดูว่าจำเป็นต้องมีดุลอำนาจที่ 9 หรือไม่ แต่ผมพยายามที่จะไม่ให้มี โดยอำนาจที่จะเกิดใหม่ต้องสามารถตรวจสอบได้ ไม่อยู่เหนือกฎหมาย ต้องจำไว้ว่างทุกองค์กรต้องมีการตรวจสอบ แต่ถ้าแนวคิดของผมไม่ตรงกับผู้มีอำนาจ ผู้มีอำนาจก็คงเป็นทุกข์ แต่ถ้าผมไม่เห็นด้วยผมก็ไม่ยอม จะทำตามที่ผมเห็นสมควรและให้กรรมการทั้ง 21 คนพิจารณาว่าดีจริง เพราะเป็นความรับผิดชอบ แต่ถ้ามาบังคับให้เขียนทั้งที่ไม่เห็นด้วยก็เลิกเขียน เพราะร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ประชาชนเป็นผู้ตัดสินใจว่าจะผ่านร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้หรือไม่” นายมีชัยกล่าว