xs
xsm
sm
md
lg

แกนนำ นปช.ท้า “มีชัย” แก้ ม.35 (รธน.ชั่วคราว) เพิ่มในกรอบ 5 ประการ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

นายจตุพร พรหมพันธุ์
แกนนำ นปช. ท้า “มีชัย” แก้มาตรา 35 (รธน.ชั่วคราว) เพิ่มในกรอบ 5 ประการ ก่อนร่างฉบับใหม่ ไมเชื่อได้ประชาธิปไตยสากล ซ้ำรอยฉบับบวรศักดิ์ ด้าน “ณัฐวุฒิ” เชื่อ “กรธ.- สปท.” แค่ตรายางในเรือแป๊ะ “เพื่อไทย” ขอบคุณสมาชิกลาออกไม่ให้กระทบจุดยืนพรรค

วันนี้ (7 ต.ค.) นายจตุพร พรหมพันธุ์ ประธานแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) กล่าวในรายการ “มองไกล” ผ่านเว็บไซต์ยูทิวบ์ ตอนหนึ่งว่า ไม่เชื่อว่า นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) จะร่างรัฐธรรมนูญที่เป็นประชาธิปไตยสากล เพราะอดีตบ่งบอกถึงการทำงานร่วมกับคณะยึดอำนาจมาเสมอ นายมีชัย ไม่เคยมีประวัติศาสตร์ เขียนรัฐธรรมนูญที่เป็นประชาธิปไตย ที่สำคัญ ยังเป็นบุคคลที่เข้าร่วมกับคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) มาตั้งแต่ต้น การที่ นายมีชัย มาเป็นประธาน กรธ. ครั้งนี้ คงเป็นครั้งสุดท้ายในชีวิต เพราะแก่มากแล้ว แต่การประกาศว่าสั่งไม่ได้ และต้องการทดแทนคุณแผ่นดินนั้น บทเรียนของ นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ อดีตประธานกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ได้มีให้เห็นแล้ว ซึ่งถูกพวกเดียวกันจัดการอย่างเจ็บปวด และจบลงอย่างย่อยยับที่สุด

ส่วนที่ นายมีชัย ระบุว่า ต้องการร่างรัฐธรรมนูญเพื่อนำมาใช้ทั้งประเทศ ไม่ได้เขียนตามใจตัวเองนั้น หากมีความต้องการเช่นนั้นจริง นายมีชัย ควรกล้าประกาศแก้ไขรัฐธรรมนูญ (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ. 2557 ในมาตรา 35 ทั้งสิบวงเล็บ ซึ่งเป็นกรอบในการร่างรัฐธรรมนูญเสียก่อน ถ้าไม่แก้แล้ว ย่อมมีผลลัพธ์ไม่แตกต่างจากร่างรัฐธรรมนูญชุดของนายบวรศักดิ์ ที่ถูกคว่ำไป และการที่นายมีชัยวางกรอบการเขียนรัฐธรรมนูญไว้ 5 ประการ ตนเชื่อว่าไม่สามารถทำให้รัฐธรรมนูญเป็นสากลได้ เพราะมี มาตรา 35 บังคับแนวทางเอาไว้

“จึงไม่คาดหวังว่าจะได้ประชาธิปไตย โดยการเขียนรัฐธรรมนูญจากนายมีชัย และถ้าไม่เป็นประชาธิปไตย ก็ต้องคว่ำในช่วงการทำประชามติ ร่างใหม่ไม่เป็นประชาธิปไตยก็คว่ำไปเรื่อย ๆ ต้องแข่งความอดทนกัน ใครจะอยู่ยาวหรือไม่ ต้องการอยู่ก็อยู่ไป แต่ไม่เป็นประชาธิปไตยร้อยครั้งก็คว่ำกันทั้งร้อยครั้งเช่นกัน ถ้าหวังให้ประเทศเดินหน้านับหนึ่ง ทุกฝ่ายควรให้ฉันทามติต่อประชาชน ว่า จะเดินหน้าไปเป็นประชาธิปไตย ใครขัดขวางต้องถูกจัดการ” ประธาน นปช. กล่าว

ด้าน นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ เลขาธิการ นปช. กล่าวว่า ตนเห็นรายชื่อทั้ง กรธ. และ สปท. แล้ว เข้าใจว่าแนวคิดในการคัดเลือกบุคคลเข้าดำรงตำแหน่ง ยังเป็นแบบเดียวกับการแต่งตั้งคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ และสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ซึ่งเพิ่งพ้นหน้าที่ไป โดย กรธ. ใช้นักกฎหมาย นักวิชาการและฝ่ายอนุรักษนิยม เป็นตัวยืน ขณะที่ สปท. แม้พยายามให้เกิดภาพการมีส่วนร่วมของทุกฝ่าย แต่เสียงส่วนใหญ่ยังเป็นอดีตสมาชิกเรือแป๊ะ และข้าราชการ ซึ่งพร้อมทำงานตามสัญญาณผู้มีอำนาจ ส่วนกรณีที่มีสมาชิกจาก นปช. และพรรคเพื่อไทย เข้าร่วม สปท. นั้น เป็นวาระส่วนบุคคล

ทั้งนี้ โดยหลักการหัวใจของภารกิจนี้อยู่ที่สาระซึ่งจะปรากฏออกมา ไม่ใช่การชี้ว่ามานั่งทุกฝ่ายแล้วต้องยอมรับผลสรุป เพราะหากเนื้อหาเป็นประชาธิปไตยชัดเจนแก้ปัญหาได้จริง แม้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้า คสช. ใช้มาตรา 44 ประกาศออกมา ก็อาจยอมรับได้ แต่หากเนื้อหาไม่ใช่ ต่อให้มีทุกฝ่ายไปร่วม ก็มีสถานะเพียงตรายาง

นายนพดล ปัทมะ อดีต รมว.ต่างประเทศ และแกนนำพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า กรณีอดีตคนพรรคเพื่อไทย เป็นสมาชิก สปท. เป็นสิทธิส่วนบุคคล แต่พรรคเพื่อไทยยืนยันหลักการเดิมว่าพรรคไม่ได้ส่งตัวแทนและต้องขอบคุณที่สมาชิกพรรคที่ไปเป็น สปท. แล้วต่อมาได้ลาออกจากการเป็นสมาชิกพรรค เพื่อไม่ให้กระทบต่อจุดยืนของพรรค และพรรคไม่ได้โกรธเคืองสมาชิกเหล่านั้น


กำลังโหลดความคิดเห็น