“ประวิตร” แจงรัฐบาลไม่ได้ห้ามปรามกลุ่มต้านซิงเกิลเกตเวย์ ชี้เป็นแค่การเคลี่อนไหวของผู้ที่ไม่เข้าใจ รับนายกฯ สั่งการให้ไปศึกษาระบบสามารถทำอะไรได้บ้างให้เป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติ ด้าน “ประเกียรติ นาสิมมา” อดีต ส.ส.เพื่อไทย โผล่ยื่น สนช.หนุน เชื่อเป็นประโยชน์ต่อความมั่นคง
วันนี้ (5 ต.ค.) มีรายงานว่า พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ออกมายืนยันว่าขณะนี้ พล.อ.ประยุทธิ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้สั่งการให้ไปศึกษาโครงการระบบอินเทอร์เน็ตของประเทศตามนโยบายเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตระหว่างประเทศผ่านโครงข่ายช่องทางเดียว หรือระบบซิงเกิลเกตเวย์ ว่าเป็นอย่างไรบ้าง สามารถทำอะไรได้บ้างให้เป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติ โดยยังไม่มีการดำเนินการใดๆ เลย และไม่มีการใช้งบประมาณสักบาทเดียว และในส่วนของการห้ามการเคลื่อนไหวของกลุ่มผู้คัดค้านระบบซิงเกิลเกตเวย์นั้นทางรัฐบาลไม่ได้มีการห้ามปรามทั้งสิ้น
“ยังคงอยู่แค่ขั้นตอนศึกษาเท่านั้น ไม่มีการดำเนินการอะไรทั้งนั้น สบายใจได้เลย เพราะเป็นแค่การเคลื่อนไหวและเป็นการโจมตีของผู้ที่ไม่เข้าใจเท่านั้น ที่กล่าวว่าจะมาปิดกั้น” พล.อ.ประวิตรกล่าว
วันเดียวกัน ที่รัฐสภา นายประเกียรติ นาสิมมา อดีต ส.ส.พรรคเพื่อไทย ยื่นหนังสือต่อประธานกรรมาธิการการบริหารราชการแผ่นดิน สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) โดยมี พล.อ.มารุต ปัชโชตะสิงห์ สมาชิก สนช.เป็นผู้รับ เพื่อสนับสนุนให้รัฐบาลเดินหน้านโยบายซิงเกิลเกตเวย์ (Single Gateway) โดยนายประเกียรติกล่าวว่าจะเป็นสิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อความมั่นคงของชาติในทั้ง 3 ด้าน คือ ด้านความมั่นคง ด้านการเมือง และด้านเศรษฐกิจ ในแง่ของการกำกับดูแลข้อมูลต่างๆ บนระบบอินเทอร์เน็ต
นายประเกียรติกล่าวอีกว่า ตนมายื่นหนังสือเพื่อขอให้ตั้งคณะกรรมการเพื่อศึกษาข้อดีและข้อเสียหากมีการใช้นโยบายซิงเกิลเกตเวย์ขึ้นมา ทั้งนี้ตนไม่เชื่อว่านโยบายนี้จะทำให้มีเกตเวย์เหลือแค่เกตเวย์เดียว เพื่อให้ข้อมูลไหลผ่านตามที่มีการวิจารณ์กัน เกตเวย์นั้นอันที่จริงสามารถมีได้หลายเครื่อง ตนอยากจะให้ใช้คำว่าซิงเกิลไซต์เกตเวย์ (Single Site Gateway) มากกว่า ซึ่งก็หมายความว่าเกตเวย์อาจจะอยู่ในตึกเดียวกัน แต่มีการจดทะเบียนให้ถูกต้องซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการกำกับดูแลข้อมูลข่าวสาร
ส่วนกรณีที่มีคนออกมาต่อต้านนโยบายนี้นั้น นายประเกียรติกล่าวว่า ตนมองว่าอาจจะเป็นเรื่องของผลประโยชน์ เพราะเรื่องนี้หลายคนมักจะไม่รู้เรื่องแต่คนที่รู้เรื่องก็จะเป็นผู้ออกมา ในวันนี้เป็นการง่ายที่จะทำธุรกิจเรื่องอินเทอร์เน็ตผ่านเกตเวย์ เพราะฉะนั้นถ้าหากกำกับดูแลตรงนี้ได้ ตนคิดว่าน่าจะเป็นประโยชน์ในการยับยั้งข้อมูลที่จะเป็นภัยต่อประเทศ
นอกจากนี้จะยื่นหนังสือให้ตรวจสอบองค์กรที่ทำงานไม่สมกับที่ประชาชนคาดหวัง อาทิ ใน กสทช.มี 2 หน่วยงานที่ทำงานแยกกัน ได้แก่ หน่วยงานด้านบรอดคาสต์ และด้านเทเลคอมมิวนิเคชัน แต่ทั้งสองหน่วยงานทำงานโดยเทคโนโลยีเดียวกัน ดังนั้นคิดว่าไม่ควรจะแยกกัน เพราะจะทำให้การดูแลไม่ชัดเจน มองไปที่ผลประโยชน์มากกว่าการบริการสาธารณะ จึงอยากให้ สนช.ตรวจสอบเรื่องนี้ด้วยว่า มีผลประโยชน์ทับซ้อนหรือไม่